นายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย กระชับสัมพันธ์ครบรอบ 60 ปี ขอบคุณอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาให้ชาวไทยสักการะ พร้อมมอบพระพุทธรูปหินแกะสลักขนาดใหญ่ เตรียมประดิษฐานวัดธรรมาราม อยุธยา ยินดีมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระหว่างประธานาธิบดีเยือนไทย ย้ำ ไทยพร้อมให้การช่วยเหลือโครงการต่าง ๆ ของศรีลังกา และพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
วันนี้ (20 ต.ค.) ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.30 น. นางกเษณุกา ธิเรนี เสเนวิรัตนะ (H.E. Mrs. Kshenuka Dhireni Senewiratne) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย ศรีลังกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ คือ ทั้งสองฝ่ายกล่าวยินดีที่ได้พบ โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีในโอกาสที่เอกอัครราชทูตเข้ารับหน้าที่เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย และไทยพร้อมร่วมมือกับศรีลังกาอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์อันยาวนานและแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษของการฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 60 ปี และเพื่อเป็นการตอกย้ำและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกระดับให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สถานเอกอัครราชทูตทั้งสองแห่งจะได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อฉลองโอกาสดังกล่าว รวมถึงการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีศรีลังกาในปีนี้ และกิจกรรมทางศาสนาที่จะจัดขึ้นในระหว่างการเยือน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีศรีลังกาในครั้งนี้ ไทยและศรีลังกาจะใช้โอกาสนี้ในการหารือถึงแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ไทยยินดีและขอบคุณที่ศรีลังกาจะจัดให้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้มีโอกาสสักการะ
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณที่ศรีลังกาจะมอบพระพุทธรูปหินแกะสลักขนาดใหญ่ให้แก่รัฐบาลไทย เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ฯ 60 ปี โดยได้มอบหมายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลด้านศาสนาเป็นผู้แทนรัฐบาลในพิธีรับมอบ และขอให้ประดิษฐานไว้ที่วัดธรรมาราม จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ด้านศาสนาของสองประเทศ
ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์และความร่วมมือครอบคลุมหลายด้าน ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อีก โดยจะได้หารือกับประธานาธิบดีศรีลังกาเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยและศรีลังกาสามารถส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งจะเห็นได้จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของศรีลังกา โดยไทยเห็นว่า ศรีลังกาเป็นตลาดที่น่าลงทุนสำหรับนักลงทุนไทย รวมทั้งยินดีที่จะมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระหว่างการเยือน อันจะเป็นโอกาสอันดีที่นักธุรกิจทั้งสองฝ่ายที่จะสร้างเครือข่ายระหว่างกัน
ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ยาวนานใกล้ชิดกัน อันเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งสามารถใช้นำมาใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเล็งเห็นว่าทั้งสองประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยไทยยินดีและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศรีลังกาในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับศรีลังกา พร้อมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในสาขาที่ศรีลังกาต้องการและไทยมีศักยภาพ โดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) หรือ Neighboring Countries Economic Development Cooperation Agency (NEDA) สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับความช่วยเหลือทางวิชาการหรือแหล่งเงินกู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ของศรีลังกา ซึ่งไทยหวังว่าศรีลังกาจะใช้ประโยชน์จากสำนักงานนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณศรีลังกาที่ให้การสนับสนุนไทยเป็นอย่างดีเสมอมาในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการสมัครประธานกลุ่ม 77 ที่ไทยได้รับเลือก และในการสมัครตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของไทยใน UNSC วาระปี ค.ศ. 2017 - 2018
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า ตนเองถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีภูมิหลังที่มีความเชื่อมโยงกันด้านพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นมิติสำคัญของความสัมพันธ์ พร้อมกล่าวว่าศรีลังกาเข้าใจในสถานการณ์ภายในประเทศ
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต ย้ำว่า ในการเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ อยากกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ทั้งการค้า การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน และการบริการ เนื่องจากไทยมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง