xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องหลังไอ้โม่ง ทำหนี้เสียแบงก์อิสลามพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฉเบื้องหลังหนี้เสียแบงก์อิสลามพุ่งไม่หยุด ชี้ชัดผู้บริหารไร้ความสามารถส่งผลกระทบการจัดการหนี้ ทั้ง ยกเลิกโครงสร้างเดิม ลอยแพลูกหนี้เก่า ระงับปล่อยสินเชื่อรายใหม่ แถมโบ้ยความผิดเป็นเรื่องทุจริตยุคก่อนสร้างภาพกลบเกลื่อนความล้มเหลวแก้ปัญหา เผยตัวเลขน่าตกใจสินเชื่อหดตัวกว่าหมื่นล้าน เอ็นพีแอลทะยานเกือบ 50%แล้ว

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่กว่า 49% ประกอบกิจการตามหลักศาสนาอิสลาม เริ่มเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท

วันนี้ภายใต้การบริหารงานของบอร์ดชุดปัจจุบันที่มีนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ปัญหาหนี้เสียเข้าขั้นวิกฤติ กระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารอย่างน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ตัวเลขผ่านการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน งวดไตรมาสที่สอง สิ้นสุดเดือนมิถุนายน ระบุว่า ธนาคารขาดทุนสะสมเพิ่มจาก 20,092 ล้านบาทในเดือนนธันวาคม 2557 เป็น 25,511 ล้านบาท

**เปิดตัวเลขน่าตระหนก

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได หรือ หนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ตรวจสอบล่าสุดเดือนกรกฎาคม2558 ได้ทะยานขึ้นจากระดับ43% ในเดือนธันวาคม 2557 มาอยู่ที่ 49%

ขณะที่หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงของธนาคารก็ยิ่งสูงมากขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เท่ากับ ติดลบ 22% นั่นหมายถึงการกันสำรองเป็นกองทุนเพื่อป้องกันความเสียหายจากสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอาการหนัก ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้อย่างน้อยต้อง 8.5% หรือ ทุกๆ สินทรัพย์เสี่ยง 100 บาท แบงก์จะต้องกันสำรองไว้ 8.5บาท

**เบื้องหลังวิกฤติแบงก์ -ปัญหาหนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ASTVผู้จัดการ" ถึงเบื้องหลังปัญหาไอแบงก์ ว่า ต้นตอที่แท้จริง คือ คนที่บริหารแบงก์นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ขาดความเข้าใจ ไม่มีความสามารถในการบริหารงานธนาคาร

เห็นได้จาก การสั่งระงับการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ และรายย่อย ทำให้เกิดภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงของสินเชื่อ พร้อมกับ การสั่งยกเลิกโครงสร้างการติดตามและ การดูแลลูกค้ารายย่อย ที่ถูกวางรากฐานไว้มานาน ทำให้ลุกหนี้ขาดการติดต่อ ธนาคารไม่สามารถติดตามหนี้ได้

"เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่พยายามแก้ปัญหาหนี้เสียแต่กลับโยนไปเป็นปัญหาการทุจริตการปล่อยสินเชื่อ ในอดีต ขณะนี้มีเรื่องที่ตั้งไว้กว่า 30-40 กรณีที่จะสอบสวน" แหล่งข่าวกล่าว

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาในยุคของนายธานินทร์ อังสุวรังษี เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร หนี้เสียที่เตยมีแค่ 8% ในปี 2554 จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น 2 เท่าในปี 2555 ต่อเนื่องจนถึงยุคของนายชัยวัฒน์ ซึ่งยังคงนโยบายเดิมของนายธานินทร์ หนี้เสียจึงไต่ระดับขึ้นมาดังกล่าว ขณะที่การปล่อยสินเชื่อหดตัวจาก 110,00 ล้านในเดือนธันวาคม 2557 เหลือ 100,000 ล้าน จากตัวเลขล่าสุดเดือนกรกฎาคม2558
"นี่เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในสมัยนายชัยวัฒน์" แหล่งข่าวกล่าว

**ชัยวัฒน์-ธานินทร์ ความล้มเหลวที่สืบทอดกันมา

นายชัยวัฒน์ อยู่ในแวดวงสถาบันการเงินมาตลอด 40 ปี ผ่านงานธนาคารมา 9-10 แห่ง ความชำนาญที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นด้านการปิด/ควบ/ขาย กิจการ เช่น AIG ธนาคารนครหลวงไทย โดยไม่มีผลงานเรื่องการพัฒนาหรือการทำธุรกิจธนาคาร

นายชัยวัฒน์สนิทสนมกับนายธานินทร์ อังสุวรังษี ซึ่งว่ากันว่าเป็นคนสนิทของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งรูปแบบการทำงานของนายธานินทร์ฯ จะระงับการปล่อยสินเชื่อและการทำธุรกรรมของธนาคารทั้งหมด ทำให้หนี้ตกชั้นเพิ่มขึ้น สินเชื่อหดตัว เงินฝากไหลออก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของปลัดกระทรวงการคลังในช่วงนั้นให้ข้อมูลว่า นาย ธานินทร์ให้นายชัยวัฒน์ฯ เป็นที่ปรึกษาในการบริหารงาน และนายธานินทร์ตอบแทนโดยสนับสนุนให้นายชัยวัฒน์ฯ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโรงแรมสุวรรณภูมิ ในขณะที่นายธานินทร์เป็นกรรมการ บริษัทการท่าอากาศยาน หรือ AOT นอกจากนี้นายธานินทร์ฯ ยังเป็นบุคคลที่ คสช. สั่งให้ไปรายงานตัว ภายหลังการรัฐประหาร

