xs
xsm
sm
md
lg

แจงเลิกภาษีบาปเหตุใช้ผิดประเภท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - อาจารย์นิด้าชี้ กมธ.ยกร่างฯ ยกเลิกภาษีบาป เพราะ สสส.ให้งบหนุนหน่วยงานไม่เกี่ยวป้องกันโรค ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ย้ำหากทำงานได้ผลจริง กองทุนต้องไม่โตขึ้น

จากกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ปรับแก้การใช้งบประมาณจากภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ให้กลับไปสู่การใช้งบประมาณระบบปกติที่ต้องผ่านสภา ทำให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณภาษีบาปของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญให้องค์กรเดิมที่มีอยู่ก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ใช้งบประมาณจากภาษีบาปต่อไปได้ แต่ต้องมีการกำหนดเพดานภาษี และให้มีองค์กรประเมินแห่งชาติตรวจสอบการใช้งบประมาณ

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สสส.ได้รับงบประมาณจากภาษีบาปร้อยละ 2 โดยปีล่าสุดได้รับงบประมาณอยู่ที่ 4,064 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับภารกิจการลดอัตราผู้สูบบุหรี่และผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังไม่เห็นผลชัดเจน โดยใช้งบประมาณไปกับการผลิตเสื้อ หนังสือ กระเป๋า ซึ่งไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมป้องกันโรค ตรงนี้ทำให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณใหม่ ให้ดำเนินการตามระบบงบประมาณที่ต้องผ่านรัฐสภา แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่สำเร็จ

“ถ้า สสส.ทำงานได้ผลจริงๆ ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมากองทุนคงไม่โตขึ้น ในทางกลับกันถ้าทำงานมีประสิทธิภาพจริง สสส.ต้องปิดตัวเองลงในที่สุด วันนี้จะเห็นว่าเป้าหมาย ภารกิจของการทำงานขัดแย้งกับแหล่งที่มาของเงิน และจะเห็นว่าวันนี้องค์กรอิสระในประเทศไทยมีเยอะมาก ต่างคนต่างก็มีระเบียบหลักเกณฑ์การใช้เงินของตัวเอง ซึ่งจริงๆ องค์กรอิสระไม่ควรมีอิสระเรื่องการใช้เงินมากขนาดนี้ ตนจึงมีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1. ออกมีระเบียบจัดซื้อจัดจ้างกลางสำหรับองค์กรอิสระทุกหน่วยงาน เพื่อให้ สตง.ตรวจสอบได้ง่าย และเป็นไปตามมาตรฐาน 2. ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน ครอบคลุมเรื่องการนั่งเป็นกรรมการในหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวข้องกันด้วย 3. มีตัววัดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการทำงาน ก่อนหลังทำโครงการมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง และ 4. ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมป้องกันโรค รักษาโดยตรง คือ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค” ดร.อานนท์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น