xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย(10): เรื่องที่ 10.4 คสช.กับการปรองดอง ตอนที่ 2 ตอบคำถามรมต.กลาโหม เรื่องปรองดองในประเด็นที่ 3 - 5

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

กลอนวันสงกรานต์ วันปีใหม่ 2560

เนื่องในวันสงกรานต์ วันปีใหม่ของไทยในปี 2560 ผู้เขียนขออวยพรให้พี่น้องคนไทยทุกท่านจงประสบแต่ความสุข และมีสุขภาพที่แข็งแรง และขอมอบบทกลอนมาให้ทุกท่านในโอกาสนี้ด้วย

5. ข้อเสนอในการสร้างสามัคคีปรองดองโดยการขจัดสาเหตุของความขัดแย้ง (ตอบคำถามในประเด็นที่ 3 - 5

ตามที่ รมต.กลาโหมได้มีหนังสือเชิญพรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ ไปสอบถามความคิดเห็นและแนวทางในการสร้างความสามัคคีปรองดองรวม 10 ประเด็นคือ ด้านการเมือง, ด้านความเหลื่อมล้ำและการครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร, ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข, ด้านสื่อสารมวลชน, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ด้านการต่างประเทศ, ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน, ด้านปฏิรูป และด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และในบทความตอนที่ 1 ผู้เขียนได้นำเสนอความคิดเห็นในประเด็นด้านการเมือง และด้านความเหลื่อมล้ำและการครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร ไปแล้ว

สำหรับในบทความตอนที่ 2 นี้ ผู้เขียนก็จะขอกล่าวถึงแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองในประเด็นที่ 3 - 5 คือ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข และด้านสื่อสารมวลชน

5.3 ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม: มุ่งพิจารณาการออกกฎหมายและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

(1) ด้านการออกกฎหมาย: ยึดหลักความถูกต้อง ยุติธรรม เสมอภาค และมีความเหมาะสม

ในการออกกฎหมายใดๆ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะปกติ หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสามัคคีปรองดองจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดตามมา จึงขอเสนอให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

I. ความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐต้องมาก่อนสิ่งอื่น National Security and Interest should come first.

การออกกฎหมายใดๆ จะต้องได้รับการศึกษาวิจัยและประเมินผลแล้วว่า กฎหมายนั้นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวมคือ ต้องไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐและการดำรงอยู่ของชาติไทยในสังคมโลก รวมทั้งต้องไม่ขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณี และการดำรงชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่

ขอตัวอย่างกรณีนี้ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ... มาตรา 9 ซึ่งระบุว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่ร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ จะต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ข้อความที่กล่าวมา หมายความว่า บุคคลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดมาก่อน เมื่อได้แปลงสัญชาติมาเป็นคนสัญชาติไทยนับระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่าห้าปี บุคคลผู้นั้นก็สามารถร่วมกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา 9 จัดตั้งพรรคการเมือง ส่งตัวแทนพรรคลงรับสมัครเลือกตั้งในประเทศไทยได้เลย

การกำหนดคุณสมบัติตามมาตรา 9 ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วอาจเปรียบได้กับการเปิดโอกาสอย่างเสรีให้บุคคลต่างด้าวซึ่งไม่ได้เกิดในไทย ไม่เคยได้รับการเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติ ไม่เคยได้รับการศึกษาของไทย ไม่เคยยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย และไม่เคยมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมาก่อน ได้เข้ามามีบทบาท หรือมีส่วนต่อการบริหารประเทศไทยผ่านตัวแทนของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเข้าในสภาผู้แทน และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลหรือบริหารประเทศ ซึ่งก็คือ เปิดโอกาสให้บุคคลต่างชาติเข้ามาซื้อประเทศไทยของเราได้อย่างเสรีนั่นเอง

