xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (9) เรื่องที่ 9.1: กรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ตอนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1.กล่าวนำ

เนื่องจากในบทความ “แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย” ตอนที่ 2 ผู้เขียนได้นำตัวเลขมาใช้กำกับบทความเพื่อความสะดวกในการสืบค้นในอนาคต แต่ได้มีผู้ให้ข้อคิดเห็นว่า คำว่า “ชุดที่” ที่ผู้เขียนได้นำมาใช้นั้น ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Set หรือ Series หรือ Bunch” ซึ่งมีหมายความว่า “ชุด” หรือ ”กลุ่ม” แต่จะไม่สอดคล้องกับบางหัวข้อเรื่องของบทความที่เขียน เนื่องจากบางหัวข้ออาจมีเพียงแค่ตอนเดียวก็จบเรื่อง จึงไม่ควรใช้คำว่า “ชุดที่” แต่ควรใช้คำว่า “เรื่องที่” จะเหมาะสมกว่า

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว และเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกัน ผู้เขียนจึงจะขอใช้คำว่า “เรื่องที่” แทนคำว่า “ชุดที่” ในทุกหัวข้อเรื่องของบทความ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยตัวเลขที่ใช้กำกับบทความ “แผ่นดินของไทย ปัญหาของไทย” จะมีความหมาย ดังนี้

1.1 ตัวเลขในวงเล็บหลังชื่อบทความ เช่น แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย “(9)” เลข 9 จะหมายความว่า เป็นหมวดที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

1.2 ตัวเลขหลังคำว่า “เรื่องที่” จะถูกใช้แทนคำว่า “ชุดที่” เช่น เรื่องที่ 9.1 กรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ จะหมายความว่า เป็นหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในหมวดเรื่องที่ 9 โดยเรื่องที่ 9.1 จะเป็นเรื่องเฉพาะกรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯเท่านั้น และเรื่องที่ 9.2, 9.3,……ก็จะเป็นหัวข้อเรื่องอื่นๆในหมวดที่ 9

1.3 ส่วนตัวเลขหลังคำว่า ตอนที่ เช่น ตอนที่ 3 ยังคงมีความหมายเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่า บทความนี้เป็นตอนที่ 3 ของบทความเรื่อง กรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหมฯ เท่านั้น

ผู้เขียนต้องขออภัยที่มีการแก้ไขการให้ความหมายของตัวเลขกำกับบทความ “แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย” หลายครั้ง แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านได้ประโยชน์สูงสุด และสามารถติดตามหรือสืบค้นบทความของผู้เขียนได้โดยไม่สับสนอีกต่อไป

2. การศึกษามูลเหตุจูงใจของการก่อการร้ายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ

หลังจากที่ได้ศึกษากรณีการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ แล้ว จึงได้พบว่า การก่อการร้ายจะเป็นการกระทำที่มาจากทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ และถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ฝ่ายรัฐมักจะใช้ตัวแทนที่ไม่เป็นทางการ เป็นผู้กระทำการก่อการร้ายมากกว่าที่จะใช้หน่วยงานที่เป็นทางการของรัฐเอง

สำหรับมูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐจะมาจากพฤติกรรมของผู้ก่อการร้ายที่มุ่งกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ ส่วนมูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายของฝ่ายรัฐหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนรัฐต่างประเทศ จะมาจากนโยบายในการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติในขณะนั้น ซึ่งผู้เขียนจะขอสรุปไว้ดังนี้

2.1 มูลเหตุจูงใจของการก่อการร้ายที่มาจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ จะมุ่งกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจเป็นหลัก ซึ่งมักจะมาจากความเชื่อทางศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง ชาตินิยม ความพึงพอใจ และการได้รับการตอบแทนในสิ่งที่ต้องการ เป็นต้น

ตัวอย่างการก่อการร้ายที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น การก่อการร้ายของกลุ่ม Jemaah Islamiyah (JI) ที่ต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามบนพื้นที่ภาคใต้ของไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเชีย และภาคใต้ของฟิลิปปินส์ (ดูภาพที่ 1) หรือกลุ่ม IS (Islam State) ซึ่งต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย และกลุ่ม Al-Shabaab ที่ต้องการยึดและเปลี่ยนแปลง Somalia เป็นรัฐอิสลาม เป็นต้น

