รมว.ไอซีทีชี้นายกฯ ไฟเขียวตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติชั่วคราวก่อน เพื่อเดินหน้าเตรียมแผนงานตามนโยบาย Digital Economy พร้อมประชุมเตรียมงานนัดแรกกลางเดือน มี.ค.นี้ ยันไร้วาระเรื่องการบริหารคลื่นความถี่
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ หรือดีอี ชั่วคราวระหว่างรอ พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลผ่าน เพื่อให้การทำงานต่างๆ ตามนโยบาย Digital Economy สามารถเดินหน้าไปก่อนได้ โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกกลางเดือน มี.ค.ก่อนที่กระทรวงใหม่จะถูกจัดตั้งขึ้นในเดือน พ.ค.
“ตอนแรกท่านนายกฯ ก็ไม่เห็นด้วยกับเราที่จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก่อนที่จะมี กม.บังคับใช้ แต่เราก็บอกท่านไปว่าไม่งั้นเราจะทำงานไม่ได้ ท่านจึงยอมให้ตั้งเป็นคณะกรรมการชั่วคราวไปก่อน ซึ่งตอนนี้เราก็เตรียมการจัดตั้งสำนักงานเลขาฯ ในกระทรวงเพื่อให้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยได้ยืมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดหน่วยงานละ 2 คนมาช่วยทำงาน”
สำหรับเนื้อหาในการประชุมนัดแรกยังไม่ได้คุยเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อเตรียมความพร้อมในงานต่างๆ โดยคณะกรรมการชุดนี้ทั้งสิ้น จำนวน 32 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการจัดทำ พ.ร.บ. ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนจากภาคเอกชน ร่วมเป็นกรรมการ
นอกจากนี้ ตนเองยังได้ร่วมประชุมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อกำหนดแผนงานและทิศทางการบริหารงานของดาวเทียมทุกดวงที่มีอยู่ในวงโคจรตามสิทธิที่ไอซีทีได้รับจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) โดยเบื้องต้น คาดว่าแผนงานกิจการอวกาศทั้งหมดจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่วาระของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำหรับแนวทางการจัดทำแผนกิจการอวกาศนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.กำหนดทิศทางการบริหารวงโคจรดาวเทียมที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 7 วงโคจร มีดาวเทียมให้บริการ 4 ดวง คือ ไทยคม 5 และ 6ในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ไทยคม 7 ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก และไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ซึ่งมีทั้งที่ใช้งานอยู่และหมดอายุไปแล้ว โดยคณะกรรมการที่ร่างแผนงานนั้นจะพิจารณาดูว่าจะมีวิธีใดที่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด
2.แนวทางการจัดการกับดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ตามที่เคยมีคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยพิพากษาให้เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทานเพราะเป็นดาวเทียมที่สร้างมาทดแทนไทยคม 3 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่าจะทำอย่างไรกับดาวเทียมดวงดังกล่าว และ 3.การจัดทำดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อให้บริการความมั่นคง และบริการสาธารณะโดยมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติไปศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างดาวเทียมภาครัฐ 1 ดวง เพื่อให้บริการความมั่นคงและสาธารณะ
นอกจากนี้ ในเดือน เม.ย.นี้ ไอซีทีจะเรียกบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มาหารือเกี่ยวกับแผนการบริหารงานไอพีสตาร์ว่าจะให้ไอพีสตาร์อยู่ในสถานะอะไร ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 3 ตามที่ไทยคมอ้าง หรือเป็นดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นมาเลย 1 ดวงซึ่งหากไอซีที และไทยคมกำหนดข้อสรุปร่วมกันได้ก็อาจจะมีการเจรจาเพื่อร่างสัญญาแนบท้ายขึ้นใหม่เพื่อกำหนดอัตราการจ่ายค่าธรรมเนียมหากสรุปให้เป็นดาวเทียมดวงใหม่ แต่หากกำหนดร่วมกันให้เป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 3 ก็ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานต่อไป
“ประเด็นการหารือกับไทยคมยังมีเรื่องการให้ใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม 7 เพราะปัจจุบันไทยคมถือใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมเพื่อการสื่อสารจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพียงอย่างเดียว แต่ตามจริงนั้นไทยคมจำเป็นต้องมีใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่จากไอซีทีด้วย และต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้แก่ไอซีทีด้วย”
Company Related Link :
ไอซีที