II. การสนองตอบความต้องการของสาธารณชน Public Demands

การออกกฎหมายใดๆ จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็นจริงๆ ที่ฝ่ายบริหารจะต้องออกกฎหมายนี้ออกมาเพื่อใช้บังคับ หรือเพื่อให้บริการ หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของสาธารณชน โดยจะต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการแสวงประโยชน์จากกฎหมายนี้โดยบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย และไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น หมายความว่า ไม่ควรออกกฎหมายมาเพื่อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ไปใช้แสวงหาประโยชน์ใดๆ หรือเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่บุคคลเพียงคนเดียว หรือกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ตัวอย่างของกรณีนี้ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว มาตรา 14 ซึ่งระบุให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือพมจ. ทำหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวในพื้นที่จังหวัด หมายความว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมา ก็จะต้องมีการเพิ่มอัตรากำลังให้ พมจ.ในทุกจังหวัด ซึ่งจะทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ขยายใหญ่โตเกินกว่าปริมาณงานที่จะให้บริการแก่ประชาชน

ข้อมูลในภาพที่ 5 ได้ระบุว่า งานด้านความรุนแรงในครอบครัวที่กระทรวงพัฒนาความมั่นคงฯ รับผิดชอบอาจดูได้จากจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวทั้งประเทศ (ซึ่งรวมทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี) ในปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 969 ราย เฉลี่ยเกิดเหตุวันละ 2.65 ราย ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ในแต่ละวันบางจังหวัดอาจไม่มีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นเลย จึงอาจสรุปได้ว่า การเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในด้านนี้ในทุกจังหวัดเป็นการเพิ่มอัตรากำลังและงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณงานที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวทั้งประเทศในปี 2558 เกิดขึ้นเพียง 969 รายเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า การเพิ่มขยายอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เท่ากับเป็นการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายให้เพิ่มขึ้น ควรให้ตำรวจมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีด้านนี้จะเหมาะกว่า

ภาพที่ 5 สถิติคดีคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลเยาวชนและครอบครัว*

*ถ่ายจากlibrary2.parliament.go.th/giventake/content.../d120859-06.pdf ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

III. ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน Equality

การออกกฎหมายใดๆ ควรคำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หมายความว่า กฎหมายที่ออกมาจะต้องนำมาใช้กับทุกคนในสังคม นั่นคือ ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้เสมอเหมือนกันโดยไม่มีข้อยกเว้น ตัวอย่างเช่น การออกคำสั่ง คสช.ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจารจรทางบก ซึ่งทุกคนรวมทั้งเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามโดยเสมอเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติคาดว่าเจ้าหน้าที่คงปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ได้เพราะไม่สะดวก

IV. ความเป็นไปได้ Possibility

การออกกฎหมายใดๆ ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ สามารถนำมาใช้ได้จริง กฎหมายไม่เพียงให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่จะต้องไม่ลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนอีกด้วย คือ เจ้าหน้าที่เข้าใจรายละเอียดของกฎหมายนั้นๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ส่วนประชาชนก็เข้าใจรายละเอียดในตัวบทกฎหมายเป็นอย่างดี และสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยง่ายและด้วยความเต็มใจ ตัวอย่างเช่น การออกคำสั่ง คสช.ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจารจรทางบก แต่ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งนี้ได้เพราะมีฐานะยากจนและขัดกับวิถีชีวิตของคนในชนบทที่เคยปฏิบัติมาเป็นเวลานานยังไม่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติได้ จึงทำให้มีกระแสต่อต้านคำสั่งคสช.ดังกล่าวจากประชาชนส่วนใหญ่ ดูตัวอย่างจาก http://www.gazips.com/29345

V. ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Lower Operating Costs) ต้องคำนึงถึงความประหยัด

การออกกฎหมายใดๆ ไม่เพียงจะต้องพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนเท่านั้น แต่ยังจะต้องพิจารณาว่า มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายในช่วงเวลานี้หรือไม่ หรือการออกกฎหมายนี้มีความคุ้มค่าหรือมีความประหยัดหรือไม่ เพราะรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณและเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ และไม่ใช่ออกกฎหมายมาแต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติเลยเพราะไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ และไม่เหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ

VI. ความสำคัญก่อนหลัง Priority

การออกกฎหมายใดๆ ฝ่ายบริหารควรคำนึงถึงความสำคัญก่อนหลังคือ กฎหมายใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ควรได้รับการพิจารณาและดำเนินการก่อนในลำดับต้นๆ และถ้าเรื่องใดที่ไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรออกกฎหมายนั้นออกมา

VII. ความทันสมัย Modernization

การพิจารณาออกกฎหมายจะต้องให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ากฎหมายใดที่ไม่มีความจำเป็นในปัจจุบันหรือไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ก็ควรพิจารณายกเลิก หรือควรปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

VIII. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

ในแง่ของนโยบายสาธารณะ กฎหมายจะเป็นผลที่เกิดมาจากนโยบายของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงต้องหาข้อมูลหรือต้องทำการวิจัยให้รู้ผลอย่างแน่ชัดว่า การออกกฎหมายในเรื่องใดก็ตาม ไม่เพียงจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเท่านั้น แต่กฎหมายที่ออกมายังจะต้องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติหน้าที่ได้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายสาธารณะอีกด้วย

IX. ความโปร่งใส (Transparency)

กระบวนการออกกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และควรจัดตั้งองค์กรอิสระและระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรมให้ครอบคลุมสมาชิกสภา (สภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติ) ข้าราชการฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ และรวมทั้งผู้พิพากษาทุกคน (แม้แต่ผู้พิพากษาก็ไม่ควรมีข้อยกเว้นเพราะทุกคนยังมีความเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการเหมือนกัน) อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา และคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และสตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน)

(2) ด้านการปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวกับความยุติธรรม โดยสรุปมีดังนี้

I. ควรจัดตั้งกระทรวงรักษาความมั่นคงภายในขึ้นโดยจะต้องออกเป็นกฎหมายจัดตั้ง

ในกระทรวงนี้ควรให้มีฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งรับโอนบุคลากรบางส่วนจากพล.รบพิเศษ, กองพันทหารสารวัตร และกองบัญชาตำรวจตระเวนชายแดนทั้งหมด ฝ่ายสืบสวนสอบสวนให้รับโอนกรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ป.ป.ท., สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ และตำรวจสันติบาลทั้งหมด ฝ่ายการข่าวให้รับโอนบุคลากรบางส่วนจากศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ตามคุณวุฒิและจำนวนที่ต้องการ ฝ่ายต่างประเทศให้รับโอนจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีการสื่อสารให้รับโอนบุคลากรจากกระทรวงเทคโนโลยีฯ และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยของรัฐตามคุณวุฒิและจำนวนที่ต้องการ เป็นต้น) เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงภายใน และรับผิดชอบในการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและข้าราชการการเมือง คดีผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย คดีที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว แรงงานหญิงและเด็ก และการค้ามนุษย์ คดีที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงบริเวณชายแดน คดีเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท และคดีอาชญากรรมข้ามชาติ คดีที่อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการสื่อสารทั้งหมด คดีที่เกี่ยวกับภาษีทุกประเภท โดยไม่ควรให้ตำรวจ (สำนักงานตำรวจฯ) มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในคดีดังกล่าวอีกต่อไป

II. ควรปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ควรโอนย้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมและให้ทำหน้าที่ด้านบุคลากร การวางแผนและการอำนวยการ การศึกษาวิจัย และการให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่ตำรวจในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น นอกจากนี้ควรให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจจราจรโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงกรุงเทพมหานคร(ควรจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ โดยโอนหน่วยงานและข้าราชการทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร มาจัดตั้งเป็นกระทรวงกรุงเทพมหานครขึ้นใหม่อีก 1 กระทรวง) ส่วนตำรวจในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้ขึ้นการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัด และให้โอนย้ายกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบคดีที่อยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคดีที่มีอิทธิพลต่างๆ ทั้งในพื้นที่ภูมิภาคและท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

III. ควรจัดตั้งระบบการตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์กรด้านความยุติธรรม

ควรจัดตั้งระบบการตรวจสอบการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องด้านการยุติธรรมทุกคนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา และคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ ป.ป.ช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และสตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน)

5.3 ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข

(1) ด้านสังคม : ถ้าครอบครัวและสังคมแข็งแรงแล้ว ประเทศก็ย่อมจะมั่นคงเข้มแข็งเช่นกัน

การที่ประเทศชาติจะมั่นคงเข้มแข็งได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับครอบครัวและสังคมมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด เพราะประเทศชาติจะประกอบไปด้วยสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มสังคมด้านอาชีพ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มข้าราชการ เป็นต้น หรือการจัดกลุ่มสังคมทางด้านภูมิศาสตร์ ก็อาจแบ่งเป็นสังคมเมือง สังคมชนบท และแต่ละสังคมก็จะประกอบไปด้วยครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสังคมที่เล็กที่สุด (Family is the smallest unit of society) ดูภาพที่ 6