ภาพที่ 1 ดินแดนของประเทศในอาเซียนที่กลุ่ม JI ต้องการนำมาจัดตั้งรัฐอิสลาม*

*ภาพจาก http://www.nctc.gov/site/groups/ji.html ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วย

ตัวอย่างการก่อการร้ายที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา และความต้องการที่จะแยกเป็นอิสระ (จากรัฐใหญ่) เพื่อปกครองตนเอง เช่น การก่อการร้ายของกลุ่มชาวทมิฬที่ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลศรีลังกาที่เป็นชาวสิงหล หรือการก่อการร้ายของกลุ่ม IRA (The Irish Republican Army) ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษเพื่อต้องการปกครองตนเอง หรือการก่อการร้ายของชาว Chechens ที่ต่อสู้กับรัฐบาลรัสเซียในอดีตที่ผ่านมา เพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากรัสเซีย (ดูภาพที่ 2) เป็นต้น

ภาพที่ 2 ผู้ก่อการร้ายชาว Chechen ได้เข้ายึดโรงละคร Dubrovka ในกรุง Moscow ปี 2002*

*ภาพจาก http://terrorism09.wikispaces.com/Chechnyan+Martyrs ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

2.2 มูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายที่มาจากกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ แต่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ มูลเหตุจูงใจในลักษณะนี้จะมาจากความเชื่อทางศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มบุคคลนั้น และสอดคล้องกับนโยบายในด้านต่างๆ ของรัฐที่ให้การสนับสนุน เช่น ความต้องการที่จะตอบโต้ประเทศคู่ขัดแย้งที่มีผลประโยชน์ขัดกัน หรือมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน เป็นต้น ตัวอย่างเช่น การก่อการร้ายของกลุ่มติดอาวุธ Lashkar-e-Taiba ที่มาจากปากีสถาน (ดูภาพที่ 3) ซึ่งสมาชิกของกลุ่มที่ถูกจับได้ (ดูภาพที่ 4) ให้การซัดทอดว่า การก่อการร้ายที่เมือง Mumbai ในประเทศอินเดีย เมื่อปี 2008 โดยสมาชิกของกลุ่มได้วางแผนทำการลอบยิงและวางระเบิดในที่ต่างๆ ของเมือง Mumbai เป็นจำนวนประมาณ 12 จุด นั้น ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานข่าวกรองของปากีสถาน(ISI หรือ Inter-Services Intelligence)

ภาพที่ 3 กลุ่มติดอาวุธLashkar-e-Taiba จากปากีสถาน ได้เข้ายึดโรงแรมพร้อมตัวประกันที่ Mumbai ประเทศอินเดีย ในปี 2008

*ภาพ/ข่าวจาก http://www.nytimes.com/2008/11/29/world/asia/29mumbai.html?pagewanted =all&_r=0ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วย

ภาพที่ 4 นาย Ajmal Kasab สมาชิกกลุ่ม Lashkar-e-Taiba ที่ถูกจับได้

*ภาพจาก http://www.theguardian.com/world/2008/dec/12/mumbai-arundhati-roy ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วย

บรรยายภาพ : ใน ปี 2008 สมาชิกกลุ่มติดอาวุธ Lashkar-e-Taiba ชื่อว่า Ajmal Kasab ได้ถูกจับหลังจากได้ร่วมกับผู้ก่อการร้ายคนอื่นๆ วางระเบิด ลอบยิงตามที่ต่างๆ และได้เข้ายึดโรงแรมที่ตั้งอยู่ในเมือง Mumbai ซึ่งได้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 164 คน และบาดเจ็บประมาณ 308 คน Ajmal Kasab ได้สารภาพว่า การโจมตีครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานข่าวกรองของปากีสถาน (สรุปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/2008_Mumbai_attacks )

