ASTVผู้จัดการรายวัน-เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ร้อง "บิ๊กตู่" คัดค้านร่างแก้ไข 2 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เหตุหมกเม็ด ปกปิด ไม่เปิดเผยเนื้อหา และพบมีช่องโหว่เปิดช่องใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในการกำหนดวิธีการยื่นข้อเสนอและทำสัญญาสัมปทานที่มีมูลค่าสูงหลักหมื่นล้านจนถึงหลายแสนล้าน พร้อมค้านขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่ง ยันเป็นการเพิ่มภาระประชาชน แต่ปล่อยภาคปิโตรเลียมเอาเปรียบ ด้านป.ป.ช.เผยพบพิรุธ ปตท. ทุจริตปลูกปาล์มที่อินโดฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา10.00 น. วานนี้ (17มิ.ย.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ประมาณ 35 คน นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายปานเทพ กล่าวว่า คปพ.ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน และไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ผ่านการอนุมัติโดยหลักการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เนื่องจากเห็นว่า ร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ไม่เคยมีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบมาก่อน และไม่ได้มีการรับฟังเสียงของประชาชนหรือมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่อย่างใด แต่มีการอนุมัติโดย ครม.ไปก่อน
"คปพ.ห่วงว่าภาคประชาชนอาจเกิดความสงสัยว่า ครม. ขาดความจริงใจต่อข้อเสนอของประชาชนหรือไม่ เพราะการกระทำที่เกิดขึ้นขัดแย้งกับหนังสือของนายกฯ ที่แจ้งให้ คปพ. ว่า ขอให้เชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นไทย และการยื่นข้อเสนอต่างๆ ที่มีการเสนอไปยังภาครัฐ ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด คปพ. จึงขอคัดค้านร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจ ด้วยการปฏิบัติตามสัญญาที่เคยให้ไว้"
นอกจากนี้ ยังพบว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนได้ เนื่องจากมีช่องโหว่ที่จะเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ โดยเฉพาะการกำหนดวิธีการสำหรับการยื่นข้อเสนอและตกลงทำสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบบสัญญาการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม ที่มีมูลค่าสูงในระดับหมื่นล้านจนถึงหลายแสนล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ (ดูรายละเอียด 7 ข้อเรียกร้อง คปพ. เสนอแก้ไข 2 กฎหมายปิโตรเลียมในล้อมกรอบ)
***ค้านขึ้นภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
นายรุ่งชัย จันทสิงห์ แนวร่วม คปพ. กล่าวถึงแนวคิดการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่ง และยกเลิกการใช้แอลพีจี ภายใน 1-2 ปี ตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ขอให้นายกรัฐมนตรี ทบทวนแนวคิดดังกล่าว และยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เนื่องจากสถานะของกองทุนน้ำมันในขณะนี้ ถือว่าเพียงพอ และจะได้ไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เห็นว่า การใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง ไม่ได้มีสัดส่วนมากที่สุด แต่เป็นภาคปิโตรเคมี ที่ใช้มากกว่า และการใช้ภาคขนส่ง ก็ไม่ใช่การใช้พลังงานผิดประเภท เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันแล้ว แอลพีจีจะช่วยลดมลภาวะได้มากกว่า ดังนั้น การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต จะเป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้บริการรถยนต์สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่า ไม่ควรปรับเพิ่มดังกล่าว แต่ควรจะเรียกเก็บจากภาคปิโตรเลียมที่เป็นผู้ใช้แอลพีจีมากที่สุดแทน
ส่วนการให้ยกเลิกการใช้แอลพีจีภายใน 1-2 ปีนั้น จะกระทบต่อผู้ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ในรถยนต์แอลพีจี ที่มีอยู่ 1.5 ล้านคัน ซึ่งหากมีการดำเนินการดังกล่าว จะถือเป็นความผิดพลาดของนโยบายภาครัฐเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการให้สัมภาษณ์ นายปานเทพ ได้ไปพบนายทหารจาก คสช. ที่ได้เชิญตัวมาพบ เพื่อสอบถามและปรับทัศนคติ ที่ชั้น 3 สำนักงานก.พ. ขณะที่แนวร่วมที่เหลือยังคงรออยู่ที่โรงอาหารสำนักงานก.พ.
**พบพิรุธปตท.ทุจริตปลูกปาล์มอินโดฯ
นายสถาพร หลาวทอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งดูแลการไต่สวนคดีทุจริตเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียของบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้องและเอกสารจำนวนมาก ทำให้คดีมีความคืบหน้าพอสมควร แต่กลับพบว่าปตท. ส่งให้ป.ป.ช. สอบเฉพาะ 5 โครงการที่มีการดำเนินการไปแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. ยังต้องเสาะหาพยานหลักฐาน ก่อนที่จะเริ่มโครงการด้วยว่าเป็นมาอย่างไร
"เบื้องต้นพบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น การดำเนินการตามโครงการไม่เป็นไปตามที่บอร์ด ปตท.อนุมัติ และก่อนริเริ่มโครงการนี้ มีข้อผิดปกติหลายส่วน ทั้งเรื่องที่ดิน ข้อตกลง หุ้นส่วน แต่ตอนนี้ ยังไม่ได้ประเมินว่าสร้างความเสียหายให้รัฐเท่าไร เพราะต้องดูผลประกอบการเทียบกับการลงทุน อีกทั้งยังมีการขายโครงการเพื่อลดภาวะขาดทุนไปหลายโครงการด้วย จึงต้องดูผลลัพธ์จากการขายกับเงินลงทุนที่เสียไปแตกต่างกันอย่างไร"นายสถาพรกล่าว
สำหรับการไต่สวนอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมีเอกสารจำนวนมาก แต่ในขณะนี้พบว่ามี 2 โครงการ ที่สามารถชี้มูลความผิดได้ ซึ่งจะสรุปออกมาก่อน ส่วนโครงการที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็เป็นไปตามที่ ปตท. กล่าวหามา อีกทั้งยังต้องดูเรื่องบอร์ด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตนไม่คิดว่าบอร์ดกำลังตัดตอนความรับผิดชอบด้วยการยื่นให้สอบการดำเนินธุรกิจปาล์มของ PTTGE เพราะ ป.ป.ช. ดูทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบอร์ด ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ ที่เป็นผู้รับผิดชอบ โครงการที่ 5 หรือบอร์ดใหญ่ของ ปตท. ว่ามีการดำเนินการอย่างไร
**จัดสัมมนาปฏิรูปอนุรักษ์พลังงาน
วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา นายดุสิต เครืองาม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปพลังงาน พร้อมด้วยนายเจน นำชัยศิริ เลขานุการคณะอนุกมธ. พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ร่วมแถลงข่าวว่า คณะกมธ.ปฏิรูปพลังงาน จะจัดงานสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปการอนุรักษ์พลังงานในอาคารภาครัฐและเอกชน โดยใช้มาตรการข้อบัญญัติการใช้พลังงาน สำหรับอาคาร และระบบบริษัทจัดการพลังงาน" ในวันศุกร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30- 15.30 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี หลังจากพบว่า หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน แต่ก็ยังมีปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้การอนุรักษ์พลังงานยังไม่สำเร็จผล
ดังนั้น กมธ.ปฏิรูปพลังงาน เล็งเห็นว่า รัฐบาลต้องส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวมถึงการปฏิรูปพลังงานทดแทน และสร้างจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างประหยัด จึงได้กำหนดแผนงานและจัดโครงการสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมงานรับฟังงานสัมมนา