โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม
คำว่า “มักง่าย” กับ “เรียบง่าย” มีง่ายเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน “มักง่าย” หมายถึงเอาสะดวกเข้าว่า ส่วน “เรียบง่าย” หมายถึงอยู่เย็นเป็นไปอย่างง่ายๆ ธรรมดาสามัญ ไม่ยุ่งยาก ไม่โลดโผนฉูดฉาด ไม่ตามกระแสบริโภคนิยม มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง หรือ “เป็นอยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง” เป็นต้น
สังคมมักง่าย
ความประพฤติที่ปฏิบัติจนเคยชิน เรียกว่า “นิสัย” และนิสัยที่ติดมาเป็นธรรมชาติของคนคนนั้นเรียกว่า “สันดาน” หลายๆ สันดานกลายเป็น “สังคม” ก็มีทั้งสังคมเรียบง่าย และสังคมมักง่าย
“สังคมมักง่าย ความตายใกล้ตัว แหล่งรวมความชั่ว เมามัวอบาย”
นิสัยมักง่าย สันดานมักง่าย มองเผินๆ ตื้นๆ เพียงด้านเดียว ก็ไม่มีพิษมีภัยอะไร ถ้ามองแบบมีวิสัยทัศน์ นิสัยมักง่าย เอาสะดวกเข้าว่า เป็นจุดอันตรายของบุคคลที่ขยายอันตรายสู่สังคมกลายเป็นความตายแบบผ่อนส่ง ที่บุคคลและสังคมเห็นว่าเป็นสิ่งหอมหวาน เป็นมารร้ายสีขาวประมาณนั้น
สังคมมักง่ายมีอยู่ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกอย่างที่เห็นกันอยู่ คือ โลกาภิวัตน์มักง่ายนั่นเอง
ครอบครัวบริเวณบ้านตัวเอง สะอาด น่าอยู่ แต่ขยะกลับทิ้งหน้าบ้าน กะแค่เอาไปทิ้งที่ถังขยะก็ทำไม่ได้ แม้ภายในบ้านกินแล้วใช้แล้วก็ไม่ยอมล้าง กองเป็นพะเนินให้บูดเน่า แล้วค่อยล้างทีหลัง
ที่วัดหลังจากกินเสร็จ ฉันเสร็จ ทั้งพระทั้งโยมจะต้องทำความสะอาด เก็บเข้าที่อย่างเป็นระเบียบ เป็นการฝึกให้คนมีวินัย มีสติ ไม่ให้คนมักง่าย หากนำมาใช้ที่บ้านก็จะเป็นการดี ความมักง่ายก็จะลดลง
หมู่บ้าน หัวหน้าหรือผู้นำประจำหมู่บ้านคือ ผู้ใหญ่บ้าน บางคน บางหมู่บ้านไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์เลย ทำได้แต่สิ่งเก่าๆ ซ้ำซากจำเจ เช่น ประกาศข่าวราชการ ประกาศชื่อผู้เรี่ยไร ทำบุญตามประเพณีต่างๆ หรือโครงการต่างๆ ถนนหนทางหนองน้ำขาดการดูแล ผู้นำไม่นำลูกบ้านพัฒนา ถึงฤดูการเลือกตั้ง ผู้นำก็ถลำเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองอีก งานบริการชาวบ้านต่างๆ แทนที่จะบริการด้วยความบริสุทธิ์ กลับคิดมิดี กินขี้ช้างซะเรื่อย ฯลฯ อย่างนี้คือตัวอย่างของหมู่บ้านมักง่าย
ตำบล สมัยก่อนกำนัน คือผู้นำหรือหัวหน้าตัวจริง ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นนายก อบต. นายกเทศบาล (เทศมนตรี) แทนที่จะดีขึ้น พัฒนาขึ้น ก็ยังงั้นๆ เพราะคำว่า “นักการเมืองน้ำเน่า” ก็ย่อมจะเอาคืนเสมอ คือก่อนจะได้รับการเลือกตั้ง ก็ลงทุนไปเยอะ เลยถือโอกาสเอาคืนตอนมีอำนาจ โครงการต่างๆ งานต่างๆ จึงมี “ขี้ช้าง” ให้ได้สวาปามอย่างอิ่มหมีพีมัน นี่คือตำบลมักง่าย
อำเภอและจังหวัด หัวหน้าหรือผู้นำ คือนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด บทบาทค่อยๆ ลดลง เพราะบทบาท อำนาจ และงบประมาณถูกถ่ายโอนไปให้นักการเมือง คือ นายก อบต. นายเทศบาล (เทศมนตรี) นายก อบจ.รับผิดชอบ ถนนหนทาง ขุดลอกห้วยหนองคลองบึง โครงการต่างๆ จะมีความมักง่ายโผล่ให้เห็นเสมอ เช่น ขุดสระ แทนที่จะเอาดินไปทิ้งไกลๆ กลับขุดแปะตรงขอบสระนั่นแหละ พอฝนตกก็ไหลคืนลงสระ ปีหน้าได้งบขุดใหม่ ปลูกต้นไม้มีงบปลูกทุกปี ปลูกแล้วก็ตาม ไม่มีการดูแลรักษา ไปดูงาน (คือไปเที่ยว) ไม่รู้ร่ำรวยมาจากไหน ไปกันทุกปี ไม่เห็นนำมาพัฒนาบ้านเมืองเลย ฯลฯ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า “มักง่าย” แล้วจะให้เรียกอะไร?
