xs
xsm
sm
md
lg

รอผลตลาดก๊าซฯมี.ค.59เคาะ"ปตท."ผูกบริการท่อฯ-คลังLNG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "เรกูเลเตอร์" รอผลศึกษาตลาดก๊าซฯมี.ค.59 เสนอระดับนโยบายตัดสินใจ ให้"ปตท.ผูกขาดบริการท่อก๊าซและคลังLNGรายเดียวหรือไม่ รับเป็นเรื่องมั่นคงต้องรอบคอบ ยอมรับว่าตลาดก๊าซฯในไทยยังไม่แข่งขันต้องอาศัยเวลา 3-5 ปี แม้จะมีระเบียบเอื้อแล้วก็ตาม พร้อมถก"สนพ." ขอเลื่อน COD สำหรับโครงการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระยะที่ 2 จำนวน 500 เมกะวัตต์หวั่นไม่ทัน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) และในฐานะโฆษก เปิดเผยว่า ขณะนี้เรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะเมื่ออนาคตไทยจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มากขึ้น คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในมี.ค. 2559 จึงจะเสนอต่อระดับนโยบายตัดสินใจต่อไปซึ่งจะรวมถึงประเด็นที่ว่าควรกำหนดให้บมจ.ปตท.เป็นผู้ให้บริการคลังLNGและระบบท่อก๊าซฯเพียงรายเดียวหรือไม่ด้วย

" กรณีที่ประธานบอร์ดปตท.เสนอว่าปตท.ควรเป็นผู้ให้บริการท่อและคลังรายเดียวแล้วให้เอกชนที่สนใจนำเข้ามาเป็นผู้เช่าจะมีความคุ้มค่าและบริหารจัดการได้ดีกว่านั้นหรือเปิดให้ทุกรายแข่งขันได้หมดก็ต้องศึกษาโครงสร้างก่อนยังตอบไม่ได้และเป็นเรื่องนโยบาย ซึ่งการศึกษาจะต้องดูว่าราคาก๊าซเฉลี่ย(Pool) จะเหมือนเดิมหรือไม่ โครงสร้างค่าไฟจะเป็นอย่างไร เพราะ คนที่นำเข้า LNG แต่คนซื้อถ้าซื้อซื้อในราคาพูลก็จะถูกกว่า ดังนั้นตลาดก็ไม่แข่งขัน เราจึงต้องขอเวลาว่าจะทำให้ตลาดแข่งขันได้อย่างไร "นายวีระพลกล่าว

ปัจจุบันเรกูเลเตอร์ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์การจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้เช่าหรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือสถานีแอลเอ็นจีกับบุคคลที่สาม (TPA Regime) ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกหลายด้านในการประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้ตลาดแข่งขันได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการนำเข้า LNGได้จะต้องมีสัญญาซื้อขายระยะยาวและเมื่อมีสัญญาจึงจะก่อสร้างคลังได้ซึ่งต้องใช้เวลา 3-5 ปีเช่นเดียวกับกรณีประเทศอังกฤษ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น การดำเนินงานจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคง

นายวีระพลยังกล่าวถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff ระยะที่ 2 ทั่วประเทศจำนวน 500 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดเดิมจะเปิดให้ยื่นภายในไตรมาสแรกปี 2559 และกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบหรือCODภายใน 31 ธ.ค. 60 ว่า เรกูเลเตอร์เตรียมที่จะหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการเลื่อนระยะเวลาCODออกไป เนื่องจากโครงการต้องใช้เวลาก่อสร้าง 24-36 เดือนจึงเกรงว่าจะไม่ทัน

" เดิมเรากำหนดเปิดรับซื้อทั่วประเทศไว้ประมาณมี.ค. 59 แต่เท่าที่ดูระยะเวลาแล้วอาจมีปัญหาว่าจะ COD ไม่ทันคงจะต้องหารือกับสนพ.ว่าจะเลื่อนได้หรือไม่อย่างไร แต่ถ้ามีการเลื่อนจ่ายไฟฟ้าออกไป ราคารับซื้อไฟฟ้าก็อาจเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน"นายวีระพลกล่าว
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff ระยะที่ 1 จำนวน 46 เมกะวัตต์เฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และชีวมวล ไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 ธ.ค.60 คาดว่าภายใน 1-2 วันจะมีการประกาศและร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ระหว่าง 1- 10 พ.ย. เรกูเลเตอร์ได้เปิดให้หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรเข้ายื่นเอกสารเพื่อตรวจคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) เฟสแรก 600 เมกะวัตต์ระหว่าง 1-10 พ.ย. นี้โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนใหม่ไม่น้อยกว่า 36,000 ล้านบาทและมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในปี 2559 ให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

"วันแรกมีผู้มายื่นเอกสารทั้งหมด 15 ราย จำนวน 15 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร ขณะที่วันที่ 2 มีผู้มายื่นเอกสารเพิ่มเป็น 23 รายแล้ว โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 11 ธ.ค.นี้เพื่อดำเนินการจับฉลาก 15 ธ.ค.และจะทราบรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกอย่างเป็นทางการ 24 ธ.ค.นี้ โดยผู้สนใจจากการเช็คระบบส่งพบว่ามี 1,000 กว่าราย ส่วนเฟส 2 อีก 200 เกมะวัตต์นั้นหากเฟสแรกไม่ครบก็จะนำมาเปิดรวมกับเฟส 2 คาดว่าจะเป็นกลางปี 2559 "นายวีระพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น