พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพยสภา
ที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุข สนช.
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณศุข
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
กรรมการแพยสภา
ที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุข สนช.
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณศุข
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
ปัญหาและข้อเสนอด้านการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขภาครัฐ เป็นการบริการสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดในการจัดบริการด้านสาธารณศุข และยังมีอำนาจในการควบคุม กำกับและตรวจสอบการจัดการด้านสาธารณสุข ของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในกิจการที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ยา ผลิตภัณท์สุขภาพ การบริการด้านสุขภาพ ความงาม การสุขาภิบาล การควบคุมโรคระบาด รวมทั้งการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการควบคุมการบริการด้านการแพทย์และสาธารณศุขในภาคเอกชน
การจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขภาครัฐยังมีหน่วยงานอื่นที่จัดบริการเช่นนี้ด้วย ได้แก่กระทรวงศึกษาธิการมีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ที่เป็นโรงพยาบาลระดับสูง ที่รักษาผู้ป่วยที่มีอาการยุ่งยากซับซ้อนที่ถูกส่งต่อมาจาก รพ.ทั่วประเทศ โรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทยโรงพยาบาลสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
นอกจากการบริการสาธารณสุขภาครัฐแล้ว ก็ยังมีเอกชนที่จัดให้มีบริการสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลและสถานบริการเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบการให้บริการในภาคเอกชน
การบริการภาคเอกชน เป็นการบริการเสริมจากการบริการภาครัฐ เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่เป็นคนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งอาจจะจ่ายเงินเองในตอนที่เข้าไปรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย หรือการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรค หรือซื้อประกันเป็นกลุ่มหรือประกันสุขภาพเฉพาะตัว นอกจากนี้สถานบริการสาธารณสุขถาคเอกชนเป็นแหล่งที่ทำรายได้เข้าประเทศจำนวนปีละกว่าแสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี และการบริการสุขภาพในภาคเอกชนนี้ ยังไปส่งเสริมการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการด้านอาหาร และการจ้างงานภาคการบริการอีกมาก จึงควรมีการส่งเสริม/ควบคุมให้มีคุณภาพมาตรฐาน
เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ต้องรับภาระให้การบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนส่วนมากของประเทศ เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล ซึ่งต้องการการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากมีปัญหามากมายในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้นจะเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ได้รับทราบและนำไปประกอบการตัดสินใจพิจารณษปฏิรูปการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดี เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและบุคลากรสาธารณศุขที่ทำงานรับใช้ประชาชนเช่นเดียวกัน
ปัญหาการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข
ในปัจจุบันการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาสำคัญอยู่หลายประการดังต่อไปนี้คือ
1. ขาดบุคลากรที่เหมาะสม เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งและอัตรากำลังของบุคลากรของกระทรวงสาธาณณสุข ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และก.พ.ก็ “แช่แข็ง”ตำแหน่งไว้ ไม่มีการขยายตำแหน่งและอัตรากำลังของข้าราชการตามนโยบายในยุคของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีภาระงานเพิ่มขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม
การขาดตำแหน่งและอัตรากำลังบุคลากรนี้เป็นมาอย่างยาวนาน จนทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณศุขออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ไข แต่การการแก้ไขก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี แต่ปัญหาก็สะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยมา
2. ขาดงบประมาณที่เหมาะสม ในการทำภารกิจตามหน้าที่ กล่าวคืองบประมาณส่วนใหญที่ต้องใช้ในการให้บริการประชาชนนั้น ไม่ได้ถูกจัดสรรลงมาให้กระทรวงสาธารณสุขโดยตรงเหมือนกระทรวงอื่น (แม้แต่เงินเดือนบุคลากรส่วนหนึ่งก็เอาผูกติดกับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กล่าวคือรัฐบาลได้จ่ายเงินในการทำงานตามภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขไปยังกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการ “ส่งมอบเงินกองทุนนี้”ให้แก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณล่าช้า และได้รับงบประมาณไม่ครบถ้วน มีเงินรั่วไหลออกไปนอก “สถานบริการ” และการทุจริตประพฤติมิชอบรวมทั้งการที่กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายๆ กรณีและหลายคน ส่งผลให้ปผู้ป่วยได้รับการรักษาจากยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ที่ขาดคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งนักวิจัยของ TDRI ได้สรุปว่าอัตราการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยในระบบ 30 บาท น้อยกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ
3. ขาดอาคารสถานที่ เทคโนโลยี วัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ อาคารเก่าทรุดโทรม ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เตียงล้น ผู้ป่วยต้องนอนเตียงเสริมเตียงแทรก หรือต้องตระเวนหาเตียงไปหลายแห่งกว่าจะลงเอยได้
4. บุคลากรรับภาระงานมาก สุขภาพทรุดโทรม ผู้ป่วยเสี่ยงต่อความเสียหาย เกิดปัญหาสมองไหลไปสู่เอกชน
5. ผู้ป่วยมีจำนวนมากเกินไป เนื่องจากประชาชนขาดความตระหนักและขาดความรับผิดชอบในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
6. คุณภาพมาตรฐานทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขตกต่ำ ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหาในความขาดแคลนงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่และเทคโนโลยี ที่นำไปสู่ความเสื่อมของคุณภาพมาตรฐาน ที่เสี่ยงต่อความเสียหายของผู้ป่วย จึงต้องปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขโดยด่วน
ข้อเสนอในการปฏิรูปการจัดบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข
เป้าหมาย เป้าหมายในการปฏิรูปการจัดบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขคือ
1.ประชาชนมีสุขภาพดี แต่เมื่อเจ็บป่วยก็สามารถไปรับการดูแลรักษาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้รัฐบาลแบกรับภาระงบประมาณมากเกินไป จนขาดงบประมาณไปพัฒนาประเทศ
2.พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง ทันสมัย มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ เหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว
3.ป้องกันและแก้ไขปัญหาสมองไหล เพื่อให้บุคลากรที่ทำงานรับใช้ประชาชนมีความสุขและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพตามมาตรฐานสากล
วิธีการแก้ไข
1.แก้ปัญหาการขาดบุคลากร โดยการแยกการบริหารจัดการบุคลากรออกจากก.พ.
