xs
xsm
sm
md
lg

อัพเกรดน้องหมาให้ไฮเทคด้วยเทคโนโลยีไร้พรมแดน

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th


สุนัขหรือที่บรรดาผู้รักสุนัขในเมืองไทยส่วนหนึ่งนิยมเรียกว่าน้องหมาเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันใกล้ชิดกับมนุษย์เรามายาวนานมากเลยนะคะ นอกจากความซื่อสัตย์ ขี้อ้อน และ ความน่ารักของน้องหมาที่ถูกใจคนจำนวนไม่น้อยแล้ว น้องหมาหลาย ๆ พันธุ์สามารถถูกฝึกให้ช่วยงานบริการมนุษย์เราได้แบบเป็นจริงเป็นจังด้วย ตัวอย่างที่พบได้บ่อยก็คือ น้องหมาตำรวจที่ช่วยดมกลิ่นตรวจหาสิ่งเสพติดในสนามบิน ซึ่งเป็นอะไรที่ยากจะตรวจพบได้ด้วยเทคโนโลยีการสแกนกระเป๋าหรือสแกนคนในปัจจุบัน ถ้าพูดให้ใกล้ตัวสักนิดสำหรับน้องหมาเลี้ยงในประเทศไทย นอกจากช่วยเป็นเพื่อนขนปุกปุยให้กับเจ้าของแล้วก็คงหนีไม่พ้นการช่วยเฝ้าบ้านใช่ไหมคะ แม้จะเป็นน้องหมาพันธุ์เล็กตัวจิ๋วก็ยังช่วยเห่าให้เจ้าของทราบได้ว่าตอนนี้มีใครหรืออะไรแปลกหน้าผ่านไปมาหรือไม่ การสื่อสารระหว่างคนกับน้องหมานั้นยากตรงที่น้องหมาไม่สามารถพูดเป็นภาษามนุษย์ออกมาได้ว่าหิว, ง่วง, อยากไปเดินเล่น, ตอนนี้มีคนแปลกหน้ากำลังเดินผ่านหน้าบ้านอยู่ ฯลฯ สิ่งที่น้องหมาทำได้คือการเห่า คราง หรือ แสดงอากัปกิริยาต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นเจ้าของที่เลี้ยงดูใกล้ชิดแค่ได้เห็นหรือได้ยินเสียงก็คงพอจะเดา ๆ ได้ว่าท่าแบบนี้เสียงแบบนี้แปลว่าอะไร

แอปพลิเคชันยอดฮิตสำหรับน้องหมาหรือเจ้าของที่พบส่วนใหญ่นั้นเป็นการประยุกต์เอาแอปพลิเคชันสำหรับคนมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมหรือกิจกรรมของน้องหมา เช่น แอปที่ทำงานร่วมกับ GPS ในปลอกคอน้องหมาที่ทำให้เจ้าของรู้ตำแหน่งปัจจุบันของน้องหมาได้ ถ้าน้องหมาออกไปไกลเกินกว่าขอบเขตที่กำหนดไว้ก็จะมีการส่งสัญญาณเตือนมาที่เจ้าของ บางแอปนั้นต่อยอดออกไปอีกทำให้สามารถค้นหาน้องหมาตัวอื่นที่อยู่ในละแวกเดียวกันเพื่อให้เจ้าของสามารถนัดบอดจับคู่ให้น้องหมาได้ นอกจากนี้ยังมีแอปถ่ายทอดสดดูน้องหมาที่อยู่บ้านแบบไร้สายได้ 24 ชั่วโมง แอปรวมวิธีการปฐมพยาบาลรักษาน้องหมา แอปจดบันทึกของน้องหมา ฯลฯ แต่ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีที่ดูล้ำยุคขึ้นมาหน่อยก็เช่น No More Woof! (NMW) ที่ดูละม้ายคล้ายหูฟังสวมหัวแต่แท้จริง คือ เครื่องอ่านคลื่นสมองพร้อมคอมพิวเตอร์ประมวลผลและลำโพง ซึ่งทาง Nordic Society For Invention and Discovery (NSID) ห้องค้นคว้าและประดิษฐ์นวัตกรรมจากแถบสแกนดิเนเวีย พัฒนามาให้สามารถวัดและแปลผลคลื่นสมองบางอย่างของน้องหมา เช่น หิว เหนื่อย ตื่นเต้น ฯลฯ แล้วส่งเสียงพูดคำเหล่านั้นออกมาทางลำโพงเล็ก ๆ เป็นภาษาอังกฤษได้ สนนราคาของเครื่องนี้มีตั้งแต่ 85 – 600 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 – 21,000 บาท) ขึ้นกับความสามารถในการแยกแยะคลื่นสมอง แต่ต้องบอกก่อนนะคะว่าเครื่องนี้ยังไม่สามารถแยกแยะคลื่นสมองทุกชนิดของน้องหมาได้สมบูรณ์แบบ โดยทางผู้พัฒนายังคงค้นคว้าทดลองอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงเครื่องให้สามารถแยกแยะคลื่นสมองให้ได้มากและดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปค่ะ
อุปกรณ์ No More Woof! สำหรับอ่านคลื่นสมอง ประมวลผล และ ส่งเสียงเป็นภาษาอังกฤษออกทางลำโพง (ที่มาของภาพจาก https://www.indiegogo.com/projects/no-more-woof#/story)
นอกจากเครื่องแปลภาษาน้องหมา No More Woof! แล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนบังเอิญไปเจอโปรเจ็กต์น่าสนใจชื่อ F.I.D.O. ย่อมาจาก Facilitating Interactions for Dogs with Occupations หรือก็คือ โปรเจ็กต์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับน้องหมาที่ทำงานบริการนั่นเองค่ะ โดยโปรเจ็กต์นี้เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นในงานประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium on Wearable Computers ปี 2013 ซึ่งยังถูกพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยห้องปฏิบัติการด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์และคอมพิวเตอร์ (Animal-Computer Interaction: ACI) ของมหาวิทยาลัย Georgia Institute of Technology (Georgia Tech) ในสหรัฐอเมริกาซึ่งรวบรวมเอานักวิจัยจากหลากหลายสาขาทั้งด้านคอมพิวเตอร์ ด้านไฟฟ้าและเครื่องกล ด้านการคำนวณโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Centered Computing) ด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human-Computer Interaction: HCI) และด้านสมองมาทำงานด้วยกัน

