ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายคนอาจสงสัยว่า ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)” คนใหม่หลังการเกษียณอายุราชการของ “บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร” ซึ่งรั้งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งนั้น สุดท้ายทำไม “เต็ง 1 ” ที่ยืนระยะมาอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่าง “บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย นาควานิช(ตท.14)” ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก จึงมาแผ่วลงในช่วงชิงดำโค้งสุดท้าย และกลับกลายเป็น “เต็ง 2” อย่าง “บิ๊กติ๊ก-พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา(ตท.15)” ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เบียดขึ้นมาเป็นเต็ง 1 ชนิดที่แทบจะเรียกว่า แบเบอร์ไร้ราคาต่อรองเช่นนี้
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อด้อยเพียงหนึ่งเดียวของ พล.อ.ปรีชาก็คือ ความเป็นน้องชายแท้ๆ ของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพราะนั่นนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำติฉินนินทาถึงความไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้ว พล.อ.ปรีชาก็คือนายทหารผู้มากฝีมือและความสามารถ ไม่ได้มีอะไรที่ด่างพร้อยที่เป็นรอยตำหนิได้เลยแม้แต่น้อย
ทว่า ในวันนี้ สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ได้ทำให้ข้อด้อยของ พล.อ.ปรีชาดูเหมือนจะหมดไปโดยสิ้นเชิงและกลับกลายเป็นข้อเด่นเสียด้วยซ้ำไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตกผลึกทางความคิดของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ชัดเจนว่า ตัดสินใจเลือก พล.อ.ธีรชัย ซึ่งเป็นน้องรักมาตั้งแต่ต้น ก็ตระหนักถึงสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปว่าทำไมถึงต้องเป็น พล.อ.ปรีชา
แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีที่มาที่ไป เพราะก่อนหน้านี้ สังคมมองว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็น ผบ.ทบ.ระหว่าง พล.อ.ปรีชาหรือ พล.อ.ธีรชัย ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะทั้งคู่ล้วนแล้วแต่เป็น “น้องรัก” ของ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะ พล.อ.ธีรชัยนั้นถือเป็นสายตรงบูรพาพยัคฆ์เฉกเช่นเดียวกัน
วันที่ 10 สิงหาคม 2558 วันที่ พล.อ.ประวิตรเปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตำรวจ บุคคลสำคัญ ข้าราชการ และหน่วยงานต่างๆ เข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 70 ปี ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้เดินทางเข้าพบและอวยพรวันเกิดพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ พร้อม “ประกาศ “มอบหัวใจ” ให้ “พี่ป้อม” ออกสื่อ ก่อนที่จะหยอดคำหวานตบท้ายว่า “พลเอกประวิตรเป็นพี่ชายที่รัก ความเป็นพี่เป็นน้องนั้นเป็นเพียงแค่วันเดียวก็เท่ากับเป็นทั้งชีวิต จึงให้ความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันมาตลอด”
หลังจากนั้นอีก 1 วันคือวันที่ 11 สิงหาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ผู้เป็นพี่ชายได้ให้สัมภาษณ์ถึงเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกเอาไว้เป็น “สัญญะ” ว่า “น้องผมผิดอะไร เรื่องการแต่งตั้งเขามีคณะกรรมการของกระทรวงกลาโหม และหลักเกณฑ์การพิจารณา ส่วนถ้าน้องผมเป็นจะเสียหายหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ ซึ่งผมก็เป็นมาแบบนี้ ถ้าไม่ดี เขาคงไม่ตั้งมาเป็นผบ.ทบ. การแต่งตั้งผมไม่คิดแทนใคร และไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ หากคณะกรรมการเสนอใครมาก็จะเซ็นไปตามนั้น”
เป็นไปได้หรือไม่ว่า พล.อ.ประวิตรน่าจะเป็นการตกผลึกความคิดและในช่วงไม่กี่วันนี้นี่เอง
เพราะหลังจากนั้นเพียงแค่ 1 วัน ข่าวเรื่อง พล.อ.ปรีชาเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ถูกปล่อยออกมา และปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ในวันที่ 13 สิงหาคม 2558
ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและบริบทรอบข้างจะเห็นได้ว่า นี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ “พี่น้องบูรพาพยัคฆ์” อันเป็นที่มาจากปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองที่รุมเร้าเข้ามารอบด้าน กระทั่งสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลทหารเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจอันหนักหนาสาหัสจนต้องจำยอมปรับคณะรัฐมนตรี
รายงานข่าวยืนยันชัดเจนตรงกันว่า การปรับย้ายนายทหารในครั้งนี้ ทางผู้บัญชาการเหล่าทัพค่อนข้างที่จะพิถีพิถันในการพิจารณา เนื่องจากจะต้องหาคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมือง และที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศของรัฐบาล และ คสช. ที่ขณะนี้กำลังเดินหน้าไปสู่โรดแมประยะที่ 3 โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39
