xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯหารือปธน.ศรีลังกา สานความร่วมมือศก.-สังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลา 10.30 น. วานนี้ (2พ.ย.) ณ ห้องสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมหารือด้วย อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัติถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นต้น
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการหารือ ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับพัฒนาการทางการเมืองในศรีลังกา เชื่อมั่นว่าประธานาธิบดีศรีลังกา จะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ โดยใช้หลักธรรมาภิบาล และความก้าวหน้าในกระบวนการปรองดองแห่งชาติของศรีลังกา
สำหรับพัฒนาการการเมืองไทยนั้น ไทยจะเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560 ขณะนี้ ไทย อยู่ระหว่างการดำเนินการตามโรดแมป เพื่อนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และสร้างสังคมที่มีความปรองดอง กระบวนการปฏิรูปประเทศจะต้องเกิดขึ้นจากคนไทย เพื่อนำไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และมั่นคง โดยต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม รัฐบาลได้เน้นการปฏิรูปเบื้องต้นใน 11 ด้านสำคัญ ในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานประชารัฐ และสร้างความเข้มแข็งในประเทศและเพื่อประโยชน์ของคนไทยในระยะยาวต่อไป
สำหรับความร่วมมือและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมการเติบโตทางเศรษฐกิจของศรีลังกา ที่คาดว่า GDP ปีนี้ จะโตถึงร้อยละ 7.8 จากแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ของศรีลังกา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเองมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและรอบด้าน โดยได้น้อมนำหลักการของปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข้งของระบบเศรษฐกิจและสังคมในการเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยไทยมียุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (2558-2564) โดยเน้นเพิ่มมูลค่า และปริมาณการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง โดยภารกิจเร่งด่วน คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SMEs ไทยและศรีลังกา ยังสามารถร่วมมือกันในสินค้า และอุตสาหกรรมที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ อาทิ สิ่งทอ อัญมณี ชา และจะต้องเป็นความร่วมมือที่ครบวงจรเช่นศรีลังกา มีวัตถุดิบอัญมณี ไทยมีทักษะและความชำนาญในการแปรรูป และการตลาด ทั้งสองประเทศสามารถเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาสินค้าประเภทอัญมณีสู่ตลาดต่างประเทศ โดยได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการลดการแข่งขันระหว่างกัน และเพิ่มพันธมิตรโดยการขยายความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าให้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2559
ด้านการลงทุน ปัจจุบันมีเอกชนไทยหลายรายสนใจเข้าไปลงทุนในศรีลังกาแล้ว อาทิ ในสาขาสิ่งทอ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจโรงแรม และเชื่อว่าการจัดเวที Business Forum, Business Matching เพื่อให้ผู้บริหารของบริษัทเอกชนไทยเข้าพบประธานาธิบดีศรีลังกา จะเป็นประโยชน์และรัฐบาลศรีลังกา จะให้สนับสนุนภาคเอกชนไทย ที่เข้าไปลงทุนในศรีลังกาด้วย
ความร่วมมือด้านเกษตร และประมง ไทยกับศรีลังกามีศักยภาพที่จะร่วมมือกันในการด้านเกษตรและประมง ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ ความร่วมมือทางวิชาการด้านการประมง การแลกเปลี่ยนข้อมูล และงานวิจัย อาทิ การควบคุมโรคกุ้ง เพื่อพัฒนาสินค้าประมงให้มีคุณภาพร่วมกัน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทยและศรีลังกา สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะทั้งสองประเทศสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศรีลังกา ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมจะผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ผลเป็นรูปธรรม
สำหรับไทยได้รับการยอมรับถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวและการบริการด้านสุขภาพทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและความงาม สปา ในไทยที่คุ้มค่าใช้จ่าย ซึ่งชาวศรีลังกามาพักผ่อน และใช้บริการด้านสุขภาพในไทย ความร่วมมือด้านการทหาร และความมั่นคง ยินดีที่ทั้งสองมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ไทยและศรีลังกายังมีบทบาทในความร่วมมือเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับภูมิภาค อาทิ การต่อต้านโจรสลัด และการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในภูมิภาคด้วย ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC ตามนโยบาย Look West ของไทย เพราะเป็นเวทีที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งความมั่นคง และเศรษฐกิจ และเชื่อว่าไทยและศรีลังกา จะใช้ประโยชน์จากความตกลง BIMSTEC FTA เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ กล่าวมั่นใจถึงศักยภาพความร่วมมือระหว่างไทยและศรีลังกาทั้งในระดับเอกชน /เอกชน และภาครัฐ/ภาครัฐ โดยเฉพาะในสามสาขาหลัก ได้แก่ ท่องเที่ยวและการก่อสร้าง การเกษตรและอุตสาหกรรม และการประมง ทั้งนี้ พร้อมที่จะนำคณะภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนศรีลังกา (Trade Mission)เพื่อหาลู่ทางการค้าและการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ศรีลังกา เพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบรัฐต่อรัฐ ต่อไป
ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศ ยังกล่าวขอบคุณศรีลังกา ที่ไห้การสนับสนุนผู้แทนไทยในการสมัครดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวร UNSC อย่างเป็นทางการด้วย โอกาสนี้ ประธานาธิบดีศรีลังกา กล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์และเชื่อมั่นว่า ไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ และพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือไทยและศรีลังกาให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีมายาวนานกว่าศตวรรษ นอกจากนี้ ศรีลังกามีความสนใจที่เรียนรู้ความก้าวหน้าของไทยทั้งอุตสาหกรรมประมง การท่องเที่ยว ด้านเภสัชกรรมและพลังงาน และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น ในโครงการต่างๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งสินค้า (OTOP) เป็นต้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนท้ายว่า จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเร่งติดตามความร่วมมือ โดยสามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทันที เพื่อให้การหารือในวันนี้ สัมฤทธิ์ผลและมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น