xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการสอบ สปสช. หรือจะเป็นแค่การล้างผิดด้วยฝ่ามือขัดแย้งของเฒ่าทารก จิวแป๊ะทง

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เฒ่าทารก จิวแป๊ะทง นั้นเมื่อถูกมารบูรพาจับและขังไว้บนถ้ำที่เกาะดอกท้อด้วยค่ายกล ก็เกิดความเบื่อหน่ายอยากมีคู่ต่อสู้ฝึกวิชา แต่เมื่อไม่มีใครในท่ามกลางความเงียบเหงาโดดเดี่ยว เฒ่าทารกจึงบัญญัติวิชาฝ่ามือขัดแย้งขึ้น โดยให้มือซ้ายกับมือขวาของตนสู้กันเองด้วยวิชาที่แตกต่างออกไป แน่นอนว่าย่อมไม่มีใครแพ้หรือชนะเนื่องจากเป็นการสู้กันเองของคนๆ เดียวกัน ย่อมไม่อาจจะทำร้ายกันถึงบาดเจ็บหรือตายได้ ยกเว้นจะพลั้งมือไปจริงๆ

ในช่วงที่ผ่านมา สปสช. ถูกหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปปท. ปปช. สตง. และ คตร. เข้ามาตรวจสอบการทำงานของ สปสช. มากมาย ได้มีความพยายามจากทั้งรองนายกรัฐมนตรี ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.รัชตะ รัชตะนาวินและ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ในการล้างผิดให้สปสช. ด้วยการตั้งกรรมการเฒ่าทารกซึ่งมีการขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์ มาใช้ฝ่ามือขัดแย้งช่วยล้างผิดให้ สปสช. แทนที่จะมาพิจารณาผลการตัดสินของหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ อย่างเที่ยงธรรมเยี่ยงท้าวมาลีวราชว่าความ การกระทำเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางที่จะตรวจสอบความผิดของ สปสช มีแต่จะล้างผิด เพราะเป็นฝ่ามือซ้ายขวามาสู้กันเอง หยิกเล็บก็ต้องเจ็บเนื้อเพราะร่วมทำความชั่วมาพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น

คำสั่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ 1/2558 ลงวันที่ 30 มกราคม 2558 ที่แต่งตั้งโดย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน มี ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย 1) นางสาววรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม TDRI 2) นพ.ปิยะ หาญวรวงค์ชัย ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัย เพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ TDRI 3) นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ 4) นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

คณะกรรมการชุดนี้ มีข้อสังเกตที่เข้าข่าย ตั้งขึ้นมาเพื่อมาบิดเบือนผลการตัดสิน ล้างผิดให้กับสปสช. ดังนี้ 1) คณะกรรมการไม่ได้ถูกแต่งตั้งจากหน่วยตรวจสอบกลาง แต่งตั้งโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยอำนาจ รองนายก รมต.ที่กำกับ กระทรวงสาธารณสุข หรือ รมว.กระทรวงสาธารณสุข 2) รายชื่อคณะกรรมการ สปสช.เป็นผู้ยกร่าง เสนอ 3) ประธานและกรรมการส่วนใหญ่ ไม่มีความเป็นกลาง ดังนี้

(1) ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา อดีตเป็นกรรมการบอร์ด สปสช.
เป็นกรรมการบอร์ด สปสช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ตั้งแต่ พ.ศ.2550 – 2553
เป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สปสช. ตั้งแต่ พ.ศ.2550 – 2553
เป็นนักวิชาการเกียรติคุณ ของ TDRI ซึ่งรับเงินสนับสนุนจาก สปสช. ผลิตงานวิจัย
เป็นกรรมการ ของ สวปก. (เครือขา่ ย ในตระกลู ส.) ตั้งแต ่ พ.ศ.2549 – 2551
เป็นกรรมการ ของ สวรส. (เครือข่าย ในตระกลู ส.) ตั้งแต ่ พ.ศ.2542 – 2545
และมีบทบาทและมีส่วนได้เสียกับการบริหารการเงินการคลังของกองทุนหลักประกันสุขภาพโดยตรง
(2) กรรมการที่เป็นผู้ที่รับผลประโยชน์จากสปสช. ได้แก่ นส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ จาก TDRI และนพ.ปิยะ หาญวรวงค์ชัย รับทุนวิจัยจาก สปสช.
(3) นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากรมว. ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ทำหน้าที่รักษาการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์
(4) นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. คนในสปสช เอง ไม่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบตัวเอง

ผลการตรวจสอบเป็นการฟอกผิดให้ สปสช. ดังที่เป็นข่าวใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1433771727 ทั้งยังทำเกินหน้าที่คือกล่าวตำหนิผลการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่มีความรู้ทางบัญชี แยกแยะ ไม่ออกระหว่างหลักการบัญชีเกณฑ์คงค้าง (Accrual basis) และ เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ซึ่งแม้แต่นิสิตนักศึกษาที่เรียนวิชาบัญชีขั้นต้น 1 ยังสามารถแยกความต่างทั้งสองได้ รายละเอียดเรื่องนี้จะเสนอในบทความถัดไป

ต่อมาเมื่อ คตร. ตัดสินลงมาว่า สปสช. ทำผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ใช้เงินไม่ถูกต้องตามระเบียบหลายประเด็นมาก รองนายกรัฐมนตรี ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 130/2558 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2558 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีกรรมการดังเอกสารแนบนี้

กรรมการชุดดังกล่าวที่มีลักษณะของฝ่ามือขัดแย้ง มือซ้ายสู้กับมือขวา เลยตัดสินเข้าข้างพวกกันเอง มีอย่างน้อยสามท่านที่เป็นคนใน สปสช. คือนายวินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ที่เพิ่งถูกมาตรา 44 พักงานไป นายจเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล นายศุภมล ศรีสุขวัฒนา อดีตผอ สำนักกฎหมาย สปสช. ผลการตรวจสอบคงเป็นที่คาดเดาได้ว่าจะออกมาเช่นไร

ล่าสุด นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ กรรมการสปสช หลายสมัย ได้เป็นกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของ สปสช. ได้ออกมาเปิดเผยว่าไม่พบปมความบกพร่องในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุกอย่างทำโดยสุจริต และ ถูกกฎหมาย ดังข่าวนี้ www.thairath.co.th/content/511486

มีคำถามที่ชวนคิดหลายประการ
1. ทำไม รองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ รมว. และ รมช.สธ. จึงตั้งพวกเดียวกันมาสอบสวนพวกเดียวกัน เยี่ยงฝ่ามือขัดแย้งของเฒ่าทารก

2.การกระทำดังกล่าวขัดจริยธรรมของการเป็นกรรมการสอบสวนหรือผู้ตรวจสอบที่ดีอย่างสิ้นเชิง เหตุไฉนจึงกล้าทำเช่นดังกล่าว ไม่เกรงกลัวการขัดกันแห่งผลประโยชน์ดังกรณีที่ ปปช. กำลังสอบสวนทั้ง รมว. และ รมช.สธ. กรณี สวรส. หรือไม่ หรือต้องการเอาตัวเข้าแลกเพื่อความอยู่รอดของพวกพ้องขนาดลืมความถูกต้องไปชั่วขณะ

3.ฤาสปสช. จะสิ้นไร้ไม้ตอกจนไม่อาจหาคนดีที่ยอมเปลืองตัวมาสอบสวนได้แล้วหรือ ทำไมไม่หาคนอย่างท้าวมาลีวราช ผู้กล้าตัดสินอย่างยุติธรรมแม้เป็นญาติตัวเองมาทำหน้าที่ หรือจนตรอกแล้วจริงๆ หาไม่ได้

4.ถ้าประเทศไทยจะตั้งกรรมการสอบสวนกันแบบนี้ ผมว่า รองนายก รมว. รมช. สธ. ควรออกมาประกาศโดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบให้เสียเวลา สิ้นเปลืองเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปทำไม ทำไมไม่ประกาศออกมาเลยว่า สปสช. ไม่มีวันผิด เพราะเป็นพวกเดียวกัน ไปเลย จะดีกว่าไหม? ที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดนี่ก็แก่ๆ กันแล้วหัวหงอกกันแล้วทั้งนั้น ทำไมจึงทำตัวแบบเฒ่าทารกไปได้ แต่เฒ่าทารกนั้นดีกว่าถึงจะบ้าๆ บอๆ แต่ก็ยังทรงคุณธรรมไม่ได้ทำเลวๆ เช่นนี้

บ้านเมืองนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ คนทำชั่วแบบนี้ระวังจะไม่มีแผ่นดินอยู่ หรือได้ไปนอนในคุกแทนนะครับผม

กำลังโหลดความคิดเห็น