xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชีวิตบนความตาย..พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ หัวหน้าชุดEOD "การใส่ชุดบอมบ์สูท - มันระเบิดแล้วศพสวย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ หัวหน้าชุดEOD
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ภาพเจ้าหน้าที่สวมชุดบอมบ์สูทรุดเข้าพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อทำการเก็บกู้วัตถุระเบิด เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 เป็นฉากสำคัญที่มิอาจลืมในเหตุวินาศกรรมกลางเมืองครั้งรุนแรง หลังอานุภาพระเบิดแสวงเครื่องทำลายล้างจนก่อความเสียหายใหญ่หลวง พวกเขากลับดาหน้าเข้าค้นหาระเบิดลูกถัดไปเพื่อเก็บกู้ให้ทันการณ์ ไม่ไยดีแม้ภารกิจนี้ต้องแลกด้วยชีวิต

โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด (EOD) จำนวนไม่น้อยต้องจบชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ คนแล้วคนเล่าที่จากไปพร้อมๆ กับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญถึงคุณความดีในภารกิจเสี่ยงตายเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ซึ่งในเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ สถานที่ที่เปรียบเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ครั้งนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่สูญเสียชีวิต แต่ถือเป็นบทเรียนเรื่องการรักษาความปลอดภัยระดับประเทศ

เจาะวินาทีแห่งความเป็นความตายใต้ชุดบอมบ์สูท ประสบการณ์ในสายงานเก็บกู้ระเบิดระยะเวลากว่า 20 ปี ในบทสัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล 'หัวหน้าชุด EOD' หนึ่งในผู้ปฎิบัติภารกิจสำคัญเหตุวินาศกรรมครั้งประวัติศาสตร์เข้าเคลียร์พื้นที่เหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์

ย้อนความรู้สึกแรก เมื่อครั้งได้รับแจ้งเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ วันที่ 17 ส.ค. 2558

ตอนนั้นมีคนโทรมาแจ้ง ก็เรียนตรงๆ ว่าเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นระเบิดอะไรอย่างไร ได้รับการแจ้งมาว่ามีเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ให้ไปดูที่เกิดเหตุปรากฏว่ากระแสนึงเป็นรถจักรยานยนต์บอมบ์ กระแสนึงเป็นรถแก๊สระเบิด กระแสนึงเป็นคาร์บอมบ์ ได้รับแจ้งว่าระเบิดแรงและมีผู้เสียชีวิตเยอะ วันนั้นผมก็นำทีมออกไป รีบนั่งมอเตอร์ไซค์ออกไปก่อนกับลูกน้องอีกคนนึง ส่วนที่เหลือก็ให้จัดเตรียมเครื่องมือไป ระดมกำลังชุดที่มีอยู่ให้ไปช่วยสนับสนุนอีก

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุตกใจมาก เพราะพบศพคนนอนตายภายในรั้วศาลพระพรหม 9 ศพ ที่ผมนับได้นะ และด้านนอกตรงแยกไฟแดงมีมอเตอร์ไซค์ไฟไหม้แล้วก็มีผู้เสียชีวิตที่เขาห่มผ้าขาวอยู่ประมาณ 3 ศพ ตรงนั้นประมาณ 12 ศพ พอไปถึงมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ มาบอกว่าผมว่า “พี่ยังมีระเบิดอยู่อีก 2 ลูกนะ ให้พี่ตรวจหน่อย” ผมก็ยังมีสติ บอกให้ทีมงานที่ขณะนั้นไปถึงแล้วช่วยกันเคลียร์ระเบิดลูกที่ 2 ที่ 3 ก่อนว่ามีไหม ผมก็ได้เชิญผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่เข้าไปที่เกิดเหตุ ผมไปเรียนพวกท่านขอให้ออกไปจากที่เกิดเหตุก่อน ผมจะเข้าไปเคลียร์ระเบิดที่มีการข่าวแจ้งมาว่ามันมีลูกที่ 2ที่ 3

หลังจากนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่เราใส่บอมบ์สูทเข้าไปเคลียร์พื้นที่ รวมทั้งใช้สุนัขเข้าไปตรวจสอบระเบิดลูกที่ 2ลูกที่ 3 ตรวจสอบทั้งหมดเลยในบริเวณนั้น แล้วก็ขอร้องให้เจ้าหน้าที่กันสื่อมวลชนและคนมุงตรงนั้นออกไปอีก เพราะตอนนั้นผมไปกั้นที่ไว้แคบ ผมก็เลยขออนุญาตให้กันทั้ง 4 แยกเลย แล้วก็เข้าไปตรวจสอบ ก็ทำตามกรรมวิธีของเราในการตรวจหาระเบิดลูกที่ 2ลูกที่ 3 เสร็จแล้วเราก็ให้ลูกน้องผมใส่บอมบ์สูทเข้าไปตรวจสอบ ปรากฏว่าไม่มีเคลียร์หมดแล้ว เราก็จะเริ่มกระบวนการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ

เหตุวินาศกรรมกลางเมืองมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สังคมไทยได้บทเรียนอย่างไรบ้าง

ครั้งนี้มันเป็นเหตุประวัติศาสตร์ของเรา มีผู้สูญเสียจำนวนมาก และก็ควรที่จะเป็นบทเรียนในเรื่องการป้องกันอาคารสถานที่ รักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำการรวมถึงที่ที่มีประชาชนไปใช้จำนวนมาก หรือสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์อย่างนี้ก็ควรจะมาตรการในการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างดีหน่อย ไม่ใช่ปล่อยอย่างที่ผ่านมาจนเขาไปวางระเบิดได้ง่ายๆ

เราควรที่จะเริ่มต้นจัดการรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐาน ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เกิดเหตุก็เกิดซ้ำซากไป เรา ต้องกลับมาดูตัวเองว่าที่เราอยู่มันมีมาตรการดีไหม สถานที่ท่องเที่ยวของเรามาตรการดีไหม มีตำรวจไปเฝ้า มีฝ่ายรักษาความปลอดภัยไหม ซึ่งก็กำลังจะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย มันก็จะเข้ามารองรับ เป็นจุดนึงที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลง

คือทุกสถานที่ท่องเที่ยวผมมองว่าต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย ค่อยๆ พัฒนากันไป ยกตัวอย่าง ศาลพระพรหม ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเยอะก็ต้องหามาตรการ ต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาเฝ้า ถ้าเป็นของมูลนิธิฯ (สำนักงานมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ) ก็ต้องจ้างต้องทำแล้วไม่ใช่ปล่อยให้ให้นักท่องเที่ยวไปไหว้สักการะแต่เพียงอย่างเดียว

ผมมองว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของบ้านเรา อย่าปล่อยให้เป็นประเภทวัวหายล้อมคอก เกิดแล้วมาป้องกันมันไม่ใช่ ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวต้องมีมาตรการป้องกันที่เพียงพอไม่ใช่ปล่อยหละหลวม เราก็พูดกันจังว่าจะเข้าสู่ AEC เราก็ต้องปรับตัว หรือสร้างอะไรที่เป็นมาตรฐานเข้ามา

การตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยก่อนเข้าห้างสรรพสินค้า เหมือนตรวจพอเป็นพิธีจนมีเสียงบ่นว่าไม่มีประโยชน์ ผู้กำกับฯ มีความคิดเห็นอย่างไร

ดี! ถ้าถามผมนะ มาตรการป้องกันตามห้องสรรพสินค้าเขาทำ ตามที่ MRT BTS เขาทำ รวมทั้งการติดตั้ง ประตูตรวจจับโลหะ Walk Through (ประตูตรวจจับโลหะ) มีการตรวจใต้ท้องรถยนต์ มีการตรวจกระเป๋าหีบห่อเป็นมาตรการที่ดีนะครับ ถึงแม้มันจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันเป็นมาตรการที่ช่วยรักษาความปลอดภัย ที่ป้องปรามเหตุระเบิด

เท่ากับว่าการเปิดกระเป๋าเอาไฟฉายส่องผ่านๆ ตา แล้วปล่อยลูกค้าเข้าสู่ตัวห้างฯ สามารถรักษาความปลอดภัยได้

ผมให้ 80 เปอร์เซ็นต์เลย ผมมองว่าเหล่านี้เป็นมาตรการที่ดีเลย สมมุติมองกลับกันนะครับ ลองคิดดูว่าอีกที่หนึ่งทำอีกที่หนึ่งไม่ทำคนร้ายจะเลือกก่อเหตุที่ไหนครับ? เขาต้องเลือกทำที่ไม่ทำ! ผมเชื่อว่าโดยเซนส์ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย สมมุติคนถือสิ่งผิดกฎหมายมาเขาไม่อยากให้เราตรวจหรอก คนถือสิ่งผิดกฎหมายมาจะพะว้าพะวังมีมีพิรุธ แต่นี่เราคือคนปกติไง เราก็เลยมองว่ามาตรการอาจจะหละหลวม ตรวจๆ ไปอย่างนั้นแหละ มันไม่ใช่ครับ นี่แหละมันคือมาตรการที่ดีเลย แต่ทีนี้เราไม่ใช่ผู้กระทำผิดไงเราก็เลยเห็นว่าเขาอาจจะทำไม่ดี ลองถ้าคุณถือยาเสพติดหรือวัตถุระเบิดมาสิ? หรือถ้าผมเป็นผู้ก่อการร้ายเป็นโจรเนี่ย ผมดูแล้วห้างนี้มีห้างนี้ไม่มี เสร็จ!

จากเหตุระเบิดกลางเมืองบริเวณแยกราชประสงค์ อาจกล่าวได้ว่าประเด็นก่อวินาศกรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยเลย

ในสถานการณ์อย่างนี้เราก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย อาคารสถานที่หรือแม้แต่ไปไหนมาไหน แต่ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกมาก คือระเบิดเราก็หาวิธีป้องกันเฝ้าระวังเอา เรามีชุด EOD เก็บกู้ระเบิดเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้มั่นใจไม่ต้องตื่นตระหนกครับ ขอให้พบเจอวัตถุต้องสงสัยต้องรีบเจ้าหน้าที่ให้เร็วที่สุด หรือฝ่ายรักษาความปลอดภัย หรือแจ้งมาที่หมายเลข 191 เพื่อที่เราจะได้ไปเก็บกู้ระเบิดทันไม่เป็นอันตราย

และขอความร่วมมือจากประชาชนในเรื่องของการตรวจสอบสิ่งของ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเขาตรวจ พยายามให้ความร่วมมือ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยเราป้องกันภัย เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะว่าบ้านเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้ อาจจะเป็นลักษณะของไทยเรา ในต่างประเทศจะเห็นว่าเคร่งครัดมาก แต่บ้านเราเนี่ยมันไม่ค่อยให้ความร่วมมือ สมมุติ มาตรการของห้างฯ เขาจะตรวจ ก็พูดลักษณะ “จะตรวจทำไม” ซึ่งผมมองว่านั่นแหละเป็นสิ่งที่เราไม่ให้ความร่วมมือเขา ซึ่งการที่เขาทำอย่างนั้นมีดีอยู่แล้ว เพราะเขาเมีมาตรการรักษาความปลอดภัย

หน่วย EOD ชุดเก็บกู้ระเบิด ถือเป็นสายงานเสี่ยงตาย ผู้กำกับฯ มีทัศนคติต่อความตายอย่างไร

คือไม่ใช่ว่าเราอยู่ตรงนี้แล้วเราไม่กลัว แต่ด้วยความที่หนึ่งเราศึกษามาทางนี้ สองได้ฝึกฝนวิชาการตรงนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเราก็ได้ศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติสุข เป็นเรื่องธรรมดา มันเลยไม่ได้ทำให้รู้สึกหวาดกลัวเกินไป ก็ทำให้เราปฏิบัติหน้าที่ของเราต่อไป (ถือเป็นงานเสี่ยงตายทุกวินาทีที่ปฏิบัติงาน?) ใช่ครับ เหมือนหลักการที่ว่า ขณะที่เราเข้าไปเก็บระเบิด ทุกคนเขาพยายามออกจากพื้นที่ แต่เราต้องเข้าไปหาระเบิด