ประเทศและโลก ก็วิ่งตามเขาไป ไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง กลัวผู้นำโน่นนี่จะไม่พอใจ
อย่างเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ทำได้เพียงตัวอักษรในแผ่นกระดาษ แล้วก็วิ่งตามผู้นำโลก เป็นเด็กดีของเขาตลอด ปานไม่รู้อะไรเป็นอะไร เขาเยสก็เยส เขาโนก็โน
ความจริงมีอยู่ว่า ถ้าเราอยู่อย่างพอเพียง เรามีทุกอย่าง เราพึ่งตัวเองได้ นายทุนเล็ก-กลาง-ใหญ่ทั้งหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มันก็ขายของให้เราไม่ได้ มันมีเพียงเท่านี้เอง ทำเป็น “คิดไม่ออก-บอกไม่ได้” เลยวิ่งตามเขาตลอด มันง่ายดี นี่คือประเทศมักง่าย โลกมักง่าย
นิสัยและสันดานมักง่ายที่เอาความสะดวกเข้าว่า ระบาดหนัก จนมีร้านสะดวกซื้อทุกหมู่บ้านแล้วร้านเล็กร้านน้อยของคนไทยที่สืบทอดมาเป็นร้อยๆ ปีตายเรียบ นี่คืออันตรายใกล้ตัว ความตายภายในบ้าน เพราะความมักง่ายของผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง
วิกฤตการณ์เยี่ยงนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร? ดูใครๆ มุมไหน เหลี่ยมไหน ก็พากันมักง่ายไปเสียหมด
เหลือเพียงจุดเดียวเท่านั้นคือ... “ศูนย์รวมน้ำใจของไทยทั้งชาติ” นั่นคือ...
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...
ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่ทุจริตหลายอย่าง มีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการช่วยกันฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น
ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจ ไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืน ต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่า ขัดกับธรรมะ เราต้องกล้า และบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ
ความหนักแน่นอดทน ไม่ยอมตัวให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติ ตามอารมณ์ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ความหนักแน่นอดทน ช่วยให้เกิดการยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อมีการยั้งคิด ย่อมมีโอกาสพิจารณาทบทวนเรื่องต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เมื่อคิดทบทวนดีแล้ว ก็จะเห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างกระจ่างชัด คือเห็นและทราบชัดในสิ่งที่เป็นตัวปัญหา พร้อมทั้งลู่ทาง และวิธีการที่จะคิดจะปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นโดยตลอด จึงจะสามารถทำงานได้โดยราบรื่น ไม่หลงทาง ไม่เสียเวลา ไม่ผิดพลาด หากแต่มีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสมบูรณ์
คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริต และความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
... (จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 เมษายน 2555)
ฟังพระองค์ท่านแล้ว ยังจะพากันมักง่ายอยู่อีกหรือ ท่านพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ตื่นรู้ได้แล้ว ความมักง่ายกำลังนำความตายมามอบให้ท่านถึงกระไดบ้านแล้ว ถ้าท่านมัวหลับใหลอยู่ ก็เสร็จเขา ตายหยังเขียดแน่ๆ
มักง่ายทุกอย่าง
ประชานิยมกำลังจะเบ่งบานอีกครั้ง คือเอาเงินไปให้ชาวบ้าน จะได้จับจ่ายใช้สอย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าเข้านั่น มันก็คือให้นายทุนเล็ก-กลาง-ใหญ่ ขายของได้นั่นเอง
เมื่อมีเงิน ก็มักซื้อมักจ่ายทุกอย่าง จ่ายไม่อั้น เป็นสูตรเก่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำไม? ก็มันง่ายดี ฉันและเธอล้วนแต่เป็นคนมักง่าย ที่สำคัญได้กำไร คือคะแนนนิยม
ผักสวนครัวธรรมดาๆ ขิง ข่า ตะไคร้ พริก แมงลัก กะเพรา มะนาว ฯลฯ ไม่ยอมปลูก ไม่มีที่ดิน ปลูกในกระถางก็ได้ ตื่นเช้าขึ้นมาจะได้จ่ายตลาด คงโก้ (โง่) ดีกระมัง?
ระดับประเทศ ใครเป็นใหญ่ มีอำนาจต้องซื้อต้องจ่ายไว้ก่อน เช่น อาวุธสงคราม เรือดำน้ำ เรือเหาะ เรือบิน รถถัง ฯลฯ แม้ไม่มีสงคราม ก็ซื้อไว้ก่อน เหตุผลให้ชาติอื่นรู้ว่าเรามีเขี้ยวเล็บ จะได้เกรงกลัว จริงๆ น่าจะเป็นหวังคอมมิสชันมากกว่า ซื้อมากได้เปอร์เซ็นต์มาก อยู่ในอำนาจไม่กี่ปี มีเงินเป็นพันล้านหมื่นล้าน ถ้าดูเฉพาะเงินเดือน สมมติเดือนละสองแสน ปีหนึ่งสองล้านสี่แสน อยู่ในอำนาจสัก 5 ปีก็ได้เพียง 12 ล้าน (โดยไม่ใช้อะไรเลย) แล้วมันจะงอกมาจากไหน เป็นพันล้านหมื่นล้าน ถ้าไม่...
หาเงินทุกทาง
หาเงินทุกทาง เพราะมันต้องจ่ายทุกอย่าง มันทำเองไม่เป็น ถ้ามัวแต่ซื่อสัตย์สุจริต มีอุดมการณ์ ทำงานโปร่งใส จะเอาเงินมาจากที่ไหน มาซื้อมาจ่ายสิ่งฟุ่มเฟือยประดับบารมี ดังนั้น อะไรก็ได้ (โกง ขายตัว ขายชาติ ฯลฯ) ที่จะได้เงินเอาหมด
อย่างกรณีแบงก์กรุงไทย กู้ตั้งเกือบหมื่นล้านให้ผ่านง่ายๆ ทั้งที่บริษัทที่จะกู้ติดแบล็กลิสต์ตั้งงบบริษัทใหม่มากู้ มุกง่ายๆ แค่นี้ คนเก่งขั้นเทพของกรุงไทยไม่รู้เชียวรึ มองระดับชาวบ้านรากหญ้า เขาก็หาเงินทุกทางเช่นกัน เลือกตั้งที สวรรค์โปรดที เงินไม่มา กาไม่เป็น เงินไม่มา ขาไม่เดิน ที่คุณอีเวนต์ เลือกตั้งห้ามซื้อสิทธิขายเสียงมันผิดกฎหมาย ให้คุณตะโกนจนคอแตกตาย ก็ไม่เกิดผลอะไรหรอก เพราะการหาเงินทุกทางเพื่อจ่ายทุกอย่าง มันกลายเป็นนิสัยถาวรไปแล้ว อย่ามาอ้างเลือกตั้งคือประชาธิปไตยอยู่เลย แท้จริงมันคือกระบวนการโกงกินจนสิ้นชาติของทุนสามานย์เผด็จการทรราช ในคราบนักเลือกตั้งประชาธิปไตย
สรรค์สร้างมืดมน
สรรค์สร้างหรือสร้างสรรค์ คือทำหรือคิดสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์
คนมักง่าย ชอบพูดคำ “สร้างสรรค์” บ่อยๆ แต่ไม่เคยทำเรื่องสร้างสรรค์ เพราะเขาไม่อาจรู้เห็นได้...มันมืดมนอนธการไปหมด
เมื่อไม่สร้างสรรค์ ก็ทำแต่สิ่งเดิมๆ ซ้ำซากจำเจ เร่ขายมุกเก่าๆ กลายเป็นตลกฝืด
เลือกตั้ง-เข้าสู่อำนาจ-ถอนทุน-รัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง...หมุนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นเรือลอยในอ่าง อ้างโน่นนี่อยู่อย่างนี้แหละ
ทำไมจึงทำเช่นนั้น?
