xs
xsm
sm
md
lg

ขายฝันปฏิรูปตร.ใน2ปี สปท.เปิดศูนย์รับฟังความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท. คนที่ 2 เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นประชาชน ณ อาคารรัฐสภา โดย ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย สะท้อนปัญหา การให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งจำเป็น มีกระบวนการที่ยอมรับได้ทุกภาคส่วน เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์ส่งให้กับ สปท. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อไป สปท. จึงมีช่องทางให้แสดงความคิดเห็น ทั้งทางไปรษณีย์ สายด่วน เว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก วิทยุ โทรทัศน์ หรือเดินทางมาด้วยตนเองที่ศูนย์นี้ จากนั้น ประธาน สปท. ได้ตัดริบบิ้นเป็นการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ และเข้าเยี่ยมชมภายในห้องทำงานศูนย์

** เผย 11 ช่องทางเสนอไอเดียปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่องทางการเสนอความคิดเห็นต่อศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีทั้งหมด 11 ช่องทาง ได้แก่ 1.เสนอความคิดเห็นด้วยตนเองที่ศูนย์ บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา 1 2.Call Center 1743 3.โทรศัพท์/โทรสาร 02-244-1881 ในวันและเวลาราชการ (8.30-16.30 น.) 4.ไปรษณีย์ ตู้ ปณ.999 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 5.เว็บไซต์ www.parliament.go.th/thainrsa58 6.อีเมล thainrsa58@gmail.com 7.ไลน์ thainrsa58 8.เฟซบุ๊ก ศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 9.สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา 10.สถานีโทรทัศน์รัฐสภา 11.ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี

** สปท.ประชุมแนวใหม่ให้สมาชิกทำ เวิร์กช็อป
ในการประชุม สปท. ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ร.อ.ทินพันธุ์ได้แจ้งให้สมาชิกทราบว่า วันนี้มีการประชุมรูปแบบใหม่ เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) ซึ่งจะเป็นการทำงานไม่เหมือนสภาฯในอดีต โดยสมาชิก สปท. 200 คน มีอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 61 คน ที่รับรู้ประเด็นเรื่องการปฏิรูปมาแล้ว ส่วนอีก 139 คน ต้องศึกษาประเด็นเรื่องการปฏิรูปของ สปช.เพื่อนำมาพิจารณา ดำเนินการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม โดยไม่จำเป็นต้องมาหาความว่าจะปฏิรูปอะไรอีกแล้ว แต่จะนำความคิดเห็นของประชาชนในรอบ 1 ปี ที่ สปช.รวบรวมมาพิจารณา มาทำให้แล้วเสร็จ
ด้าน นายอลงกรณ์ กล่าวชี้แจงว่า การประชุมวันนี้จะแบ่งกลุ่มสมาชิกเป็น 11 กลุ่ม คือ กลุ่มการเมือง กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มการปกครองท้องถิ่น กลุ่มการศึกษา กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กลุ่มสื่อสารมวลชน กลุ่มสังคม และกลุ่มอื่น ๆ มีสมาชิกลงชื่อตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยการประชุมกลุ่มย่อยจะต้องพูดคุยใน 2 ประเด็น คือ วาระปฏิรูปที่สำคัญที่จะต้องสัมฤทธิ์ผล และวิธีการแก้ปัญหา 5 เรื่อง รวมถึงวาระปฏิรูปใน 11 ด้าน จำนวน 5 เรื่อง ที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปก่อน
จากนั้น ร.อ.ทินพันธุ์ ได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้สมาชิกแยกย้ายเข้าห้องประชุมเชิงปฏิบัติการตามกลุ่มที่สมาชิกได้ลงชื่อเอาไว้ก่อนจะนัดสมาชิกเข้าห้องประชุมใหญ่อีกครั้งในเวลา15.00น.เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อสรุปของแต่ละกลุ่ม.

** กลุ่มปฏิรูป กม.ชูสังคายนาสีกากี
จนเมื่อเวลา 15.00 น. ได้เริ่มเปิดการประชุมอีกครั้ง หลังจากให้สมาชิกเวิร์กช็อปกลุ่มย่อย โดยเป็นการรายงานเป้าหมายการปฏิรูปของกลุ่มปฏิรูปด้านต่างๆ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า อาทิ กลุ่มการเมืองรายงานเป้าหมายการปฏิรูป จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ 1.การสร้างบรรยากาศความปรองดอง 2.การเข้าสู่ตำแหน่งและการใช้อำนาจทางการเมืองโดยสุจริต 3.การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 4.การเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองให้เป็นรูปธรรม 5.การมีองค์กรกลางในช่วงเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รายงานเป้าหมายการปฏิรูปในช่วง 2 ปีข้างหน้า ว่า จะปฏิรูปองค์กรตำรวจ ให้เป็นของประชาชน ไม่รับใช้นักการเมืองและสองมาตรฐาน มีการปฏิรูปการสอบสวนให้เป็นอิสระ ไม่ให้มีการแทรกแซงการทำงาน การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจต้องใช้ระบบคุณธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ตลอดจนการโอนกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจออกไปจากโครงสร้าง ซึ่งจะผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีทางจะปฏิรูปตำรวจ

** เล็งสรุปประเด็นเสนอ กรธ.กลางเดือน พ.ย.
ทั้งนี้ ร.อ.ทินพันธุ์ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้รับการประสานจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่า หากสปท.เห็นว่าการปฏิรูปเรื่องใดมีความสำคัญ อยากให้ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ขอให้ส่งเรื่องให้ กรธ.ทราบภายในเดือน พ.ย. เพราะในกลางเดือน ธ.ค.จะปิดรับฟังการเสนอแนะความคิดเห็น หากการปฏิรูปเรื่องใดมีเนื้อหามาก และสำคัญ จะนำไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนแผนการทำงานของ สปท.หลังจากนี้ ในวันที่ 2 พ.ย.จะครบกำหนด 15 วัน ที่คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. จะพิจารณายกร่างข้อบังคับให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งให้ที่ประชุม สปท.พิจารณา จากนั้นจึงจะตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 10 วัน อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ จะให้กลุ่มปฏิรูป 11 ด้าน แสดงความเห็นและอภิปรายร่วมกัน ทุกวันจันทร์และอังคาร วันละ 2 สาขา คาดว่าในวันที่ 16-17 พ.ย.จะส่งความเห็นการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ต่อ กรธ.ได้
ทั้งนี้ หลังสมาชิกรายงานและกำหนดประเด็นสำคัญของกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง11ด้านเสร็จสิ้นแล้ว นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 สั่งปิดการประชุมในเวลา17.55น. จากนั้นในช่วงเย็นสมาชิก สปท.ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ที่สโมสรรัฐสภา.

** “วสันต์” ชง 6 ข้อปราบทุจริต
วันเดียวกัน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัวแทนสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อ ร.อ.ทินพันธุ์ ประธาน สปท. และ นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอแนะ 6 ข้อ คือ 1.กำหนดให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย 2.กำหนดให้มีกลไกและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้ผู้กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบเข้าสู่อำนาจรัฐ 3.กำหนดให้มีกลไกและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ 4.เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5.กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 6.ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน.
กำลังโหลดความคิดเห็น