xs
xsm
sm
md
lg

คลาสสิคไบค์ ความท้าท้ายของชีวิตคนเมือง (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพราะว่าเขา ไม่ใช่แค่หนุ่มใหญ่ผู้หลงใหลสไตล์ไบค์วินเทจ แต่ยังเป็นนักปั่นตัวยงที่ทุ่มเทจุดประกายจนบรรดาสิงห์ฟิกเกียร์ (Fixed Gear) ซึ่งเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยคันในประเทศ กลับมารวมตัวกันได้อีกครั้งนับหมื่นๆ คันหลังเจอช่วงขาลง และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้ Good Ride ต้องซิ่งไปเจอตัวเป็นๆ ของเขา “เปี๊ยก สมาน บัวเจริญ” นักปั่นจักรยานวินเทจ ยุคบุกเบิก วัย 43 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Fixed Show”

เริ่มต้นด้วยความรัก จึงไม่เจ็บ
ก่อนหน้านี้ราว 8 ปี แทบไม่มีใครไม่คุ้นหูชื่อของ “ฟิกเกียร์” เพราะจักรยานทรงคลาสสิกสไตล์นี้ คือตัวกระตุ้นให้กระแสการปั่นจักรยานของบ้านเราให้กลับมาคึกโครมได้อีกครั้ง ทั้งเชิงแฟชั่น และอุปกรณ์สำหรับออกกำลัง หลังจากถูกลืม แทบจะตายไปแล้วจากถนน ซึ่ง เปี๊ยก ก็คือนักปั่นคนแรกๆ ในยุคที่เมืองไทยเพิ่งรู้จัก “Fixed Gear”

“เริ่มแรกก็แค่อยากหากิจกรรมทำ วันหนึ่งพอไปเจอเพื่อนๆ กันปั่นจักรยานก็เลยอยากปั่นบ้าง แล้วเพื่อนๆ สมัยนั้นมันก็ไปเรียนอเมริกา ไปอยู่ซานฟรานซิสโก พอกลับมา มันก็เอาฟิกเกียร์กลับมาด้วย ทีนี้เราเลยไปขอลองปั่น ก็เออเว้ย มันชอบ มันใช่ มันตอบโจทย์เราได้ว่ารถแบบนี้ไม่ต้องมีอะไรเยอะ ไม่ต้องมีเกียร์ แค่เกียร์เดียวนี่แหละ ที่เหลือก็แค่หัดสคิด (การเบรกโดยการใช้เท้า) เราก็พยายามศึกษามันเรื่อยๆ แล้วก็ปั่นมาเรื่อยๆ พอขี่คันนี้ไม่ถูกใจก็เปลี่ยนใหม่”

ในที่สุดความหลงใหลก็ทำให้ เปี๊ยก มีจักรยานฟิกเกียร์ถึง 16 คัน เรียกได้ว่า ถ้ารวมเป็นเงินก็คงมหาศาล เพราะแต่ละคันราคาเริ่มตั้งต้นแต่หกหมื่นจนถึงแสนปลาย และนี่เองที่เป็นเหตุผลให้เขาเริ่มสนใจการเปิดร้านขาย และซ่อมจักรยานของตัวเอง

“คือเรามีรถแพงๆ เวลาเอาไปซ่อมทิ้งไว้ที่ร้าน มันไม่ค่อยสบายใจ ตั้งแต่นั้นเราก็เลยซื้อเครื่องมือมานั่งหัดทำเอง ทำไปเรื่อยๆ จน 8 ปี จนมีประสบการณ์สะสม สามารถทำรถได้หมดทุกอย่าง บวกกับตอนนั้น ด้วยที่รถเรามันเยอะ ต้องการหาที่อยู่ใหม่ เพราะเราอยู่คอนโดมันแคบ พอมีน้องคนหนึ่งมาชวนหุ้น เราก็เลยหุ้นกันเปิดร้าน แต่แบ่งเป็นส่วนใครส่วนมัน ของผมนี่จะเอาแค่วินเทจ ส่วนของเขาจะเอาเฉพาะฟิกเกียร์รุ่นใหม่ของไต้หวันมาขาย”

“แต่ไม่ใช่จะราบรื่น เพราะตอนที่เปิดร้านมันคือช่วงขาลงของฟิกเกียร์พอดี เพราะคนเขาหันไปเล่นจักรยานประเภทอื่นบ้าง เพราะฟิกมันราคาสูงบ้าง หมดกระแสบ้างอะไรก็ว่ากันไป จนน้องที่ชวนผมร่วมเปิดร้านขอถอนตัวไป แรกๆ ก็เครียด แต่ไม่ถึงกับซีเรียส เพราะผมเข้าใจตัวเองตั้งแต่ต้นว่าเรา คิดแค่ว่ามันคืองานอดิเรก มันคือความรัก ไม่ได้คิดว่าจะต้องขายให้ได้เท่าไหร่ ผมมีอาชีพหลักอย่างขายเสื้อผ้าวินเทจอยู่แล้ว ขอแค่ให้งานอดิเรกนี้มันมีเงินเลี้ยงให้ตัวมันเองอยู่ได้ก็พอ มีจ่ายค่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ในร้านต่อเดือนได้โดยที่เราไม่ต้องควักเนื้อ”

