xs
xsm
sm
md
lg

เชิญทัวร์เกาหลี-ตะวันออกกลางหารือสกัด "เมอร์ส" -ส่งเสริมห้องแยกโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขีดเส้นประกาศ "เมอร์ส" โรคติดต่ออันตรายใน 1-2 วัน เชิญ บ.ทัวร์เกาหลี-ตะวันออกกลาง รพ.เอกชน-กทม.หารือสกัดโรค กระตุ้น รพ.ภาคใต้พัฒนาห้องแยกโรค เหตุมีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปฮัจญ์มาก ไม่กำหนด รพ.รับตัวผู้ป่วยเมอร์สแบบอีโบลา มั่นใจ รพ.มีห้องแยกโรคเอาอยู่

วันนี้ (15 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามประกาศให้โรคเมอร์ส เป็นโรคติดต่ออันตรายอันดับที่ 7 ของประเทศไทย เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจทางกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการติดตาม กักตัว เฝ้าระวังผู้ต้องสงสัยโรคเมอร์ส ซึ่ง รมว.สาธารณสุขเร่งรัดให้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้ลงนามในวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งหลังจากลงนามแล้วจะเร่งส่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายใน 24 ชั่วโมง จึงคาดว่าไม่น่าเกิน 1-2 วันนี้น่าจะประกาศและมีผลบังคับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่มาตรการในการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมโรคต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขยังคงเหมือนเดิม

"วันที่ 16 มิ.ย. จะมีการเชิญตัวแทนบริษัททัวร์ที่จัดการเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ และประเทศตะวันออกกลาง รวมไปถึงตัวแทนจากกรมการแพทย์ มหาวิทยาลัย รพ.เอกชน และ รพ.กทม. มาพูดคุยหารือถึงมาตรการการป้องกันโรคเมอร์ส ซึ่งตรงนี้เป็นความร่วมมือมาตั้งแต่การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา" อธิบดี คร. กล่าวและว่า การระบาดเป็นจำนวนมากในเกาหลีเกิดขึ้นใน รพ. ทำให้หลายคนกังวลว่าใน รพ.รัฐที่มีความแออัด หากมีผู้ป่วยโรคเมอร์สมาจริงอาจทำให้ติดต่อกันได้ง่ายนั้น ขณะนี้ได้ขอให้ รพ.ทั้งหมดจัดทางพิเศษสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ป่วยสัมผัสกับบุคคลอื่นๆ ใน รพ. มีห้องตรวจแยกเฉพาะต่างหาก

นพ.โสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่ได้มีการกำหนด รพ.ไว้ว่าหากพบผู้ป่วยโรคเมอร์สจะต้องส่งมาที่ รพ.ตามที่กำหนดเหมือนตอนโรคอีโบลา เพราะความน่ากลัวน้อยกว่ามาก และไม่ได้ติดต่ออันตรายเท่ากับโรคอีโบลา โดย รพ.ที่มีห้องแยกโรคความดันลบ ก็สามารถดูแลได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยก็มีความพร้อมในการดูแลจากประสบการณ์โรคไข้หวัดนกมาแล้ว นอกจากนี้ การส่งต่อเคลื่อนไหวผู้ป่วย อาจจะกลายเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อกันได้ อย่างไรก็ตาม จะมีการกระตุ้นให้ รพ.ในภาคใต้พัฒนาห้องแยกโรคความดันลบมากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การส่งต่อเคลื่อนไหวผู้ป่วย อาจจะกลายเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น