xs
xsm
sm
md
lg

ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วงจรชีวิตแสนสนุกของ ‘มิ้ง-พิรดา เตชะวิจิตร์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชื่อ ‘มิ้ง-พิรดา เตชะวิจิตร์’ หลายคนอาจจะงุนงงและสงสัยได้ว่า เธอคือใคร แต่ถ้าพูดตำแหน่งพ่วงท้ายชื่อของมิ้งแล้ว หลายคนคงไม่คลางแคลงใจอีกต่อไป เธอคือหญิงไทยคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์การเดินทางไปสู่อวกาศ (Thailand’s First Space Traveller) กับ ‘แอ๊กซ์ อพอลโล สเปซ อะคาเดมี’ (AXE Apollo Space Academy) โดยมีผู้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 62 ประเทศทั่วโลก และเธอคือหนึ่งในนั้น

ไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ มิ้งยังพ่วงตำแหน่ง สุดยอดแฟนพันธุ์แท้อะพอลโล อีก 1 ตำแหน่ง เรียกได้ว่า เชี่ยวชาญทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติแบบครบองค์ การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ จึงเป็นบอกเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักบินอวกาศหญิงอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย เพราะหลายสำนักคงพูดถึงไปพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น นอกจากชีวิตไร้สุญญากาศของเธอแล้ว งานอดิเรกคือสิ่งที่น่าจับตามองครั้งใหม่ในชีวิตของมิ้ง

สาวน้อยร่างเล็กผู้นี้มีงานอดิเรกประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นชีวิตจิตใจ ทุกคนอาจจะมองว่า งานอดิเรกอะไร ทำไมดูยากและเครียดจัง แต่สิ่งที่มิ้งทำ เธอยืนยันว่า มันคือความสุขและฟินอย่าบอกใคร โดยงานอดิเรกดังกล่าว เธอเริ่มก่อร่างที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมอีกจำนวนหนึ่ง หลายเรื่องที่มิ้งเล่าเกี่ยวกับการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นี้ สีหน้าของเธอบ่งบอกให้เห็นถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับอย่างเต็มเปี่ยม

เริ่มต้นงานอดิเรกครั้งแรกเมื่อ ... ตอนเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจบมาทางสายนี้โดยตรง หลายคนอาจมองว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะเริ่มต้นมาจากความสนใจก่อน และมาเรียนทีหลัง แต่ของมิ้งกลับกัน เป็นการเข้ามาเรียนก่อนถึงจะเริ่มสนใจกิจกรรมพวกนี้ ซึ่งตอนที่เรียน จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายมาก เพราะหลักสูตรที่เรียนสนับสนุนในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการคิดแบบอัลกอริทึม หรือวิธีการเขียนโปรแกรมต่างๆ

สิ่งที่ทำดูเป็นงานจริงจัง ไม่ใช่งานอดิเรก ... จริงๆ งานอดิเรกเป็นงานอะไรก็ได้ที่หมกมุ่นและมีความตั้งใจกับมัน มิ้งเคยถามเพื่อนบางคน เขาบอกว่า ตัวเองเพิ่งจะมาหัดเล่นกีต้าร์ แต่เล่นด้วยความทุ่มเทมากๆ เพราะเขามองว่า งานอดิเรกเป็นงานที่ต้องใช้ใจทำ ช่วงเล่นแรกๆ อาจจะรู้สึกยาก แต่พอทำไปทำมา จะค่อยๆ รู้สึกเพลินและดีไปเอง ฉะนั้นมิ้งคิดว่า งานอดิเรกจะเป็นงานแบบไหน อะไรก็ได้ แต่งานนั้นคุณต้องผูกพันและรู้สึกอยากที่จะทำมันจริงๆ หลังจากที่เครียดจากงาน หรือเวลาว่าง อีกคำหนึ่งที่นึกถึงเวลาทำงานอดิเรกคือ ไม่จำเป็นจะต้องประสบความสำเร็จก็ได้ ทำให้งานอดิเรกจัดอยู่ในงานที่ผ่อนคลายและไม่เครียดจนเกินไป อย่างเล่นกีต้าร์ ก็ไม่จำเป็นต้องเล่นให้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้ชำนาญขึ้นบนเวทีก็ได้

ถ้าให้อธิบายงานอดิเรกเป็นภาษาชาวบ้าน จะอธิบายว่า ... มันคล้ายๆ กับการต่อเลโก้ เพียงแต่ว่าเป็นเลโก้ที่คุณดัดแปลงได้มากกว่านั้น อย่างปกติเลโก้ที่เห็น ก็จะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมธรรมดาที่ไว้ใช้ต่อกันเป็นรูปต่างๆ อาทิ รูปคน รูปสัตว์ รูปสิ่งของต่างๆ แต่การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตรงนี้ มีการเพิ่มโปรแกรมเข้าไปด้วย ทำให้เลโก้ประเภทนี้ล้ำขึ้นไปอีกขั้น โดยเป็นเลโก้ที่อยากต่อขึ้นมาเอง ต่อได้ตามใจตัวเอง และมีโปรแกรมคอยควบคุมการทำงานอีกที

งานอดิเรกนี้มันจะยากในตอนแรก เพราะ ... ตอนที่ยังทำไม่เป็น จะรู้สึกสงสัยว่า เขาทำกันได้อย่างไร แต่ทุกวันนี้จะเริ่มง่ายขึ้นแล้ว เพราะอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลให้เลือกชมเยอะมาก ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเหลือคุณได้เป็นอย่างดี ที่หลายคนไม่อยากเริ่มต้นงานอดิเรกแบบนี้ เป็นเพราะไม่รู้ว่ามันสนุกอย่างไร บางทีอาจจะต้องสร้างความเข้าใจและทำความคุ้นเคยกับมันก่อน โดยหลายคนไม่อยากทำความคุ้นเคยกับมัน เลยเลิกไปกลางคัน แต่พอได้เข้ามาสัมผัสอย่างจริงจัง หมกมุ่นอยู่กับมัน และทำไปนานๆ เสน่ห์ของงานอดิเรกตรงนี้จะเริ่มปรากฏ

การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะทำเดี่ยวหรือกลุ่มก็ได้ ... คือถ้าทำคนเดียว ส่วนงานจะมีขนาดเล็กแต่ช้า เพราะถ้าทำเล่นๆ ก็จะอยู่ในขอบเขตของงานอดิเรก แต่ถ้าส่วนงานนี้ไปอยู่ในลักษณะของงานวิจัยหรืองานอุปกรณ์ที่ต้องใช้จริงๆ ต้องเริ่มอาศัยคนเป็นกลุ่มใหญ่แหละ ต้องเริ่มมีคนเข้ามาช่วยกันมากขึ้น เพราะว่าตัวเองไม่สามารถเรียนรู้การทำงานในทุกส่วนได้ มิ้งเลยมองว่า การที่คนในทีมมีประสบการณ์หลายๆ ด้านมาทำงานร่วมกัน น่าจะต่อยอดจากงานอดิเรกไปสู่งานที่ท้าทายมากขึ้นได้

เล่าถึงการทำงานอดิเรกตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ... งานอดิเรกนี้ยอมรับว่า ต้องใช้เงิน ต้องมีเงินมาซื้อของต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นส่วนงานที่มีขนาดเล็ก สามารถจัดการเองได้เลย แต่ถ้าเป็นส่วนงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างของมิ้งทำงานร่วมกับทีม โดยการทำ ดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) เรื่องเงิน คน และอุปกรณ์ จึงจำเป็นต้องทุ่มทุนมากขึ้น บางทีทำไปทำมาถึงทางตัน จนอยากจะเลิกทำเลยก็มี เพราะบางทีมิ้งเขียนโปรแกรมและต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่พอเข้าไปในส่วนงานของการสื่อสาร มิ้งกลับทำไม่ได้เลย นั่นจึงเป็นการหาคนเข้ามาเติมเต็มในส่วนงานนี้ให้สมบูรณ์ อย่างล่าสุด เพิ่มวิศวกรโทรคมนาคมเข้ามาทำงานในส่วนนี้ด้วยกัน พอแก้ปัญหาไปได้ทีละเปลาะ งานชิ้นใหญ่ก็จะเสร็จออกมาในที่สุด

เมื่อเทียบงานอดิเรกนี้ในไทยกับต่างชาติแล้ว ช่างต่างกันมาก เพราะ ... งานอดิเรกของเขาทำได้ดีกว่างานจริงในไทย เพราะด้วยวิธีการคิดและสร้างสิ่งต่างๆ คนไทยอาจจะยังขาดประสบการณ์อยู่บ้าง ในขณะที่เทียบกับเด็กต่างประเทศหรือเด็กอเมริกา เขาจะได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้วิธีคิดเหล่านี้จากรายการโทรทัศน์ เขาจะสอนเลยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำในบ้านหรือโรงจอดรถได้ แต่ฝั่งคนไทย อาจจะมองว่า เป็นเรื่องยาก ต้องเป็นโปรเจ็คท์จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแน่ๆ ต่างประเทศเขาไม่เป็นแบบนั้น เด็กมัธยมต้นหรือปลายก็ทำกันได้แล้ว นั่นคือสิ่งที่ต่าง เมื่อก่อน มิ้งเคยคิดว่า งานอดิเรกไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ในตอนนี้มิ้งกลับคิดว่า มันสำคัญมาก เพราะงานอดิเรกจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่จะทำให้คุณค้นหาตัวเองได้เร็วขึ้น

การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กับการเป็นนักบินอวกาศหญิง เข้ากันได้อย่างลงตัว ... จากการทำงานอดิเรกตรงนี้ มิ้งเข้าใจจุดสำคัญของงานชิ้นนี้แล้วว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถสร้างอะไรหลายๆ อย่างได้ ทำไมต้องซื้อเทคโนโลยีที่มาจากต่างชาติ ด้วยราคาที่แพงมาก นั่นมาจากความกลัวในตัวเองทั้งสิ้น กลัวทำไม่เป็น กลัวยาก และกลัวอีกมากมาย ครั้งนี้มิ้งเลยอยากให้เด็กไทยได้เริ่มคิดว่า มันไม่ได้ยาก ทำได้ง่าย สนุกด้วย และคุณก็สามารถทำได้ ถ้าคุณลงมือทำ จึงจัดตั้งเป็นโครงการ Thai Youth Space Ambassador (THASA) ขึ้น โดยให้เชื่อมโยงกับอวกาศที่ว่า ให้น้องๆ ทำการทดลองอะไรก็ได้ ที่อยากจะนำไปทำการทดลองในอวกาศจริงๆ ส่งมา เมื่อเปิดเป็นโครงการออกมา เด็กๆ ให้ความสนใจส่งกันเข้ามาเยอะมาก จึงเป็นตัวจุดประกายให้เด็กหลายๆ คนสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และการทดลองมากขึ้น

งานอดิเรกที่ทำ ทำให้ตัวเองเห็น ... ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของตรรกะและเหตุผล โดยเป็นการฝึกสมองซีกซ้ายไปในตัว เวลาเขียนโปรแกรม และคิดเกี่ยวกับเรื่องอัลกอริทึม คือมิ้งเป็นคนที่ชอบหมกมุ่นกับพวกอัลกอริทึมมากๆ พวกตรรกะและเหตุผลต่างๆ นั่นเลยทำให้มิ้งเป็นคนที่ชอบคิดและชอบแก้ปัญหา และค่อยๆ สืบสวนกลับไป ซึ่งมันสนุกมาก คล้ายๆ กับการอ่านหนังสือการ์ตูนโคนัน ที่ค่อยๆ สืบเสาะกลับไปจนเจอเบาะแส หรืออย่างรายการสารคดีเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน มิ้งก็ชอบมากเหมือนกัน อย่างเช่น สารคดี Seconds to Disaster มันจะย้อนให้ดูเลยว่า กระบวนการคิดของเขาเป็นอย่างไร ดูจากอะไรก่อน สรุปรูปการออกมาแล้วเป็นอย่างไร บางคดีอาจจะสรุปผิดก่อนก็ได้ แล้วค่อยมาพิสูจน์ความจริงกันทีหลัง ซึ่งมิ้งชอบความคิดแบบนี้มากๆ มันเลยพัวพันมาถึงงานอดิเรกด้วย

ความสุขและรู้สึกดีที่ได้จากงานอดิเรกชิ้นนี้คือ ... ได้ใช้เวลากับตัวเอง ซึ่งมิ้งเชื่อว่า ขณะที่ทุกคนทำงานอดิเรก เวลาจะผ่านไปเร็วมาก อย่างคุณแม่มิ้งเองชอบเย็บผ้า เขาก็จะรู้ว่า เวลาผ่านไปเร็ว เพราะฉะนั้น เวลาที่ผ่านไปเร็วนี่แหละ คือความสุขและรู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำมัน

เคยเย็บผ้าเหมือนคุณแม่ แต่เลิกทำ เพราะ ... มันห่วยมาก ซึ่งตอนเด็กๆ มิ้งชอบทำ แต่มาคิดๆ ดูแล้ว บางครั้งสิ่งที่ชอบ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ใช่ก็ได้ โดยสิ่งที่ชอบนั้นอาจจะต้องใช้เวลาและหมกมุ่นอยู่กับตัวเองพอสมควร

งานอดิเรก หลายคนทำเพราะสนใจ หลายคนทำเพราะสนุก แต่หญิงสาวคนนี้ ทำเพื่อต่อยอดให้เด็กรุ่นใหม่สนใจในเรื่องราวของวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะมีนักบินอวกาศคนไทยคนที่ 2 เกิดขึ้นก็เป็นได้

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Feel Good
เรื่อง : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : ศิวกร เสนสอน


กำลังโหลดความคิดเห็น