xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปมร้าว “ไทยพีบีเอส” สอย “สมชัย” เหตุงานห่วย หรือเหยียบตาปลาใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยังไม่เคลียร์คัทชัดเจนเท่าไรสำหรับต้นสายปลายเหตุที่มาของปฏิบัติการสอย “สมชัย สุวรรณบรรณ” กลางอากาศจนร่วงจากเก้าอี้ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ “ผอ.ไทยพีบีเอส” ก่อนหมดวาระเกือบ 1 ปี

เพราะแม้ทาง คณะกรรมการนโยบาย (กนย.) หรือ บอร์ด ส.ส.ท.จะออกแถลงการณ์ถึงสาเหตุการมีมติเลิกจ้าง “สมชัย” ว่ามีการกระทำเกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้าง และไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กนย. แต่แถลงการณ์ที่ว่าก็เป็นการยกระเบียบข้อกฎหมายขึ้นมา โดยมิได้ระบุถึงประเด็นที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

ในแถลงการณ์ของ กนย.บอกว่า จากการติดตามการปฏิบัติงานของท่าน (สมชัย) ในรอบปี นับแต่การประเมินผลปฏิบัติงานประจำปี 2557 พบว่ามิได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของ กนย.ให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลง และแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน นำเรื่องที่ขัดระเบียบและได้ดำเนินการไปแล้วมาให้ กนย.รับรองหลายครั้ง ตลอดจนไม่สามารถพัฒนาศักยภาพพนักงาน เพื่อพร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แสดงถึงข้อจำกัดในการบริหาร จัดการองค์กรอย่างชัดเจน

ที่สำคัญ กนย.พิจารณาเห็นว่า ท่าน (สมชัย) ได้กระทำผิดสัญญาจ้างใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.อนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก กนย.ถึง 4 ครั้ง ถือเป็นการขัดระเบียบ ส.ส.ท.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2553 และฝ่าฝืนมติของ กนย. และ 2. ผอ.ส.ส.ท. (สมชัย) ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง โดยไม่ปฏิบัติตามแผนงานที่ กนย.ให้ความเห็นชอบ

ซึ่งตามระเบียบของ ส.ส.ท.ระบุว่า หาก มีได้กระทำผิดสัญญาจ้าง ส.ส.ท.มีสิทธิ์เลิกจ้างผู้รับจ้าง โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนใดๆ

ตัว “สมชัย” เองแม้จะบอกว่ามีเค้าลางในการเลื่อยขาเก้าอี้ของเขามาตลอด แต่ก็อดประหลาดใจไม่ได้ โดยบอกว่า “ไม่ทราบล่วงหน้าเลยว่าจะมีคำสั่งปลดในวันนี้ แต่ที่ผ่านมาก็มีเค้าลางมาตลอด อย่างไรก็ตาม มีการทำเซอร์เวย์สำรวจความพึงพอใจของพนักงานไทยพีบีเอส ซึ่งผมก็ได้คะแนนชนะแบบถล่มทลาย ถือว่าผมชนะในการทำผลสำรวจ เมื่อมาถึงวันนี้ผมจึงงงว่ามีเรื่องนี้ได้อย่างไร”

ไม่เท่านั้นยังมีการเปิดเผยด้วยว่า ก่อนที่ กนย.จะมีมติเลิกจ้างออกมา ได้เรียก “สมชัย” เข้าห้องประชุม เพื่อโน้มน้าวใจให้ “ลาออก” โดยความสมัครใจ

แต่ “สมชัย” ไม่ตกลง จึงถูกปลดกลางอากาศในที่สุด

การ “ปลด” คนระดับนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายเป็นธรรมดา ที่ว่าไม่ยอมทำตามแผนงานของ กนย.นั้น ก็อาจจะกล้อมแกล้มไปได้ว่าแนวทางระดับผู้ปฏิบัติกับฝ่ายนโยบายไม่ตรงกัน แต่การนำข้อหาสำคัญอย่างเรื่องอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาทพ่วงมาด้วยนั้น ต้องบอกว่า “เสียหาย” มาก เพราะหากตีความแบบไม่รู้ข้อเท็จจริง มองเลยเถิดไปได้ว่า งานนี้อาจเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกต่างหาก

เชื่อว่า “สมชัย” คงยอมไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะยื่นศาลปกครองขอความเป็นธรรมไม่ช้าก็เร็วนี้

ว่ากันว่า 4 โครงการที่ “สมชัย” อนุมัติข้ามหัว กนย.ไปนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินการทีวีดิจิตอลในส่วนของช่องเด็กและเยาวชน ตามกรอบเวลา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ที่สำคัญได้มีการทำเรื่องเสนอ กนย. แต่ไร้วี่แววที่จะแทงเรื่องคืนกลับมา จนต้องตัดสินใจเดินหน้าไปเองในที่สุด

ขณะที่คำแนะนำของ กนย.ที่บอกว่า “สมชัย” ไม่ทำตามนั้น ก็เพราะ “หลายใบสั่ง” กระทบกับความเป็นอิสระของสื่อ โดยเฉพาะความเป็น “สื่อสาธารณะ” ของ “ไทยพีบีเอส” เอง ซึ่งแหล่งภายในคอมเฟิร์มด้วยว่า “สมชัย” มีหลักฐานที่ชี้ว่า กนย.แทรกแซงการทำงานอีกด้วย

