เปิดแผนเร่งด่วน รมว.ไอซีที ตั้งโต๊ะเคลียร์ปัญหากฎหมายทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น อย่างเรื่องดาวเทียมสื่อสารกับ กสทช.ต้องชัดเจนภายใน 2 เดือนก่อนนำเรื่องเข้าพิจารณาใน สนช. พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจต้องไม่ขาดทุน ชี้การควบรวมจะเป็นทางออกสุดท้าย ย้ำเรื่อง 4G ต้องเดินหน้า เผยอุปสรรคของกระทรวงที่ผ่านมาคือการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้รับความร่วมมือเพราะปัญหาด้านการเมืองที่มีแนวคิดแตกต่างกัน
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การแก้ปัญหาความชัดเจนของกฎหมายต่างๆ ที่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น เรื่องเกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของกระทรวงไอซีที และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังคงเหลื่อมล้ำกันอยู่ กล่าวคือ กสทช.มีหน้าที่ในการให้ใบอนุญาตด้านดาวเทียม ขณะที่กระทรวงมีหน้าที่ประสานกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ในการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแต่ละครั้ง ดังนั้น จึงต้องมีการประสานงานกันว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ชัดเจน ก่อนจะนำเรื่องเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
“เรื่องนี้จะเรียก กสทช.มาเข้าพบหรือผมไปพบ กสทช.ก็ได้ ไม่มีปัญหา เมื่อมาพูดคุยตกลงกันได้แล้วก็ต้องมาดูว่าจะร่วมมือทำงานกันอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราจะไปแย่งกันทำงาน อันไหนร่วมมือไม่ได้ ก็อาจต้องปรับปรุงกฎหมายร่วมกัน โดยทางทีมปลัดกระทรวงไอซีทีได้มีตั้งคณะทำงานคุยกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้เลย คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 2 เดือนนับจากนี้ เพื่อเคลียร์ปัญหาให้จบ ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าไปต่อคิวให้สภาฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งปัจจุบันสภาฯ ก็มีเรื่องรอพิจารณาอยู่แล้ว 400-500 ฉบับ”
อีกนโยบายหนึ่งที่สำคัญคือ การเข้าไปกำกับดูแลการทำงานของรัฐวิสาหกิจไม่ให้ขาดทุน โดยภายใน 2 อาทิตย์นี้ จะเริ่มเดินทางเข้าไปดูงานในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อหาทางออกที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ร่วมกันได้ โดยเชื่อว่าเมื่อลงไปดูในรายละเอียด และสัมผัสกับเรื่องนี้จริงๆ แล้วจะต้องมีทางออกหลายทาง และการควบรวมกิจการจะเป็นทางออกสุดท้าย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายนโยบายเด่นให้กระทรวงทำอีกหนึ่งนโยบายคือ เรื่อง Digital Economy โดยกระทรวงต้องทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำไอซีทีเข้าไปใช้ประโยชน์กับองค์กรต่างๆ รวมถึงการนำออกมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย เช่น การส่งเสริมการใช้ไอซีทีกับเอสเอ็มอี เป็นต้น ทุกเรื่องที่มีไอซี กระทรวงต้องดู และกระทรวงต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการระดับชาติในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ
“นโยบายนี้เป็นนโยบายระยะยาว เราต้องผลักดันให้เกิดแนวคิดในรัฐบาลนี้เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสามารถนำมาสานต่อได้ นโยบายนี้เหมือนการทำเรื่องอีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวเหมือนกันกว่าจะเห็นผล ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน ซึ่งผมเคยทำมาก่อน และนี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสนใจชวนผมมาทำงานในตำแหน่งนี้ เพราะเรื่องนี้ต้องประสานกับหลายกระทรวง อุปสรรคของกระทรวงที่ผ่านมาคือ การประสานงานกับกระทรวงอื่น รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในอันดับ 7-10 ของพรรค เวลาไปคุยกับรัฐมนตรีในกระทรวงอื่นเขาใหญ่กว่า หรืออาจจะเป็นคนละพรรคซึ่งไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของกระทรวงไอซีที การประสานงานก็เลยยาก”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำอีก ได้แก่ เรื่องภัยพิบัติ ที่ต้องประสานงานกับหน่วยงานในกระทรวง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น โดยกระทรวงต้องมีข้อมูลที่แม่นยำในการประสานงานต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รมว.ไอซีที ยังกล่าวต่อว่า จะมีการเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ใช้งบประมาณปี 2557 ที่เหลืออยู่กว่า 5.1 พันล้านบาท ให้หมดภายในปีนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นต้องนำส่งคืน นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ทำงบประมาณปี 2558 และดำเนินการรายละเอียดทีโออาร์ต่างๆ ให้เสร็จภายในครึ่งปีแรกของงบประมาณ 2558 ด้วย โดยต้องอยู่ภายใต้ความโปร่งใส และไม่เกิดปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะเดียวกัน ก็ยังดำเนินการนโยบายเกี่ยวกับเว็บที่ไม่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย
“ผมยกตัวอย่างงบที่ยังค้างอยู่ก็อย่างเช่นงบเกี่ยวกับเรื่องการติดตั้งไวไฟ สำหรับการเรียนการสอน พบว่ามีงบประมาณค้างอยู่ 3.7 พันล้านบาท ซึ่งเราก็ต้องไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ส่วนเรื่องเว็บที่ไม่เหมาะสมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายหลังจากที่ได้ประสานกับทหาร ตำรวจ ที่ดูแลเรื่องนี้ก็พบว่ายังมีคดีที่ค้างอยู่กว่า 20,000 คดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแล”
นอกจากนี้ รมว.ไอซีทียังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการภายในกระทรวงด้วยว่ากำลังพิจารณาหาผู้เข้ามารับตำแหน่งที่ว่างอยู่ ได้แก่ ผู้ตรวจราชการ รองปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ที่กำลังจะเกษียณด้วย แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีผู้ที่มาจากหน่วยงานอื่นๆ นอกกระทรวงมารับตำแหน่งหรือไม่
“ส่วนประเด็นเรื่อง 4G โดยส่วนตัวผมคิดว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าทำ แต่ต้องดูที่วิธีการว่าจะทำอย่างไร หลักการของผมที่เข้ามาตรงนี้คือผมต้องยืนอยู่ตรงกลาง และทำหน้าที่จัดการให้ดีที่สุด”
Company Related Link :
ICT
CyberBiz Social