ภาพที่ 6 ประเทศชาติ สังคม และครอบครัว

สรุปก็คือ ประเทศชาติจะมั่นคงเข้มแข็งได้ จะต้องเสริมสร้างครอบครัวให้แข็งแรงเสียก่อน จึงมีข้อเสนอเพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้

I. รัฐจะต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว ตัวอย่างเช่น

(I) ยกเลิกพ.ร.บ.ชื่อสกุล 2535 และยกร่างพ.ร.บ.ชื่อสกุลขึ้นมาใหม่ และใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.ครอบครัวและชื่อสกุล โดยกำหนดให้ครอบครัวมีสถานะเป็นนิติบุคคล เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว หน้าที่ของครอบครัว และบทลงโทษสถานหนักแก่บุคคลที่นำชื่อสกุลของครอบครัวอื่นไปใช้และรวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการนำชื่อสกุลของบุคคลอื่นไปใช้โดยมิได้รับอนุญาต

(II) กำหนดให้ทุกครอบครัวที่เป็นคนไทย และคนต่างด้าว ต้องจดทะเบียนครอบครัวโดยระบุเครื่องหมายของตระกูล ที่มาของครอบครัว รายละเอียดของสมาชิกครอบครัวซึ่งประกอบด้วยหัวหน้า รองหัวหน้าครอบครัว และสมาชิกของครอบครัวทั้งหมดด้วย

(III) ควรจัดทำโครงการนามสกุลพระราชทาน โดยตั้งเรื่องขอพระราชทานนามสกุลจากพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้กับครอบครัวคนไทยทุกครอบครัวที่ต้องการได้รับนามสกุลพระราชทาน เพื่อเป็นการผนึกจิตใจคนไทยให้มีความรู้สึกว่า คนไทยทุกคนอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกันซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยมีความสามัคคีเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น

(IV) ควรให้การส่งเสริม พัฒนา และฝึกอบรมเยาวชนไทยทุกระดับการศึกษา และบุคลากรทุกคนที่ทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คนไทยทุกคนในฐานะหัวหน้า รองหัวหน้า และสมาชิกครอบครัว มีความกตัญญูและยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเข้าใจและยึดมั่นในอุดมการณ์ความรักชาติ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีระเบียบวินัย และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งเสพติดทุกประเภท

II. ควรขจัดและทำลายขบวนการค้ายาและสิ่งเสพติดทุกประเภทให้หมดไปจากแผ่นดินไทย โดยจะต้องกำหนดบทลงโทษขั้นสูงประหารชีวิตสำหรับบุคคลกระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดซึ่งได้แก่ บุคคลที่ทำการผลิตหรือผู้ผลิต บุคคลที่สนับสนุนหรือส่งเสริมผู้ผลิต ผู้ค้าต้นทางสิ่งเสพติด ผู้ขนส่งยาและสิ่งเสพติด ผู้ค้าตัวแทน และผู้ค้ารายย่อย เป็นต้น

III. ควรจัดระบบสวัสดิการสังคมให้การดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก (โดยให้การสนับสนุนต่างๆ เช่น ให้บริการฟรีในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ, สนับสนุนนมให้เปล่าที่มีคุณภาพแก่เด็กในวัยประถม-มัธยมศึกษาตอนต้น เป็นต้น), การจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียนจนถึงระดับอาชีวศึกษา และการให้สวัสดิการด้านต่างๆ จนกระทั่งสิ้นอายุขัย

IV. ควรกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดคดีอาชญากรรมต่างๆ ตามลำดับความร้ายแรงของการกระทำ และไม่ควรมีการลดหย่อนโทษสำหรับคดีทางเพศ คดียาเสพติด คดีก่อการร้าย คดีที่กระทำความผิดที่ร้ายแรงผิดวิสัยความเป็นมนุษย์ และโหดเหี้ยมเกินกว่าที่สังคมจะรับได้

