xs
xsm
sm
md
lg

ไทยหนุนUN ร่วมปฏิบัติการ รักษาสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.58 เวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเรื่องการรักษาสันติภาพ Peacekeeping Summit 2015 ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70
ทั้งนี้ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมสหรัฐอเมริกา และประเทศเจ้าภาพอื่นๆ ที่จัดการประชุมในเรื่องที่เป็นบทบาทสำคัญของสหประชาชาติมาแล้ว 70 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง ประเทศไทยขอชื่นชมประเทศสมาชิกหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ให้คำมั่นในวันนี้ ที่จะให้การสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ
ไทยภูมิใจ ที่ได้สนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2489 ไทยได้ส่งทหาร และตำรวจ จำนวนมากกว่า 20,000 คน เข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพต่างๆ ของสหประชาชาติ ตั้งแต่สงครามเกาหลี จนถึงความขัดแย้งใน ติมอร์-เลสเต ตลอดจนในซูดาน และซูดานใต้
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงต้องพิจารณาทบทวนอย่างรอบด้าน เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติภาพในปัจจุบัน เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยยินดีที่ คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระระดับสูง ว่าด้วยปฏิบัติการด้านสันติภาพ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และล่าสุดยินดีที่เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอ ในรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า อาณัติของภารกิจรักษาสันติภาพ จะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ และจะต้องตระหนักว่า การป้องกันความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ การเสริมสร้างสันติภาพ และการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกัน และทั้งหมดเป็นรากฐานสำหรับสันติภาพอย่างยั่งยืน สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสิทธิทางการเมืองและสังคม และยังต้องส่งเสริมและรักษาสิทธิของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วย

ดังนั้น ไทยจึงเน้นความสำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ทำหน้าที่รักษาสันติภาพ และเป็นนักพัฒนาด้วย จากประสบการณ์ของไทยในการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพที่ ติมอร์-เลสเต และ ดาร์ฟูร์ ในซูดาน เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทย สามารถเข้าถึงชุมชนในพื้นที่ความขัดแย้งได้อย่างทั่วถึง โดยพยายามทำความเข้าใจกับชุมชน และนำทักษะด้านการพัฒนาต่างๆไปเผยแพร่ อาทิ การเกษตร และการบริหารจัดการน้ำ และดิน ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้คนท้องถิ่นสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง และสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป ภายหลังความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของไทย ได้รับความไว้วางใจ และการยอมรับจากคนท้องถิ่นในการปฏิบัติภารกิจนั้นๆ เป็นอย่างดี ไทยเชื่อว่าการเสริมสร้างและผลักดันเรื่องสตรี สันติภาพ และความมั่นคง เชื่อมโยงโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการก่อให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน แต่ยังมีสตรี ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และในกระบวนการเจรจาสันติภาพทั่วโลกจำนวนน้อย หลักฐานจากรายงานที่ไทยร่วมจัดทำกับสถาบันสันติภาพระหว่างประเทศ (International Peace Institute) ในปีนี้ บ่งชี้ว่า เมื่อสตรีมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ มีความเป็นไปได้สูงขึ้น ที่จะสามารถบรรลุความตกลงสันติภาพได้ พร้อมทั้งดำเนินการตามความตกลงนั้นได้ ปัจจุบันยังมีความต้องการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ อยู่มาก และเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ จะต้องรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ โดยต้องมองให้รอบด้านและให้รวมถึงมิติการพัฒนาด้วย
ไทยจึงขอยืนยันความตั้งใจว่า ไทยจะส่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และหน่วยทหารด้านการพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง เข้าร่วมในปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติในอนาคตตามที่ได้รับการร้องขอ และ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือเพิ่มเติมกับสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ เพื่อจัดการอบรมเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทย และขอบคุณประธานาธิบดี โอบามา อีกครั้งที่ได้ริเริ่มการประชุมที่สำคัญครั้งนี้
**มีม็อบหนุน-ต้าน"บิ๊กตู่"ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางไปประชุมเวทียูเอ็น ที่สหรัฐอเมริกา ว่า นานาชาติเข้าใจเรื่องของประเทศไทยมากขึ้น แต่ที่สำคัญหัวใจหลักๆ ของการเดินทางไปของนายกฯ ในครั้งนี้คือการเข้าไปช่วยการทำงานของยูเอ็นให้มากขึ้น อย่างเช่น การผลักดันการรักษาสันติภาพในการลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องความมั่นคง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนานาชาติดีมาก ซึ่งนายกฯได้ฝากขอบคุณมายังคนไทยทุกคนกับความสำเร็จในครั้งนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกฯ ย้ำโรดแมป จะเป็นไปตามกรอบเวลาในที่ประชุมยูเอ็น ขณะที่ยังไม่ทราบร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ จะเป็นการเสี่ยงหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า การที่นายกฯ ย้ำโรดแมป ให้กับนานาชาติในเวทีการประชุมยูเอ็นนั้น เป็นเพราะนายกฯ ตั้งใจในการทำงาน ซึ่งนานาชาติ ก็ตอบรับและพอใจในเรื่องนี้ดี ที่นายกฯให้ความมั่นใจในการทำงานตามโรดแมป แต่ทั้งนี้ โรดแมปก็เป็นกรอบเวลากว้างๆ ของการทำงาน ซึ่งหากขั้นตอนไหน ลดเวลาได้ก็สามารถทำได้
"ในส่วนการชุมนุมที่มีทั้งกลุ่มคนมาให้กำลังใจ และต่อต้านนายกฯ นั้นก็มีการรักษาความปลอดภัย และการจัดระเบียบที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งก็เห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งผู้ชุมนุมที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ที่สหประชาชาติจะได้รับทราบเรื่องราวหลากหลายมุมมองของประเทศไทย" นายปณิธาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น