เพราะมันง่ายดี (ก็ผมเป็นคนมักง่ายก๊าบ)
นี่คือ “ความวิปลาส”
“ความวิปลาส คือการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง”
ไม่ใช่ผมว่าเองหรอก ท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยบุคคลของโลก ท่านว่าไว้นานแล้ว
“ปัญญา” เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการเฉลียวใจว่า การกระทำแบบเดิมๆ ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้ และพยายามหาหนทางใหม่ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่ทำแบบเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วหวังว่ามันจะเปลี่ยนไป มันก็แค่หวังลมๆ แล้งๆ เลื่อนลอย ไม่เป็นแก่นสาร เห็นแล้ว “ขำเหน็บ-เจ็บลึก”
“สังคมมักง่าย
มักจ่ายทุกอย่าง
หาเงินทุกทาง
สรรค์สร้างมืดมน”
ความมักง่าย นิสัยมักง่าย สังคมมักง่าย ดูดีๆ ก็คือ... “อาการขาดสติ” นั่นเอง
“สติ” คือความไม่ประมาท หรือ “ความไม่ประมาท” คือความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ
หลักธรรมคำสอนทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้า ย่อลงเหลือเพียงคำเดียวคือ “สติ”
หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนว่า... “ผู้ใดมีสติอยู่ทุกเวลา ผู้นั้นจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา”
บางคนไม่อยากฟังใคร ไม่อยากฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์อะไรทั้งนั้น แต่ขอบิณฑบาตไว้สักหนึ่งเถอะ นั่นคือ...ฟังพระพุทธเจ้าบ้าง จะได้ตื่นรู้ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมไปกับเขา เคยแต่ตามก้นเขาต้อยๆ ก็หัดนำหน้าเป็นสมาร์ทโฟน เอ้ย...เป็นสมาร์ทแมนกับเขาบ้าง นะโยม
คำว่า “มักง่าย” กับ “เรียบง่าย” มีง่ายเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน “มักง่าย” หมายถึงเอาสะดวกเข้าว่า ส่วน “เรียบง่าย” หมายถึงอยู่เย็นเป็นไปอย่างง่ายๆ ธรรมดาสามัญ ไม่ยุ่งยาก ไม่โลดโผนฉูดฉาด ไม่ตามกระแสบริโภคนิยม มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง หรือ “เป็นอยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง” เป็นต้น
สังคมมักง่าย
ความประพฤติที่ปฏิบัติจนเคยชิน เรียกว่า “นิสัย” และนิสัยที่ติดมาเป็นธรรมชาติของคนคนนั้นเรียกว่า “สันดาน” หลายๆ สันดานกลายเป็น “สังคม” ก็มีทั้งสังคมเรียบง่าย และสังคมมักง่าย
“สังคมมักง่าย ความตายใกล้ตัว แหล่งรวมความชั่ว เมามัวอบาย”
นิสัยมักง่าย สันดานมักง่าย มองเผินๆ ตื้นๆ เพียงด้านเดียว ก็ไม่มีพิษมีภัยอะไร ถ้ามองแบบมีวิสัยทัศน์ นิสัยมักง่าย เอาสะดวกเข้าว่า เป็นจุดอันตรายของบุคคลที่ขยายอันตรายสู่สังคมกลายเป็นความตายแบบผ่อนส่ง ที่บุคคลและสังคมเห็นว่าเป็นสิ่งหอมหวาน เป็นมารร้ายสีขาวประมาณนั้น
สังคมมักง่ายมีอยู่ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกอย่างที่เห็นกันอยู่ คือ โลกาภิวัตน์มักง่ายนั่นเอง
ครอบครัวบริเวณบ้านตัวเอง สะอาด น่าอยู่ แต่ขยะกลับทิ้งหน้าบ้าน กะแค่เอาไปทิ้งที่ถังขยะก็ทำไม่ได้ แม้ภายในบ้านกินแล้วใช้แล้วก็ไม่ยอมล้าง กองเป็นพะเนินให้บูดเน่า แล้วค่อยล้างทีหลัง