เมื่อเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นมาจาก “ความรัก” วันนี้ร้าน Live to Ride ของเขาจึงเปิดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 และกลายเป็นจุดศูนย์รวมของนักปั่น Fixed Gear ไปโดยปริยาย จนถึงขั้นถูกร่ำลือว่า ทั่วทั้งประเทศไทย หากใครต้องการอะไหล่ Fixed Gear ไม่ว่าชิ้นส่วนใดๆ หรืออยากตกแต่งจักรยานแนวนี้ไม่ว่ารุ่นไหนๆ ล้วนต้องมาที่นี่ที่เดียว “Live to ride”

ตายแล้วฟื้น จักรยานวินเทจ

“พวกอะไหล่จะหายากแล้วเพราะมันถึงช่วงขาลง ฟิกเกียร์กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในตอนนี้เมื่อเทียบกับจักรยานประเภทอื่น แต่มันก็ยังมีคนชอบรถวินเทจอยู่ แล้วเราพอที่จะหาของได้ สั่งของได้ เราก็อยากอยู่ตรงนี้ เพื่อไม่ให้รถสไตล์นี้มันสูญพันธุ์ไปตามกระแส ส่วนหนึ่งผมว่าที่คนปั่นกันน้อยลงเป็นเพราะคนหาอะไหล่ หรือที่แต่งกันไม่ได้ด้วยนะ ตอนนี้พูดได้เลยว่ามีแค่ร้านผมร้านเดียวที่ยังเต็มรูปแบบ ทั้งขายอะไหล่ ขายรถ และรับแต่งรถวินเทจอย่างเดียว ร้านอื่นก็อาจจะมีของ แต่ก็แค่อะไหล่ชิ้นสองชิ้นไปดูได้เลย หรือไม่ก็สั่งซื้อกันตามอินเตอร์เน็ต”

ทันทีที่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองรักกำลังจะตายตามกระแส แทนที่ เปี๊ยก เจ้าของร้าน “Live to ride” จะตัดใจปิดกิจการ เขากลับปิ้งไอเดียใหม่ แล้วทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ จนสามารถคืนชีวิตใหม่ให้กับรถจักรยาน fixed gear ที่ถูกปล่อยทิ้งจนฝุ่นจับทั่วประเทศ ผ่านการรวมตัวที่ใหญ่ที่สุดของวงการไบค์วินเทจ ในงาน “Fixed Show thailand meeting”

“ตอนนั้นผมก็นั่งนึกๆ ว่าฟิกฯ มันเหลือน้อย แต่ว่ามันยังมี แล้วเราจะทำยังไงให้คนปั่นฟิกฯ กลับมารวมตัวกันได้อีกครั้ง เพราะส่วนตัวก็อยากรู้ว่า จำนวนจริงๆ ตอนนี้มันเหลือกันอยู่สักกี่คัน ผมก็เลยตั้งกลุ่ม Fixed show ขึ้นมาในเฟสบุ๊ก เป็นกลุ่มที่มีแต่ฟิกฯ อย่างเดียว แต่จะมีทั้งฟิกฯ สายวินเทจ และสายโมเดิร์นรุ่นใหม่ๆ แรกๆ ก็ไล่จากเพื่อนๆ มาได้มาสองสามร้อยคน แล้วเราก็พยายามออกเสียงผ่านเฟสบุ๊กว่า ใครยังขี่อยู่ก็มาแจมๆ กันได้ พอโพสต์ๆ ไปได้สักพักทีนี้สมาชิกก็เริ่มเยอะ เป็นพันคนจากทั่วประเทศ ใช้เวลาราวๆ เกือบปี”

พอเห็นว่าการเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มที่ตัวเองตั้ง เริ่มกลับมานิ่งอีกครั้ง ภาพและสถานะที่เคยโพสต์ทุกๆ วันในกรุ๊ปเริ่มลดลง เขาจึงเพิ่มวัตถุประสงค์ของกลุ่มที่แค่เคยเล่าเทคนิค แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นการซื้อขายกันเองในกลุ่ม มีทั้งในรูปแบบประมูล จนในที่สุดสมาชิกในก็เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นคน