เชื่อว่าเหตุผลทั้ง 2 ข้อที่ว่ามานี้ทั้ง “สมชัย” และ กนย.ก็รู้อยู่แก่ใจ

งานนี้จึงถูกมองไปว่าเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ที่จะเอา “สมชัย” ออกจากตำแหน่งตาม “ใบสั่ง” ของใครหรือไม่

เพราะในความเป็นจริงตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่ของ “สมชัย” ในฐานะ ผอ.ไทยพีบีเอส ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง และมีผลประเมินการทำงานไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร อีกทั้งเรตติ้งของ “ไทยพีบีเอส” ตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสำคัญก็มาจากการแข่งขันในสงครามทีวีดิจิตอล

และ “สมชัย” นี่เองที่เกือบจุดไฟเผาบ้านเมื่อครั้งปล่อยให้ออกอากาศรายการที่หมิ่นเหม่เกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง จนสุดท้ายต้องยอมถอยหลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ก็ทำให้”สมชัย” เสียเหลี่ยมความเป็นผู้นำองค์กรไปไม่ใช่น้อย ในขณะที่ความพยายามในการสลายขั้วอำนาจของทีมผู้บริหารชุดเก่าก็ไม่สำเร็จ จนเกิดปรากฏการณ์ “สมองไหล” เล็กๆ มีคีย์แมนหลายคนทยอยทิ้งที่มั่นไปประจำการสถานีอื่นๆที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด

พูดง่ายๆในแง่ผลงานด้านการบริหารก็ไม่น่าเป็นที่พอใจเท่าไรนัก

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นแง่มุมความเป็น “สื่อสาธารณะ” ของ “ไทยพีบีเอส” ก็ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้ง โดยเฉพาะความคุ้มค่ากับงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาทที่ได้รับมา และเป็นงบประมาณที่มาจาก “ภาษีบาป” เฉกเช่นเดียวกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กำลังถูกจัดระเบียบอยู่ในตอนนี้

เรื่องของ “ไทยพีบีเอส” และ “สสส.” จึงถูกเชื่อมโยงเป็นคนละเรื่องเดียวกันว่า “ผู้มีอำนาจ” กำลังกระชับพื้นที่จัดระเบียบองค์กรที่เข้าข่าย “รัฐอิสระ" เพราะงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล จะเห็นได้จากความพยายามแก้ไขให้งบประมาณ “ไทยพีบีเอส - สสส.” ต้องผ่านระบบงบประมาณปกติ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกตีตกไป

มองอย่างให้ความยุติธรรมก็ต้องบอกว่า การนำเสนอข่าวของ “ไทยพีบีเอส” ทำได้ดีในระดับหนึ่ง ในฐานะองค์กรกึ่งรัฐที่ไม่ได้เป็นเอกชนเต็มตัว แต่สำหรับ “ผู้มีอำนาจ” แล้วดูจะไม่สบอารมณ์เท่าที่ควร ไม่ว่าฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายทหารในตอนนี้

ว่ากันว่าตั้งแต่ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา มี “โนติส” เตือนทางฝ่ายบริหาร “ไทยพีบีเอส” ไปหลายครั้งเกี่ยวกับมุมมองการนำเสนอข่าวสารและข้อมูล

เมื่อปลายปีก่อนก็เกิดเป็นเรื่องเป็นราวมาหนหนึ่ง มี “นายทหารยศพันเอก” นำทหารกลุ่มหนึ่ง เดินทางเข้าพบผู้บริหาร “ไทยพีบีเอส” โดยอ้างคำสั่งผู้บังคับบัญชาขอไม่ให้เผยแพร่รายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป” เนื่องจากไม่พอใจวิธีการตั้งคำถามของ “ผู้ดำเนินรายการ” ซึ่งบางช่วงบางตอนมีการพาดพิงถึงการทำรัฐประหารรวมอยู่ด้วย

ที่สุด “บิ๊กไทยพีบีเอส” หรือจะสู้ “บิ๊กทหาร” ก็มีคำสั่งให้ปรับรูปแบบการนำเสนอรายการดังกล่าวและไม่ให้ “ผู้ดำเนินรายการ” ที่ถูกระบุถึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

พอเกิดเรื่องมีผลกระทบกับ “ลูกน้อง” ภายในองค์กรก็มักมีคำถามถึงภาวะความเป็นผู้นำ และหลักการความเป็น “ทีวีสาธารณะ” ของผู้บริหารว่าแข็งขนาดไหน ผลที่ตามมากลับเป็นความเชื่อมั่น-ศรัทธาที่เสื่อมลงของคนในองค์กร “ไทยพีบีเอส” เอง

สรุปรวมๆแล้วต้องบอกว่า ในแง่บริหารองค์กรของ “สมชัย” ก็สอบตก ในแง่ความเป็นผู้นำก็อาจมีปัญหาบ้าง

แต่สาเหตุแท้จริงที่บอร์ด กนย.ต้องเล่นกันแรงถึงขนาดปลดกลางอากาศขนาดนี้ น่าเป็นเพราะความดื้อของ “สมชัย” ที่ไม่ยอมลาออกไปดีๆ

และดันปล่อยให้ “ไทยพีบีเอส” ไปเหยียบตาปลา “บางคน” บ่อยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น