ไอเดียของโปรเจ็กต์ FIDO นี้ คือ การช่วยให้น้องหมาที่ทำงานบริการสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยอุปกรณ์สวมตัว (Wearable device) สำหรับน้องหมาที่ติดเซนเซอร์สำหรับให้น้องหมากัดได้ ดึงได้ หรือ หันคอเอาจมูกมาชนเซนเซอร์ได้เป็นต้น ซึ่งการกระทำต่าง ๆ ของน้องหมาต่อเซนเซอร์แต่ละตัวจะถูกแปลความหมายแตกต่างกันออกไป ผลลัพธ์ที่ถูกแปลความจะถูกเปลี่ยนเป็นข้อความตัวอักษรหรือสัญญาณเสียงหรือคำพูดแจ้งเตือนเข้าสู่คอมพิวเตอร์หรือมือถือสมาร์ทโฟนอีกที ในเบื้องต้นนี้ทางผู้วิจัยมุ่งเน้นสถานการณ์ของน้องหมาที่ช่วยบริการคนที่มีปัญหาไม่สามารถได้ยินเสียง โดยน้องหมาจะถูกฝึกให้แตะหรือกัดเซนเซอร์ที่ตำแหน่งต่าง ๆ ตามลักษณะของเสียงที่ได้ยิน เช่น ถ้ากัดเซนเซอร์ด้านซ้ายแปลว่าน้องหมาได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัย แต่ถ้าหันไปเอาจมูกแตะเซนเซอร์ด้านขวาแปลว่าได้ยินเสียงกระดิ่งประตู เป็นต้น ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของ Dr. Melody Jackson ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ ACI ผ่านช่อง FOX News เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ในระยะยาวโปรเจ็กต์ FIDO ถูกวางแผนให้สามารถต่อยอดใช้ในลักษณะไร้สายได้เพื่อให้น้องหมาสามารถสื่อสารทางไกลกับทีมกู้ภัยได้ หรือ ส่งซิกถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นในทีมระหว่างปฏิบัติการซุ่มติดตามได้
ภาพซ้ายคือเซนเซอร์สำหรับกัด (bite sensor) ภาพกลางคือเซนเซอร์สำหรับดึง (tug sensor) ภาพขวาคือเซนเซอร์รับรู้ระยะใกล้ (proximity sensor) (ที่มาของภาพจาก http://media4.s-nbcnews.com/  และ http://www.news.gatech.edu/)
การทำงานวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ลักษณะนี้นั้น ผู้วิจัยจะต้องเริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมของน้องหมาก่อนว่าน้องหมาสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น เห่า กัด ดึง ดม แตะ เอี้ยวตัว ฯลฯ จากนั้นจึงมาเลือกว่าพฤติกรรมไหนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง จะใช้เซนเซอร์อะไรมารับรู้พฤติกรรมเหล่านั้นดี และต้องติดเซนเซอร์เหล่านั้นไว้อย่างไรน้องหมาถึงจะสามารถใช้ได้จริง หลังการออกแบบอุปกรณ์ก็ตามต่อมาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากเซนเซอร์เพื่อสรุปหาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมน้องหมากับค่าในเซนเซอร์ออกมาให้ได้ และท้ายสุดคือการตัดสินด้วยผลการทดลองใช้งานจริงกับน้องหมา ซึ่งทั้งหมดนี้แทบจะไม่ต่างกับศาสตร์แห่งการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCI) การออกแบบ UI (User Interface: ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้) และ UX (User Experience: ประสบการณ์ผู้ใช้) ที่กว่าจะได้อะไรออกมาสักอย่างต้องมีการให้ผู้ใช้ทดลองใช้จริงซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเองค่ะ ซึ่งในกรณีการศึกษาพฤติกรรมของน้องหมานี้อาจจะยิ่งยากตรงที่ผู้วิจัยต้องเข้าใจพฤติกรรมรวมถึงจิตวิทยาของน้องหมาแต่ละสายพันธุ์เพิ่มเติมด้วย

จะเห็นนะคะว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีของมนุษย์เราไม่เพียงข้ามพรมแดนเชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกันได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส แต่ยังพยายามจะก้าวข้ามกำแพงสปีชีส์เพื่อเชื่อมมนุษย์และสัตว์เข้าด้วยกันด้วย สมแล้วกับที่เป็นโลกยุคนี้ที่ได้ชื่อว่าโลกยุคเทคโนโลยีไร้พรมแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น