กว่าจะมาเป็นเจ้าหน้าที่ EODต้องผ่านด่านอะไรมาบ้าง

นักกู้ระเบิดทุกคนยอมรับว่าเสี่ยงอันตรายมาก แต่ทีนี้ด้วยการที่ว่าใครจะมาอยู่หน่วยกู้ระเบิดของตำรวจจะต้องมาด้วยความสมัครใจ แล้วก็ต้องเรียนรู้หลักสูตร EOS หรือหลักสูตรเพื่อการเก็บกู้วัตถุระเบิดประมาณ 14 สัปดาห์ แล้วก็สมัครใจมาลงตำแหน่งที่นี้ มาดูรุ่นพี่เขาทำงานไปก่อนไม่ใช่เริ่มทำงานในตำแหน่งกู้ระเบิดปั๊บ มันต้องศึกษารุ่นพี่ไปก่อนว่าทำงานอย่างไร เป็นผู้ช่วยเตรียมเครื่องมือเตรียมอุปกรณ์ไปก่อน อาจจะไม่ให้เป็นหมายเลข 1 เพราะคนที่เก็บกู้ระเบิดจะต้องเป็นหมายเลข 1 เท่านั้น เพราะเข้าไปตรงนั้นคนเดียว เมื่อเข้าไปที่เกิดเหตุใจจะไม่ได้อยู่กับคนอื่นแล้วใจจะอยู่ระเบิด เราจะทำอย่างไรให้ลูกระเบิดนี้มันปลอดภัย จะทำอย่างไร จะเดินเส้นทางไหน เป็นอิสระเป็นความคิดของเจ้าหน้าที่เบอร์ 1 ที่เข้าไปทำ ถ้าคนนั้นขาดประสบการณ์หรือขาดความชำนาญก็อาจทำให้พลาดได้

ทราบมาว่าผู้กำกับฯ ปฏิบัติงาน EOD มากว่า 20 ปี ลองนับดูเล่นๆ กู้ระเบิดมากี่ครั้งแล้ว

ผมทำงานมา 20 กว่าปี ผ่านการกู้ระเบิดมาไม่ต่ำกว่า1,000 ครั้ง เป็นทั้งวัตถุต้องสงสัย ไปดูที่เกิดเหตุ รวมถึงไปเก็บกู้ระเบิด เพราะผมก็เป็นครูฝึกให้กับน้องๆ ที่ชุดเก็บกู้ระเบิดด้วย อย่างกรณีของ ดาบแชน (พลตำรวจโท แชน วรงคไพสิฐ วีรบุรุษนักกู้ระเบิดฝีมือดีแห่งนราธิวาส เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อครั้งเข้าเก็บกู้วัตถุระเบิด โดยผู้ก่อเหตุใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดซ้ำสอง) ผมก็เป็นครูฝึกให้เขา ผมเป็นครูให้ EOD ส่วนใหญ่ 80 - 90 เปอร์เซ็นต์

ผู้กำกับฯ เคยปฏิบัติงานอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยใช่ไหม

ปี 2547 ก็ไปช่วย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ประมาณปี 2552 ก็กลับขึ้นมา คือตำแหน่งก็อยู่ที่นี่ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเราไปช่วยในช่วงที่มีเหตุการณ์รุนแรง เราก็ไปช่วยฝึกในส่วนเก็บกู้ระเบิด ฝึกกำลังคนในพื้นที่ให้สามารถเก็บกู้ระเบิดแล้วเราก็กลับมา

เหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ EODเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเลย

ข้อมูลที่ผมรวบรวมไว้ทางภาคใต้ล่าสุด นักกู้ระเบิดเสียชีวิต 10 กว่าคน แต่ถ้าเทียบกับตำรวจหน่วยอื่นเราว่าเราสูญเสียน้อยที่สุด แต่เราอยู่ในส่วนของการกู้ระเบิดบนเส้นของความตายเราระวังมาก เราอยู่บนเส้นของความตายเพราะฉะนั้นเราต้องระวังตัวเป็นพิเศษเลย

ระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใช้ก่อเหตุมีต่างไปจากเดิมหรือเปล่า

มันพัฒนามาตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบันเนี่ย มันมีหลายแบบตั้งแต่การใช้ กล่องเหล็ก พัฒนามาเป็น ท่อพีวีซี ท่อเหล็ก พัฒนามาเป็นถังแก๊ส ถังดับเพลิง หรือพัฒนามาเป็นถังแก๊สที่บรรจุอยู่ในรถบ้าง เอาไปฝังดินบ้าง คือการพัฒนาระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัด รวมถึงการจุดระเบิดก็มีหลายแบบ การจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา, โทรศัพท์มือถือ, วิทยุรับส่งวอล์กกี้ทอล์กกี้ มันมีพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ

เจ้าหน้าที่ EOD ใส่ชุดบอมบ์สูทก่อนทำการเก็บกู้วัตถุระเบิด ชุดนี้ป้องกันได้มากน้อยเพียงใด

การใส่ชุดบอมบ์สูทไม่ใช่ไปเจอระเบิดแล้วมันป้องกันเหมือนเสื้อเกราะกันกระสุน การใส่บอมบ์สูทเพื่อจะไปกู้ระเบิดเหมือนกับการเข้าไปครู่เดียว เช่น เข้าไปพิสูจน์ทราบเพื่อจะเข้าไปวางเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการเก็บกู้ หรือจะไปกู้ระเบิด ตัดวงจรระเบิด เวลามันสั้นนิดเดียว ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ตรงนั้นให้มันระเบิด ไม่เหมือนกับเสื้อเกราะต่างกันนะ เสื้อเกราะเราใส่แล้วป้องกันการยิงได้เลย แต่ระเบิดโดยหลักการมันไม่มีอะไรป้องกันได้ เราต้องเข้าใจหลักการ บอมบ์สูทป้องกันได้แค่ระดับหนึ่งไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันคือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเรา เพราะระเบิดไม่มีอะไรป้องกันต่อให้รถเกราะยังป้องกันไมได้เลย เพราะแรงระเบิดจำนวนมากมันไม่สามารถป้องกันได้เลย มันระเบิดแล้วศพสวย (เขาพูดติดตลกก่อนคลี่ยิ้ม)

ช่วยเล่าเหตุการณ์เสี่ยงตายขณะปฏิบัติหน้าที่ให้ฟังหน่อย

ประมาณเมื่อ 10 กว่าปีแล้วที่เราไปกู้ระเบิด ที่ผมจำฝังใจเลย ตอนเหตุวางระเบิดที่สนามศุภชลาศัย จู่ๆ มีแสงไฟวาบขึ้นมา ผมก็คิดว่าผมโดนระเบิดตายไปแล้ว (ยิ้ม) อาจจะเป็นแสงแฟลซหรืออะไรก็ไม่รู้นะ หลังจากนั้นก็เก็บกู้ที่ จ.ยะลา ช่วงนั้นก็คือมีวัตถุต้องสงสัยวางอยู่ แล้วเราก็เก็บกู้ระเบิดปรากฏกว่ามีคนวิ่งผ่านเข้ามา เป็นชาวบ้านแถวนั้นที่เขาเดินเข้ามาโดยที่เขาไม่ทันดูว่าเรากั้นพื้นที่ไว้แล้ว แล้วปรากฏว่ามันระเบิดใส่ด้วยกัน แต่เราก็ไม่ได้รับอันตราย อีกเคสนึงก็ไปฝึกนักเรียนนายสิบ ฝึกปาระเบิดแต่ทีนี้เข้าขว้างไม่พ้น ขว้างตกอยู่ข้างหน้าเราเนี่ย แล้วเราก็ดึงเขาหลบเข้ามาในหลุม ก็โชคดีนะที่ระเบิดไม่กลิ้งลงมาไม่งั้นตายกัน 2 คนเลย (ยิ้ม) มันมีเหตุการณ์เยอะแยะครับ บางทีผมก็ไมได้บันทึกไว้ เจอเหตุการณ์ที่หวาดเสียว แบบช่วงไปตัดสาย ไปดึงให้ลูกระเบิดออกมา ทำให้ระเบิดปลอดภัย หรือบางทีช่วงแยกวัตถุระเบิดออกมาทำให้ปลอดภัย มันเป็นช่วงที่อันตรายมาก เราจะต้องจัมป์สาย ดึงเชื้อปะทุออกจากระเบิดหลักเป็นช่วงที่อันตรายมาก

อุดมการณ์ในการทำงานของผู้กำกับฯ เป็นอย่างไร

ปรัชญาในการเก็บกู้ระเบิดผมให้ไว้ 4 ข้อนะครับ ข้อแรกคือเรื่องของชีวิต สองคือเรื่องของทรัพย์สิน ข้อสามคือเรื่องของวัตถุพยาน และข้อที่สี่คือเรื่องของการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุข เวลาเราไปเก็บกู้ระเบิดเราต้องคำนึงถึงชีวิต ประชาชนทุกคนต้องปลอดภัย พร้อมนักกู้ระเบิดเองด้วย ถัดมาคือเรื่องของทรัพย์คือต้องไม่เสียหาย เครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์ต้องไม่เสียหาย และต้องมีวัตถุพยานในการดำเนินคดี สุดท้ายคือการดำเนินชีวิตเราไปเขาต้องไม่แตกตื่น ตรงนี้เป็นปัจจัยในเรื่องของการทำงานเก็บกู้วัตถุระเบิด

บวกลบคูณหารความเสี่ยงของงาน EOD กับค่าตอบแทนคำนวณดูแล้วไม่น่าจะคุ้ม

อัตราเงินเดือนตำรวจทั่วๆ ไป แต่เราจะมีเงินตำแหน่งเพิ่ม สัญญาบัตร 10,000 บาท ชั้นประทวนได้ 7,500 บาท ผมเรียนตรงๆ ว่าตัวเองก็ไม่คิดว่าจะมาที่หน่วยกู้ระเบิด ผมเรียนเรื่องสรรพาวุธ ย้ายมาจากทหารอากาศ แต่เพราะการที่เราได้มาศึกษาทางด้านนี้แล้ว ในเมื่อทฤษฎีเราแน่น มีการฝึกฝน ทบทวนอยู่เสมอ มีการศึกษาบทเรียน มีการเอาไปปฏิบัติ เอาความรู้ความสามารถออกมาใช้ เอามาถ่ายถอดให้คนอื่นต่อไป

ความที่เป็นงานเสี่ยงตาย รายได้ค่อนข้างน้อย เจ้าหน้าที่หน่วย EOD มีจำนวนเพียงพอหรือเปล่า

เราไม่มีการบังคับ ต้องสมัครงานเป็นอันดับแรก เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของชีวิต แต่บางคนก็อุดมการณ์นะครับ และก็มีความเชื่อมั่นในตนเองก็เข้ามาอยู่ (คนสมัครใจเยอะไหม?) น้อยครับ ไม่ได้เลยเยอะ หน่วยนี้แทบไม่มีคนสมัครใจเลย เราถึงต้องโอนจากทหารมา ผมเองก็มาจากทหารอากาศ ตำรวจทั่วไปไม่ค่อยมีใครมาหรอกครับ ส่วนใหญ่เวลาเราไปขอให้นักเรียนนายสิบมาบรรจุหน่วยนี้ก็ไม่ค่อยมีคนสมัครใจ หรือ สมัครใจแต่ขาดคุณสมบัติ เพราะจบหลักสูตรปุ๊บเขายังไม่ได้เรียนหลักสูตร EOD มาบรรจุหน่วยนี้ไม่ได้ พอเวลาเลือกไปลงตำแหน่งสายปราบปราม สายจราจรไปแล้ว ถึงเวลาเขาก็ไปแล้ว จะกลับมาเรียนหลักสูตร EOD ก็ไม่อยากกลับมาแล้ว หรือมาเรียนเพื่อเอาปีกประดับเครื่องหมาย คุณสมบัติเท่านั้นเอง แต่ไม่อยากมาทำหน่วยนี้แล้ว น้อยมากที่จบโรงเรียนนักเรียนนายสิบแล้วเลือกลง EOD

ดูเหมือนเจ้าหน้าที่มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วในส่วนยุทโธปกรณ์เก็บกู้ระเบิดของหน่วยEODประเทศไทยพร้อมมากน้อยเพียงใด

เครื่องมือกู้ระเบิดมันก็เหมือนกับระเบิดมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันต้องมาดูว่าอันไหนที่เราขาดแคลน อันไหนที่เราต้องพัฒนาต่อไป มันก็เหมือนระเบิดเขาก็พัฒนาเขา เราเองก็ต้องพัฒนาให้เท่าทัน อย่างบางหน่วยเขาก็ขาดเครื่องมือกู้ระเบิดเป็นจำนวนมาก ก็ยังต้องการเครื่องมือเข้ามาช่วยเขานะครับ สำหรับหน่วยเราก็มีความพร้อมระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ครบทุกชุด แต่ขีดความสามารถก็ตอบสนองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในประเทศ ต้องดูว่าอันไหนที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด หรือแม้กระทั่งเครื่องตรวจสารระเบิด หรือเครื่องตัดวงจรระเบิด อันไหนที่มีเทคโนโลยีที่พัฒนาก็นำเข้ามาช่วยได้

ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช




กำลังโหลดความคิดเห็น