“ตอนนี้กลุ่มของพี่กลายเป็นเบอร์หนึ่งของรถวินเทจแล้ว พี่ก็เลยอยากให้มีปาร์ตี้เจอตัวกันบ้าง อยากให้คนในกลุ่มทั้งที่เป็นร้านมาขายของในกรุ๊ป และสมาชิกทั่วไปได้มาเจอตัวกัน ให้รู้ว่ามีตัวตนกันอยู่จริงๆ ตอนนั้นก็เลยจัดเป็น Fixed Meeting โดยครั้งแรกพี่จัดตรงใต้ทางด่วนแถวประชาชื่น ไม่มีสปอนเซอร์เลย ควักเนื้อทุกอย่าง(หัวเราะ)
พี่ลุยคนเดียว จะมีก็รุ่นน้องๆ หลายๆ คนที่เขามาช่วยๆ เพราะเขารู้ว่าเราทำด้วยใจจริงๆ ทีนี้พอเริ่มจัดไปก็ประสบความสำเร็จ คนเริ่มรู้จัก Fixed Show มากขึ้นว่าเราทำอะไร มีจุดประสงค์และเจตนาอะไร รวมๆ ตอนนี้ก็จัดมา 4 ครั้งแล้ว เมเจอร์รัชโยธินพอเขามาดูเราจัด ก็มาขอช่วยเป็นสปอนเซอร์ตลอดเลย”

ส่วนแนวโน้มในวันนี้ของจำนวนผู้ปั่นจักรยานวินเทจ เจ้าแห่งวงการฟิกเกียร์มองว่า แม้รถลู่ หรือฟิกฯ จะเป็นไบค์ที่ราคาค่อนข้างสูง จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อยากปั่นอาจไม่มีกำลังในการซื้อ หรือซื้อได้เพียงคันละหลักหมื่นสองหมื่น แต่เขาเชื่อว่า กระแสการปั่นจักรยานทั้งงาน Bike For mom หรือโครงการจักรยานต่างๆ สามารถทำให้ฟิกเกียร์ กลับมาโลดแล่นบนถนนอีกครั้งได้อย่างแน่นอน “ตอนนี้เริ่มดีขึ้น เริ่มตื่นตัว ส่วนหนึ่งพี่ว่าเพราะกลุ่มของพี่ด้วย อันนี้ไม่ได้คุยนะ” นั่นคือสิ่งที่เจ้าตัวยืนยัน

Fixed Gear เสน่ห์ที่จักรยานอื่นๆ ไม่มี
“ผมมองว่าฟิกฯ คือศิลปะที่ใช้งานได้ ด้วยความที่มันมีทรงคลาสสิค จอดไว้เฉยๆ มันก็หล่อ มันเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน หรือเป็นพร็อพก็ได้ สามารถแปะไว้ฝาผนังได้เลย อีกอย่างคือสามารถแต่งได้เท่าที่เจ้าของอยากจะทำ ฟรีสไตล์ เปลี่ยนแปลงปรับแต่งไปได้เรื่อยๆ ไม่จำเจ รถมันหล่อ มันไม่มีเบรก ไม่มีเกียร์ คนปั่นต้องใช้แรง กับหัวใจเท่านั้น ถ้าเปรียบเป็นผู้หญิง คงเหมือน ไอด้า ไอรดา เน็ตไอดอลที่มีรสนิยมการแต่งตัวแนวชิคๆ คุณซื้อมันก็เท่ากับซื้องานศิลปะชิ้นหนึ่ง”

ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากงานศิลปะชิ้นนี้จะสามารถพาเจ้าของไปสู่จุดหมายปลายทาง ไปออฟฟิศ หรือออกเดินทาง ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่รถทุกประเภทไม่มีวันลอกเลียนแบบคือ “ความท้าทาย”

“มันตื่นเต้นกว่ารถอื่นๆ สังเกตง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดๆ อย่างเวลาเราปั่นรถที่มีเบรกสองมือซ้ายขวา เราจะขี่ของเราเรื่อยๆ คือมันง่าย มันปลอดภัย มันชิลไปอ่ะ เจออุปสรรคอะไร ก็เบรกได้เอี๊ยดอ๊าด แต่กับฟิกเกียร์มันไม่มีอะไรแบบนี้ มันต้องมีสมาธิกับถนนเป็นสองเท่าเยอะกว่ารถอื่นๆ ต้องรอจังหว่ะสคิด หรือเบรกมันต้องหาจังหว่ะ ตำแหน่งมันต้องเป็นไปตามจังหว่ะโฟกัสของมัน จะเบรกปุ๊บหยุดปั๊บง่ายๆ เหมือนรถอื่นไม่ได้ ซึ่งตรงนี้มันพลาดไม่ได้ ทำให้คนปั่นรู้สึกลุ้น และท้าทายตลอดเวลา”