V. ควรกำหนดหรืออนุรักษ์พื้นที่ในบางจังหวัดให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของคนไทยทุกคน โดยจะต้องมีการวางผังเมืองตามความเป็นมาของประวัติศาสตร์ และห้ามคนต่างด้าวเข้ามาตั้งรกรากหรือตั้งบ้านเรือนหรือเข้ามาสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเขตเมืองหรือจังหวัดที่เคยเป็นเมืองหลวง หรือเป็นที่ตั้งของพระราชวังที่สำคัญ หรือเป็นที่ตั้งที่มีความสำคัญทางการค้า หรือเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของชาวต่างชาติในอดีต เป็นต้น

VI. ควรกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลใดๆ โอนหรือเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทยเป็นเวลา 8 ปี โดยให้เริ่มตั้งแต่ปี 2561 เพื่อใช้เวลาดังกล่าวในการผสมผสานและผนึกคนจากชาติต่างๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากและประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทย ให้เป็นคนไทยที่มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และจารีตประเพณีเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันบรรเทาความรุนแรงลงได้

(2) ด้านเศรษฐกิจ: ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยการควบคุมดูแลจากรัฐบาลกลาง

I. ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการแข่งขันที่เปิดกว้างอย่างเสรี และยุติธรรม Free & Fair Trade, Open to All and Fair Competition ผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองป้องกันตามหลักการค้าเสรี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด(Monopoly) หรือเพื่อขจัดการกระทำใดๆ ที่เอาเปรียบบุคคลอื่นในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งจะทำลายการแข่งขันที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกัน และทำลายความยุติธรรมในระบบเศรษฐกิจเสรีให้สูญสิ้นไป

II. ต้องส่งเสริมการลงทุนในทุกด้านที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เพื่อสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและสร้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคนไทยที่จบการศึกษาในสาขาต่างๆ

III. ต้องจัดระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน มีความเท่าเทียมกัน และเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

IV. ต้องมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม Income Distribution

V. ต้องจัดสรรและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด Resource Allocation

(3) ด้านการศึกษา: กำหนดนโยบายเปิดเสรีทางการศึกษาภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ

I. การศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ควรให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของส่วนภูมิภาค แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน หมายความว่า ในแต่ละชั้นประโยคคือ ชั้นประถมศึกษาที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3, และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะต้องผ่านการวัดผลระดับชาติของชาติเพื่อให้สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนมีมาตรฐานการศึกษาที่ได้มาตรฐานและเท่าเทียมกัน

II. สำหรับการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาควรเปิดเสรีทางการศึกษา แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและประเมินผลอย่างเข้มงวดของสภาการศึกษาแห่งชาติ หมายความว่า ไม่เพียงสาขาวิชาชีพต่างๆ ของแต่ละสถาบันการศึกษาจะต้องผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานวัดผลทางการศึกษาที่เป็นองค์กรอิสระตามช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น แต่ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและระดับปริญญาตรีทุกคนของทุกสาขาวิชาชีพก็ยังจะต้องผ่านการทดสอบและประเมินผลทางการศึกษาเพื่อให้ได้ใบรับรองตามสาขาวิชาชีพ จึงจะสามารถประกอบอาชีพต่อไป

III. ควรวางแผนจัดหลักสูตรการสอนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เป็นระบบสองภาษาทั่วทั้งประเทศภายในเวลาสิบปี (นับตั้งแต่ปี 2561) โดยเริ่มจากโรงเรียน และสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมก่อน และรัฐจะต้องจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่า 2 สถานี ภายในระยะเวลา 1-2 ปี โดยนับตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเป็นการสนับสนุนระบบการศึกษาสองภาษาให้บรรลุผลสำเร็จตามที่หวัง

(4) ด้านสาธารณสุข: ต้องให้บริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน

I. ควรจัดตั้งโครงการประกันสุขภาพเป็นกลุ่มให้ประชาชนทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อทดแทนโครงการรักษา 30 บาททุกโรคที่สร้างภาระด้านงบประมาณให้รัฐ

II. ควรยกเลิกโครงการ 30 บาททุกโรคโดยด่วน เพราะได้สร้างภาระหนี้สินมากมายให้โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ และประเทศไทยไม่ได้มีงบประมาณเหลือกินเหลือใช้ตลอดชาติ

