ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องบอกว่าไม่เหนือความคาดหมายกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่สั่งให้จำคุก “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จากความผิดในคดีทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) นครสมุทรปราการ เมื่อปี 2542 เพราะเป็นการพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ หลังจากที่ศาลชั้นต้นก็เคยพิพากษาให้มีความผิดเช่นเดียวกัน
ส่งให้ชื่อของ “เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” เบียดข่าวเด็ดประเด็นดังในช่วงนี้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อีกครั้ง และก็เป็นอีกครั้งที่ไม่ใช่ข่าวดี เพราะหนก่อนก็มีปัญหาจนเลิกราหย่าร้างกับ “เมียสาว” ที่สื่อนำมารายงานจนเป็น “มินิซีรีย์” มาครั้งนี้ก็เป็นข่าวเมื่อเดินคอตกเข้าคุกไปอีก
พลิกปูม 16 ปีคดีประวัติศาสตร์
เรื่องนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ถูกขนานนามว่า “โคตรโกงเลือกตั้งปากน้ำ” มีการต่อสู้ในชั้นศาลและกระบวนการยุติธรรมมานานกว่า 16 ปี โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในการเลือกตั้งสมาชิก ส.ท.สมุทรปราการ หรือ “เมืองปากน้ำ” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้สมัครลงแข่งขัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปากน้ำ 2000 ของ “ชนม์สวัสดิ์” และกลุ่มเมืองสมุทร ของ “ประสันต์ ศีลพิพัฒน์” นักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง และอดีตนายกเทศมนตรีสมุทรปราการ ซึ่งเป็นมีศักดิ์เป็นอาของ “ชนม์สวัสดิ์” เอง
โดยในระหว่างที่มีการลงคะแนนได้มีการจับภาพ “ไอ้โม่ง” กำลังนำบัตรเลือกตั้งหรือ “บัตรผี” ไปใส่ในหีบบัตรอย่างโจ่งครึ้ม ทำให้ “ประสันต์” เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง
จนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2545 อัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้อง “ชนม์สวัสดิ์” ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มปากน้ำ 2000 และผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิก ส.ท.สมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 และ “ปิติชาติ ไตรสุรัตน์” ซึ่งเป็นปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการในสมัยนั้น เป็นจำเลยที่ 2 ที่สุดศาลประทับรับฟ้องมีการสืบพยานเบิกความต่อสู้รวมแล้วหลายสิบราย ก่อนจะพิพากษาให้จำคุก “ชนม์สวัสดิ์” 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และจำคุก“ปิติชาติ” 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ก่อนที่ทั้งคู่ได้นำหลักทรัพย์มายื่นประกันตัวออกไปเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งได้แก้โทษให้จำคุก “ชนม์สวัสดิ์” 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และจำคุก “ปิติชาติ” 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทั้งคู่ก็ได้ยื่นประกันตัวเพื่อต่อสู้ในชั้นฎีกาอีกครั้ง
ขณะที่ในชั้นศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง แต่ทั้ง “ชนม์สวัสดิ์ - ปิติชาติ” ผลัดกันขอเลื่อนนัดศาลโดยอ้างทั้งเรื่องติดภารกิจ และสุขภาพ จนในการนัดหมายครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็น “เค้าลาง” บางอย่างเมื่อ “ชนม์สวัสดิ์” เดินทางมาศาล แต่ “ปิติชาติ” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองนายก อบจ.สมุทรปราการ ส่งทนายมาของเลื่อนนัดหมายศาลอีกครั้งโดยอ้างว่า มีปัญหาสุขภาพในระหว่างการเดินทางไปร่วมพิธีไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเชงเม้งที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งแพทย์ลงความเห็นให้พักฟื้นที่โรงพยาบาล จนไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ ศาลจึงได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาอีกครั้งไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 และกำชับว่า ให้จำเลยทั้งสองระมัดระวังเรื่องการเดินทางไปนอกพื้นที่ในช่วงวันนัดหมาย เพราะมีการเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว
ถึงวันนัดปรากฏว่า “ปิติชาติ” ไม่ได้เดินทางมาอีก อ้างเรื่องสุขภาพเช่นเดิม แต่ไม่ได้มีใบรับรองแพทย์มายืนยัน ศาลจึงได้สั่งให้ออกหมายจับ “ปิติชาติ” และเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลฏีกาให้จำคุก “ชนม์สวัสดิ์” 1ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และอ่านคำพิพากษาลับหลัง “ปิติชาติ” ที่ยังไม่สามารถตามจับกุมได้ เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ปิดตำนานคดี “โคตรโกงเลือกตั้งปากน้ำ” เกือบจะสมบูรณ์ เหลือเพียงตามตัว “ปิติชาติ” มารับโทษเท่านั้น
คดียืดเยื้อ “ช่องโหว่” กระบวนการยุติธรรม
แม้จะมีการลงโทษจำเลยสำคัญในคดีไปแล้ว แต่ก็เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า เหตุใดจึงมีความยืดเยื้อมาถึงกว่า 16 ปี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ระเบียบข้อปฏิบัติของศาลยุติธรรม ที่จำเป็นต้องให้ “สิทธิ” แก่จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหา ในการเปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ รวมทั้งการขอเลื่อนนัดศาลในกรณีที่มีเหตุจำเป็น
แต่ตรงนี้ถือเป็น “ช่องโหว่” ที่ทำให้จำเลยสามารถยื้อเวลาออกไป
โดยเฉพาะกรณีของ “นักการเมือง” ซึ่งค่อนข้างมีผลกระทบในวงกว้าง ในเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ กรณีของ “ชนม์สวัสดิ์” เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะแม้ในการเลือกตั้ง ส.ท.สมุทรปราการ เมื่อปี 2542 จะมีการร้องเรียนว่า โกงการเลือกตั้งกันอย่างมโหฬาร แต่สุดท้าย “ชนม์สวัสดิ์” และกลุ่มปากน้ำ 2000 ก็ได้ชนะการเลือกตั้งเข้ามา
ปี 2545 เมื่ออัยการฯยื่นฟ้องต่อศาล และศาลประทับรับฟ้อง ก่อนจะพิพากษาให้จำคุก "ชนม์สวัสดิ์” 4 ปี และ “ปิติชาติ” 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ช่วงนั้นกลุ่มปากน้ำ 2000 โดยการนำของ “ชนม์สวัสดิ์” ก็ยังทำหน้าที่บริหารเทศบาลนครสมุทรปราการอยู่ ต่อมาในระหว่างอุทธรณ์ “ชนม์สวัสดิ์” และทีมงาน ก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2546
กระทั่งปี 2554 ในขณะที่คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา “ชนม์สวัสดิ์” ก็ลงสมัครและชนะเลือกตั้งได้เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ ขณะที่ “ปิติชาติ” ก็ได้เข้ามาเป็นรองนายก อบจ.สมุทรปราการ
สะท้อนให้เห็นว่าตลอด 16 ปีที่ผ่านมา แม้จะถูกกล่าวหา และพิพากษาให้มีความผิดฐานทุจริตเลือกตั้งแล้ว แต่ “ชนม์สวัสดิ์” ก็ยังวนเวียนอยู่ในอำนาจมาโดยตลอด หากมองในแง่หลักการถือว่า ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่ปล่อยให้ “คนผิด” ลอยนวลเท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบทั้งที่มีสถานะเป็น “ว่าที่ผู้ต้องขัง”
หลักการที่ถูกควรมีการวางกลไกไว้ว่า เมื่อศาลประทับรับฟ้องแสดงว่า คดีมีมูล ดังนั้น “ผู้ถูกกล่าวหา” ก็ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคดีจะสิ้นสุด และต้องระงับการเข้าสู่การมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อมีอำนาจก็อาจสามารถแทรกแซงคดีที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียได้ อีกทั้งอาจมีการ “วิ่งเต้น” ล้มคดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้อีกด้วย