ที่วัดหลังจากกินเสร็จ ฉันเสร็จ ทั้งพระทั้งโยมจะต้องทำความสะอาด เก็บเข้าที่อย่างเป็นระเบียบ เป็นการฝึกให้คนมีวินัย มีสติ ไม่ให้คนมักง่าย หากนำมาใช้ที่บ้านก็จะเป็นการดี ความมักง่ายก็จะลดลง
หมู่บ้าน หัวหน้าหรือผู้นำประจำหมู่บ้านคือ ผู้ใหญ่บ้าน บางคน บางหมู่บ้านไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์เลย ทำได้แต่สิ่งเก่าๆ ซ้ำซากจำเจ เช่น ประกาศข่าวราชการ ประกาศชื่อผู้เรี่ยไร ทำบุญตามประเพณีต่างๆ หรือโครงการต่างๆ ถนนหนทางหนองน้ำขาดการดูแล ผู้นำไม่นำลูกบ้านพัฒนา ถึงฤดูการเลือกตั้ง ผู้นำก็ถลำเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองอีก งานบริการชาวบ้านต่างๆ แทนที่จะบริการด้วยความบริสุทธิ์ กลับคิดมิดี กินขี้ช้างซะเรื่อย ฯลฯ อย่างนี้คือตัวอย่างของหมู่บ้านมักง่าย
ตำบล สมัยก่อนกำนัน คือผู้นำหรือหัวหน้าตัวจริง ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นนายก อบต. นายกเทศบาล (เทศมนตรี) แทนที่จะดีขึ้น พัฒนาขึ้น ก็ยังงั้นๆ เพราะคำว่า “นักการเมืองน้ำเน่า” ก็ย่อมจะเอาคืนเสมอ คือก่อนจะได้รับการเลือกตั้ง ก็ลงทุนไปเยอะ เลยถือโอกาสเอาคืนตอนมีอำนาจ โครงการต่างๆ งานต่างๆ จึงมี “ขี้ช้าง” ให้ได้สวาปามอย่างอิ่มหมีพีมัน นี่คือตำบลมักง่าย
อำเภอและจังหวัด หัวหน้าหรือผู้นำ คือนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด บทบาทค่อยๆ ลดลง เพราะบทบาท อำนาจ และงบประมาณถูกถ่ายโอนไปให้นักการเมือง คือ นายก อบต. นายเทศบาล (เทศมนตรี) นายก อบจ.รับผิดชอบ ถนนหนทาง ขุดลอกห้วยหนองคลองบึง โครงการต่างๆ จะมีความมักง่ายโผล่ให้เห็นเสมอ เช่น ขุดสระ แทนที่จะเอาดินไปทิ้งไกลๆ กลับขุดแปะตรงขอบสระนั่นแหละ พอฝนตกก็ไหลคืนลงสระ ปีหน้าได้งบขุดใหม่ ปลูกต้นไม้มีงบปลูกทุกปี ปลูกแล้วก็ตาม ไม่มีการดูแลรักษา ไปดูงาน (คือไปเที่ยว) ไม่รู้ร่ำรวยมาจากไหน ไปกันทุกปี ไม่เห็นนำมาพัฒนาบ้านเมืองเลย ฯลฯ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า “มักง่าย” แล้วจะให้เรียกอะไร?
ประเทศและโลก ก็วิ่งตามเขาไป ไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง กลัวผู้นำโน่นนี่จะไม่พอใจ
อย่างเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ทำได้เพียงตัวอักษรในแผ่นกระดาษ แล้วก็วิ่งตามผู้นำโลก เป็นเด็กดีของเขาตลอด ปานไม่รู้อะไรเป็นอะไร เขาเยสก็เยส เขาโนก็โน
ความจริงมีอยู่ว่า ถ้าเราอยู่อย่างพอเพียง เรามีทุกอย่าง เราพึ่งตัวเองได้ นายทุนเล็ก-กลาง-ใหญ่ทั้งหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มันก็ขายของให้เราไม่ได้ มันมีเพียงเท่านี้เอง ทำเป็น “คิดไม่ออก-บอกไม่ได้” เลยวิ่งตามเขาตลอด มันง่ายดี นี่คือประเทศมักง่าย โลกมักง่าย
นิสัยและสันดานมักง่ายที่เอาความสะดวกเข้าว่า ระบาดหนัก จนมีร้านสะดวกซื้อทุกหมู่บ้านแล้วร้านเล็กร้านน้อยของคนไทยที่สืบทอดมาเป็นร้อยๆ ปีตายเรียบ นี่คืออันตรายใกล้ตัว ความตายภายในบ้าน เพราะความมักง่ายของผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง
วิกฤตการณ์เยี่ยงนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร? ดูใครๆ มุมไหน เหลี่ยมไหน ก็พากันมักง่ายไปเสียหมด
เหลือเพียงจุดเดียวเท่านั้นคือ... “ศูนย์รวมน้ำใจของไทยทั้งชาติ” นั่นคือ...