2.3 มูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายมาจากนโยบายในด้านต่างๆ ของรัฐใดรัฐหนึ่ง และมาจากการกระทำของบุคคลที่สังกัดหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งของรัฐนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า รัฐหรือหน่วยงานของรัฐกระทำเองหรือเป็นตัวแสดงเอง (State Actors) ตัวอย่างเช่น การลอบสังหาร Mahmoud Al-Mabhouh ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของกลุ่ม Hamas (ดูภาพที่ 5) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2010 ในโรงแรมที่ดูไบ (Dubai)

ภาพที่ 5 นาย Mahmoud Al-Mabhouh

ภาพจาก http://www.theguardian.com/world/gallery/2010/feb/16/palestinian-territories-hamas ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

Al-Mabhouh เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้นำของ Izz ad-Din al-Qassam Brigades ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่ม Hamas ที่ต่อสู้กับอิสราเอลในปาเลสไตน์ โดยอิสราเอลได้กล่าวหาว่า ในปี 1989 AL-Mabhouh ได้ลักพาตัวและสังหารทหารอิสราเอลไป 2 นาย และAL-Mabhouh ยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้ออาวุธต่างๆ จากอิหร่านเพื่อนำมาต่อสู้กับอิสราเอลในฉนวนกาซ่าอีกด้วย ด้วยบทบาทที่สำคัญดังกล่าวได้ทำให้ AL-Mabhouh กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอลในที่สุดภายหลังการสังหาร AL-Mabhouh ได้มีการตรวจสอบภาพจาก CCTV และได้พบกลุ่มผู้ต้องสงสัยในการสังหาร AL-Mabhouh จำนวนประมาณ 29 คน ซึ่งได้เดินทางมายังดูไบในเวลาต่างๆ กันและจากที่ต่างๆ กัน โดยใช้พาสปอร์ตปลอมจากประเทศต่างๆ ในยุโรปและออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้ถือหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักรจำนวน 12 คน, ผู้ถือหนังสือเดินทางไอริช 6 คน, ฝรั่งเศส 4 คน, เยอรมัน 1 คน, ออสเตรเลีย 4 คน และปาเลสไตน์ 2 คน ซึ่งบุคคลทั้งสองคนที่ถือหนังสือเดินทางปาเลสไตน์ได้ถูกทางการดูไบจับกุมตัวได้

ต่อมาหลังจากได้มีการสอบสวนบุคคลต่างๆ และตรวจสอบภาพจาก CCTV แล้ว ตำรวจดูไบจึงได้ออกมาสรุปความเห็นว่า มีความเป็นไปได้เป็นอย่างสูงที่การสังหาร AL-Mabhouh ได้ดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลหรือตัวแทนจากหน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล ซึ่งมีชื่อว่า Mossad (สรุปจาก Wikipedia.org/wiki/Assassination_of_Mahmoud_Al-Mabhouh) และถ้าเป็นจริงตามที่ตำรวจดูไบกล่าวหา การลอบสังหารในครั้งนี้ก็ถือเป็นการกระทำที่มาจากบุคคลหรือตัวแทนของรัฐ โดยมีความมุ่งหมายที่จะกำจัดบุคคลที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐนั่นเอง

3. มูลเหตุจูงใจในการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558สำหรับมูลเหตุจูงใจในการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ คงยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า อะไรเป็นมูลเหตุจูงใจที่แท้จริง จนกว่าจะทราบได้อย่างแน่ชัดว่า การก่อการร้ายในครั้งนี้มาจากการกระทำของฝ่ายใด ระหว่างตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ กับตัวแสดงที่เป็นตัวแทนของรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งถ้าฝ่ายความมั่นคงของไทยสามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า ฝ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดที่ศาลพระพรหมได้อย่างชัดเจนแล้ว เราก็คงจะทราบถึงมูลเหตุที่แท้จริงของการกระทำในครั้งนี้ได้ไม่ยากนัก

ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับ ผบ.ตร.ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2558 โดยให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์วางระเบิดที่ศาลพระพรหม มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์บุกสถานทูตไทยในตุรกี และกลุ่มบุคคลที่วางระเบิดศาลพระพรหมได้กระทำไปเพราะความโกรธแค้นรัฐบาลไทย ที่ดำเนินนโยบายปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ชาวอุยกูร์ (Uyghur) อย่างจริงจัง (สรุปข่าวจาก http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/thailand/11866250/Thailand-links-Bangkok-shrine-bomb-to-Chinese-Uighurs-for-first-time.html)

อย่างไรก็ดี แม้ข้อความที่ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวอาจจะถูกต้อง แต่คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะไทยยังไม่สามารถจับผู้ต้องสงสัยสำคัญหลายคนที่ได้หลบหนีไปแล้ว และยังมีข้อสังเกตที่สำคัญหลายประการที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบหรือหาคำตอบได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า หน่วยงานของไทยและตำรวจไทยยังไม่ควรรีบเร่งหรือด่วนสรุปสาเหตุความเป็นมาของการวางระเบิดในครั้งนี้ แต่ควรพิสูจน์ทราบข้อมูลต่างๆให้แน่ชัดเสียก่อนที่จะสรุปให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนั้น ผบ.ตร.จึงไม่ควรแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชนต่างๆอีกต่อไป และควรนิ่งสงบใจไว้ก่อนจะเหมาะสมกว่า เพราะการแสดงความคิดเห็นที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบอย่างแน่ชัด อาจทำให้คนไทยและสังคมโลกรู้สึกสับสน และไม่ให้ความเชื่อถือต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานความมั่นคงและตำรวจไทยอีกต่อไป

4. ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสืบสวนที่ควรนำมาพิจารณา

4.1 ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งมีชื่อว่า Abudusataer Abudureheman

ภาพที่ 6 นาย Abudusataer Abudureheman*

*ข่าวและภาพจากhttp://www.bbc.com/news/world-asia-34244772

Abudusataer Abudureheman หรือ Ishan อายุประมาณ 27 ปี มาจากมณฑลซินเจียงของจีน ทางการไทยคาดว่า Ishan ซึ่งได้ถูกออกหมายจับแล้วเป็นหัวหน้ากลุ่มที่วางระเบิดที่ศาลพระพรหม

ทางการไทยได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. Ishan ได้หลบหนีออกจากไทย ไปยังบังคลาเทศ ต่อมาในวันที่ 30 ส.ค.ได้ออกจาก Dhaka (บังกลาเทศ) ไปยัง Delhi (อินเดีย) แล้วต่อไปยัง Abu Dhabi (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และได้มาถึงจุดหมายที่เมือง Istanbul (ตุรกี)ในวันที่ 31 ส.ค. ดูภาพที่ 7 – 8

ภาพที่ 7 แผนที่ South Asia และเส้นทางการหลบหนีของ Ishan

(ดัดแปลงภาพจาก http://gulftimes.ae/geopolitics-of-south-asian-political-stability/ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ )

ภาพที่ 8 แผนที่ประเทศตุรกีและเมืองIstanbul ที่หมายสุดท้ายของIshan*

* https://www.google.co.th/search?q=turkey+map&rlz=1T4ADFA_enTH404TH405&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0CB0QsARqFQoTCNSzxf2ogsgCFcwbjgod7LEBUg&biw=1366&bih=566#imgrc=hzfK-7CmvD1AVM%3A ที่มาของภาพ และขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

จากภาพที่ 7 จะพบว่า Ishan ได้พักอยู่ที่ Dhaka หลายวันก่อนที่จะออกเดินทางในวันที่ 30 ส.ค. ผู้เขียนคาดว่า Ishan คงหยุดพักรอฟังข่าวความเป็นไปของการวางระเบิดจากบุคคลในทีม รวมทั้งองค์กรที่ให้การสนับสนุน และเมื่อทราบว่า ทางกรุงเทพฯสามารถจับกุมสมาชิกของทีมที่ร่วมวางระเบิดได้ จึงได้รีบตัดสินใจหลบหนีออกจาก Dhaka ไปหยุดพักที่ Abu Dhabi ในวันที่ 30 ส.ค. และได้ออกเดินทางต่อจนไปถึงเมือง Istanbul ของประเทศตุรกี ในวันที่ 31 ส.ค.

