ดับฝันตำรวจเกณฑ์! วิปรัฐบาลตีกลับ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจเกณฑ์ อ้างเหตุหลักการกว้างครอบจักรวาล สั่งเลขานุการด้านกฎหมาย คสช.เอาไปทบทวน ศึกษาเพิ่มเติมความจำเป็นเกณฑ์ตำรวจ ไปดูเหตุผลแก้เรื่องเจ้าหน้าที่ขาดแคลนแทน ประธานวิปฯ ยันไม่มั่นใจ “กฎหมายเกณฑ์ตำรวจ” จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้
วันนี้ (3 ส.ค.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือวิปรัฐบาล ว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... (ว่าด้วยตำรวจกองประจำการ หรือตำรวจเกณฑ์) ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คือ พล.ท.เยาวดนัย ภู่เจริญยศ เลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสมาชิก สนช.ไปศึกษาในประเด็นที่สังคมมีข้อสงสัย รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ชัดเจน
“ดังนั้นจึงเลื่อนการนำเสนอกฎหมายต่อ สนช.ออกไปพลางก่อน โดยยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลา ประเด็นสำคัญที่มอบหมายให้ พล.ท.เยาวดนัย ไปศึกษาเกี่ยวกับอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสถานะ เพราะในข้อกำหนดในกฎหมายกำหนดไว้กว้างจนเกินไป และควรให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. พิจารณาร่วมด้วย และแม้ว่าทาง สตช.จะให้เหตุผลในการนำเสนอกฎหมายดังกล่าว เพราะปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดแคลน และรัฐบาลไม่สามารถมาจ้างบุคลากรได้ ดังนั้นตำรวจเกณฑ์จึงเป็นทางเลือก โดยหลักการจะมีเข้าประจำการ 2 ปี จากนั้นจึงปลดประจำการ อย่างไรก็ตามไม่มั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาคัดค้านการเสนอให้มีตำรวจเกณฑ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ภายหลังคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีสาระสำคัญให้ชายไทยอายุ 20 ปีบริบูรณ์เกณฑ์ทหารเสร็จแล้ว ให้ฝ่ายทหารเกณฑ์กำลังพลให้ สตช.ปีละ 10,000 คน หรือตำรวจเกณฑ์ครบ 2 ปี ปลดเป็นตำรวจกองหนุนโดยไม่มียศ โดยเกรงว่าจะเกิดการลักลั่นเพราะตำรวจเกณฑ์จะมีอำนาจในการจับกุม แต่ทหารเกณฑ์ไม่มีซึ่งผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ต่างค้านเรื่องนี้ มีการหยิบยกเหตุผล 8 ข้อ ดังนี้
1. ไม่มีในคำแถลงนโยบายของ ครม. 2. ผบ.ตร.โกหกสาธารณชนว่าขาดแคลนกำลังพล ทั้งที่อัตราส่วนประชาชน 65 ล้านคน ต่อตำรวจทั้งประเทศที่มี 220,000 คน อยู่ที่ 1:300 ไม่ใช่ 1:800 ที่อ้าง 3. ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้มีการเกณฑ์แรงงาน ยกเว้นเพื่อการศึกสงคราม เท่านั้น 4. พฤติกรรมตำรวจสังคมไม่ไว้วางใจ ตำรวจเกณฑ์อาจกลายเป็นเครื่องมือให้กับตำรวจโจร 5. ตำรวจเกณฑ์มีอำนาจในการจับกุมทั้งที่ฝึกแค่ 1-3 เดือนไม่ใช่มืออาชีพจริง หากเสียชีวิตใครรับผิดชอบ 6. ตำรวจไม่รักษากฎหมายอย่างตรงไปตรงมา กรณีถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบ.ช.น. 7. ตำรวจสนับสนุนให้เปิดกาสิโน และ 8. สตช.ที่ผ่านมายอมเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณ มีตำรวจมะเขือเทศจำนวนมาก ไม่อาจไว้วางใจให้มีตำรวจเกณฑ์ได้ หากจะแก้ไขควรให้มีตำรวจอาสาหรือตำรวจชุมชน หรือ อพปร.ช่วยงานเท่านั้น
สำหรับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (ตำรวจกองประจำการ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐไปพิจารณาด้วย มีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ตำรวจกองประจำการ” “เครื่องแบบตำรวจ” 2. กำหนดให้ตำรวจกองประจำการมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่ง การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งให้ตำรวจกองประจำการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3. กำหนดอัตราเงินเดือนและการให้ได้รับเงินเดือนของตำรวจกองประจำการ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตลอดจนเงินเพิ่มอื่น หรือเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่ทหารกองประจำการมีสิทธิได้รับตามที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลัง (กค.) หรือโดย ตช. ตามที่ได้ตกลงกับ กค. 4. กำหนดวินัย การรักษาวินัย โทษทางวินัย และการดำเนินการทางวินัยของตำรวจกองประจำการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. และ 5. กำหนดให้ตำรวจกองประจำการที่ได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนครบกำหนดแล้ว ให้ดำเนินการปลดจากกองประจำการเป็นทหารกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร