xs
xsm
sm
md
lg

มองต่างมุม พ.ร.บ.คุมยาสูบ กฎหมายสุดโต่งในมือ สนช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... หรือ “ร่างกฎหมายคุมยาสูบ” ระหว่างฝ่ายสนับสนุนนำโดยกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขณะที่ฝ่ายต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้นำโดย สมาคมการค้ายาสูบไทย บรรดาร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) และสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบต่างๆ ซึ่งรวมตัวกันในนาม "ภาคียาสูบ"
ในขณะที่การถกเถียงยังไม่สะเด็ดน้ำดี กระทรวงสาธารณสุขก็ได้นำร่างกฎหมายที่ว่าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติอนุมัติหลักการส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจทาน ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอยู่ในขณะนี้
ส่งผลให้ “ฝ่ายต่อต้าน” รู้สึกว่า กระทรวงสาธารณสุข “ลักไก่” เพราะก่อนหน้านั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผูกลั่นกรองวาระการประชุม ครม.ได้ตีกลับร่างกฎหมายดังกล่าวมาถึง 2 ครั้ง เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าของเรื่องไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆเพิ่มเติม ตามที่หลายหน่วยงานท้วงติงมา
แต่กลับมีการเปิดเปยว่า ไม่ได้มีการเปิดเวทีหรือตั้งโต๊ะรับฟังความคิดเห็นตามข้อแนะนำแม้แต่น้อย
หลายข้อห่วงใยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงถูกซุกไว้ใต้พรม ในขณะที่กระบวนการผลักดันร่างกฎหมายเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง
และยังไม่ทันที่กฎหมายจะประกาศใช้ก็มีข่าวว่า ร้านค้าโชห่วยหลายแห่งในพื้นที่ภาคกลาง ถูกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บังคับให้ร้านค้าเซ็นเอกสารห้ามไม่ให้ร้านค้าแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน และห้ามโชว์บุหรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อห้ามที่บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จนมีการออกมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมหลายกรณี
ซึ่งการบังคับใช้อำนาจตามดุลพินิจก็เป็นหนึ่งในข้อห่วงของฝ่ายของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
“วราภรณ์ นะมาตร์” ผู้อำนวยการสมาคมการค้ายาสูบไทย ตัวแทนของ "ภาคียาสูบ" และร้านค้าโชห่วย ได้รวบรวมข้อห่วงใยจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ โดยมองว่า แทนที่จะมุ่งเน้นในเรื่องการดูแลสุขภาพ แต่กลับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การห้ามลดราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบตามมาตรา 27 หรือมาตรา 29 ที่ว่าด้วยการกำหนดสถานที่ห้ามขาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการควบคุมในเรื่องทางการค้าของผู้ประกอบการจนเกินสมควรแล้ว ยังมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายของกรมสรรพสามิตซึ่งอาจมองว่า ทำให้มีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานด้วยซ้ำ
ในมาตรา 35 เกี่ยวกับการห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย ถือเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ร้านค้า ในการบริหาร จัดเรียง และเก็บสินค้า เช่นเดียวกับมาตรา 37 ที่กำหนดหีบห่อ “ซองเรียบ” ก็ถือเป็นการเพิ่มภาระกับร้านค้าอย่างเกินสมควร เพราะการที่หีบห่อสินค้าถูกกำหนดให้มีรูปแบบเหมือนกันหมด จะทำให้การจัดเรียงสินค้า การหยิบสินค้ามีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะไม่สามารถแยกความแตกต่างของสินค้าได้ชัดเจน
อีกทั้ง “บุหรี่ซองเรียบ” จะทำให้มี “บุหรี่ปลอม” เพิ่มมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่อง “การห้ามแบ่งขาย” ตามมาตรา 38 ซึ่งฝ่ายผู้สนับสนุนมองว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ว่าย ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเห็นว่า เป็นการบังคับให้ผู้ซื้อต้องซื้อทั้งซอง ซึ่งไม่ช่วยลดการบริโภคยาสูบแต่อย่างใด
มาตรการที่ดูจะสุดโต่งเป็นอย่างมากคือ การห้ามโรงงานยาสูบทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ซึ่งกีดกันการทำคุณงามความดีให้กับสังคม โดยปัจจุบันโรงงานยาสูบได้สนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ มูลนิธิต่างๆ โรงเรียน และสถานศึกษาเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโรงงานยาสูบแล้ว ยังส่งผลกระทบให้องค์กรและหน่วยงานเหล่านั้น ย่อมเสียประโยชน์ไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีมุมมองของนักกฎหมาย “สุรศักดิ์ วาจาสิทธิ์” ที่ปรึกษาคณะกรรมการกฎหมายธุรกิจสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ร่างกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ให้สามารถใช้ดุลพินิจในการประกาศห้ามการใช้ส่วนประกอบต่างๆ ในบุหรี่หรือการเปลี่ยนแปลงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ และคุกคามทรัพย์สินทางปัญญา ก็เหมือนการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรากฎหมาย อำนาจที่กฎหมายเขียนไว้กว้างเกินไปเช่นนี้ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่ดีซึ่งได้กำหนดว่า การออกกฎหมายใดๆ ก็ตาม ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและมีระบบการตรวจสอบที่สมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
“การเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิและความคุ้มครองที่กฎหมายให้มานาน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรเกิดขึ้นผ่านการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยเพียงการออกกฎหมายลูกที่เขียนออกมา เพียงแค่ สั้นๆเท่านั้นแต่เป็นการให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จกับเจ้าหน้าที่ในการกำหนดข้อบังคับ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในลักษณะนี้จะนำไปสู่ขั้นตอนฟ้องร้องทางกฎหมายอีกมากมาย หากผู้ปฏิบัติเห็นว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินควรและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” คุณสุรศักดิ์ให้มุมมองด้านกฎหมายไว้
ถือเป็นอีกมุมมองต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่แตกต่างออกไปจากผู้เสนออย่างสิ้นเชิง ซึ่งสะท้อนว่า การตรากฎหมายใดๆควรที่จะคำนึงถึงเหตุและผลที่จะตามมาด้วย
**มิใช่อ้างแต่เรื่อง “โลกสวย” เพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น