อย่างกรณีของ “ชนม์สวัสดิ์” ก็มีส่วนเกี่ยวข้องการทุจริตงบอุดหนุนวัดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ หลังจากที่เข้ามามีตำแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2554 ซึ่ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการให้เงินอุดหนุนกับวัดสูงขึ้นทุกปีอย่างผิดสังเกต และใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 800 ล้านบาท ขณะที่เรื่องอยู่ในชั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูก คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พักงานในตำแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ไม่เพียงเท่านั้น “ชนม์สวัสดิ์” ยังมีชื่อไปพัวพันกับการฆาตกรรม “สมยศ สุธางค์กูร” อดีตเจ้าพ่อคาเฟ่ย่านพระราม 9 ซึ่งแม้จะมีการพิสูจน์เบื้องต้นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต แต่ทางทนายของ “ชนม์สวัสดิ์” ก็ยอมรับกับทางตำรวจว่ามีความเกี่ยวข้องกับ “สมยศ” ในการว่าจ้างให้ช่วยเหลือทางคดี แต่ไม่สำเร็จ และผู้ตายก็ได้ส่งเงินคืนแล้ว ซึ่งแม้ในข่าวไม่ได้ระบุว่า เป็นคดีใด แต่ก็ถือเป็นการสารภาพว่า “ชนม์สวัสดิ์”มีส่วนรู้เห็นและข้องเกี่ยวกับการวิ่งเต้นเคลียร์คดี
ถือเป็น “ช่องโหว่” ของกระบวนการยุติธรรมที่ควรถือโอกาสอุดเสียให้หมดจดในยุคปฏิรูปขณะนี้
ตำนาน “เจ้าพ่อปากน้ำ” จากพ่อสู่ลูก
“ตระกูลอัศวเหม” ถือเป็นตระกูลการเมืองที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ยุค “วัฒนา อัศวเหม” เจ้าของสมญานาม “เจ้าพ่อปากน้ำ” ที่ผูกขาดเก้าอี้ ส.ส.สมุทรปราการ ถึง 10 สมัย ตั้งแต่ปี 2518 - 2539 อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นที่รู้จักมากที่สุดในตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย 3 สมัย และยังถือเป็น “จอมยุทธ์” คนหนึ่งมีส่วนร่วมเป็นแกนนำพรรคการเมืองและมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาโดยตลอด
ก่อนจะมาสิ้นลาย “เจ้าพ่อปากน้ำ” เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปี ในคดี “ทุจริตคลองด่าน” หรือโครงการระบบบำบัดน้ำเสียใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการระบบบำบัดน้ำเสียรวมแห่งแรกของไทยซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มูลค่าก่อสร้างกว่า 23,700 ล้านบาท โดย “วัฒนา” ถูกพิพากษาว่าใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอยซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย
แต่ “วัฒนา” ได้หลบหนีออกนอกประเทศก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา ปัจจุบันมีผู้พบเห็นบ่อยครั้งที่ประเทศจีน และเกาะมาเก๋า
ต้องยอมรับว่าชื่อเสียงของตระกูล “อัศวเหม” ค่อนข้างกว้างขวาง แต่ก็เป็นชื่อเสียงในในด้านลบมากกว่า เพราะไม่เพียงแต่ “วัฒนา” ผู้พ่อเท่านั้นที่มีคดีความติดตัว ทายาททางการเมืองอย่าง “พูนผล อัศวเหม” บุตรชายคนรอง และ “ชนม์สวัสดิ์” บุตรชายคนเล็ก ก็มักจะมีคดีความ และถูกกล่าวหาในทางการเมืองบ่อยครั้ง มีเพียงบุตรชายคนโต “พิบูลย์ อัศวเหม” ที่รับหน้าที่ดูแลธุรกิจของครอบครัวเท่านั้นที่ดูจะไม่มีมลทินในทางคดีความเท่าใดนัก
โดย “เสี่ยออย - พูนผล” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เคยถูกกล่าวหาว่าทำร้ายนายทหารนอกราชการยศพันตรีจนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งมีปัญหากับตำรวจจราจร ถึงขั้นขับรถชน จนถูกดำเนินคดีมาแล้ว ขระที่เรื่องใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นการถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เว้นวรรคการเมือง 5 ปี ในข้อหาปกปิดการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อสมัยที่เข้าไปมีตำแหน่งในทางการเมือง จนปัจจุบันจึงหันมาหยิบจับเรื่องธุรกิจ และส่งเสริมด้านกีฬาของ จ.สมุทรปราการ
ขณะที่ “เสี่ยเอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” ต้องถือว่าเป็น “แบดบอย” ตัวจริงเสียงจริง ในอดีตมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทจนตกเป็นข่าวบ่อยครั้ง เคยถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เมื่อใช้ปืนจ่อหัวนายตำรวจยศ พ.ต.ต.ในขณะพยายามเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาทมาแล้ว ก่อนที่จะมาถูกพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตการเลือกตั้ง
