xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดึงเช็ง “ปฏิรูปตำรวจ” WHAT WHERE WHEN & WHY

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใครๆ ก็รู้ว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)” เป็นองค์กรที่มีปัญหาที่สุด และสมควรที่จะต้องมีการ “ปฏิรูปมากที่สุด” เพราะเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม และพิสูจน์ชัดแล้วว่า ที่ผ่านมา สตช.ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากยังคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาก็จะเกิดขึ้นไม่รู้จบ

แต่วันนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำท่าว่าจะ “ดึงเช็ง” การปฏิรูปหน่วยงานที่ภาคประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปมากที่สุดไปเสียดื้อๆ ทั้งๆ ที่ถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดนี้

ยิ่งตีความคำพูด “บิ๊กตู่” กลางวงประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ยิ่งเห็นอนาคตว่า เป็นเช่นไร

“วันนี้ผมปฏิรูปไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจจะรื้อจะปรับอย่างไรบอกรัฐบาลหน้า และฝากบอกพี่ๆ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอมาด้วย ถ้าให้รัฐบาลผมทำวันนี้เรื่องปฏิรูปจะเดินหน้าได้อย่างไร”

การที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเช่นนี้ มิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า นี่คือ
การส่งสัญญาณ “ติดเบรก” การปฏิรูปตำรวจ ที่สังคมคาดหวังว่าน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

สังคมสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงได้ตัดสินใจเว้นวรรคเอาเสียดื้อเช่นนี้

การดึงเช็งครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” คือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่

การดึงเช็งครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือไม่ เพราะทุกคนรู้ดีว่า บิ๊กอ๊อดคือสายตรงบิ๊กป้อม

หากย้อนไปในอดีตในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน2549 เคยมีความพยายามปฏิรูปองค์กรสีกากีโดยตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางปฏิรูปองค์กรตำรวจ โดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจตงฉินเป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ใช้เวลานานนับปีศึกษาจนได้ผลสรุปแนวทางปฏิรูปด้วยการกระจายอำนาจองค์กรตำรวจ แต่ในที่สุดก็เกิดการต่อต้านและทุกอย่างเงียบหายเข้ากลีบเมฆไป

และรัฐบาลชุดนี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกันโดยสะท้อนให้เห็นจากการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเรื่องกิจการตำรวจของสปช.ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เมื่อ ถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากบรรดานายตำรวจที่เป็นสมาชิกสปช. รวมทั้งองค์กรตำรวจบางองค์กรจนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ทั้งๆที่เป็นเพียงประเด็นการแยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีปัญหามากที่สุดคือ ตำรวจบางคนที่มาร่วมประชุม ใหม่ๆ ก็เห็นด้วย แต่ตอนหลังก็หายไป จากประชุม 20 ครั้ง มาร่วมประชุมแค่ 7-8 ครั้ง และหายไปในที่สุด แล้วตำรวจก็มาโวยวายว่า ไม่มาปรึกษา

วันที่ 29 เม.ย. คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องกิจการตำรวจ ที่มีนายเสรีเป็นประธาน ได้เสนอรายงานให้ที่ประชุม สปช.พิจารณา ซึ่งทำให้ กมธ.โต้เถียงกันเอง จนไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพได้ ในที่สุดที่ประชุมต้องเลื่อนการอภิปรายออกไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2558 นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงนามในคำสั่ง สปช. ที่ 20/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ จำนวน 17 คน ดังนี้ 1.นายเทียนฉาย เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ 2.พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่ปรึกษาคณะกรรมการ 3.นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมการ 4.ผู้กระทรวงมหาดไทย กรรมการ 5.นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ 6.พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโน กรรมการ 7.อัยการสูงสุด หรือผู้แทน กรรมการ 8.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน กรรมการ 9.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กรรมการ 10.พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ กรรมการ 11.พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร กรรมการ 12.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กรรมการ 13.นายพงศ์โพยม วาศภูติ กรรมการ 14.นายเช็มชัย ชุติวงศ์ กรรมการ 15.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ กรรมการ 16.นายไพโรจน์ พรหมสาส์น กรรมการ และ 17.นายวันชัย สอนศิริ กรรมการและเลขานุการกก.ทำแผนปฏิรูปฯ นัดถก 29 พค.

คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่สำคัญ ดังนี้ 1.ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจในประเด็นหรือในด้านต่างๆ รวมถึงการจัดองค์กรและโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และภารกิจของกิจการตำรวจ การกำหนดกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ การบริหารราชการ และการพัฒนาคุณภาพข้าราชการตำรวจ เพื่อให้กิจการตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและชอบด้วยหลักธรรมาภิบาล 2.การดำเนินการให้ใช้พื้นฐานแนวคิดและผลการศึกษาจากรายงานการปฏิรูปกิจการตำรวจของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รายงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ และรายงานกับข้อมูลจากแหล่งอื่นมาเป็นฐานในการพิจารณาด้วย 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการโดยความเห็นชอบของประธาน สปช.เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และ 4.จัดทำรายงานแผนปฏิรูปตำรวจฉบับสมบูรณ์เสนอต่อประธาน สปช.

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 พ.ค.58 เวลา 09.30 น. เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ

หากดูจากบทบาทหน้าที่ ตามที่ “ประธานเทียนฉาย” กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจดำเนินการก็ดูท่าจะสดใส แต่ “การปฏิบัติ” จะสามารถทำได้หรือไม่ ยากที่จะคาดเดา ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกตัวแรงเช่นนี้ ก็ยิ่งมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารซึ่งมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มมือยังไม่ลงมือทำ แล้วจะมีหลักประกันอันใดที่จะทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำสำเร็จ

พล.อ.ประยุทธ์จะปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังเช่นนี้หรือ

“ผมฟังคุณไก่อู (พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) พูดแล้วรู้สึกตลกมาก ตลกจริงๆ ที่บอกว่าไม่ปฏิรูปตำรวจ เพราะตอนนี้ตำรวจทำงานดี รับใช้การเมืองอย่างเคร่งครัด ผมสงสัยว่าเขาเอาตรรกะอะไรมาพูด พูดอย่างนี้เสียชื่อทหารหมด คุณดูสิว่ามียุคไหนที่ตำรวจไม่รับใช้นักการเมืองบ้าง การเมืองเลว มันก็รับใช้การเมืองเลว การเมืองดี มันก็ดี เพราะฉะนั้นถ้าพูดอย่างนั้น รัฐบาลนี้ต้องอยู่ร้อยปีไหมล่ะ ตำรวจจะได้ดีทั้งร้อยปี ประชาชนจะได้รับผลดี”พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช. ) แสดงความคิดเห็น(อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมหน้า 20-21)

ในความเป็นจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์รู้อยู่เต็มอกว่า สตช.มีปัญหาและต้องเร่งปฏิรูปอย่างเร่งเพราะสัมผัสได้ด้วยตนเองขณะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ขบวนการค้ามนุษย์ ค้าโรฮีนจาข้ามชาติก็มี “ตำรวจ” เข้าไปเกี่ยวข้อง

การสั่งย้ายตำรวจที่นครปฐมกราวรูดก็แสดงให้เห็นว่า การทำงานของตำรวจมีปัญหาจริงๆ

แล้วทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึงไม่จัดการ

การให้เหตุผลว่า เวลาไม่เพียงพอ ก็เป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้น เพียงแต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงขนาดจะต้องประกาศเว้นวรรคการปฏิรูปตำรวจแล้วผลักภาระไปให้รัฐบาลหน้า

เกิดอะไรขึ้นกับการปฏิรูปตำรวจกันแน่...


กำลังโหลดความคิดเห็น