xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปลี่ยนการซื้อดาวเทียมแบบ “บาร์เตอร์เทรด” มาเป็นแบบ “จี ทู จี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ “โครงการสตาร์ วอร์ เวอร์ชั่นไทยแลนด์” หรือ “โครงการว่าจ้างพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ตามแผนการพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจของประเทศ ระยะที่ 2 หลังจาก “ดาวเทียมไทยโชต” หรือ THEOS -1 มีอายุใช้งานตามการออกแบบ 5 ปี ซึ่งครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จึงมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการให้บริการภาพถ่ายและข้อมูลภูมิสารสนเทศต่าง ๆ แก่ผู้ใช้งาน

เรื่องนี้ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจา ที่มี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เป็นประธานอนุกรรมการ และมี ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง 1-3 คน ผู้แทกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และให้เจ้าหน้าที่ สทอภ. เป็นเลขานุการ

มีอำนาจหน้าที่ ศึกษาในรายละเอียดและดำเนินการเจรจากับประเทศที่คณะกรรมการฯให้ความเห็นชอบ ในประเด็นทางเทคนิคของเทคโนโลยีดาวเทียม การพัฒนาระบบประยุกต์ การถ่ายเทคโนโลยีและการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ข้อเสนอด้านการเงิน และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“คัดเลือกและเสนอชื่อประเทศ” ที่เหมาะสมพร้อมรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการฯพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จัดทำร่างข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) พร้อมรายละเอียดโครงการเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามคำสั่งบอร์ดชุดใหญ่

ทั้งนี้ ครม. ยังกำหนดกรอบระยะเวลา 4 เดือน ในการศึกษาหลักการโครงการฯ เพื่อจัดทำร่างข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนให้นำรายละเอียด TOR เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนธันวาคม นี้

“โครงการสตาร์ วอร์ เวอร์ชั่นไทยแลนด์ เดิมมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ระบุว่า สทอภ. เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ของประเทศไทย หรือดาวเทียมธีออส (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่าดาวเทียมไทยโซต) ร่วมกับบริษัท EADS Astriumประเทศฝรั่งเศส

โครงการนี้ ในปี 2548 สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการจัดจ้างในลักษณะการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) ร้อยละ 100 และให้ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าวตอนนั้น ไทยเอา สินค้าเกษตร ไปแลก

แต่ในปี 2558 รัฐบาล คสช. จะใช่ รูปแบบการดำเนินโครงการ เป็นการลงทุนของรัฐเพื่อการพัฒนาระบบสำรวจโลกของประเทศผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยีแบบรัฐต่อรัฐ [Government to Government (G to G)

มีความเห็นว่า จะจัดหาเป็นชุดใหญ่ ไม่ใช่แบบดวงเดียวเหมือนในอดีต เน้นจัดหา” เทคโนโลยีอวกาศ” “ภูมิสารสนเทศ” “ดาวเทียมสำรวจโลก” “ระบบรับสัญญาณและผลิตภูมิสารสนเทศ” เพื่อการประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้ใช้งานที่ปลายน้ำ

เน้นบูรณาการทุกๆ หน่วยงานด้านอวกาศ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและหน่วยงานที่มีภารกิจในการประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศ ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การเกษตร ภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติ เมือง พื้นที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงของประเทศที่เชื่อมโยงกับมิติและประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การเพิ่มความมั่นคง เป็นต้น

ย้อนกลับไปคราวประชุม “คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า การจัดหาดาวเทียมสำรวจดวงใหม่ มีแนวทางที่จะจัดหาดาวเทียมเป็นชุด ซึ่งจะมีทั้งดวงหลัก ดวงสำรองและดวงเล็ก จากเดิมที่ธีออสที่อยู่บนวงโคจรขณะนี้มีเพียงดวงเดียว ขณะเดียวกันดาวเทียมชุดใหม่นี้จะไม่เป็นการซื้อเทคโนโลยีทั้งหมด

“แต่จะวางเงื่อนไขว่าจะซื้อบางส่วนและร่วมผลิตบางส่วน เช่นในส่วนของดวงหลักจะให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้ผลิต 80% และเป็นการผลิตของคนไทย 20% ส่วนของดวงสำรองและดวงเล็กนั้นอาจจะให้เป็นการผลิตของคนไทย 80% และให้บริษัทที่ชนะการประมูลซึ่งเป็นต่างชาติเป็นส่วนเสริมอีก 20% ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิต และเป็นผู้ผลิตดาวเทียมเองในอนาคตได้”

“การที่เราเลือกที่จะทำดาวเทียมเป็นชุดมีดวงหลัก ดวงสำรองและดวงเล็ก เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าซื้อทั้งหมดและมีดวงเดียวเราก็ผลิตเองไม่ได้ แนวทางนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ดาวเทียมของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะวางเป็นเงื่อนไขว่าถ้าใครไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ก็ไม่ต้องประมูล ส่วนงบประมาณในการจัดทำครั้งนี้จะต้องใช้เท่าไหร่นั้นยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะต้องมีการเจรจากับผู้ประมูลก่อน”

ด้านนายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที ระบุว่า ปัจจุบันดาวเทียมของไทยมี 2 ส่วนคือดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดูแล และดาวเทียมสำรวจคือดาวเทียมธีออส กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ดูแล ซึ่งการที่ประเทศไทยมีแนวคิดจะผลิตดาวเทียมเองในอนาคต

“เชื่อว่านอกจากประเทศไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ยังจะสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาอีกจำนวนมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเฉพาะตัวดาวเทียมการลงทุนอยู่ที่ประมาณดวงละ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกับต้นทุนดำเนินการเพื่อยิงขึ้นสู่วงโคจรแล้วจะอยู่ที่ 6,000-7,000 ล้านบาท”

ทีนี้ย้อนกลับไปนานหน่อย “ดาวเทียมธีออส หรือ ดาวเทียมไทยโซต” สทอภ.ได้ลงนามว่าจ้างบริษัทอีเอดีเอส เอสเตรียม (EADS Astrium) ของฝรั่งเศส ซึ่งค่าใช้จ่ายของโครงการรวมทั้งสิ้น 128.8 ล้านยูโร คิดเป็นวงเงิน 6,440 ล้านบาท” เพื่อสร้างและส่งดาวเทียมธีออส โดยมีการปล่อยที่ฐานปล่อยจรวดของรัสเซียในศูนย์อวกาศยัสนี (Yahni) ชายแดนประเทศรัสเซีย

เป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี ซึ่งโครงการนี้มีวิศวกรชาวไทยเข้าร่วมสร้างและศึกษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการจำนวน 20 คน

ล่าสุด เห็นว่า นายชอน แจ-มัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร แสดงความสนใจว่า เกาหลีใต้พร้อมจะเข้ามาลงทุน โครงการ THEOS - 2 โดยย้ำว่า เกาหลีใต้มีความสนใจร่วมประมูลและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะเป็นประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างมาก

เปลี่ยนจาก เทคโนโลยียุโรป มาใช้เทคโนโลยีเอเชีย แบบเกาหลี ก็ดี แต่งบประมาณในการจัดทำครั้งนี้ น่าจะถูกกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท เพราะ มติ ครม.ใน 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เน้นให้เจรจาแบบ “รัฐต่อรัฐ”ซึ่งถ้าคุยกับเกาหลี ก็น่าจะลดลงได้มากกว่าคุยกับทางยุโรป แน่ๆ แต่ใน 4 เดือนนี้นั้นคณะเจรจาชุดนี้จะต้อง ดูด้วยว่า ยุโรปกับเอเชียอันไหนคุ้มกว่ากัน


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น