อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)
ในโลกของธุรกิจ (และโลกของราชการ) ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมาย เราเข้าไปซื้อของ ไปใช้บริการ มีการใช้ Barcode scanner เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ เราท่อง Website ก็ถูกเก็บข้อมูลตลอดเวลา เราจับจ่ายใช้สอยก็ต้องมีการบันทึกข้อมูลการใช้บัตรเครดิตของเรา เราไปธนาคารหรือใช้บริการ internet banking ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ของเราก็ถูกบันทึกไว้ตลอดเวลา เรามีข้อมูลมากมาย มีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย มีความเร็วในการประมวลผลสูงมาก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน หน้าที่ของคนทำงานด้าน business analytics ไม่ใช่เป็นนักสถิติธรรมดาๆ ไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์ แต่เราทำหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมหาศาล เพื่อนำมาสกัดหาสารสนเทศและท้ายที่สุดคือปัญญาทางธุรกิจ (Business Intelligence) ที่จะนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive advantage)
สมมุติว่าเราเข้าไปซื้อสินค้าให้ห้างสรรพสินค้า หากเราสมัครสมาชิกบัตรลดของห้างสรรพสินค้า จะทำให้ห้างสรรพสินค้า รู้ว่าเราคือใคร และถ้าเรากลับมาซื้ออีก ห้างสรรพสินค้าสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมในการซื้อของของเรา พฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอย ประเภทของสินค้าที่ซื้อ เช่น วิเคราะห์ว่าเราชอบซื้อสินค้าอะไร ควบคู่กับสินค้าอะไรด้วยการวิเคราะห์ตะกร้าของตลาด (Market Basket Analysis) ทำให้ทราบว่าควรจะนำสินค้าอะไรมาวางคู่กัน จัดพื้นที่ขายได้ดีขึ้น (Space management) ถ้าหากจะโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์หรือจัดโปรโมชั่น ก็จะได้ทราบว่าควรจะเสนอขายอะไรกันแน่ เรายังสามารถวิเคราะห์จัดกลุ่มทางการตลาด (Market segmentation) จากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยได้อีก ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น เป็นการจัดการความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดโดยอาศัยความรู้จากปัญญาและการวิเคราะห์ทางการตลาด (Marketing analytics and intelligence) และปัญญาและการวิเคราะห์ลูกค้าสัมพันธ์ (Customer relationship management analytics and intelligence)
จำนวนธุรกรรมในแต่ละช่วงเวลา การเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลสินค้าคงเหลือและข้อมูลขายจะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อจัดผังหรือตารางการทำงานของพนักงานให้ลูกค้าใช้เวลารอคอยน้อยลง คำนวณระดับสินค้าคงเหลือที่เหมาะสมที่สุด คำนวณระดับการสั่งซื้อสินค้าที่เหมาะสมทันเวลา บริหารห่วงโซ่อุปทานได้เหมาะสมเป็นต้น ทั้งหมดนี้อาศัยความรู้ด้านปัญญาและการวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management analytics and intelligence)
ด้วยข้อมูลเดียวกันนี้ หากแผนกทรัพยากรมนุษย์ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human resource information system) และนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลการขายการตลาด ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่าพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าที่จะมียอดขายสูงนั้นควรมีลักษณะเช่นใด เช่น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนทดสอบบุคลิกภาพของพนักงานกับยอดขาย เราอาจจะได้ข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจเช่น พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าที่มีบุคลิกภาพแบบไม่เปิดเผยตัวเอง (Introvert) ซึ่งจะค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยพูด ไม่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ก่อนง่ายๆ กลับมียอดขายสูงกว่าพนักงานขายที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตัว (Extrovert) ซึ่งชอบเข้าหาคน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง ปัญญาและการวิเคราะห์ด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human resource analytics and intelligence) นี้ช่วยให้เราสามารถคัดเลือกบุคลากรได้เหมาะสมมากขึ้น รู้แนวทางในการพัฒนาบุคลากรได้ดีขึ้นเช่นกัน และนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย
ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้อาจจะออกบัตรเครดิตของตัวเอง โดยร่วมมือกันกับธนาคารพาณิชย์ สิ่งที่ห้างสรรพสินค้าและธนาคารพาณิชย์ต้องร่วมกันคือป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบนำบัตรเครดิตไปใช้ (Fraud) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทั้งตัวเองและต่อตัวลูกค้าด้วย โดยวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติของธุรกรรมในการใช้จ่ายบัตรเครดิตนั้นๆ ว่ามีความผิดปกติประการใดหรือไม่ เช่น ใช้บัตรเครดิตเป็นจำนวนมากผิดปกติกว่าที่เคยใช้ หรือรูดบัตรเครดิตต่อเนื่องติดกันโดยไม่ได้เว้นจังหวะซึ่งผิดปกติ นอกจากนี้ก่อนออกบัตรเครดิตก็ต้องมีการตรวจประวัติ อนุมัติวงเงินเครดิต ซึ่งสามารถอาศัยความรู้ด้านปัญญาและการวิเคราะห์การจัดการความเสี่ยงเชิงปริมาณ (Quantitative risk management analytics and intelligence) ซึ่งป้องกันความสูญเสียทางการเงินทำให้สร้างความสามารถในการทำกำไรและการแข่งขันได้
เมื่อห้างสรรพสินค้าแห่งนี้สามารถทำกำไรได้ดี ก็อาจจะต้องมีการบริหารการเงินที่ดีด้วย จะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร จะพยากรณ์ทางการเงินให้สามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้กิจการมีสภาพคล่องไม่ขาดเงิน ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนของทุนหมุนเวียนเฉลี่ยต่ำสุดเป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยความรู้ด้านปัญญาและการวิเคราะห์การเงิน (Financial analytics and intelligence)
ท่านคงจะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย นำไปสู่ ปัญญาทางธุรกิจ (Business Intelligence) ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ในโลกปัจจุบันมีข้อมูลมากมาย แต่ข้อมูลจะมีคุณค่านำมาใช้สร้างความสามารถในการแข่งขันได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้หลากหลายประเภทแม้กระทั่งการบริหารงานของภาครัฐ ซึ่งต้องใช้ความรู้เหล่านี้ในการวางแผนและการร่างนโยบายเช่นเดียวกัน และที่คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดสอนสาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย ทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก หากท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ขอเชิญเขียนอีเมล์มาคุยกันได้ครับที่ arnond@as.nida.ac.th