xs
xsm
sm
md
lg

"เจ้าสัวซีพี"ท้วงแชมป์ รวยสุดในไทย-อันดับสี่เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - นิตยสาร ฟอร์บส เอเชีย เผย 50 อันดับตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดในเอเชียในปี 2015 โดยตระกูล “ลี” แห่งอาณาจักรอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ “ซัมซุง” ครองแชมป์อันดับหนึ่ง ขณะที่ตระกูลเจียรวนนท์ของ “เจ้าสัวธนินทร์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ติดอันดับที่ 4 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 19,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 718,000 ล้านบาท)
ผลการจัดอันดับของ ฟอร์บส ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (8 ต.ค.) ระบุว่า ครอบครัวประธาน ลี คุน-ฮี แห่งซัมซุงมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 26,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนกันยายน โดยบรรดาทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ต่างมีกิจการในครอบครองรวมกันมากกว่า 50 บริษัท
หลังจากที่เริ่มก่อตั้งด้วยน้ำพักน้ำแรงของ ลี บยุง-ชุล ในปี 1938 อาณาจักรซัมซุงได้ขยายเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลายมาเป็นผู้นำธุรกิจทั้งในด้านโทรศัพท์มือถือ การก่อสร้าง และอู่ต่อเรือ
ฟอร์บสเอเชีย ระบุว่า ครอบครัว ลี ถือเป็น “แชโบล” หรือตระกูลนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของแดนโสมขาว โดยมีผลประกอบการคิดเป็นร้อยละ 22 ของมูลค่าจีดีพีเกาหลีใต้ในปี 2014
“ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียเกือบครึ่งหนึ่งเป็นลูกหลานชาวจีน แต่ถึงกระนั้นกลับไม่มีครอบครัวเศรษฐีในจีนแผ่นดินใหญ่ติด 1 ใน 50 อันดับของภูมิภาคเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มบริษัทในจีนเพิ่งจะเกิดได้ไม่นาน และยังดำเนินกิจการโดยเจ้าของรุ่นแรก” รายงานของฟอร์บส ระบุ
ตระกูลเศรษฐีอับดับที่ 2 ของภูมิภาค ได้แก่ ครอบครัวของ “ลี เชา กี” มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงซึ่งเป็นประธานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แฮนเดอร์สัน ดีเวลลอปเมนต์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 24,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อันดับที่ 3 ตกเป็นของตระกูล “อัมบานี” จากกลุ่มบริษัท รีไลแอนซ์ กรุ๊ป ในอินเดีย ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 21,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอันดับ 4 ได้แก่ ตระกูล “เจียรวนนท์” ของเจ้าสัวธนินทร์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 19,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ข้อมูลของฟอร์บส ระบุว่า เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มซีพีซึ่งประกอบธุรกิจทางด้านการเกษตรและอาหาร สามารถทวงบัลลังก์เศรษฐีอันดับ 1 ของไทยกลับคืนมาได้ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 9.73 หมื่นล้านบาท และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซีพีก็ได้ร่วมกับ อิโตชู (ITOCHU) บริษัทการค้าของญี่ปุ่น ทุ่มเงินลงทุน 10,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อหุ้น 20% ในบริษัท CITIC Limited หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีนซึ่งประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ การให้บริการทางการเงิน ทรัพยากร และพลังงาน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้าง และอื่น ๆ
เจ้าสัวธนินทร์ยังสนใจซื้อกิจการ “เทสโก โลตัส” ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มซีพีถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพฤติกรรมผูกขาดการค้า จนเกิดกระแสบอยค็อตสินค้า “เซเวนอีเลฟเวน” อยู่พักใหญ่ และแม้ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่ซีพีก็ยืนยันว่าจะนำความคิดเห็นของสาธารณชนไปปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคม
ทั้งนี้ ตระกูลของอภิมหาเศรษฐีฮ่องกง “ลี กาชิง” ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้ถูกนำมาจัดอันดับในลิสต์ของฟอร์บส โดยทางนิตยสารให้เหตุผลว่า ลี ไม่มีทายาทรุ่นหลานที่เข้ามาบริหารกิจการของครอบครัวอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น