2.แก้ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ โดยการจัดสรงงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุขโดยตรงเหมือนกระทรวงอื่นๆในประเทศไทย โดยการแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้เข้ามาอยู่ภายใต้สังกัดของหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่เหมือนกรมบัญชีกลาง ในการจ่ายเงินให้แก่สถานบริการสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยผู้มีสิทธิในกองทุน เข้ารับการรักษาพยาบาล
ทั้งนี้ การโอนการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาอยู่ภายใต้ระบบราชการ นอกจากจะแก้ปัญหาการขาดงบประมาณในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วยังจะทำให้เกิดผลดีแก่ประเทศชาติอีกหลายประการดังนี้คือ
1) มีการควบคุมกำกับ และตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรวดเร็ว รัดกุม รอบคอบ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้บริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ได้จ่ายเงินไปตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯหรือไม่ สามารถควบคุมไม่ให้มีการใช้เงินไปนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนนี้ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นหลักประกันแก่ประชาชนที่ยากไร้ว่าจะได้รับการรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยตามคุณภาพมาตรฐาน ได้รับความสะดวก ปลอดภัยตรงกับความจำเป็นในการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง โดยได้รับผลการรักษาที่ดีตามมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข
3) ป้องกันการหมุนเวียนเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของกลุ่มบุคคลเฉพาะกลุ่ม ที่ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นกรรมการ อนุกรรมการต่างๆซ้ำซากหลายกรรมหลายวาระหลายกรรมการ และหลายอนุกรรมการ
4) ป้องกันการรั่วไหลของเงินกองทุนไม่ให้ถูกส่งไปเข้ามูลนิธิหรือองค์กรต่างๆนอกเหนือหน่วยบริการ โดยมีกลุ่มบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของกองทุนฯเป็นผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์โดยมิชอบ
5) สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของงบประมาณแผ่นดินในการจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน และเบี้ยประชุมของกรรมการและอนุกรรมการที่สูงเกินจริง
6) ทำให้รัฐบาล (โดยการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) สามารถบริหารงานได้ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เนื่องจากรัฐมนตรีจะเป็นผู้บังคับบัญชาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเต็มที่ สามารถ “สั่งการ”ในการบริหารได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามนโยบาย ไม่มีปัญหาอุปสรรคเหมือนในปัจจุบันนี้ ที่รัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพบริหารงานได้ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของคณะกรรมการ รัฐมนตรีมีเสียง 1 เสียงเท่ากับกรรมการคนอื่นๆเท่านั้น
3.แก้ปัญหาการขาดอาคารสถานที่ เทคโนโลยี วัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ โดยการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า capacity building คือการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการ ให้สามารถรองรับความจำเป็นในการให้บริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ตามความจำเป็นในการเจ็บป่วยของประชาชน
4.ป้องกันและ แก้ปัญหาสมองไหลจากกระทรวงสาธารณสุขไปสู่ภาคเอกชน นอกจากจะแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.แล้ว ต้องกำหนดภาระงาน เวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม รวมทั้งการส่งเสริมให้บุคลากรมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพตามสมควรอีกด้วย เพื่อให้บุคลากรยังรักที่จะทำงานในกระทรวงสาธารณสุข
5. แก้ปัญหาความเจ็บป่วยที่มากเกินไปของประชาชนโดยการบริหารจัดการเรื่องระบาดวิทยา การรายงาน สถิติและอัตราการเจ็บป่วย ให้รวดเร็ว ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อวางแผนในการจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละท้องที่ รวมทั้งวางแผนในการป้องกันควบคุมโรค และการให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และให้ประชาชนมีความสามารถในการรักษาโรคเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคมีอาการรุนแรงและลดการพึ่งพิงบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล
6.แก้ปัญหาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ที่ต่ำลงของกระทรวงสาธารณสุขได้โดย
1) จัดระเบียบการใช้บริการสาธารณสุข โดยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการไปโรงพยาบาล เพื่อจะให้โรงพยาบาลระดับสูงหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเวลาให้ความเอาใจใส่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ป่วยอาการเล็กๆ น้อยๆ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลปฐมพยาบาลตนเองและคนในปกครองในครอบครัวได้แล้ว หลังจากนั้นถ้าอาการไม่ทุเลาจึงไปหาหมอในระบบปฐมภูมิ เช่นรพ.ตำบล รพ.ชุมชุน และต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ส่งตัวไปรักษาใน รพ.ทั่วไปหรือ รพ.ศูนย์ ตามความจำเป็นของอาการเจ็บป่วย การทำตามขั้นตอนเช่นนี้ จะทำให้ผู้ป่วยไม่ไปใช้บริการซ้ำซ้อนหรือซ้ำซาก ทำให้แพทย์แต่ละระดับเช่นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ตามคุณภาพ มาตรฐาน
2) การยกเลิกนโยบายในการ ออกกฎเกณฑ์การใช้ยาต่างๆของผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมานานแล้ว ไม่ให้มาออกระเบียบห้ามแพทย์ใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยของตน และยังมีบทกำหนดโทษแพทย์ที่ไม่ทำตามข้อกำหนดนี้ โดยการไม่จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วย เป็นการเอาชีวิตผู้ป่วยไปเสี่ยงอันตรายจากการที่ไม่ได้รับยาหรือการรักษาที่ไม่เหมาะสมกับการป่วยของตน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการไม่เห็นคุณค่าของชีวิต สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอัตราตายสูงกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ตามผลการวิจัยของ TDRI
3) ยกเลิกการใช้บัญชียาหลักแห่งชาติเป็นมาตรฐานอ้างอิงว่าเป็นรายการยาที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงสุดในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีสิทธิรับการรักษาในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากทั่วโลกใช้บัญชียาหลักแห่งชาติเป็นรายการยาที่จำเป็นพื้นฐานในการรักษาโรคทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้รวมเอายาหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณภาพสูงกว่ายาเดิมๆ การบังคับไม่ให้แพทย์ใช้ยานอกเหนือจากรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยและละเมิดสิทธิ์แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอีกด้วย
4) ปัจจุบันนี้ วิทยาการทางการแพทย์ นวัตกรรม ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการค้นคว้า ประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและก้าวหน้ามากขึ้นตลอดเวลา เพื่อให้สามารถต่อสู้และกำจัดโรคและเชื้อโรคร้ายแรงที่อุบัติใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาความเจ็บป่วยมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง เป็นภาระที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง และไม่อยากจะจ่ายเงินในการดูแลรักษาผู้ป่วยเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นภาระหนักแก่งบประมาณแผ่นดินมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้รัฐบาลขาดงบประมาณในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากจะแก้ไขโดยการปราบคอรัปชั่น แก้ไขการบริหารที่รั่วไหลและขาดประสิทธิภาพแล้ว รัฐบาลและประชาชนต้องให้ความร่วมมือกันในการดูแลสุขภาพประชาชน เช่นที่รัฐบาลทำมาแล้วในระบบประกันสังคม ที่ประชาชนที่มีรายได้ จะร่วมจ่ายเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคม เพื่อที่จะได้ใช้เงินในกองทุนร่วมภาครรัฐและเอกชน ในการจัดการให้บริการสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน รวมทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมให้มากขึ้น ประชาชนก็มีสวัสดิการเพิ่มขึ้น เกิดความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกันในการรับผิดชอบสวัสดิการและความเป็นอยู่ของประชาชนร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระจากงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนอย่างเดียว
สำหรับงบประมาณที่รัฐจัดให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็ควรจะเป็นกองทุนสำหรับประชาชนกลุ่มด้อยโอกาส เด็ก คนชรา ผู้พิการ หรือคนยากไร้เท่านั้น
ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น เป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้แก่ข้าราชการตามพันธสัญญาที่ประชาชนได้เสียสละเข้ามาทำงานรัฐฬช้ประชาชนและประเทศชาติ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงในสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ ของข้าราชการในปัจจุบัน ไม่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามธรรมาภิบาลในการปกครองประเทศที่รัฐบาลต้องรักษากฎหมายและพันธสัญญาที่ ยกเว้นกรณีที่จะมีกับข้าราชการใหม่เท่านั้น