xs
xsm
sm
md
lg

สสส.จับมืออปท.เลิกเหล้า-บุหรี่ กางตัวเลขผลาญเงิน-โรคร้ายรุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30ก.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง”โดยมีสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน จากเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 172 แห่ง พร้อมทั้งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ และไม่ดื่ม” เนื่องในโอกาสเทศกาลเข้าพรรษา และในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อสร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศล
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า สสส.ทำงานโดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลตำบลTCNAP (Thailand Community Network Appraisal Program)โดยจากผลสำรวจ เรื่อง การควบคุมการบริโภคยาสูบระดับครัวเรือน ณ วันที่ 25 ก.ค. 58 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 1,881 แห่ง 15,503 หมู่บ้าน/ชุมชน 1,610,198 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 4,250,971 คน พบว่า มีครอบครัวที่มีสมาชิกสูบบุหรี่มากถึง 244,640 ครัวเรือน โดยแต่ละครอบครัว มีสมาชิกสูบบุหรี่ เฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน
นอกจากนี้ พบว่าส่วนมากครอบครัวนักสูบ มีหนี้สินมากกว่าเงินออม โดยมีภาระหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 190,000 บาทต่อปี ขณะที่มีเงินออมเฉลี่ย 46,000 บาทต่อปี และข้อมูลด้านการเจ็บป่วยพบว่า ร้อยละ 36.87 เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคปวดข้อและข้อเสื่อม ร้อยละ 25.95 ร้อยละ 15.86 เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 10.43 โรคถุงลมโป่งพอง และโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ภูมิแพ้ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้การทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบตรงเป้ามากขึ้น จากข้อมูลพบว่าครัวเรือนที่มีผู้สูบบุหรี่มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการลด ละเลิก บุหรี่ จำนวน 70,674 ครัวเรือน หรือร้อยละ 86.20 โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้ลด ละ เลิก บุหรี่ เนื่องจากห่วงสุขภาพของคนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย
สำหรับข้อมูลด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุจราจร จากโปรแกรมข้อมูลชุดเดียวกันในเดือน ก.ค.2558 ใน อปท.ทั้งหมด 1,881 แห่ง 2,519 ชุมชน 441,525 ครัวเรือน พบ 258,222 ครัวเรือน ยังมีสมาชิกดื่มแอลกอฮอลล์ เฉลี่ย 1 คนต่อครัวเรือน ซึ่งพบว่า ในครัวเรือนที่มีนักดื่มแอลกอฮอลล์นั้นมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 116,000 บาทต่อปี ส่วนมากมีรายได้ต่ำกว่า 400,000 บาท ส่วนข้อมูลภาระหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 207,000 บาท ต่อปี ขณะที่เงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 51,000 บาทเท่านั้น ซึ่งกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์นั้นก็เป็นอีกประเด็นที่น่าห่วงและต้องเร่งรัดลดจำนวนนักดื่มลง ซึ่งจะมีผลต่อการลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย
ด้านนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ และไม่ดื่ม”โดยมีโรดแมป ในการทำงาน คือ 3 ร่วม “ลด ละ เลิก”ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างได้ “ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ปลอดภัย”และ ขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
1. ระดับครอบครัว โดยสร้าง “คนต้นแบบครัวครัวปลอดภัย”ในอปท.ที่เข้าร่วม
2.ระดับชุมชน/หมูบ้าน สร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงโทษการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทำโครงการ “หมู่บ้านปลอดเหล้าเมาไม่ขับ” อย่างน้อย 1 ชุมชน/หมู่บ้าน
3.ระดับกลุ่ม/องค์กร ด้วยการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยโครงการ “กลุ่ม/องค์กรดื่มไม่ขับ และไม่ดื่ม
4. ระดับตำบล อปท.จัดระบบพัฒนาให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ ในโครงการ “ดื่มเมื่อไหร่ ให้โทรมา”โดยดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.- 5 ธ.ค. เพื่อเป็นการประกาศว่า “การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร ชุมชนท้องถิ่นสามารถทำได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น