xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กบฏ”หลังพวงมาลัยไม่จ่ายค่าปรับ คนไทย “เบี้ยว”ใบสั่งเพราะเหตุใด !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นโยบาย 6 ข้อของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. คนที่ 11 มีเรื่องการจราจรรวมอยู่ในนั้นด้วย ขนาดให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันระมัดระวังเพราะล่อแหลม มีภาพติดลบและในเวลาไล่เลี่ยกันภาคประชาชนโดยนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ตัวแทนชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมกับประชาชนจำนวนหนึ่ง เดินทางยื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร. พร้อมรายชื่อประชาชน 3.5 หมื่นคน ขอให้ยกเลิกระบบส่วนแบ่งใบสั่ง เนื่องจากผู้ขับขี่ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาวบ้านหาเช้ากินค่ำได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงอยากให้ทบทวนมาตรการบังคับใช้กฏหมายนี้ และจะมาทวงถามความคืบหน้าในอีก 30 วัน

ถือว่าสอดคล้องกันดี ทั้งตัว ผบ.ตร. ที่แสดงความห่วงใยต่อปัญหานี้ในวันมอบนโยบายแก่ 335 นายพลตำรวจ “ล่อแหลม - ติดลบ” ในความหมายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ คงไม่ต้องขยายความไปในทางไหน นอกจากตำรวจหลายๆ คนชอบฉวยโอกาสไปทำมาหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน จึงขอให้บรรดา “หัวหน้าหน่วย” ช่วยกันคนละไม้ละมือ

อีกข่าวเกี่ยวกับการจราจรในกทม. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น.มีคำสั่ง 373/2558 ให้ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. มาทำหน้าที่รักษาราชการแทนพล.ต.ต.อภิสิทธิ์ เมืองเกษม ผบก.จร. ซึ่งเกษียณอายุราชการ....ข่าวนี้ฮือฮาในกลุ่มนักข่าวสายกองบัญชาการตำรวจนครบาลกันมาก เพราะก่อนหน้า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีต ผบช.น.มีคำสั่ง “ทิ้งทวน” เมื่อ 24 ก.ย. ให้พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รอง ผบก.จร. ทำหน้าที่รักษาการณ์ ผบก.จร.โดยระบุให้ทำหน้าที่แทนในวันที่ 1 ต.ค.
 
คำสั่งของ พล.ต.ต.ศานิตย์ จึงเท่ากับเป็นการ “หัก” กันอย่างชัดเจน

ประเด็นหักหน้าหรือไม่ให้เกียรติกันคงไม่ต้องพูดถึง เพราะตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปเรื่องการ “ทิ้งทวน” มีคำสั่งอะไรก่อนหมดหน้าที่เพียงไม่กี่วัน เป็นเรื่องไม่พึงปฏิบัติอยู่แล้ว ทั้งคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย หรือการอนุมัติโครงการต่างๆ เนื่องจากมัน “ล่อแหลม -ติดลบ” อย่างที่ผบ.ตร. ท่านว่า

รู้ว่า “แหลม”ยังกล้า “ล่อ” ก็ต้องหน้าแหกกันบ้าง

ของแบบนี้ยอมกันได้ที่ไหน ทุกคนย่อมมีตัวตน มีอำนาจตามกฎหมาย หากได้รับตำแหน่งให้ทำหน้าที่ เมื่อไม่สามารถแต่งตั้งคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้เป้าหมายต่างๆ คงไม่บรรลุผล หรืออาจจะเป็นคนโง่ เซ่อ บ้า ไปเลยก็ได้

เช่น การทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งของอดีต ผบช.น. อ้างถึงสถานการณ์ไม่ปกติ ขอให้แต่งตั้งรอง ผบช.น. 5 -6 คน ตามที่เสนอเข้ามานั่งต่อตูด ผบช.น. คนปัจจุบัน วิธีแบบนี้ไม่ทราบว่ากล้าคิดกันได้อย่างไร เอาเป็นว่าการที่ พล.ต.ต.ศานิตย์ ออกคำสั่งทับคำสั่ง “หักหน้า” กันอย่างเห็นๆ มีเสียงเชียร์มากกว่าตำหนิ จะด้วยเหตุผลอะไร คนมีสติปัญญา สามัญธรรมดาทั่วไปย่อมคิดได้

คราวนี้คงต้องมาถึงตัวบุคคล ที่จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ต้องเกรงใจเช่นกัน

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. เป็นใครมาจากไหนไม่ต้องอธิบายกันมาก สั้นๆ ง่ายๆเขาคือนายตำรวจเด็กปั้นของระบอบ “ทักษิณ” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ้าอำนาจไม่เปลี่ยนป่านนี้ขึ้นเป็น ผบช.น. ไปนานแล้ว

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะจุดเด่นของรองผบช.น.ท่านนี้ มีความเชี่ยวชาญเรื่องการจราจรในกรุงเทพมหานคร อย่างหาตัวจับยากคนหนึ่ง

แม้หลายๆ นโยบายที่ออกมาอาจจะถูกคัดค้านบ้าง เช่น มาตรการกำหนดอายุรถยนต์ระหว่าง 7-10 ปีห้างเข้า กทม.ชั้นใน หรือเร็วๆนี้ คือการแก้เผ็ดบรรดาผู้ใช้รถใช้ถนนที่ดื้อไม่ยอมไปเสียค่าปรับจนทำให้ใบสั่ง “เก้อ” มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยรองฯอดุลย์ ทำหนังสือไปถึงกรมการขนส่งทางบก ขอให้ช่วยอายัดการต่อภาษีประจำปีรถยนต์ แต่ปรากฏว่า ทั้งกฤษฎีการ และกรมการขนส่งฯ ไม่เอาด้วย แต่ความพยายามของตำรวจยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น

ฝ่ายตำรวจโดย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ยังพยายามหาทางอื่นๆ เช่น เตรียมเสนอให้ออกระเบียบหากไม่ไปเสียค่าปรับตรงเวลา จะต้องเพิ่มความเข้มขึ้น เช่น มีค่าปรับล่าช้าจนไปถึงหนักสุดคือมีโทษจำคุก

ด้านหนึ่งต้องถือว่าดีเพราะการบังคับใช้กฎหมาย หากไม่มีมาตรการที่ศักดิ์สทธิ์ บรรดาผู้ขับขี่ประเภทมักง่ายก็ยังคงเต็มอยู่บนท้องถนนหลวง แต่อย่าลืมว่าหลักนิติศาสตร์ จะต้องเดินคู่กับกับหลักรัฐศาสตร์เสมอ

  จุดอ่อนของการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่มองเห็น ก็คือ ตำรวจนั่นเองที่มีหลายมาตรฐาน มีปากมีเสียง มีเรื่องราวกับประชาชนได้ทุกวี่ทุกวัน

ไม่ทราบว่าตำรวจคนอื่นๆ นอกจากพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนที่ 11 แล้วท่านจะมองเห็นเหมือนกันไหมว่า มันล่อแหลม ติดลบ เพราะตำรวจส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดเอากฏหมายจราจรไปทำมาหากิน

แม้กระทั่งการจับ-ออกใบสั่ง อย่างถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ก็ยังมีเรื่องของผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยผู้ค้นคิดอ้างถึงแรงจูงใจ

แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้คนจับไม่พอ ยังต่อเจือจานไปยังผู้บังคับบัญชา !?

ยิ่งเป็นตำรวจทางหลวง ท่านเคยได้ยินเรื่องนี้หรือไม่ เช่นสติ๊กเกอร์รถบรรทุก การเคลียร์เส้นทาง และการเช่ารถสายตรวจออกทำงาน หรือการวิ่งเต้นซื้อขายการทำหน้าที่ของตำรวจสายตรวจทางหลวง บางแห่งต้องจ่ายส่วยยอดรายวันรายเดือน ยันรายปี หากทำไม่ได้มีโอกาสโดนสลับสับเปลี่ยนหน้าที่เป็นต้น

กลับมาที่ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ผู้กำลังจะมาทำหน้าที่ดูแลปัญหาจราจรใน กทม. อีกครั้ง....เที่ยวนี้ไม่ทราบว่าจะยังมีมุมมองเดิมๆ หรือเปล่า และไม่ทราบว่า รรท.ผบช.น. จะให้อำนาจมากน้อยแค่ไหน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ขอเสนอให้ผู้บังคับบัญชาเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นหลัก

ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย หรือกวดขันวินัยการจราจรนั้น ขอให้ทำกันอย่างโปร่งใส ดำเนินการตามความผิดที่เข้าข่ายก่อให้เกิดอันตราย รถซิ่ง รถแข่ง หรือพวกขับย้อนศร ขับบนทางเท้า พวกกีดขวาง ส่วนที่ขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนด (ควรมีป้ายเตือนอย่างชัดเจนด้วย) พวกฝ่าสัญญาณไฟ และสัญญาณจราจร รวมไปถึงการต่อภาษี ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐอันเป็นความรับผิดชอบของพลเมืองดี