ส่วนในภาพที่ 8 จะพบว่า เมือง Istanbul ได้ครอบคลุมพื้นที่ปลายสุดของทวีปยุโรป และพื้นที่บางส่วนของทวีปเอเชีย (อยู่ในวงกลมสีแดง) ที่เมืองนี้จะมีคนหลายชาติหลายภาษาเพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับเอเชีย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประตูทางใต้ที่เข้าสู่ยุโรป และจากยุโรปเข้าสู่เอเชีย โดยผ่านตุรกีเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการพบปะและพักผ่อนของบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ กลุ่มการเมือง สายลับ รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Ishan จะหลบหนีมาอยู่ที่นี้

ด้วยเหตุนี้ จึงน่าเชื่อได้ว่า บุคคลหรือองค์กรที่ให้การสนับสนุนกลุ่มที่วางระเบิด คงจะใช้เมือง Istanbul เป็นที่พบปะ หลบภัย และให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มก่อการร้ายในสังกัดของตนนั่นเอง

4.2 ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญลำดับที่ 14 ที่ถูกออกหมายจับ มีชื่อว่า นายอับดุล ตาวาบ

ภาพที่ 9 นายอับดุล ตาวาบ (MR.ABDUL TAWAB)

ภาพและข่าวจาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1442493593 ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ศาลจังหวัดมีนบุรีได้อนุมัติออกหมายจับ นายอับดุล ตาวาบ (MR.ABDUL TAWAB) อายุ 40 ปี ในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

นายอับดุล ตาวาบ เป็นชาวปากีสถานและเป็นสามีของ น.ส.ปณิฐ์สรา ชาลีรัฐรมย์ อายุ 40 ปี ผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ภายในหอพักสตรีอู๊ด ย่านดินแดง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 4.3)

4.3 พยานสำคัญในคดีวางระเบิดที่ศาลพระพรหม

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์(http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/666181 วันที่ 18 กันยายน 2558, 16:38) ได้รายงานข่าวว่า

“.........เจ้าหน้าที่ทหารได้คุมตัว นายจาเวด อิคบาล อายุ 59 ปี ชาวปากีสถาน น.ส.ปณิฐ์สรา ชาลีรัฐรมย์ อายุ 40 ปี ภรรยานายอับดุล ตาวาบ และนายชอบ สกุลทอง อายุ 54 ปี คนขับรถแท็กซี่ ส่งคณะพนักงานสอบสวน บช.น. ในฐานะพยานคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหมและท่าน้ำสาทร....................” ซึ่งพยานแต่ละคนมีความเชื่อมโยงกับกรณีวางระเบิด ดังนี้

(1) นายชอบ สกุลทอง เป็นคนขับแท็กซี่พา ชายเสื้อฟ้า หรือนายซูแบร์ อับดุลลา และชายไม่ทราบชื่อปรากฎภาพในกล้องวงจรปิดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ ไปส่งที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่

(2) น.ส.ปณิฐ์สรา ชาลีรัฐรมย์ เป็นภรรยาของนายอับดุล ตาวาบ และเป็นผู้ไปขนข้าวของเครื่องใช้ของนายอับดุล จากจุฑาแมนชั่นย่านอ่อนนุช มาไว้ที่หอพักสตรีอู๊ด บริเวณมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังเป็นคนโบกแท็กซี่ให้ชายเสื้อฟ้าหลบหนีไปด้วย

(3) นายจาเวด มีข้อมูลว่า นายจาเวด ทำงานให้กับนายอับดุล ตาวาบ ในเรื่องจัดตั้งบริษัทให้กับนายอับดุล โดยผ่านบริษัทมูบารัค โดยมีการจัดทำวีซ่ามาเลเซีย ให้แก่ชาวอุยกูร์ (ขบวนการลูกแพะ) ชาวอัฟกานิสถานและชาวปากีสถาน เดินทางเข้ามาเลเซีย

5. บทสรุปและความคิดเห็นของผู้เขียน

5.1 จากข้อมูลเส้นทางการเดินทางหลบหนีของ Ishan ในข้อ 4.1 ได้ยืนยันในทางพฤตินัยแล้วว่า การวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเป็นการร่วมกระทำกันเป็นทีมหรือร่วมปฏิบัติงานกันระหว่างกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐ กับกลุ่มบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า การปฏิบัติการร่วม (Joint Operation) และมีส่วนคล้ายกับกรณีตัวอย่างในข้อ 2.2 เนื่องจากสมาชิกคนสำคัญที่ร่วมทีมวางระเบิดได้หลบหนีกลับมาซ่อนตัวในสถานที่ที่ปลอดภัยที่อยู่ในเมือง Istanbul ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ้านหรือรังของสมาชิกทุกคนในกลุ่มก่อการร้าย นั่นเอง

5.2 อย่างไรก็ดีจากการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวางระเบิดในข้อ 4.3 จะพบว่า กลุ่มบุคคลที่วางระเบิดได้ใช้คนไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองให้ทำหน้าที่เฉพาะในเรื่องการสนับสนุนและช่วยเหลือในบางเรื่องของบุคคลในกลุ่มเท่านั้น คาดว่าคงไม่ได้ให้คนไทยกลุ่มดังกล่าวได้ล่วงรู้ข้อมูลของแผนการวางระเบิดในครั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎรักษาความปลอดภัยของกลุ่มวางระเบิด ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า คนไทยที่เป็นพยานในข้อ 4.3 อาจไม่ได้เป็นตัวแสดงหลักในการวางระเบิด แต่คาดว่าคงเป็นตัวแสดงที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเฉพาะด้านต่างๆตามที่ระบุในข้อ 4.3 เท่านั้น

5.3 สำหรับนายอับดุล ตาวาบ (ในข้อ 4.2) ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือในด้านการประสานงาน การจัดทำหนังสือเดินทาง การจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการเลือกใช้เส้นทางการเดินทางและหลบหนีของกลุ่มบุคคลที่วางระเบิดให้เดินทางออกจากประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากนายอับดุล ตาวาบเป็นชาวปากีสถานซึ่งมักจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษมากกว่ากลุ่มบุคคลชาติอื่นที่วางระเบิดซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ

5.4 ต่อมาในวันที่ 18 ส.ค. 58 หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ ได้รายงานข่าวว่า สำนักงานตำรวจฯได้ระงับส่งทีมไปมาเลเซียเพราะชายเสื้อเหลือง-เสื้อฟ้าผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลบหนีออกไปจากมาเลเซียแล้ว ขณะที่ 3 ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวที่มาเลเซียก็เป็นเพียงแค่ผู้ชุมนุมทางการเมืองและเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่ทำความผิดในมาเลเซีย และล่าสุดตุรกีได้ออกมาชี้แจงว่า Ishan ไม่ได้เดินทางเข้ามาในตุรกีตามที่มีรายงานข่าวเผยแพร่ในสื่อต่างๆ *(สรุปข่าวจาก http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000105757)

5.5 โดยสรุปแล้ว การก่อการร้าย เป็นการกระทำที่มุ่งหมายที่จะบ่อนทำลาย หรือทำร้ายฝ่ายตรงข้ามในทุกวิถีทางเพื่อมุ่งหวังให้ได้ในสิ่งที่ตนหรือกลุ่มตนต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น หมายความว่า ผู้ก่อการร้ายจะกระทำได้ทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม ความถูกต้อง คุณธรรม หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ของสังคม โดยมุ่งหวังเพียงเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จทางการเมืองหรืออุดมการณ์หรือความเชื่อของตนหรือของกลุ่มเป็นสำคัญ เช่น การให้การสนับสนุนกลุ่มค้ายาเสพติดหรือกลุ่มอาชญากรรมต่างๆ ก็เพราะต้องการประโยชน์ตอบแทนเพื่อนำมาใช้ในการต่อสู้กับรัฐหรือฝ่ายตรงข้าม หรือการปล้นฆ่าผู้ขับขี่รถยนต์เพื่อนำรถยนต์มาทำเป็น Car Bomb หรือการปล้นร้านทองเพื่อนำเงินมาจัดซื้ออาวุธเพื่อสู้รบกับฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น กองกำลังปฏิวัติแห่งโคลัมเบีย The Revolutionary Armed Forces of Colombia หรือเรียกย่อๆว่า FARC ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มค้ายาเสพติดในอเมริกาใต้ และกลุ่มก่อความไม่สงบบางกลุ่มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มลักลอบขนน้ำมันเถื่อน เป็นต้น

6. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวางระเบิด

6.1 จากข้อ 5.4 ผู้เขียนมีความเห็นว่า ทั้งตุรกีและมาเลเซีย ได้ออกมาปฏิเสธเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลทั้งสองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่วางระเบิดแต่อย่างใด แต่มีบางท่านให้ความเห็นว่า การแถลงข่าวของตุรกีและมาเลเซียเป็นการกระทำเพื่อปกป้องบุคคลบางคนเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเปรียบได้กับกรณีที่ญาติของเราไปทำร้ายคนอื่น แล้วหนีมาหลบซ่อนในบ้านของเรา เมื่อตำรวจมาถามหาผู้กระทำผิด เราซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและเป็นญาติของผู้กระทำผิดก็คงต้องปฏิเสธว่า ไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในบ้าน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยากเกินกำลังของตำรวจ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมปฏิบัติงานกับตำรวจด้วย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

6.2 เมื่อได้พิจารณาถึงพฤติกรรมต่างๆ ในข้อ 2 และข้อ 5.5 แล้ว ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การวางระเบิดในครั้งนี้ได้ทำให้บุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้มีข้อขัดแย้งใดๆ กับกลุ่มที่วางระเบิดต้องสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนถึง 20 ราย เป็นการกระทำที่จัดอยู่ในลักษณะของการก่อการร้ายที่เหี้ยมโหด ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กลุ่มบุคคลที่มุ่งทำร้ายต่อประเทศไทยอีกต่อไป จึงขอเสนอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งผู้ร่วมกระทำความผิดในฐานะเป็นผู้ก่อการร้าย ด้วยอัตราโทษสูงสุดโดยไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษใดๆ คือ โทษประหารชีวิตสถานเดียว

ท้ายบทความ :

มีคำขอจากผู้อ่านว่า อยากเห็นรูปผู้เขียนว่ามีหน้าตาอย่างไร และมีคำถามจากเพื่อนๆ ว่า จากกรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม ผู้เขียนมีความเห็นอย่างไรต่อการปฏิรูประบบราชการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาพที่ 10 ผู้เขียนขณะนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูงานผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮีนจาที่พังงา

ผู้เขียนขอส่งรูปมาให้ผู้อ่านตามคำขอ และขอตอบคำถามที่ถามมา ดังนี้

กรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหมในครั้งนี้ ได้ปรากฏว่า ไม่มีหน่วยงานราชการของไทยแม้แต่หน่วยงานเดียวได้แจ้งเตือนประชาชน หรือสามารถยับยั้งการวางระเบิดในครั้งนี้ได้ก่อนที่จะสร้างความเสียหายและทำลายชีวิตผู้ที่มาสักการะศาลพระพรหม หน่วยงานต่างๆ ที่กล่าว เช่น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานต่างๆ ของตำรวจ ทหาร และพลเรือน เป็นต้น

ประการที่สำคัญก็คือ สำนักงานตำรวจฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เวลาในการสืบหาผู้กระทำผิดมาเป็นเวลานานกว่า 30 วันแล้ว ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับการวางระเบิดที่ Boston ในภาพที่ 11 FBI หรือสำนักงานสืบสวนของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ ได้ใช้เวลาหลังจากเหตุระเบิดเพียง 3 วัน ก็สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด

ภาพที่ 11 เหตุการณ์วางระเบิดที่ Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้ต้องหาที่ถูกจับได้

ภาพจาก http://nypost.com/2015/03/04/boston-bombing-trial-starts-with-lawyer-admitting-her-client-did-it/ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นด้วยที่จะมีการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในด้านการรักษาความปลอดภัย โดยขอนำเสนอตัวอย่างเรื่องที่ควรดำเนินการ ดังเช่น

1. เรื่องแรก ควรจัดการฝึกอบรมและพัฒนาประชาชนกลุ่มต่างๆ และรวมทั้งบุคลากรของรัฐ ให้มีความรู้ในด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

