xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งถกคุมร้านเหล้ารอบมหา"ลัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(14 มิ.ย.) เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ในฐานะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่1/2558 ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยทราบว่ามีวารระหลัก คือ การพิจารณาออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัย อาศัยอำนาจตาม มาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งตลอด7 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีรัฐบาลใดกล้าตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยเยาวชนต่อปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายครั้ง และกำชับให้ดำเนินการเรื่องร้านเหล้ารอบสถานศึกษาอย่างเด็ดขาดชัดเจน จึงทำให้เครือข่ายเยาวชน และภาคประชาสังคมมีความหวังมากขึ้นกว่าทุกรัฐบาล ประกอบกับกระแสสังคมที่ค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ และข้อมูลงานวิจัยที่มีมากพอ รัฐบาลจึงน่าจะตัดสินใจได้ไม่ยาก
"สำหรับการประชุมครั้งนี้ เชื่อว่ากรรมการทุกท่าน ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดกับเยาวชน ดังนั้น หากเร่งออกกฎหมายที่ชัดเจนมาควบคุมได้สำเร็จตั้งแต่วันนี้ จะลดผลกระทบ อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม ที่สำคัญช่วยลดการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีนักดื่มที่เป็นเยาวชน 2.5 แสนคนต่อปี และเป็นประชากรกลุ่มเดียวที่มีอัตราการดื่ม 2ใน 5 มีพฤติกรรมการดื่มแบบหัวราน้ำ อีกทั้งงานวิจัยล่าสุดชี้ชัดว่า ร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ย เกือบ 12% ต่อปี และในรอบ 5 ปีที่ออก ยังไม่มีกฎหมายควบคุม พบว่าร้านเหล้าเพิ่มขึ้นสูงถึง72% หลายมหาวิทยาลัยเพิ่มกว่า100% โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึง186% ดังนั้นถ้าคณะกรรมการควบคุมฯ เลิกเกรงใจธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นอนาคตของชาติสำคัญกว่า กฎหมายนี้คงจะผ่านการพิจารณาได้" เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เร่งออกมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ควรถือโอกาสทำให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดเจนว่า ความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้รับผิดชอบบกพร่อง หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่ำลง รวมถึงสถานศึกษา ครอบครัวสร้างทุนความคิด ทุนชีวิตให้ลูกหลานไม่เป็น ทำให้เยาวชนต้องรับกับกระแสที่โหดร้าย จึงหวังว่า บทเรียนนี้รัฐบาลจะกล้าหาญตัดสินใจทำเพื่อลูกหลาน ขจัดพื้นที่มืดให้ลดลง ไม่คิดแต่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ จนลืมราคาที่ต้องจ่ายกันทั้งสังคม รีบสร้างต้นทุนให้เยาวชนก่อนที่จะต้องจ่ายแพงไปมากกว่านี้
"เยาวชนที่ต้องโทษเข้าสู่บ้านกาญจนาฯ บางส่วนมาด้วยการก่อคดีที่รุนแรงโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้ทำผิด เช่น ยิงคู่อริจนเสียชีวิต ขณะดื่มสุราข้างมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับผลสำรวจเยาวชนในสถานพินิจ ที่พบว่า เยาวชนกว่า 85% ดื่มแอลกอฮอล์ และเกือบ 40% ดื่มก่อนจะก่อเหตุไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยฐานความผิดทำร้ายร่างกาย และชีวิต อีกทั้งในฐานความผิดเรื่องเพศที่มีการดื่มเข้าไปเกี่ยวข้อง 46-60% ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าเยาวชนที่ใช้ชีวิตในบ้านกาญจนาฯ ต่างเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบได้เป็นอย่างดี พูดตรงกันว่า จะไม่กลับไปทำซ้ำอีก สำนึกผิดและไม่อยากกลับไปดื่มอีก เพราะเป็นต้นเหตุของการสร้างปัญหา" นางทิชา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น