xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกระบี่บุกทำเนียบฯกฟผ.เลื่อนเปิดประมูลโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวกระบี่เดินหน้าต่อต้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยประกาศในวันนี้ (20 ) จะไปทำเนียบฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ด้าน“กฟผ.” เลื่อนเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจาก 22 ก.ค.เป็น 5 ส.ค. อ้างเอกชนที่จะมายื่นสอบถามเข้ามามากแต่ไม่ทัน และเอกสารก็ไม่พร้อมจึงต้องเปิดทางเพื่อให้เกิดทางเลือกมากขึ้นยันไม่เกี่ยวกับม็อบต้าน ยันหากเกิดไม่ทันม.ค.62ไฟใต้เสี่ยงความมั่นคง

วานนี้ (19 ก.ค.) ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กลุ่มประชาชนจาก จ.กระบี่ กว่า 100 คน เดินทางมาร่วมนั่งอดอาหาร เพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยมีเครือข่ายอื่นเข้าร่วมส่งดอกไม้ให้กำลังใจต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในวันนี้ (20 ก.ค.) กลุ่มประชาชนฯจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นอกจากนี้ ทางเครือข่าย 51 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการออกแถลงการณ์ "คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และการเปิดประมูลโครงการ" โดยข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.การแสดงออกของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เป็นการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย และมิได้มีการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด

2.พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติหรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนก โลมา วาฬ และพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนของไทย และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนท้องถิ่น ทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยว จึงเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ที่มีความสำคัญและความอ่อนไหวทางธรรมชาติแห่งนี้

3.การเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ทั้งที่โครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และยังไม่ได้รับการอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการ "คู่ขนาน" ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขัดกับหลัก "ธรรมาภิบาล" ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

4.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยุติแผนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และยกเลิกการเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยทันที

กฟผ.เลื่อนประมูลโรงไฟฟ้ากระบี่เป็น5ส.ค.

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยระหว่างที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ว่า ขณะนี้กฟผ.ได้เลื่อนกำหนดการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จ.กระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์จากเดิม 22ก.ค.นี้ไปเป็นวันที่ 5 ส.ค. แทน เนื่องจากมีผู้ประกอบการเอกชนได้สอบถามข้อมูลมาเพิ่มเติมและบางรายยังเตรียมเอกสารไม่พร้อมซึ่งกฟผ.เห็นว่าหากมีทางเลือกจำนวนมากจะเป็นผลดีกว่าโดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับกรณีการประท้วงแต่อย่างใด

ทั้งนี้กฟผ.ในฐานะเป็นผู้กำหนดเทคนิคการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจึงทำควบคู่กันไปกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบเทคนิคของผู้ที่ยื่นข้อเสนอว่าสอดคล้องกันหรือไม่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้เทคโนโลยีที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมได้ตาม EHIA
อย่างแท้จริง

"เราเองในฐานะผู้กำหนดเทคนิคหลังจากนั้นสู้ด้วยราคาเราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุดแล้วที่เราต้องทำควบคู่ไปกับ EHIA ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา4-5เดือนแต่ถ้ารอให้EHIAผ่านจะใช้เวลาเกือบปีเศษก็จะใช้เวลานานนับปีอาจไม่ทันกำหนดจ่ายไฟฟ้าม.ค.2562 แต่การดำเนินงานก่อสร้างจริงก็ต้องรอให้ EHIA ผ่านก่อนอยู่แล้วไม่ใช่อยู่ๆจะไปสร้างก่อนได้เลย” นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เกิดไม่ทันกำหนดจ่ายไฟม.ค.2562ภาคใต้จะเสี่ยงกับความมั่นคงเนื่องจากการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) จะเกิดขึ้นทุกปีเป็นเรื่องปกติขณะที่การใช้ไฟภาคใต้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5%ซึ่งเกิดจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักโดยประเมินว่าปี2662ความต้องการใช้ไฟภารใต้จะอยู่ที่3,062 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจะอยู่ที่3,115เมกะวัตต์แม้ว่าจะรวมกับกำลังการผลิตพลังงานทดแทนจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก( SPP) และเล็กมาก(VSPP) 202เมกะวัตต์ก็ไม่เพียงพอนี่

"แม้ว่าภาคใต้จะมีพลังงานทดแทนแต่หากพิจารณาจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นการขายไฟเข้าระบบแบบไม่กำหนดการจ่ายไฟที่แน่นอน(Non Firm) เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติ จึงไม่สามารถจะเป็นพลังงานหลักได้รัฐบาลจึงส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และเทพา จ.สงขลา 2 แห่งที่จะรองรับความต้องการในปี62และปี64 ตามลำดับ

ขณะที่การก่อสร้างสายส่ง500เควีจากอ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจ.สุราษณฎ์ธานีจะแล้วเสร็จปี 2562ขณะที่ไปภูเก็ตจะเสร็จปี2565หากเป็นไปตามแผนทั้งหมดก็จะทำให้ระบบไฟภาคใต้มีความมั่นคงอย่างมากและที่สำคัญจะทำให้ลดความเสี่ยงค่าไฟฟ้าแพงเพราะถ่านหินมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ"ผู้ว่ากฟผ.กล่าว

นอกจากนี้กฟผ.ยังได้ลงนาม(MOU) ร่วมกับบริษัท JERA ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบ.เทปโก้และชุบุ เพื่อศึกษาในการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้และบางปะกง เป็นต้น โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้

"กฟผ.ก็จะดูว่าจะสามารถสร้างคลังแและนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เองได้หรือไม่เพราะขณะนี้การขนส่งทางท่อก็มีข้อจำกัด ส่วนจะมีการร่วมทุนหรือไม่อย่างไรคงต้องรอให้ผลการศึกษาออกมาก่อน"นายสุนชัยกล่าว

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า การหยุดซ่อมท่อก๊าซ JDA -A18ระหว่างวันที่21-25 ก.ค.58 ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าภาคใต้เพราะโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 จะปรับมาใช้ดีเซลได้ ทำให้มีเพียงจะนะชุด 2 ที่หยุดเดินเครื่อง แต่ก็มีการส่งไฟจากภาคกลางมาป้อน ซื้อไฟมาเลเซีย 30 เมกะวัตต์ รวมเหลือสำรอง 438 เมกะวัตต์ ทำให้เพียงพอรองรับกับความต้องการแต่หากเกิดฉุกเฉินก็มีมาตรการไว้ดูแลแล้วโดยเชื่อมั่นว่าจะไม่ถึงขั้นใช้มาตรการฉุกเฉินโดยเฉพาะการดับไฟบางพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น