(1) ประเภทพื้นฐานทั่วไป คือ ไม่เพียงจะต้องกำหนดให้สถาบันการศึกษาต่างๆต้องจัดหลักสูตรที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติของคนทั่วไปและคนต่างด้าว การแจ้งข่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐในกรณีต่างๆ และการปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติเท่านั้น แต่รัฐยังจะต้องให้การฝึกอบรมเรื่องต่างๆ ดังกล่าวให้แก่บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับในทุกองค์กรของรัฐได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจนเข้าใจอีกด้วย

(2) ประเภทผู้ปฏิบัติงาน คือ การพัฒนาบุคลากรของรัฐเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องการข่าว และการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างละเอียด หมายถึง การสร้างคนให้รู้และเชี่ยวชาญ เพื่อให้ไปปฏิบัติงานตรงตามความรู้ความสามารถ ซึ่งเรียกว่า Make the Right Man, Do the Right Job (เป็นคำกล่าวของผู้เขียนเอง) และที่สำคัญ หลังจากที่พัฒนาคนให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญแล้ว รัฐจะต้องคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมไปปฏิบัติงานอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

2. เรื่องที่สอง ควรปฏิรูประบบราชการและหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะบางหน่วยงานพอเป็นสังเขป ดังนี้

(1) ควรจัดตั้งกระทรวงรักษาความมั่นคงภายใน ให้ทำหน้าที่เป็นกระทรวงกลาโหม ส่วนหน้าคือ มีหน้าที่รักษาความสงบภายใน และทำการรบในยามปกติ เช่น ต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ, การควบคุมและยับยั้งการก่อความไม่สงบในรูปแบบต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา, สืบสวนจับกุมและทำลายการค้ายาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดน และการขนสินค้าเถื่อนต่างๆ เป็นต้น สำหรับรายละเอียดอื่นๆ กรุณาดูในบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (9) เรื่องที่ 9.1: กรณีการวางระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ตอนที่ 2

(2) ควรปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เป็นหน่วยงานต้นทางในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค โดยปราศจากการแสวงหาผลประโยชน์และการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอย่างแท้จริง ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการโดยสังเขป ดังนี้

ก. โอนย้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยให้ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการกิจการตำรวจที่มีรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธาน และให้ข้าราชการตำรวจทั้งหมดเป็นข้าราชการพลเรือน

ข. โอนย้ายตำรวจดับเพลิง และตำรวจจราจร เฉพาะในพื้นที่ กทม.ไปสังกัดกรุงเทพมหานคร

ค. โอนย้ายตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจตระเวนชายแดน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปสังกัดกระทรวงรักษาความมั่นคงภายในที่ผู้เขียนเสนอให้มีการจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเตรียมรับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ และบริเวณชายแดนไทย

ง. ให้ตำรวจประจำจังหวัด (ส่วนภูมิภาค) ขึ้นการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัด และจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากประชาชนและกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ

(3) ควรปฏิรูปการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เพื่อให้เป็นไปตามหลักความรู้ความสามารถ ความดีมีคุณธรรม และความยุติธรรม ผู้เขียนจึงขอเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของข้าราชการในจังหวัดมาจากข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ โดยจะต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน นั่นหมายความว่า ข้าราชการทุกคนทุกฝ่ายจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง

สำหรับรายละเอียดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ และหน่วยงานราชการอื่นๆ ผู้เขียนจะขออนุญาตนำไปกล่าวไว้ในบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (3) เรื่องที่ 3.1: การปฏิรูประบบราชการ ตอนที่ 2 และต้องขอจบบทความนี้แต่เพียงเท่านี้ ถ้าท่านใดต้องการแสดงความคิดเห็นหรือมีคำถามใดๆ เพิ่มเติม กรุณาส่งมาที่ Email Address : weerasak.nathasiri@gmail.com

ขอขอบคุณทุกสื่อทุกสำนักสำหรับภาพที่นำมาประกอบบทความ และขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่มีคำถามมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

วีระศักดิ์ นาทะสิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น