xs
xsm
sm
md
lg

"หลวงปู่"ร้องป.ป.ช.ฟันพศ.-มส. นิ่งเฉยไม่ฟัน"ธัมมชโย"ปาราชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ศิษย์ธรรมกาย” ยื่นหนังสือขอบคุณ “บิ๊กตู่” สุดยอดผู้นำ ตัดสินใจไม่รื้อฟื้นคดี "ธัมมชโย" เห็นแก่ความสงบสุขของชาติ “พุทธะอิสระ” ร้อง ป.ป.ช. สอบ ผอ.สำนักพุทธฯ มหาเถรสมาคม ไม่ฟันผิด "ธัมมชโย" อาบัติปาราชิก รวมถึงอัยการสูงสุดสั่งถอนคดีซื้อที่ดิน พร้อมท้าดีเบตเจ้าอาวาสธรรมกาย สปช.หนุน “ประยุทธ์” ไม่ต้องใช้ ม.44 จี้ มส.สอบเองให้ชัด แก้ข้อครหามีเอี่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (23 ก.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของพระเทพญานมหามุณี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พร้อมตัวแทนลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย 10 คน นำกระเช้าดอกไม้ และจดหมายแสดงความขอบคุณ เพื่อส่งมอบไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าตณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน

โดยเนื้อความในจดหมาย ระบุว่า ตามที่กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้วินิจฉัยกรณีพระธัมมชโยว่าให้ทางรัฐบาลใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ศึกษาประเด็นปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช และตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากรณีอัยการสูงสุดถอนฟ้องคดีซื้อที่ดินของพระธัมมชโย แต่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะไม่ใช้ มาตรา 44 ในการรื้อฟื้นคดี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการรื้อฟื้นคดี คณะศิษยานุศิษย์ของพระธัมมชโย จึงขอชื่นชมในความเป็นผู้นำประเทศของนายกฯ ที่มีความเป็นผู้นำ ตัดสินใจได้เฉียบขาด ฉับพลัน ชัดเจน กระจ่างแจ้ง ด้วยความสามารถ สร้างความกระจ่างให้สังคม เพราะเชื่อมั่นว่าพระธัมมชโย จะปลอดภัยจากการถูกกลั่นแกล้งในเรื่องที่สิ้นสุดไปแล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นแค่คำแนะนำ ไม่มีผลบังคับตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ และได้เข้าสู่ที่ประชุมของมหาเถรสมาคมแล้ว ตั้งแต่ ปี 2542 ซึ่งจบลงโดยชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม การนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาใหม่ จึงขัดต่อหลักนิติธรรม รวมถึงพระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ว่า เรื่องที่ระงับแล้ว จะรื้อฟื้นอีกไม่ได้

ส่วนเรื่องการถอนฟ้องนั้น ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง และจำหน่ายคดีแล้ว คดีจึงยุติแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาถอนฟ้อง และจำหน่ายคดี อีกทั้งไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลด้วย จึงฟ้องร้องอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 จึงขอความกรุณาให้นายกฯ ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติสืบไป

** “หลวงปู่” แนะใช้กฎหมายปกติฟัน

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่ง เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาเถรสมาคม (มส.) นิ่งเฉย ไม่ดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่วินิจฉัยว่า พระธัมมชโย อาบัติปาราชิก ทั้งที่พระลิขิตดังกล่าวมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งกรณีที่อดีตอัยการสูงสุดคนหนึ่งมีคำสั่งถอนฟ้องคดีอาญาของพระธัมมชโย ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2549 เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีเจตนาทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่

พระพุทธะอิสระ กล่าวว่า ในวันที่ 24 ก.ค. จะเดินทางไปยื่นหลักฐานต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานอัยการสูงสุด และกองบังคับการปราบปราม เพื่อให้ดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องนี้ ยังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องใช้กฎหมายพิเศษ หรือมาตรา 44 มาดำเนินการ เพราะสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายปกติ แต่ต้องไม่ถูกขัดขวางการดำเนินการเหมือนที่ผ่านมา และอยากขอท้าดีเบตกับพระธัมมชโยเรื่องพระวินัยด้วย

***ไม่ปรองดองกับคนชั่วคนผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพุทธะอิสระยังได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ลูกศิษย์พระธัมมชโยออกมาขอความเป็นธรรมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเห็นว่าการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินขัดกับนโยบายสร้างความปรองดองของรัฐบาลว่า อย่ามาเรียกร้องให้ปรองดองและให้รู้จักเปิดหูเปิดตาเสียบ้างว่ายุคนี้คนในสังคมไม่ปรองดองกับคนชั่ว คนผิด เพราะเป็นยุคที่ชัดเจนไม่ใช่ยุคคลุมเครือ มืดบอด เหมือนยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่ผ่านมา

** “ไพบูลย์” หนุน มส.พิสูจน์ตัวเอง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ของสภาปฏิรูปแหงชาติ (สปช.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายกฯ ที่ไม่ใช้ ม.44 เพราะควรใช้วิธีตามปกติมากกว่า ส่วนตัวมองว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวสามารทำได้โดย นายกฯ ดำเนินงานตามรายงานผลการศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีตัวแทนจาก มส.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันตีความให้ชัดเจนเลยว่ากรณีการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดิน เมื่อปี 2549 ของพระธัมมชโย ผิดพระธรรมวินัย ต้องปาราชิก ตามที่พระสังฆราชเคยมีพระลิขิตแล้วหรือไม่ หากตีความว่ายังไม่ปาราชิก ก็ขอให้ มส.ลงมติรองรับด้วย

“หากนายกฯ ไม่ดำเนินการอะไร ทาง มส.ก็ควรตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาตีความเองให้ชัดเจน เนื่องจากตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 5 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ภิกษุนั้นอยู่ในความดูแลของคณะสงฆ์ กรณีของภิกษุณีที่ไม่อยู่ในความดูแลของ มส. ยังสามารถออกประกาศห้ามภิกษุณีหลายประการ ทั้งที่ไม่มีอำนาจได้ ทำไมกรณีนี้ จึงไม่ดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพื่อลดความคลางแคลงใจจากสังคมว่า ธัมมชโย ได้รับความช่วยเหลือจากกรรมการ มส.รูปหนึ่งมาโดยตลอด จึงถือเป็นโอกาสดีที่ มส.จะได้พิสูจน์ตัวเองเพื่อแก้ข้อครหาด้วย” นายไพบูลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น