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...
ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่ทุจริตหลายอย่าง มีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการช่วยกันฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น
ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจ ไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืน ต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่า ขัดกับธรรมะ เราต้องกล้า และบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ
ความหนักแน่นอดทน ไม่ยอมตัวให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติ ตามอารมณ์ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ความหนักแน่นอดทน ช่วยให้เกิดการยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อมีการยั้งคิด ย่อมมีโอกาสพิจารณาทบทวนเรื่องต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เมื่อคิดทบทวนดีแล้ว ก็จะเห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างกระจ่างชัด คือเห็นและทราบชัดในสิ่งที่เป็นตัวปัญหา พร้อมทั้งลู่ทาง และวิธีการที่จะคิดจะปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นโดยตลอด จึงจะสามารถทำงานได้โดยราบรื่น ไม่หลงทาง ไม่เสียเวลา ไม่ผิดพลาด หากแต่มีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสมบูรณ์
คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริต และความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
... (จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 เมษายน 2555)
ฟังพระองค์ท่านแล้ว ยังจะพากันมักง่ายอยู่อีกหรือ ท่านพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ตื่นรู้ได้แล้ว ความมักง่ายกำลังนำความตายมามอบให้ท่านถึงกระไดบ้านแล้ว ถ้าท่านมัวหลับใหลอยู่ ก็เสร็จเขา ตายหยังเขียดแน่ๆ
มักง่ายทุกอย่าง
ประชานิยมกำลังจะเบ่งบานอีกครั้ง คือเอาเงินไปให้ชาวบ้าน จะได้จับจ่ายใช้สอย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าเข้านั่น มันก็คือให้นายทุนเล็ก-กลาง-ใหญ่ ขายของได้นั่นเอง
เมื่อมีเงิน ก็มักซื้อมักจ่ายทุกอย่าง จ่ายไม่อั้น เป็นสูตรเก่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำไม? ก็มันง่ายดี ฉันและเธอล้วนแต่เป็นคนมักง่าย ที่สำคัญได้กำไร คือคะแนนนิยม
ผักสวนครัวธรรมดาๆ ขิง ข่า ตะไคร้ พริก แมงลัก กะเพรา มะนาว ฯลฯ ไม่ยอมปลูก ไม่มีที่ดิน ปลูกในกระถางก็ได้ ตื่นเช้าขึ้นมาจะได้จ่ายตลาด คงโก้ (โง่) ดีกระมัง?
ระดับประเทศ ใครเป็นใหญ่ มีอำนาจต้องซื้อต้องจ่ายไว้ก่อน เช่น อาวุธสงคราม เรือดำน้ำ เรือเหาะ เรือบิน รถถัง ฯลฯ แม้ไม่มีสงคราม ก็ซื้อไว้ก่อน เหตุผลให้ชาติอื่นรู้ว่าเรามีเขี้ยวเล็บ จะได้เกรงกลัว จริงๆ น่าจะเป็นหวังคอมมิสชันมากกว่า ซื้อมากได้เปอร์เซ็นต์มาก อยู่ในอำนาจไม่กี่ปี มีเงินเป็นพันล้านหมื่นล้าน ถ้าดูเฉพาะเงินเดือน สมมติเดือนละสองแสน ปีหนึ่งสองล้านสี่แสน อยู่ในอำนาจสัก 5 ปีก็ได้เพียง 12 ล้าน (โดยไม่ใช้อะไรเลย) แล้วมันจะงอกมาจากไหน เป็นพันล้านหมื่นล้าน ถ้าไม่...