รายงานข่าวยืนยันชัดเจนตรงกันว่า แม้ว่าขณะนี้ ตำแหน่งผบ.ทบ.คนที่ 39 จะยังไม่ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเป็นไปได้ว่า พล.อ.อุดมเดช จะเสนอชื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. โดยอ้างอิงจากสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ จึงจำเป็นจะต้องเลือกคนที่ไว้ใจมากที่สุด มาดูแลสถานการณ์ ขณะที่ พล.อ.ธีรชัย จะถูกโยกมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อทำงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างของกระทรวงกลาโหม 2558-2567 ให้กับพล.อ.ประวิตร ที่เป็นรมว.กลาโหม
คำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า พล.อ.ปรีชาได้เป็น ผบ.ทบ.จริง ๆ
คำตอบก็คือ จะมีหลักประกันในเรื่องความมั่นคงของรัฐบาล คสช.เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีทางที่ พล.อ.ปรีชาจะทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ผู้เป็นพี่ชายอย่างแน่นอน
ยิ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น พล.อ.อุดมเดชดังที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว เก้าอี้ ผบ.ทบ.ของ พล.อ.ปรีชาจะมีความสำคัญมากที่สุด
ดังนั้น พล.อ.ปรีชาจึงเป็น ผบ.ทบ.ที่เป็นตัวเลือกที่สุด เป็นตัวเลือกที่สร้างความมั่นคงที่สุดให้กับ “ป๋าป้อม-พล.อ.ประวิตร” และ “พี่ตู่-พล.อ.ประยุทธ์” แม้ว่า “บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย” จะเป็นน้องรัก และเป็น “บูรพาพยัคฆ์” ที่ พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์รักและไว้ใจมากเช่นกัน เพราะเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ
และถ้าไม่มีการพลิกโผอะไรออกไป ก็ต้องบอกว่า การตัดใจเลือก พล.อ.ปรีชาเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดสำหรับ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์
ความจริงแล้วต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้วางตัว พล.อ.ปรีชาผู้เป็นน้องชายมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้มีสิทธิลุ้นเก้าอี้ ผบ.ทบ. ไม่เช่นนั้นแล้ว ในการปรับโยกย้ายนายทหารปีที่ผ่านมา คงไม่มีหยิบชื่อ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 3 เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก คู่กับ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) แม่ทัพภาคที่ 1 และมี พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ตท.15) จากรองเสนาธิทหารทหารบก เป็น เสนาธิการทหารบก
การขยับ พล.ท.ปรีชา มาเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. ในครั้งนั้น ทำให้เส้นทางสู่การเป็นแม่ทัพบก ภายหลัง พล.อ.อุดมเดช เกษียณอายุราชการก็สดใสขึ้นมาในทันที เพราะมีพี่ชายแท้ๆ นั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
จะน่าแปลกใจอะไรกับประวัติศาสตร์เมืองไทย จะมีตระกูล “จันทร์โอชา” เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบกในคราวเดียวกัน เพราะตระกูล “ชินวัตร” ก็เคยสร้างประวัติศาสตร์มาแล้วเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
“กระทบเรื่องอะไร พวกคุณก็ไปมองวาดภาพอย่างนี้ แล้วในอดีตนายกรัฐมนตรี มีนามสกุลเดียวกันที่ผ่านมา คุณไปเล่นงานเขาบ้างไหม ทำไมทีผมแล้วเอาอยู่ได้ มีไหมล่ะ นามสกุลเดียวกัน เครือญาติกันหมดไหม ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ผิดบ้าง ถูกบ้างก็ชื่นชมกันไปหมด นี่ของผมยังไม่ได้เป็นอะไรสักอันเลย พูดไปพูดมา น้องชายก็น้อยใจผม”
พล.อ.ประยุทธ์ประกาศชัดเจนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 เมื่อถูกถามว่า ถ้าหาก พล.อ.ปรีชาเป็น ผบ.ทบ.จะกระทบกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่
เป็นการแสดงความคิดเห็นชนิดที่ถ้าจะใช้คำว่า “แบะท่า” และเตรียมเหตุผลรองรับเอาไว้พร้อมสรรพก็คงจะไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี นอกจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.แล้ว นายทหารที่จะเข้ามาอยู่ในไลน์ 5 เสือ ทบ. นั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้น เพราะนั้นหมายถึงการวางไลน์อำนาจระยะยาว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า พล.อ.อุดมเดช จะมีการขยับให้ พล.อ.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) รองเสนาธิการทหาร ขยับขึ้นมาเป็น รองผบ.ทบ. และได้แรงหนุนจาก พล.อ.ประวิตร ในฐานะน้องรัก เพื่อให้กลับมาช่วยงาน พล.อ.ปรีชา ในการทำหน้าที่ ผบ.ทบ. ส่วน พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ (ตท.16) แม่ทัพภาคที่ 1 ขยับมาเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. คู่กับ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. และ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร (ตท.17) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เป็นเสนาธิการทหารบก ส่วน พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (ตท.18) แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็น ขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)
เห็นโผรายชื่อแล้ว ถ้าไม่มีการพลิกโผอะไรก็สามารถฟันธงเปรี้ยงลงไปได้เลยว่า บิ๊กโชย-พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์คือเต็ง 1 ในเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนถัดไป
สำหรับในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. ได้เสนอชื่อให้ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ (ตท.15) เสนาธิการทหาร เป็นผบ.สส.คนต่อไป โดยมี พล.อ.พอพล มณีรินทร์ (ตท.16) ข้ามห้วยมาเป็นรอง ผบ.สส. ควบคู่กับ พล.ร.อ.ประสาน สุขประเสริฐ (ตท.14) เป็น รองผบ.สส. พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ (ตท.16) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น รองผบ.สส. พล.อ.ทวีป เนตรนิยม(ตท.16) ผู้บัญชาการทหารพัฒนา เป็น รอง ผบ.สส. และพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ (ตท.15) รองเสนาธิการทหาร ขึ้นเป็น เสนาธิการทหาร
ในส่วนของสำนักงานปลัดกลาโหม หาก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) หากผิดหวังในตำแหน่งผบ.ทบ. จะมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีพล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล (ตท.14) ข้ามห้วยมาเป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ร.อ.อนุทัย รัตตะรังสี (ตท.15) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ มาเป็นรองปลัดกลาโหม พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร ( ตท.15) ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ ไปเป็นรองปลัดกลาโหม และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล (ตท.16) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ลูกหม้อภายหน่วยขึ้นตรงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็น รองปลัดกลาโหม
ส่วนกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ได้ส่งไม้ต่อให้ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง (ตท.14) ผู้ช่วย ผบ.ทร. ขึ้นมาเป็นผบ.ทร.คนใหม่ เพื่อสานภารกิจการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน และขยับให้ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ เสนาธิการทหารเรือ (ตท.15) เป็นรอง ผบ.ทร. เพื่อจ่อคิวเป็นผบ.ทร. คนต่อไป เพราะจะเกษียณอายุราชการเดือนก.ย.60 ส่วน พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ (ตท.15) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ที่มีผลงานโดดเด่นที่ในการแก้ไขปัญหาการกระทำประมงผิดกฎหมาย ภายในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทร. และมี พล.ร.อ.ไกรวุธ วัฒนธรรม (ตท.16) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ขยับเป็นเสนาธิการทหารเรือ โดยมี พล.ร.ท.สุชีพ ชนไมตรี (ตท.17) เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
ขณะที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ.ยังคงอยู่ในตำแหน่ง โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 59 แต่ก็ได้มีการจัดวางไลน์ในตำแหน่ง 5 เสืออากาศใหม่ โดยมีการขยับให้ พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์ (ตท.16) ผู้ช่วย ผบ.ทอง ขึ้นมาเป็น รอง ผบ.ทอ.แทน พล.อ.อ อานนท์ จารยะพันธุ์ ที่จะต้องเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนก.ย.นี้ เพื่อรอต่อคิวเป็น ผบ.ทอ.คนต่อไป โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง (ตท.16) เสนาธิการทหารอากาศ ขยับขึ้นมาเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทอ. และ พล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว (ตท.15) ผู้บัญชาการหน่วยควบคุมการปฏิบัติ ทางอากาศ (คปอ.) เป็นผู้ช่วยผบ.ทอ. ส่วน พล.อ.ท.ทวิเดนศ อังศุสิงห์ (ตท.16) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจําผู้บังคับบัญชา ขยับเป็นเสนาธิการทหารอากาศ
ทั้งนี้ สำหรับบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหาร ทางผู้บัญชาการเหล่าทัพได้ส่งให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างให้ทางกรมเสมียนตรา ตรวจสอบรายละเอียด ความถูกต้อง ก่อนที่จะนำส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะเป็นไปตามโผที่ออกมาหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้หรือไม่
แต่บอกได้ว่า ...ระทึกใจจริงๆ