เมื่อนายชัยวัฒน์ฯ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการไอแบงก์ คนใกล้ชิดนายชัยวัฒน์มักกล่าวอ้างต่อผู้บริหารและพนักงานภายในมาโดยตลอดว่า เป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.50 กับพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา จึงได้รับมอบหมายให้มาเป็นประธานฯ

**คลังเกาะติดสถานการณ์แบงก์

รูปแบบการทำงาน นายชัยวัฒน์จะทำงานเฉพาะที่ปรึกษา 3 คนที่เป็นลูกน้องเก่า ซึ่งไม่มีความรู้ความสามารถอะไร โดยให้เงินเดือนสูงคนละ 200,000 บาท และให้มีอำนาจสั่งการเหนือพนักงานและผู้บริหารทั้งหมด และ ทำงานร่วมกับพนักงานระดับ ผอ. 4-5 คน ในการบริหารธนาคารขนาด 1 แสนล้าน เพราะระแวงในตัวผู้บริหารทุกคนของธนาคาร

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ยังวิเคราะห์การทำงานของนายชัยวัฒน์ว่า มีนโยบาย ระงับการปล่อยสินเชื่อ แต่ระดมเงินฝาก ส่วนการแก้หนี้หรือให้สินเชื่อ จะให้ที่ปรึกษาเป็นผู้เจรจากับลูกค้า ซึ่งไม่มีความโปร่งใส

ขณะเดียวกัน การแก้หนี้ (TDR) เป็นในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อลูกค้าบางราย แต่ทำให้ธนาคารเสียหาย เช่น ธนาคารเกิดส่วนสูญเสีย (PV loss)โดยที่ลูกค้ามิได้มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือผ่อนปรนเงื่อนไข เช่น พักเงินต้นและให้ผ่อนแต่อัตรากำไรในอัตราต่ำๆ เพื่อให้ดูเหมือนว่าแก้ไขหนี้ได้ แต่ในอนาคตลูกค้าเหล่านี้ก็จะกลับมาตกชั้นอยู่ดี (re-entry)

"นอกจากนี้ในลูกค้ารายใหญ่ จะกำหนดให้มี third party ทำหน้าที่ Cash monitoring ซึ่งล้วนเป็นพรรคพวกของนายชัยวัฒน์และเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าในอัตราที่สูง ทำให้ลูกค้าเดือดร้อนและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเอาเงินจำนวนนั้นมาชำระหนี้ธนาคาร" แหล่งข่าวกล่าว และว่า ปัจจุบันธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แย่ลง หนี้เสีย (NPLs) 49% สินเชื่อหดตัว บางเดือนที่มีกำไรจากสำรองตีกลับ เพราะเกิดจากการแก้หนี้ที่ไม่มีคุณภาพ พนักงานทยอยลาออก สะท้อนว่า แผนการแก้ไขปัญหาไม่สามารถปฏิบัติได้

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาของนายชัยวัฒน์มี 2 แนวทางที่คลังกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
แนวทางแรก นายชัยวัฒน์ เชื่อว่า จะหาผู้ร่วมทุนได้ และสองตรวจสอบการทุจริตสินเชื่อที่ไม่เกิดรายได้ เพื่อกลบความล้มเหลวการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาสินเชื่อภายในธนาคารได้วางระบบตรวจสอบและถ่วงดุล (check&balance )โดยเจ้าหน้าที่สินเชื่อ (RM) เป็นผู้ดูแลลูกค้า ฝ่ายวิเคราะห์ (CM) ทำหน้าที่วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงด้านต่างๆ และฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อ (CR) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตามลำดับชั้น

การพิจารณาว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นั้นเป็นการทุจริตของพนักงานหรือกรามการธนาคารนั้น เป็นการตั้งสมมติฐานที่มิได้อยู่บนมาตรฐานการอำนวยสินเชื่อ หากต้องพิจารณาถึงกระบวนการทำงาน ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงของทางธนาคาร

หากแต่มีข้อเท็จจริงบางประการที่ส่งผลต่อลูกค้าโดยตรงนั้นคือนโยบายธนาคารในสมัยนายธานินทร์ (พ.ย.55-มิ.ย.56) และสมัยนายชัยวัฒน์ (พ.ค.57-ปัจจุบัน) ที่ระงับการปล่อยสินเชื่อใหม่ ชะลอการดูแลหรือเจรจากับลูกค้าเดิม ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อลูกค้าบางรายและทำให้ธนาคารเสียหาย บริหารงานผ่านที่ปรึกษา รวมทั้งไม่มีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของพนักงาน จึงสร้างความเสียหายต่อลูกค้าและธนาคารมากกว่าหรือไม่

"เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มีลักษณะหมุนเวียนต่อเนื่องต้องถูกระงับ โดยเห็นได้จากสินเชื่อที่ตกชั้นจะเกิดในช่วงของทั้งสองคนนี้ ".
กำลังโหลดความคิดเห็น