xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเฮ!ฝนหลวงได้ผล เหนือ-อีสานยังแล้งหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค-ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือประสบความสำเร็จ หลังขึ้นบินโปรยสารทำฝนเทียมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง จนมีฝนตกหลายพื้นที่แล้ว ส่วนภัยแล้งยังคุกคามหนักหลายจังหวัดทั่วประเทศ น้ำในเขื่อนใหญ่หลายแห่งเริ่มไม่มีน้ำให้เห็น "น้ำมูลบุรีรัมย์" วิกฤตลดต่ำสุดในรอบ 30 ปี เกษตรกรไม่สามารถสูบทำนาได้ รวมทั้ง 3 บึงสาธารณะใน"บางระกำโมเดล" พบน้ำแห้งขอด ชาวนาต้องสูบน้ำบาดาลมาทำนาแทน ขณะที่ระดับน้ำใน "คลองระพีพัฒน์วิกฤต" หนัก

น.ส.หนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือฯ ได้บินขึ้นปฏิบัติภารกิจจำนวน 4 เที่ยวบิน เพื่อปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวงช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภัยแล้ง และช่วยเติมน้ำในเขื่อน ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นบริเวณกว้างทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และ จ.ตาก

โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือฯ กำลังนำเครื่องบินทำฝนหลวงจากฐาน จ.กระบี่ และ จ.ระยอง ซึ่งมีเครื่องบินรวม 4 ลำ มาช่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก อีกทั้งจะขอเครื่องบิน BT67 ของกองทัพอากาศมาช่วยปฏิบัติการอีก 1 ลำ เพื่อช่วยทั้งเรื่องเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และช่วยเหลือประชาชนในภาคเหนือที่กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงจนประสบภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง จนต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไป

ขณะเดียวกัน จะขึ้นบินเพื่อทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือเติมน้ำให้เขื่อนหลักๆ ทั้ง 7 เขื่อน และลุ่มน้ำสายหลัก ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน รวมถึงลุ่มน้ำป่าสักในพื้นที่ภาคกลาง โดยมีการขยายฐานเติมสารที่สนามบินแพร่ ส่วนที่สนามบินตาก ที่เคยตั้งฐานเติมสารประจำทุกๆ ปีนั้น ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ตามแผน เนื่องจากติดขัดในเรื่องการซ่อมแซมรันเวย์ที่ยังไม่สามารถเปิดให้ใช้งานได้ตามปกติ

ทั้งนี้ การทำฝนหลวงจนสามารถทำให้ฝนตกดังกล่าว ได้สร้างความยินดีให้กับประชาชนในพื้นที่ๆ ฝนตก หลังจากที่ประสบปัญหาภัยแล้งมานาน

**แล้งกระทบปลากระชังริมน้ำเจ้าพระยา

ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีโทรมาตร C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองวานนี้ ระดับน้ำอยู่ที่ 0.50 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร ทำให้ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา อ.ไชโย ต้องถอยร่นแพกระชังปลาทับทิมที่เลี้ยงอยู่ริมตลิ่งออกไปยังกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ปลาในกระชังได้มีน้ำไหลผ่านถ่ายเทระบายความร้อนจากแสงแดด เนื่องจากปริมาณน้ำที่ตื้นเขินและลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลาทับทิมที่เลี้ยงอยู่ภายในกระชัง ได้รับผลกระทบจากเชื้อโรคที่สะสมอยู่ภายในกระชัง ทำให้ปลาเริ่มเกิดโรค และหากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอีก ก็อาจจะทำให้กระทบผู้เลี้ยงปลากระชังประสบปัญหาอย่างแน่นอน

ที่ จ.ลพบุรี นายอรรรถพร ปัญญาโฉม ผอ.จัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 10 จ.ลพบุรี กล่าวว่า ทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้เริ่มลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนทางประตูระบายน้ำฉุกเฉิน หลังจากน้ำในเขื่อนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแล้งหนัก โดยมีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนป่าสักฯอยู่ที่ 69.84 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 7.28% ขณะที่น้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มีเลย ทำให้น้ำในลำน้ำป่าสักตั้งแต่ ต.แก่งเสือเต้น อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บ้านหินซ้อม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ไปจนถึง อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักลดลงอีก จึงขอเตือนประชาชนที่เลี้ยงปลากระชังในพื้นที่ท้ายเขื่อนป่าสักฯ ให้เตรียมความพร้อมรับมือต่อวิกฤตน้ำป่าสักลดลง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบปลาน็อกน้ำจนตายสร้างความเดือดร้อน และขาดทุนลงได้ หรือหากเป็นไปได้ช่วงนี้ขอความร่วมมือหยุดเลี้ยงปลากระชังก่อน

**ระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์วิกฤตหนัก

นายพิสิษฐ์ พิบูลย์ศิริ ผอ.โครงการส่งน้ำ รังสิตเหนือ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือเวลานี้ในส่วนของ อ.คลองหลวงและ อ.หนองเสือ จะได้รับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ ซึ่งต้องมีการแบ่งเวรรับน้ำกัน โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกร อ.หนองเสือ สามารถสูบน้ำไปใช้ในการเกษตรได้ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ เป็นเวลา 3 วัน และ อ.คลองหลวง สามารถสูบน้ำได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี เป็นเวลา 4 วัน

"ช่วงนี้ฝนตกลงมาบ้าง ทำให้ปริมาณน้ำในคลองระพีพัฒน์เพิ่มระดับขึ้น ขณะระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์อยู่ที่ระดับ 0.30 เมตร ในส่วนของปริมาณน้ำทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำอยู่ 7-8% จะใช้ได้อีก 30 วัน หากไม่มีน้ำฝนมาเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ขณะนี้เขื่อนสามารถส่งน้ำมาได้เพียง 4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคลองระพีพัฒน์สามารถรับน้ำได้ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 10 ของปริมาณน้ำที่คลองรับได้ ส่วนในคลองส่งน้ำต่างๆ เช่น ประตูระบายน้ำเจ็ดซ้าย และประตูระบายน้ำแปดซ้าย บริเวณประตูระบายน้ำแล้งจนไม่มีน้ำ เนื่องจากระดับในคลองระพีพัฒน์ต่ำกว่าประตูระบายน้ำ จึงต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำขององค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ ช่วยสูบน้ำเข้าคลอง เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำนาได้"

**น้ำมูลบุรีรัมย์วิกฤตต่ำสุดในรอบ 30 ปี

ด้านสถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.บุรีรัมย์ ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปริมาณน้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก ล่าสุดมีปริมาณลดต่ำลงต่อเนื่อง จนมองเห็นตอม่อสะพานและสันดอนทรายโผล่ บางช่วงแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้ โดยสาเหตุที่ปีนี้ปริมาณน้ำมูลลดต่ำเนื่องจากมีฝนตกน้อยและทิ้งช่วง ประกอบกับไม่มีน้ำเหลือไหลมาสมทบ

จากปริมาณน้ำมูลที่ลดต่ำในช่วงนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง ทั้งที่มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง และหาปลาตามธรรมชาติในลำน้ำมูล ก็ไม่สามารถหาได้เหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งยังกระทบต่อเกษตรกรที่มีอาชีพทำนาริมฝั่งลำน้ำมูลไม่สามารถสูบขึ้นไปทำนาได้ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว

ขณะที่นาข้าวหลายพื้นที่ในเขต อ.สตึก ที่ไถหว่านไปแล้วเริ่มประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงยืนต้นตายเสียหายแล้ว ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ หากยังไม่มีฝนตกลงมา นาข้าวที่ไถหว่านไว้จะแห้งตายเสียหายเป็นวงกว้าง

**เขื่อนใหญ่ชายแดนศรีสะเกษแห้ง

ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ต.โคกตาล อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ชายแดนไทย-กัมพูชา ขณะนี้น้ำในอ่างลดลงอย่างรวดเร็วจากภาวะความแห้งแล้ง และฝนไม่ตกมาหลายเดือนแล้ว มีน้ำเหลือเพียง 13 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 36.1% ของขนาดความจุ 37 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้โขดหินและตอไม้ท้องอ่างเก็บน้ำโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่คลองส่งน้ำแห้ง ไม่มีน้ำเพียงพอส่งให้ประชาชนใช้เพื่อการเกษตร เกษตรกรใต้อ่างเก็บน้ำต้องลดพื้นที่ปลูกพืชและทำนาปรังลง

นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งของ จ.ศรีสะเกษเหลือปริมาณน้ำน้อยมาก มีเพียงเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น งดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร จึงขอให้ชาวศรีสะเกษใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งหากทำการเกษตรควรปลูกพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดหน้าแล้งปีนี้

**3บึงน้ำสาธารณะบางระกำโมเดลแห้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิษณุโลกด้วยว่า หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงไปทุกพื้นที่แหล่งน้ำต่างๆ แห้งขอด ไม่มีน้ำแต่อย่างใด ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกนาข้าวได้รับผลกระทบ จากการสำรวจบึงน้ำสาธารณะ 3 แห่งตามโครงการบางระกำโมเดลของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้แก่ บึงระมาณ บึงขี้แร้ง และบึงตะเคร็ง ต.ปลักแรด อ.บางระกำ พื้นที่จำนวน 1,800 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้กว่า 17 ล้าน ลบ.ม.และช่วยบรรเทาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางระกำนั้น ปรากฏว่าภัยแล้งได้ทวีความรุนแรง ทำให้น้ำในบึงน้ำสาธารณะทั้ง 3 แห่ง ไม่มีน้ำไว้ใช้ทางการเกษตรแต่อย่างใด มีเพียงกระบือที่สามารถลงไปกินหญ้า และพักตามแอ่งน้ำที่เคยไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ เกษตรกรที่อยู่บริเวณรอบบึงน้ำทั้ง 3 แห่ง ต้องแก้ปัญหาดึงน้ำจากบ่อบาดาลมาทำนากันเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าชาวนาที่ไม่ทำนาก่อนฤดูฝน เมื่อถึงเวลาน้ำหลาก ก็จะถูกน้ำท่วมไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เช่นกัน

ส่วนที่ อ.พรหมพิราม ชาวบ้านได้รวมตัวกันทำพิธีแห่นางแมว หลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ฝนทิ้งช่วงทำนาไม่ได้ทำให้ได้รับความเดือดร้อน โดยนางอุรา สโดม อายุ 53 ปีชาวบ้านบอกว่า ตนเป็นชาว จ.สุโขทัย ร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้าน อ.พรหมพิราม ที่มีอาชีพทำนา กำลังท้อแท้อย่างหนัก เนื่องจากไม่มีน้ำทำนาข้าว และหากทำล่าช้าไปกว่านี้จะเผชิญกับฤดูน้ำหลาก นาข้าวถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย แต่ในปีนี้เข้ามากลางฤดูฝนแล้ว ก็ยังไม่มีฝนตก แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด ทำนาข้าวไม่ได้ ได้รับความเดือดร้อนมาก

"ยอมรับว่าไม่เคยเผชิญปัญหาภัยแล้งขนาดนี้มานานแล้ว น่าจะแล้งที่สุดในรอบ 10-20 ปี จึงได้รวมตัวกันฟื้นฟูประเพณีแห่นางแมวที่ได้เคยทำกันครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2545 กลับมาทำกันอีกครั้งในปีนี้ ตามประเพณีความเชื่อว่า เมื่อทำพิธีแห่นางแมวก็จะมีฝนตกลงมา อีกทั้ง เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านอีกด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น