หาเงินทุกทาง
หาเงินทุกทาง เพราะมันต้องจ่ายทุกอย่าง มันทำเองไม่เป็น ถ้ามัวแต่ซื่อสัตย์สุจริต มีอุดมการณ์ ทำงานโปร่งใส จะเอาเงินมาจากที่ไหน มาซื้อมาจ่ายสิ่งฟุ่มเฟือยประดับบารมี ดังนั้น อะไรก็ได้ (โกง ขายตัว ขายชาติ ฯลฯ) ที่จะได้เงินเอาหมด
อย่างกรณีแบงก์กรุงไทย กู้ตั้งเกือบหมื่นล้านให้ผ่านง่ายๆ ทั้งที่บริษัทที่จะกู้ติดแบล็กลิสต์ตั้งงบบริษัทใหม่มากู้ มุกง่ายๆ แค่นี้ คนเก่งขั้นเทพของกรุงไทยไม่รู้เชียวรึ มองระดับชาวบ้านรากหญ้า เขาก็หาเงินทุกทางเช่นกัน เลือกตั้งที สวรรค์โปรดที เงินไม่มา กาไม่เป็น เงินไม่มา ขาไม่เดิน ที่คุณอีเวนต์ เลือกตั้งห้ามซื้อสิทธิขายเสียงมันผิดกฎหมาย ให้คุณตะโกนจนคอแตกตาย ก็ไม่เกิดผลอะไรหรอก เพราะการหาเงินทุกทางเพื่อจ่ายทุกอย่าง มันกลายเป็นนิสัยถาวรไปแล้ว อย่ามาอ้างเลือกตั้งคือประชาธิปไตยอยู่เลย แท้จริงมันคือกระบวนการโกงกินจนสิ้นชาติของทุนสามานย์เผด็จการทรราช ในคราบนักเลือกตั้งประชาธิปไตย
สรรค์สร้างมืดมน
สรรค์สร้างหรือสร้างสรรค์ คือทำหรือคิดสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์
คนมักง่าย ชอบพูดคำ “สร้างสรรค์” บ่อยๆ แต่ไม่เคยทำเรื่องสร้างสรรค์ เพราะเขาไม่อาจรู้เห็นได้...มันมืดมนอนธการไปหมด
เมื่อไม่สร้างสรรค์ ก็ทำแต่สิ่งเดิมๆ ซ้ำซากจำเจ เร่ขายมุกเก่าๆ กลายเป็นตลกฝืด
เลือกตั้ง-เข้าสู่อำนาจ-ถอนทุน-รัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง...หมุนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นเรือลอยในอ่าง อ้างโน่นนี่อยู่อย่างนี้แหละ
ทำไมจึงทำเช่นนั้น?
เพราะมันง่ายดี (ก็ผมเป็นคนมักง่ายก๊าบ)
นี่คือ “ความวิปลาส”
“ความวิปลาส คือการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง”
ไม่ใช่ผมว่าเองหรอก ท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยบุคคลของโลก ท่านว่าไว้นานแล้ว
“ปัญญา” เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการเฉลียวใจว่า การกระทำแบบเดิมๆ ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้ และพยายามหาหนทางใหม่ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่ทำแบบเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วหวังว่ามันจะเปลี่ยนไป มันก็แค่หวังลมๆ แล้งๆ เลื่อนลอย ไม่เป็นแก่นสาร เห็นแล้ว “ขำเหน็บ-เจ็บลึก”
“สังคมมักง่าย
มักจ่ายทุกอย่าง
หาเงินทุกทาง
สรรค์สร้างมืดมน”
ความมักง่าย นิสัยมักง่าย สังคมมักง่าย ดูดีๆ ก็คือ... “อาการขาดสติ” นั่นเอง
“สติ” คือความไม่ประมาท หรือ “ความไม่ประมาท” คือความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ
หลักธรรมคำสอนทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้า ย่อลงเหลือเพียงคำเดียวคือ “สติ”
หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนว่า... “ผู้ใดมีสติอยู่ทุกเวลา ผู้นั้นจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา”
บางคนไม่อยากฟังใคร ไม่อยากฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์อะไรทั้งนั้น แต่ขอบิณฑบาตไว้สักหนึ่งเถอะ นั่นคือ...ฟังพระพุทธเจ้าบ้าง จะได้ตื่นรู้ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมไปกับเขา เคยแต่ตามก้นเขาต้อยๆ ก็หัดนำหน้าเป็นสมาร์ทโฟน เอ้ย...เป็นสมาร์ทแมนกับเขาบ้าง นะโยม