xs
xsm
sm
md
lg

ค้านกติกา”องค์กรอิสระ” พท.ซัดเจตนาสืบทอดอำนาจคสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง แนวคิดของ กรธ.ที่จะใช้การเลือกตั้งใน "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" ว่า ดูเหมือนพยายามเสนออะไรใหม่ๆ แต่เป็นลักษณะที่นึกอะไรได้ก็เสนอขึ้นมา โดยไม่มีการศึกษาตัวอย่างจากทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยเองมาเป็นพื้นฐาน อยู่ภายใต้กรอบที่สำคัญคือ การป้องกันพรรคการเมืองบางพรรคไม่ให้เข้าสู่อำนาจ และการทำให้พรรคการเมืองโดยรวมอ่อนแอ และเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้ประโยชน์ในการได้คนนอกมาเป็นนายกฯ การใช้บัตรใบเดียว แล้วให้นับคะแนนผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมาคำนวณบัญชีรายชื่อ เป็นการลดความสำคัญ พรรคเมือง ทำให้กระบวนการแข่งขันนโยบาย ตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งลดน้อยลงไปอย่างมาก สวนทางการพัฒนาพรรคเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)นั้น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะปัญหาของกกต.คือ เรื่องที่มา และองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่ทำให้ได้ผู้ที่ไม่มีความฝักใฝ่ประชาธิปไตย ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้เลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม จะสังเกตเห็นว่า คนเชื่อว่ามีการซื้อเสียงกันมาก สามารถให้ ใบเหลือง โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐาน แต่ กกต.ก็จะให้ใบเหลืองน้อยมาก ทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ดังนั้นการปรับเปลี่ยนกติกาไม่แก้จุดสำคัญ จะทำให้ไม่สามารถแก้ ปัญหาอะไรได้ ทั้งที่ปัญหาขององค์กรอิสระโดยรวม ความจริงอยู่ที่มามามากกว่า ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบไม่ได้
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่มาองค์กรอิสระที่กำลังจะเขียนในร่างรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป แต่ว่าก็ยังมีปัญหาร้ายแรงกว่านั้น คือ ระบบกติกาเกี่ยวกับที่มาขององค์กรอิสระทั้งหลายก็จะยังไม่ได้ใช้ไปอีกนาน เพราะจะมีการสรรหาในระบบที่ คสช.และรัฐบาลปัจจุบัน ยังมีบทบาทอย่างสำคัญ อย่างการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ผ่านมา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณา ดังนั้นองค์กรอิสระจะได้รับการสรรหาจากคณะบุคคลที่เชื่อมโยงกับคสช. และรัฐบาลปัจจุบัน เท่ากับว่า องค์กรอิสระเหล่านี้ จะทำหน้าที่ต่อไปอีกหลายปี ไม่ใช่องค์กรอิสระตามชื่อแต่อย่างใด
"เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้ว เท่าที่ฟังแนวความคิดการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งจาก กรธ. รัฐบาลและ คสช.เข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นคงมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ใกล้เคียงกับร่างของชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มาตบแต่งปรับเปลี่ยนให้ดูเหมือนแตกต่าง แต่สาระสำคัญ ยังเป็นการรักษาอำนาจไว้กับผู้ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาองค์กรอิสระจริงๆ ควรกำหนดที่มาใหม่ ให้มีการถ่วงดุลของหลายฝ่าย แล้วเมื่อได้องค์กรอิสระมาแล้ว ขอให้เป็นอิสระจริง ต้องตรวจสอบได้ โดยรัฐสภาและประชาชน ถ้ามี ปัญหาผิดกฎหมาย ต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยมีศาลเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย หากเราต้องการให้มีองค์อิสระที่ยุติธรรม และเป็นกลาง นอกจากกำหนดที่มาให้ถูกต้อง องค์กรอิสระต้องตรวจสอบได้แล้ว ยังต้องเริ่มใช้กติกานั้นกันใหม่ทั้งหมด หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ องค์กรอิสระที่มีการสรรหา หรือแต่งตั้ง โดยคสช.รัฐบาล หรือ สนช.เกี่ยวข้องควรสรรหาใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ให้ใช้องค์กรอิสระนี้ไปอีก 7-9 ปี อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังรัฐประหารปี 49" นายจาตุรนต์ กล่าว

**"มาร์ค"เตรียมส่งข้อเสนอให้กรธ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ที่จะนำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่นำคะแนนเลือกตั้งของผู้ที่แพ้มาคิดคำนวนส.ส.ด้วยว่า เห็นด้วยกับการหลักการที่จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมีคุณค่าไม่เสียเปล่า แต่อยากให้มีการปรับปรุงระบบการคิดคำนวนใหม่ เพราะหากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วเอาทุกคะแนนมาใช้ในการคำนวนจำนวนส.ส. จะทำให้ระบบนี้ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะการเอาคะแนนของผู้แพ้มาคิดคำนวนจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงการให้ประชาชนเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว อาจจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าการใช้สิทธิของประชาชนเป็นการเลือกตัวบุคคล หรือเลือกพรรคการเมือง ซึ่งข้อห่วงใยเหล่านี้ตนจะเสนอเป็นความเห็นส่งให้กรธ.พิจารณาในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ด้วยเช่นกัน
"ข้อเสนอจะเอาหลักการของกรธ.มาวางไว้ แต่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำให้ทุกคะแนนของประชาชนได้รับน้ำหนักที่เหมาะสม มีวิธีที่ทำให้เจตนารมรณ์ของประชาชนทั้งการเลือกพรรค และเลือกคนมีความชัดเจน ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีการคิดคำนวน และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตเยอะ คะแนนลดลงจากการถูกทอน ซึ่งเรื่องนี้จะถูกตั้งเป็นประเด็นคำถาม เพราะบางเขตเลือกตั้งที่คะแนนของผู้ชนะเยอะมากจะสูญเปล่า ดังนั้น การที่พรรคใดจะได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นรัฐบาล ควรจะต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งการเลือกผู้แทนรายคนและคะแนนของพรรค” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

** "สมบัติ"เผยกรธ.โยนหินถามทาง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงข้อเสนอของ กรธ. เรื่องระบบเลือกตั้งที่ให้นำคะเเนนของผู้เเพ้แต่ละเขตไปคำนวนเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า เเนวคิดนี้กรธ.เพียงโยนหินถามทาง เพราะยังไม่ยอมบอกเรื่องสัดส่วนของส.ส. ระหว่างเเบบเเบ่งเขต กับบัญชีรายชื่อ จะมีเท่าไร การนำคะเเนนของผู้เเพ้ มาคิดเป็นเก้าอี้ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าไปนั่งในสภา ไม่รู้จะเอาหลักคิดใดของโลกมาอธิบาย ส่วนที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่า จะทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกผู้เเพ้มากขึ้นนั้น ก็แค่มโนไปเอง มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง วิธีการเช่นนี้ จะยิ่งทำให้เกิดการซื้อเสียงง่ายขึ้น ขัดหลักความนิยมของประชาชน เพราะพรรคที่ประชาชนเลือกมาก จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง
นายสมบัติ กล่าวถึงการออกกติกาดังกล่าวว่า เชื่อว่านักการเมือง จะมีวิธีคิดพิสดาร เพื่อให้พรรคตัวเองชนะเลือกตั้งเเน่ ยกตัวอย่าง หากเกิดกรณีพรรคใหญ่ ต้องการรวบทั้งเก้าอี้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อในเขตนั้น อาจตั้งพรรคพันธมิตร หรือพรรคนอมินีขึ้นมา โดยให้ผู้สมัครตัวเต็ง ลงพรรคหลัก ให้ผู้สมัครรอง ลงพรรคนอมีนี ตอนหาเสียงก็บอกประชาชนไปเลยว่าให้เลือกทั้งสองคน เพราะเป็นพรรคพันธมิตรกัน ทำแบบนี้เชื่อว่าจะได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากนั้นไปเเบ่งเค้กเก้าอี้ ส.ส.ในสภาอย่างสบายใจ
"ระบบนี้สร้างแต่ปัญหา ยังไม่เห็นว่ามีประเด็นที่จะนำไปสู่ทิศทางการปฏิรูปการเมืองที่ดีได้อย่างไร"
เมื่อถามว่า ระบบเลือกตั้งดังกล่าว พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเสียเปรียบ นายสมบัติ กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ เพราะกรธ. ยังกั๊กเรื่องสัดส่วนจำนวน ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ แต่หากกรธ.กำหนดสัดส่วนแบบครึ่งต่อครึ่ง เช่น ให้มี ส.ส.ในสภาทั้งหมด 500 คน จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 250 จาก ส.ส.เขต 250 คน แบบนี้ ผู้เเพ้จะได้เปรียบ มีสิทธิให้เกิดการต่อรอง อาจจะได้รัฐบาลที่อ่อนเเอ มาบริหารประเทศ

** "วัชระ"ค้านเลือกตั้งพวงใหญ่

นายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.ปชป.กล่าวถึงกรณี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท. เสนอให้ไม่มีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ เสนอการเลือกตั้งพวงใหญ่ แต่ให้กาได้เบอร์เดียว ว่า สปท.ไม่เคยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมไม่รู้พระคุณของประชาชน มักนึกวาดฝันมะโนตามใจชอบใส่สูทผูกไท อยู่ในห้องแอร์ ยิ่งกว่าตาบอดคลำช้าง
การเสนอให้ยุบทิ้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นการออกมาหยั่งเชิง หรือบทสรุปก็แล้วแต่ ก็สุดแท้แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนด ผมเป็นอดีตส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะให้ยุบทิ้งไป ก็ไม่ว่า เพราะ ส.ส.กทม.ก็เคยเป็นมาแล้ว หรือหากเห็นว่า ส.ส.เลวร้ายสุดประมาณ จะไม่ให้มีการเลือกตั้งส.ส.เลย ก็สุดแท้แต่ผู้มีอำนาจกำหนด แต่ไม่ควรลืมว่า วันพระไม่ได้มีหนเดียว
ทั้งนี้ ส.ส.แต่ละระบบ มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกัน แต่ทุกระบบมาจากประชาชน แล้วสปท.มาจากประชาชนหรือไม่ ก็ควรคิดและตระหนักในหน้าที่ อย่าดูถูกประชาชน ยิ่งการเสนอให้เลือกตั้งแบบพวงใหญ่ ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครเขตละ 3 คน แล้วให้ประชาชนกาได้เบอร์เดียว มันสุดวิปริตทางการเมืองในความคิดของคนที่มีอำนาจจริงๆ เพราะจะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ นักการเมืองแตกแยก ควรใช้แบบที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา เมื่อส่งผู้สมัครเขตนั้น 3 คน ประชาชน ก็ควรมีสิทธิ์เลือก 3 คนเช่นเดิม ไม่ใช่มาจำกัดสิทธิ์ให้เลือกได้แค่คนเดียว เท่านั้น และนอกเหนือจากนี้ ที่สำคัญยิ่งคือ ต้องคัดค้านแนวคิดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้ยุบพรรคการเมืองทุกพรรค ให้จดทะเบียนพรรคใหม่ และไม่ควรกำหนดให้มีคปป. ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังร่างอยู่นี้

**กรธ.เตรียมลงพื้นที่รับฟังความเห็น

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวถึงการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนว่า เบื้องต้นในเดือนพ.ย.-ธ.ค. กำหนดลงพื้นที่ไว้ 4 ภาค เริ่มจากภาคเหนือวันที่ 19-20 พ.ย. โดยจะให้ส่งตัวแทนจังหวัดละ 10 คน จากทั้งหมด 17 จังหวัด โดยจะใช้ จ.เชียงราย เป็นศูนย์กลาง จากนั้นจะลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ อ. หาดใหญ่ ในวันที่ 27-28 พ.ย. และภาคอีสาน วันที่ 19-20 ธ.ค. ที่ จ.อุบลราชธานี และในวันที่ 27-28 ธ.ค. ที่กทม. ซึ่งจะจัดที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งคาดว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเสร็จภายในเดือนธ.ค. จากนั้นจะแจกให้พรรคการเมือง ส่วนราชการต่างๆ และสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น ในเดือน ม.ค.-มี.ค. ทาง กรธ.จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนบ่อยขึ้น ในช่วงนี้จึงพยายามให้ทางมหาวิทยาลัยอุบลฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งกลุ่มพูดคุยกับกลุ่มแกนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอ หรือ สภาองค์กรชุมชนต่างๆ เพื่อประมวลความคิดเห็นก่อนที่จะส่งให้กรธ. เพราะเวทีที่ กรธ.จัดขึ้นตามจังหวัด ตัวแทนชาวบ้านจริงๆไม่ได้เข้าร่วมแสดงความเห็น จึงต้องอาศัยกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มเอ็นจีโอช่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ กรธ. พยายามที่จะจัดเวที
นายชาติชาย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กรธ.ได้แจ้งไปยังทุกส่วนราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหอการค้า เพื่อขอให้ส่งความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่ได้ส่งความเห็นกลับ ซึ่งในสัปดาห์หน้า พรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. จะส่งความเห็นมายัง กรธ. รวมถึง นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะส่งความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งในนามส่วนตัว ดังนั้นกรธ.อยากจะได้ความคิดเห็นจริงๆ เพราะหนักใจมาก ถ้าหากได้ข้อมูลมาไม่มากพอ ก็ไม่สามารถประมวล และอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ทำไมถึงร่างรัฐธรรมนูญออกแบบอย่างนี้ และจะมองแค่เพียงในบางเรื่องเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็จะดูในบางมาตรา บางเรื่องว่าตรงใจเขาหรือไม่ ถ้าไม่ตรงใจก็จะไม่รับ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมี 200 กว่ามาตรา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะมองว่าจะยุบหรือไม่ และอดีตส.ส. ก็มองว่าจะเขียนกีดกั้นไม่ให้ลงเลือกหรือไม่ แต่เรื่องอื่นไม่ดู รวมทั้งบทบาทของสตรี ว่าจะเขียนอย่างไรแค่นั้น
" รัฐธรรมนูญจะไปมองเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ต้องมองภาพรวม ถ้าดี 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรจะยอมรับ จะให้ถูกใจทุกคนก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ กรธ.หนักใจ เพราะฉะนั้นถ้าหากเรารับฟังความเห็นให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน เราก็จะนำมาประมวล เพื่อหาทางออกให้ แต่ถ้าไม่มาบอกแล้วนั่งฝันเอาเอง แล้วคิดว่าอยากให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ พอเราเขียนไปแบบนั้นก็บอกว่าไม่เห็นด้วย ถือว่าไม่ยุติธรรมกับกรธ." นายชาติชาย กล่าว

** นิด้าโพลหนุนตัดสิทธิ์คนไม่ไปลต.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน " เรื่อง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น สิทธิ หรือ หน้าที่ " จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ว่าควรเป็น “สิทธิ”หรือ“หน้าที่”พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.48 ระบุว่า ควรเป็น“สิทธิ”ขณะที่ ร้อยละ 49.52 ระบุว่า ควรเป็น“หน้าที่” ความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น “สิทธิ”)ต่อ แนวทางที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกระตุ้นให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.11 ระบุว่า ควรรณรงค์ปลูกจิตสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 6.66 ระบุว่า รัฐบาลควรจ่ายค่าเดินทางหรือค่าตอบแทนในระดับที่เหมาะสมกับประชาชนทุกคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 1.90 ระบุว่า รัฐบาลควรแจกลอตเตอรี่ ให้กับประชาชนทุกคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 0.48 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และนักการเมืองควรตั้งใจทำงานให้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาเลือกตั้ง และร้อยละ 2.85 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น “หน้าที่”)ต่อแนวทางที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.19 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 28.11 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางสวัสดิการสังคม ร้อยละ 6.30 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียค่าปรับในอัตราที่สูง ร้อยละ 3.07 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ เห็นด้วยกับบทลงโทษทุกข้อที่กล่าวมา ขณะที่บางส่วนเห็นว่าไม่ควรมีบทลงโทษ ควรชี้แจงถึงเหตุผลใน
กรณีที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ และร้อยละ 5.33 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น