รมว.ไอซีที แจงผลงาน 3 เดือน เผยเรื่องหนักใจคือ การทำให้ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม อยู่รอด เพราะปัญหาสะสมมานาน แต่ยังมั่นใจว่าทั้ง 2 องค์กรจะฝ่าวิกฤตไปได้ ส่วนความคืบหน้าเรื่องการแก้กฎหมายที่ทับซ้อนกับ กสทช.อยู่ระหว่างการจ้าง มธ.วิเคราะห์ว่าควรจะแก้จุดไหนบ้าง พร้อมเดินหน้าส่ง กม.อีก 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องต่อนโยบาย Digital Economy เสนอ ครม.วันที่ 30 ธ.ค.นี้ คาดเข้า สนช.เดือน ก.พ.58
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงผลงานรอบ 3 เดือน (12 ก.ย.-12 ธ.ค.57) ของกระทรวงไอซีที ว่า สิ่งที่หนักใจตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาคือ เรื่องการสางปัญหาของ 2 รัฐวิสาหกิจ ทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เนื่องจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างๆ เรื่องการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 หน่วยงานต้องอยู่รอดให้ได้ รวมถึงเรื่องสัญญาสัมปทานต่างๆ เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน แต่ก็จะพยายามแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด
สำหรับการแก้ไขปัญหากฎหมาย และอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนระหว่างกระทรวงไอซีที กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างกระทรวงไอซีที กับ กสทช. โดยคณะทำงานปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) แล้ว จำนวน 4 ครั้ง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.57 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (USO) ร่วมกัน ซึ่งจะมีการปรับแผนการดำเนินการต่อไป ส่วนการแก้ พ.ร.บ.กสทช. กำลังอยู่ระหว่างการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วยวิเคราะห์ และดูว่าจะแก้กฎหมายตรงจุดไหนบ้าง
ส่วนปัญหาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และดาวเทียมสื่อสาร ปัญหาการได้มาซึ่งเงินรายได้แผ่นดินอันเกิดจากการให้อนุญาต ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบกฎหมาย และเกี่ยวข้องต่อบทบาทของหน่วยงานทั้งสอง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ กระทรวงไอซีทีได้มีการพิจารณาเห็นควรจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับการปรับปรุงระบบกฎหมาย เกี่ยวกับการสื่อสารของประเทศไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. เพื่อจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติและเฉพาะกิจ 5 ด้าน รวมทั้ง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 57 ขณะนี้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา รวมทั้งได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ และร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาตามนโยบาย Digital Economy ของประเทศอีก 4 ฉบับ ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับข้างต้น จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 ธ.ค.57 นี้ และเมื่อผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน ก.พ.58
รวมทั้งยังได้เดินหน้าแก้ปัญหาสัญญาสัมปทานดาวเทียม ซึ่งกระทรวงไอซีทีได้รับมอบดาวเทียมสำรอง (ไทยคม 6) เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยต้องดำเนินการกำกับให้เป็นไปตามสัญญา และดำเนินการตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 72 เพื่อดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียม IP Star และสัดส่วนการถือหุ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ขณะที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Cyber Security) และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมที่กระทำความผิด ในช่วงวันที่ 12 ก.ย.-12 ธ.ค.2557 ได้รับแจ้งการกระทำความผิด พร้อมส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการในเรื่อง เว็บไซต์หมิ่นสถาบัน และเว็บไซต์ลามกอนาจาร จำนวน 1,688 URLs ประสานงานกับเว็บไซต์ยูทิวบ์เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 249 URLs อีกทั้งมีคำสั่งศาลอาญา (หมายเลขคดีดำ) ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 1,067 URLs และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกรณีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชน ยึดหลักยุทธศาสตร์ 4 ป. ได้แก่ ปราบปราม ป้องกัน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ลงไปตรวจสอบเข้มงวดเกี่ยวกับการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดไปแล้ว จำนวน 2 ราย และจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป
Company Related Link :
ไอซีที