ส่วนข้อหาอื่นๆ แบบหาเรื่องจับ หาเรื่องไถ พอกันที

ปัญหาการจราจรอย่ามองเพียงการบังคับใช้กฎหมาย หรือ วินัยจราจรเท่านั้น ปัญหานี้ มันเริ่มจากจำนวนรถมากมายมหาศาลเกินกว่าถนนต่างๆ จะรับได้ พอมาเจอผังเมืองแย่ๆ เจอคนขับรถแย่ๆ พวกมักง่าย ปัญหาจึงเลวร้ายมากขึ้น

แต่ที่เป็นปัญหาบรรดาเจ้านายสีกากีหลายคนที่ผ่านมากลับไม่พูดถึง วันนี้ รรท.ผบ.ตร. คนใหม่ออกมาเตือน ออกมาแสดงความห่วงใยแล้ว ระดับ ผบช.ทั่วประเทศ ก็สมควรตอบสนองแนวคิดนี้ ต้องปรับ -เปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะถ้าดีจริง แก้ไขได้จริง คงไม่มีปัญหาตามมาเป็นพรวน พอๆกับเสียงก่นด่าสาปแช่ง

อย่าอ้างว่าตำรวจเป็นเพียงปลายเหตุ เมื่อกฎหมายออกมาอย่างไรก็ต้องว่าไปอย่างนั้น....เรื่องการจราจรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกันอยู่มากมาย ทั้งคมนาคม มหาดไทย และ สตช. แต่ในการควบคุม กำกับดูแลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คือตำรวจ มันจึงอยู่ที่ท่านจะเลือกกันอย่างไร เลือกทำมาหากิน รีดไถประชาชน ออกกฎหมายมาหวัง “ล็อกพฤติกรรม” ขนาดถ้าไม่ยอมเสียค่าปรับ จะจับยัดเข้าคุกเข้าตะราง
          
     เคยส่องกระจกดูตัวเองบ้างไหม

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า เหตุใดใบสั่ง 1 ล้านใบ จึงมีคนไปชำระค่าปรับเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ !!??

เหตุผลเรื่องไม่สะดวก ต้องออกไอเดียให้ไปจ่ายที่เคาเตอร์เซอร์วิสนั้น เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย จริงๆ แล้วน่าจะมาจากประชาชนส่วนใหญ่เกิดการต่อต้านในการใช้อำนาจ-หน้าที่ ของตำรวจ

หากท่านอยากให้การบังใช้กฎหมายได้ผล สตช.จะต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีกฎกิติกามารยาท ที่สังคมยอมรับได้ อย่าปล่อยให้ตำรวจออกไปเพ่นพล่านเป็นโจร เป็นเปรตหากินอยู่ตามท้องถนน

ตำรวจใหญ่ในห้องแอร์ ก็อย่างเพียรพยายามออกความคิด ออกนโยบายมาบีบคั้นกัน อีกตัวอย่างที่อยากจะยกให้เห็นคือ นโยบายของกรงเทพมหานคร ที่เตรียมให้คนซื้อรถใหม่ทุกรายต่อไปนี้จะต้องมีที่จอดรถเป็นของตัวเองด้วย

ถามว่าแนวคิดนี้ดีไหม ตอบว่า ถ้ามองอย่างโลกสวยต้องตอบว่าดี แต่ในทางปฏิบัติจริงสามารถใช้ได้หรือเปล่า มันจะเกี่ยวดองหนองยุ่งกับปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างหนัก ที่สุดจะกลายเป็นกฎหมายรังแกประชาชน มีจำนวนคนไม่เห็นด้วยรู้สึกต่อต้านอย่างเงียบๆ กลายเป็น “กบฏ” บนถนนเพิ่มขึ้นทุกวันๆ

ล่าสุดดูเหมือนว่า พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. จะติดอกติดใจสไตล์การทำงานของรองฯอดุลย์ ถึงขนาดใช้คำว่า “กู้ชื่อ - กู้ภาพลักษณ์” เตรียมระดม “ล็อกล้อ”ทั่ว กทม. เกรงว่าจะหลงทางเข้าป่าเข้ารกไป

  เรื่องการกวดขันวินัยจราจร ขอย้ำว่าเป็นเรื่องดี แต่ตำรวจต้องตระหนักถึงการอำนวยความสะดวก และอย่าแฝงเรื่องทุจริต โดยเอากฎหมายเป็นเครื่องมือหากิน


กำลังโหลดความคิดเห็น