xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชัดเจนแล้ว“เกณฑ์ตำรวจ 2 ปี” เทียบเท่า “เกณฑ์ทหาร” ทั้งเงินเดือน-หน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มมีความชัดเจนแล้วเมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... (ตำรวจกองประจำการ)หรือ “กฎหมายตำรวจเกณฑ์” ครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบประกาศเป็นกฎหมายฉบับใหม่

เรื่องนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังจะได้รับความเห็น จากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐไปพิจารณาด้วยว่าจะต้องการเกณฑ์ตำรวจกี่ละปีกี่คน

สาเหตุที่ต้องนำเสนอ ครม.อีกครั้ง“พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด”รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เล่าว่า เรื่องนี้ได้เสนอเข้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการปรับแก้ไข้ตามข้อเสนอของกระทรวงต่างๆในสาระสำคัญบางประการ จึงจำเป็นต้องนำร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กลับมาขอความเห็นชอบจากครม.อีกครั้ง

จากการหรือในชั้นครม. ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ จะจัดให้มีตำรวจกองประจำการขึ้น ในลักษณะเช่นเดียวกับทหารกองประจำการ หมายความว่า ในเวลาการเกณฑ์ของทหารกองประจำการในปกติจะมีการแบ่งย่อสัดส่วนไปที่กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ต่อไปนี้ก็จะต้องแบ่งสัดส่วนมายัง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ด้วย

ส่วนวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจส่วนนี้ก็มีลักษณะคล้ายๆทหารกองประจำการ เมื่อครบกำหนดเกณฑ์ 2 ปี และเมื่อปลดประจำการทหารไปแล้วก็จะมีฐานะเป็นทหารกองหนุน ตำรวจกองประจำการก็เช่นเดียวกัน และไม่มีผลผูกพันว่าจะต้องมารับราชการตำรวจต่อ แต่ถ้าอยากจะเป็นตำรวจต่อจะต้องมาเข้ารับการคัดเลือกแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหารกองประจำการที่ปลดจากการเป็นทหาร

“ตำรวจส่วนนี้จะไม่มียศ ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้มีความห่วงว่า อย่าให้ไปปนกับโรงเรียนพลตำรวจ เพราะเป็นโรงเรียนที่ผลิตเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นของความสามารถเฉพาะทาง ทั้งงานสืบสวนสอบสวน แต่ส่วนตำรวจกองประจำการนั้นมีฐานะดูแลความสงบเรียบร้อยด้านความมั่นคง” พล.อ.สรรเสริญ แจ้งไว้ในวันแถลงข่าว

ย้ำอีกที “ตำรวจกองประจำการ หรือ ตำรวจเกณฑ์” มีลักษณะเดียวกับทหารกองประจำการ เมื่อมีการเกณฑ์ทหารกองประจำการ ในแต่ละปีของชาวไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือขอผ่อนผันในเวลากำหนดของทหาร 

เมื่อแบ่งกองกำลังไปยังเหล่าทัพต่างๆ แล้ว ยังต้องแบ่งสัดส่วนมายังหน่วยงานตำรวจด้วย วิธีการปฏิบัติของตำรวจกองประจำการ จะเหมือนกับทหารกองประจำการ คือประจำการ 2 ปี โดยไม่มียศ เป็นพลตำรวจ หลังจากปลดประจำการแล้วก็จะมีสถานะเหมือนทหารกองหนุน 

ดูๆแล้วระยะเวลาในการเกณฑ์ตำรวจ จะอยู่ในช่วงเดียวกับการเกณฑ์ทหาร ประมาณเมษายน หรือกรกฎาคม ของทุกปี

หน้าของตำรวจกองประจำการ “นอกจากการฝึก” เพื่อเป็นภารกิจหลักของชายไทยแล้ว ทางร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนไว้ว่า จะให้มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่ง การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งให้ตำรวจกองประจำการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เรื่องของ “การกำหนดอัตราเงินเดือน” และ “การให้ได้รับเงินเดือนของตำรวจกองประจำการ” นั้นให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหารมาใช้บังคับโดยอนุโลมตลอดจนเงินเพิ่มอื่นหรือเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่ทหารกองประจำการมีสิทธิได้รับตามที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี ส่วนการกำหนดวินัย การรักษาวินัย โทษทางวินัย และการดำเนินการทางวินัยของตำรวจกองประจำการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.”

ในที่ประชุม ครม. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประชาสัมพันธ์ว่า “ตำรวจเกณฑ์”นี้ จะไม่มียศสิบตำรวจ หรือนายร้อยตำรวจ ตามที่สังคมนำไปวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้

ยังมีการนำไปวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า จะให้มีกำลังพล 5000 นาย ถึง 10,000 นาย ขึ้นอยู่กับงบประมาณ โดยจะได้รับเงินค่าตอบแทน 9,000 บาท ต่อเดือน 2 ปี ปลดประจำการ และจะมีโควต้าบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน โดยดูจากการปฎิบัติงานและพฤติกรรมในการเป็นตำรวจกองประจำการ ต่าง ๆนานา

“นายกรัฐมนตรี มีความห่วงว่า อย่าเอากฎหมายนี้ ไปปนกับ “โรงเรียนพลตำรวจ”ที่มีการเปิดสอบเข้า เพราะตรงนี้ ถือเป็นโรงเรียนที่ผลิต “เจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นของความสามารถเฉพาะทาง เช่น งานสืบสวนสอบสวน หรืองานปราบปราม”

หลายคนอยากรู้ว่า “การกำหนดอัตราเงินเดือน” และ “การให้ได้รับเงินเดือนของตำรวจกองประจำการ”จะได้เท่าไร กฎหมายฉบับนี้ให้นำ “กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร” มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ดังนี้ จากข้อมูลระเบียบบัญชีการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม และตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละระดับที่ข้าราชการทหารจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 25 พ.ค.2558

คัดลอกมาเฉพาะ “เงินเดือนทหารกองประจำการ” จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้นตามบัญชีอัตรเงินเดือนใหม่ และได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ตามที่รัฐบาลประกาศให้

สรุปแล้วเมื่อ”อัตราเงินเดือน “ทหารกองประจำการ” ในปัจจุบัน บวกกับเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มค่าครองชีพ (ปกติ) แล้วตกประมาณเดือนละ 10,000 บาท บาท “ตำรวจเกณฑ์”ก็น่าจะได้เงินเดือน ๆ ละ 10,000 บาท เช่นกัน

ส่วนจำนวนกำลังพลจากตัวเลข ปี 2558 เอาแค่ “กองทัพบก” ต้องการทหารเกณฑ์ทั้งหมด 99,373 นาย โดยแบ่งเป็น ทัพ 1 จำนวน 47,906 นาย ทัพ 2 จำนวน 19,240 นาย ทัพ 3 จำนวน 17,230 นาย และทัพ 4 จำนวน 14,997 นาย

ขณะที่ ทหารกองเกินที่จะเข้ารับราชการทหารกองประจำการ แต่ละปี ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือก และผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก ที่แต่ละปีทั้งประเทศเข้าคัดเลือก จับใบดำใบแดงประมาณ 3-4 แสนคน แต่กองทัพ ก็ต้องการเข้าไปเป็น “ทหารกองประจำการ” แต่ละปี “9 หมื่นถึง 1 แสนคน”ซึ่งจำนวนนี้ก็ต้องบวกรวมกับ “ตำรวจกองประจำการ”เข้าไปอีก ก็ขึ้นอยู่ว่า คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ จะเห็นชอบกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนเท่าไร

สำหรับตัว “ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ตำรวจกองประจำการ) มีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ตำรวจกองประจำการ” “เครื่องแบบตำรวจ”
2. กำหนดให้ตำรวจกองประจำการมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่ง การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งให้ตำรวจกองประจำการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3. กำหนดอัตราเงินเดือนและการให้ได้รับเงินเดือนของตำรวจกองประจำการ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตลอดจนเงินเพิ่มอื่น หรือเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่ทหารกองประจำการมีสิทธิได้รับตามที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลัง (กค.) หรือโดย ตช. ตามที่ได้ตกลงกับ กค.
4. กำหนดวินัย การรักษาวินัย โทษทางวินัย และการดำเนินการทางวินัยของตำรวจกองประจำการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
5. กำหนดให้ตำรวจกองประจำการที่ได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนครบกำหนดแล้ว ให้ดำเนินการปลดจากกองประจำการเป็นทหารกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

ย้อนกลับไปดูที่มาของ “ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ตำรวจกองประจำการ)นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ ครม. ประมาณเดือนตุลาคม ปี 2557 สืบเนื่องจาก จากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ประสบปัญหาขาดแคลนกำลังพลไม่สมดุลกับภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบในปัจุปันอีกทั้งสถานการณ์ด้านอาชญากรรมและความมั่นคงของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น

ทาง ตร.จึงได้คิดหาแนวทางในการแก้ไขในปัญหาดังกล่าวโดยเห็นว่า "เรื่องตำรวจกองประจำการ" เป็นแนวทางการสรรหากำลังพลที่เคยได้ดำเดินการมาแล้วในอดีตในลักษณะเดียวกับการคัดตรวจเลือกบุคคลเข้าทหารกองประจำการตรม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจุบัน

โดยให้ “ตำรวจกองประจำการ” ที่ทาง ตร.จะนำมาทดแทนกำลังพลที่ขาดแคลน และใช้ปฏิบัติภารกิจที่มีความเหมาะสมเพื่อจะให้ข้าราชการตำรวจที่ผ่านการอบรมด้านการปราบปราม สืบสวนสอบสวนได้ไปปฏิบัติหน้าที่หลักของตำรวจเต็มประสิทธิภาพทั้งสามารถประหยัดงบประมาณในระยะยาวเมื่อเปรียบเทียบกับการบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการตำรวจ เพราะตำรวจกองประจำการจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ทุกปีสามารถประเมินและบริหารงบประมาณได้อย่างชัดเจน

และหากเมื่อปลดประจำการบุคคลกลุ่มนี้ก็จะเป็นแนวร่วมในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในชุมชนและสังคมต่อไป

คราวการประชุม ครม. ครั้งนั้น ได้มีข้อสังเกตให้ทาง ตร.พิจารณาเพิ่มเติมในรายละเอียดพร้อมทั้งกำชับไม่ให้มีผลผูกพันกับกระทรวงกลาโหมรวมทั้งเรื่องโครงสร้าง อัตรากำลัง ภาระงบประมาณหลักเกณฑ์การเลื่อนชั้นยศและการพัฒนาบุคลากร

เรื่องนี้ อนุกรรมการข้าราชการตำรวจ(อนุ ก.ตร.)พัฒนาทรัพยากรบุคล ครั้งที่ 9/2557 ที่มี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.เป็นประธานฯ ก็ได้มีมติให้รับดำเนินการตามขั้นตามข้อสังเกตของ ครม.เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้ ตร.ในการดำเนินการต่อไป

เรื่องนี้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอมายัง ครม.เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ต้องรอดูว่า คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ จะเห็นชอบกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีจำนวน “ตำรวจเกณฑ์”เท่าไร ก่อนจะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น