xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ซัดกสทช.ใช้งบผิดหลักการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9ก.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบรายงานการพิจารณาศึกษา ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยพล.อ.สมเจตน์ ได้นำเสนอรายงานพร้อมข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ และติดตามการดำเนินการของ กสทช. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติของ กสทช. พร้อมทั้งแจ้งไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยรายงานระบุถึงการจัดทำ และการบริหารงบประมาณประจำปี 2556 ของกสทช. ไม่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และกรอบวินัยการคลังที่ดี การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด จนเป็นเหตุให้มีการกันเงินเหลื่อมปีจำนวนมาก
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของปี 2556 พบข้อบกพร่องในการจากการจ้างที่ปรึกษา ไม่มีแผนงานการจัดจ้าง การดำเนินการมักมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และใช้วิธีพิเศษ ขั้นตอนในการจัดจ้างและจัดทำขอบเขตการดำเนินงาน(TOR)ไม่โปร่งใส กำหนดกิจกรรมในแต่ละโครงการไม่ชัดเจน งบประชาสัมพันธ์พบว่าถูกใช้จ่ายไปอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น เน้นประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กรมากกว่าส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน กมธ.จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนเพื่อนำไปสู่การพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. 2553 และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง และความเป็นอิสระของ กสทช.ให้มีความสมบูรณ์และชัดเจน อาทิ ให้อำนาจการตัดสินใจเพื่อลงมติให้ดำเนินโครงการสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วงเงินงบประมาณจำนวนสูงมากนั้นให้เป็นมติของที่ประชุม กสทช. เท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้มติ 3 ใน 5 ของ คณะกรรมการเฉพาะด้าน ในการประชุมเรื่องเรื่องสำคัญ
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานของ กสทช. หรือ ซูเปอร์บอร์ด ก็ประสบปัญหา ไม่สามารถวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินการของ กสทช.ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจาก กสทช. ทั้งข้อมูล และหลักฐาน อีกทั้ง กปต.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กสทช. ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้น จึงควรพิจารณาทบทวนว่ายังควรมี กปต. ต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากคงไว้ จะต้องมีความเป็นอิสระ ขึ้นตรงกับวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เห็นควรให้แก้ไข พ.ร.บ. กสทช. มาตรา 24 และมาตรา 59 กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่สำนักงาน กสทช.ได้รับข้อมูลเว้นแต่เหตุจำเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 15 วัน แต่ต้องแสดงเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น