แง่หนึ่งต้องยอมรับ “ใจ” ของ “ชนม์สวัสดิ์” เหมือนกันที่เลือกเดินคนละเส้นทางกับผู้เป็นบิดา
เพราะก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า “ชนม์สวัสดิ์” อาจจะหลบหนีเช่นเดียวกับ “วัฒนา” เพราะโอกาสรอดค่อนข้างยาก เนื่องจาก “ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์” ยืนคำตัดสินว่ามีความผิดมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็มาขึ้นศาลฟังคำพิพากษาและรับสภาพการเป็น “นักโทษชาย” อยู่ในตอนนี้
เท่ากับว่า “ชนม์สวัสดิ์” ปิดฉากชีวิตการเมืองไปเป็นที่เรียบร้อย
และแม้ “อัศวเหม” จะไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งระดับประเทศเลยนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 ที่ “พรรคไทยรักไทย” ภายใต้การนำของ “ทักษิณ ชินวัตร” กำเนิดเกิดขึ้น แต่ตระกูล “อัศวเหม” ก็ยังยึดหัวหาดสนามการเมืองท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องทั้งในสนามเทศบาลที่ผูกขาดเก้าอี้มาตลอด ปัจจุบัน “สัมพันธ์ เตชะเจริญกุล” นายกเทศบาลนครสมุทรปราการ ก็เป็นคนสนิทของ “ชนม์สวัสดิ์” นั่นเอง ขณะที่ในสนาม อบจ. “ชนม์สวัสดิ์” ก็ชิงเก้าอี้นายก อบจ.และกุมเสียงข้างมากในสภา ส.อบจ.มาได้ตั้งแต่ปี 2554
หลังจากนี้ต้องจับตาดูทิศทางการเมืองของตระกูล “เจ้าพ่อปากน้ำ” จะดำเนินต่อไปอย่างไร
ไลฟ์สไตล์สุดโลดโผน “นักรัก-นักซิ่ง”
เส้นทางชีวิตของ “เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” ไม่ได้ถูกจับจ้องในเรื่องความเป็นผู้มีอิทธิพลเท่านั้น ในด้านชีวิตรักก็เป็นที่สนใจไม่เป็นรองเรื่องทางการเมืองเลย ถูกยกให้เป็น “คาสโนว่าตัวพ่อ” เคยครองคู่กับนักร้องชื่อดัง “ตู่ - นันทิดา แก้วบัวสาย” โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ก็มีลูกสาวแสนสวยอย่าง “น้องเพลง” เป็นโซ่ทองคล้องใจ
แต่ระหว่างที่ “เอ๋ - ตู่” ครองคู่กัน ก็มีข่าวคราวกระเซ็นกระสายออกมาเป็นระยะถึงความเจ้าชู้ประตูดินของฝ่ายชายที่มีข่าวพัวพันกับสาวๆมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะ “นางแบบชื่อดัง” ที่ติดพันกันนานหลายปี จน “ตู่” เคยเปิดใจว่า "เป็นเมียพี่เอ๋ต้องแข็งแรง" สุดท้ายก็แยกทางกันไปทั้งสามฝ่าย
และ “เอ๋” เองก็ยอมรับว่า แยกกันอยู่กับ “ตู่” มานานแล้ว
กระทั่ง “เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” มาลงเอยแต่งงานใช้ชีวิตคู่กับ “เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ” นางเอกระดับซูเปอร์สตาร์ ที่จดทะเบียนกันแบบสายฟ้าแลบ ทำเอางงกันทั้งเมือง แต่ก็อยู่กินใช้ชีวิตคู่กันได้เพียงไม่ถึงปี ก็ต้องหย่าร้างจนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ปิดฉากตำนานรักฟ้าแลบอย่างถาวร จากนั้นข่าวเรื่องความรักของ “เอ๋” ก็เงียบหายไป
ขณะที่ไลฟ์สไตล์ชีวิตส่วนตัว “เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” เป็นผู้ชื่นชอบเรื่องความเร็วเป็นพิเศษ นิยม “ของเล่นเศรษฐี” สะสมซูเปอร์คาร์ไว้เต็มบ้าน และมีงานอดิเรกเป็นนักแข่งรถระดับประเทศ มีทีมแข่งรถเป็นของตัวเอง และคว้าแชมป์ระดับประเทศมานักต่อนักกับเบอร์ 28 ที่เป็นเบอร์แข่งประจำตัว
ก่อนที่จะถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเพียงสองวัน “เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” ก็เพิ่งเข้าร่วมแข่งขันรถยนต์ทางเรียบชิงแชมป์ประเทศไทย รายการ ไทยแลนด์ ซูเปอร์ ซีรีส์ 2015 สนาม 3-4 โดยสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 1 ของสนาม 4 ในรุ่นไทยแลนด์ ซูเปอร์คาร์ คลาส 1 - GT3 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ด้วย
เชื่อว่าโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน เป็นแค่การยุติเส้นทางสุดโลดโผนของ “เอ๋ - ชนม์สวัสดิ์” เป็นการชั่วคราวเท่านั้น