III. การรักษาโรคต่างๆ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง แพทย์ทุกคนจึงต้องผ่านการสอบคัดเลือกของกลุ่มสถาบันแพทย์ของรัฐเพื่อประเมินว่า มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะศึกษาและปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ดังนั้น จึงควรห้ามมหาวิทยาลัยเอกชนจัดตั้งคณะแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ เพราะจะเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ที่ไม่สามารถสอบผ่านการคัดเลือกจากกลุ่มสถาบันแพทย์ของรัฐใช้เงินจำนวนมากสมัครเข้าเรียนคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆ เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้แลกซื้อความเป็นแพทย์ด้วยจำนวนเงินเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคลที่จะมาเป็นแพทย์ในอนาคตแต่อย่างใด เปรียบเสมือนการใช้เงินซื้อหาตำแหน่งในระบบราชการนั่นเอง ซึ่งจะทำให้ได้แพทย์ที่ไม่ผ่านการสอบคัดเลือกเพิ่มมากขึ้น จนอาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานในอนาคต

IV. ควรรับรองแพทย์ที่จบการศึกษาและผ่านการสอบตามมาตรฐานจนได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ให้เทียบเท่ากับการจบการศึกษาระดับปริญญาโท โดยออกกฎหมายรับรองการใช้คำนำหน้าชื่อว่า นายแพทย์ หรือแพทย์หญิง และถ้าจบการศึกษาเฉพาะทางแล้วก็ควรให้เทียบเท่ากับการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยให้แพทย์ที่จบการศึกษาเฉพาะทางใช้คำนำหน้าชื่อว่า นายแพทย์/แพทย์หญิง ดร......(ชื่อ)

V. ควรวางแผนพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางการแพทย์สองภาษา ที่ได้มาตรฐานในระดับหนึ่งในสิบของโลก โดยเชิญแพทย์ที่มีผลงานระดับโลกมาเป็นวิทยากรด้วย และควรสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์เฉพาะทางขึ้นตามลำดับความสำคัญของโรคในประเทศไทยและในภูมิภาค เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์ในทุกด้านและทุกประเภทคือ การแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน และการแพทย์ของชาติต่างๆ เป็นต้น

VI. ควรส่งเสริมและให้การสนับสนุนในการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตยาทุกประเภท และรวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในด้านการแพทย์เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยการกำหนดอัตราภาษีรายได้ในอัตราที่ต่ำเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

5.5 ด้านสื่อสารมวลชน : ต้องเป็นกลางทางการเมือง ห้ามเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(1) ควรจัดตั้งสภาสื่อสารมวลชนเพื่อเป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการกำหนดระเบียบ หลักจริยธรรม การจัดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคคลโดยออกใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ การติดตามควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น การส่งเสริม และสนับสนุนสื่อมวลชนต่างๆ ให้ยึดมั่นในคุณธรรม และจริยธรรม จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องไม่ลำเอียงเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น การนำเสนอข่าวจะต้องเสนอข้อเท็จจริงในทุกด้าน ไม่ใช่เสนอข่าวในด้านใดด้านหนึ่งที่สำนักข่าวของตนสนับสนุนเท่านั้น

(2) ควรกำหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด

(3) ควรกำหนดข้อห้ามต่างๆ สำหรับสื่อมวลชนด้านต่างๆ เช่น ห้ามรับทุนสนับสนุนหรือรับความช่วยเหลือต่างๆ หรือรับของกำนัลจากกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มการเมือง หรือองค์กรอิสระหรือองค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น

(4) ควรห้ามสื่อมวลชนเป็นสมาชิกหรือห้ามเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อไม่ให้สื่อสารมวลชนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือองค์กรใด หรือองค์กรต่างชาติ หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง และควรได้รับโทษตามระดับและลักษณะความผิดที่ได้กระทำด้วย

ความคิดเห็นท้ายบทความ

ผู้เขียนหวังว่า ความคิดเห็นต่างๆ ที่นำเสนอในบทความนี้ (ตอนที่ 2) ไม่เพียงจะนำมาใช้ในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างสามัคคีปรองดองเท่านั้น แต่ยังอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศ (Thailand Reform) ในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย

โปรดติดตามตอนต่อไป (ตอนที่ 3) ในเร็วๆ นี้

ขอขอบคุณทุกความคิดเห็นมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

วีระศักดิ์ นาทะสิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น