แม้ข้อดีจะหลากหลาย ทว่า จุดบกพร่องของจักรยานทรงโบราณในมุมมองนักปั่นยุคบุกเบิกก็มีเหมือน เพราะความที่รถไม่มีเกียร์ จักรยานประเภทนี้จึงค่อนข้างถูกจำกัดว่า ควรปั่นในเมืองตามสูตร City bike เน้นไปทางปั่นเล่น หรืออกทริปใกล้ๆ มากกว่าไม่เหมือนจักรยานประเภททัวร์ริ่ง ไฮบริด เสือภูเขา หรือเสือหมอบ ที่สามารถออกเดินทางไกล และมีความยืดหยุ่นในเรื่องทริปลุยๆ เหนือกว่า
เปี๊ยก  สมาน บัวเจริญ
แน่นอนว่า “แค่คิดที่จะปั่น สิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัวก็ถูกดึงดูดเข้ามาแล้ว” เพราะเปี๊ยกเล่าว่า หากใครเคยได้ปั่น ทุกประเภทจักรยานไม่ว่าประเภทไหนๆ มักสัมผัสได้เลยว่า เวลาเจอกันบนท้องถนน
“มิตรภาพมันได้มาโดยง่ายๆ” จักรยานหนึ่งคันมันสามารถพาชีวิตคนหนึ่งคน ไปสู่การพบเจอกับอีกคน ก็เกิดเป็นกลุ่มเป็นแก๊งค์ในที่สุด

“แค่คุณเข็นจักรยานหรือปั่นไปเจอกันตามถนน ก็เจอรอยยิ้มแล้วอ่ะ มิตรภาพมันได้มาง่ายที่สุด ไม่มีนะมอเตอร์ไซค์หรือรถเก๋ง ขี่บนถนนแล้วจอดทักกันคุยกันทั้งๆ ที่ไม่ร็จักมาก่อน คือต่างคนต่างไป แต่พวกจักรยานพอเจอกัน ก็มีแต่หวัดดีครับ พี่ไปไหนครับ ผมไปเส้นนี้ ไปด้วยกันไหม มันทักกันได้อ่ะ แล้วยิ่งเวลารถใครเสีย ยางรั่ว พอเจอกันข้างทางนี่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือกันทั้งนั้น ซึ่งของผมเวลาปั่นก็จะไปกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันดูทาง ช่วยกันสอนเทคนิคแก่รุ่นน้องๆ เพราะตอนนี้มันอันตราย ถ้าไปคนเดียวเวลาเกิดอุบัติเหตุอาจไม่มีใครเห็น”

ส่วนเรื่องของเทคนิคการปั่นจักรยานวินเทจ นักปั่นระดับเจ้าพ่อเผยว่า จำเป็นต้องเซ็ตรถให้เข้ากับผู้ปั่นมากที่สุด เพราะการเบรกมันอยู่ที่การทดสเตอ ทดเกียร์ ให้น้ำหนักได้กับเราล้วนๆ และต้องขี่ด้วยความระมัดระวัง อย่าประมาท ควรเพิ่มสมาธิเป็นสองเท่า เพราะเราไม่เหมือนจักรยานแบบอื่นๆ ไม่แนะนำให้คนที่สคิดหรือเบรกไม่ชำนาญไปลงถนนใหญ่ ต้องไปผ่านการฝึกสคิดให้โฟกัสได้แม่นยำตามหมู่บ้านก่อน

“ยังถ้าสนใจ Fixed gear ทั้งสายวินเทจ และสายโมเดิร์น จะซื้อหรือไม่ซื้อก็แวะมาที่ร้านผมได้ มาคุยมา ปรึกษา ส่วนชอบหรือไม่ชอบ งบเท่าไหร่อะไรยังไง มันมีทางออก หรือไม่ได้ปั่นแต่อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับรถวินเทจก็มาคุยมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ที่นี่อะไหล่ทุกชิ้นของแท้ ของๆ เราทุกอย่างเป็นชิ้นส่วนที่มีมาตรฐาน และร้านของเราก็มีจุดยืนชัดเจนทำเพราะความรัก ไม่ได้เน้นขาย” นี่คือสิ่งที่เป๊ยก นักปั่นรุ่นเก๋า เจ้าของร้าน Live to ride ร้านซ่อมและขายจักรยาน Fixed gear บนถนนอัมรินทร์ที่ว่ากันว่า หลงเหลืออยู่เพียงร้านเดียวในประเทศที่ยังครบวงจร เพื่อตอบโจทย์นักปั่นสไตล์วินเทจฝากไว้







กำลังโหลดความคิดเห็น