วัดเขาชีจรรย์ จ.ชลบุรี พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2539
ช่วงหยุดยาว 4 วันวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2558 ลูกหลานพาไปเที่ยวทะเลที่ชลบุรี เมือง...ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย...มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะแยะ...สัตหีบ ศรีราชา พัทยา บางแสน ฯลฯ...ทัวร์ริสทั้งไทยและเทศเนืองแน่น รถติด เศรษฐกิจเฟื่องฟูดูเป็นธรรมชาติ ไม่เสียงบประมาณอัดฉีดประการใด นักท่องเที่ยวทั้งหลายไม่จำเป็นเสียเงินมากมาย ทัวร์ไกลถึงต่างประเทศ เพราะที่นี่ประเทศไทยมีสิ่งดีๆ สวยๆ งามๆ อะเมซิ่งปิ๊งแวบให้ชื่นชมอยู่เต็มแผ่นดินถิ่นสยาม นามอัศจรรย์แห่งนี้...
“มองซิมองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน บางครั้งมันบ้าบิ่น กระแทกหินดังครืนครืน/ทะเลไม่เคยหลับใหล ใครตอบได้ไหม ไฉนจึงตื่น บางครั้งยังสะอื้น ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป/ทะเลหัวใจของเรา แฝงเอารักแอบเข้าไว้ ดูซิเป็นไปได้ ตื่นใจเหมือนดังทะเลครวญ/ยามหลับใหลชั่วคืน ก็ถูกคลื่นฝัน ปลุกฉันรัญจวน ใจรักจึงเรรวน มิเคยจะหลับเหมือนกับทะเล”... (เพลงทะเลไม่เคยหลับ โดย ดิ อิมพอสซิเบิ้ล)
มองทะเลด้วยความพินิจ จะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้นว่าเราอยู่ระดับไหน (1) เห็นสรรพสิ่งเป็นธรรมดา (2) เห็นสรรพสิ่งไม่ธรรมดา (3) เห็นสรรพสิ่งเป็นธรรมดา...?
ทะเลกับคลื่น
มองลงไปในทะเล บางคนก็เห็นเพียงทะเลกับคลื่น บางคนก็เห็นมากกว่านั้น เห็นต่างๆ นานากันไป ตามความคิดจิตใจแห่งตน
ระลอกคลื่นที่โลดแล่นอยู่บนผิวทะเล เมื่อกระทบฝั่งก็หายไป แต่คลื่นไม่เคยหมดไปจากทะเล ยังมีคลื่นเล็กคลื่นใหญ่อยู่กับทะเลเสมอ เพียงแต่เมื่อถึงฝั่งแล้วก็หายไป
คลื่นเกิดจากอะไร?
คลื่นเกิดจากลม ลมแรงก็คลื่นใหญ่ ลมอ่อนก็คลื่นเล็ก ไม่มีลมก็ไม่มีคลื่น
ลมเหมือนอะไร?
ลมเหมือนกิเลส-เหตุแห่งทุกข์ กิเลสมาก ก็ทุกข์มาก กิเลสน้อย ก็ทุกข์น้อย ไม่มีกิเลส ก็ไม่ทุกข์
ลม-คลื่น-กิเลส เมื่อถึงฝั่งก็หมดไป ดับไปเหมือนกับตัวเรา เมื่อนั่งเรือข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วก็สบาย เดินตัวเปล่า ไม่มีใครแบกเรือไปด้วยหรอก นอกจากจะหลงสุดๆ ระดับโคตรๆ
ฝั่งนี้คือเราที่ยังมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน อยู่ฝั่งโน้นคือผู้ที่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
บางคนมองว่า ทะเลกับคลื่นเป็นสองสิ่ง ก็ถูก บางคนเห็นว่า ทะเลกับคลื่นเป็นสิ่งเดียวกัน ก็ถูก
คลื่นเป็นอาการ หรือส่วนหนึ่งของทะเล ถ้าไม่มีลมก็ไม่มีคลื่น จะมีแต่ทะเลที่สงบ และเป็นประโยชน์แก่สรรพสิ่ง
แม่น้ำนามนานาที่ไหลสู่ทะเล เมื่อถึงทะเลแล้ว ชื่อนั้นก็หายไป เหลือเพียงชื่อเดียว คือทะเล
สิ่งสมมติต่างๆ นานาที่เราเล่นกัน หลงกัน แบกกันไป แห่กันไป เมื่อถึงฝั่งโน้น คือสุญญตาก็จบ ไม่มีอะไร มีแต่ความว่างที่เป็นประโยชน์เหนือคำบรรยาย... “ปรมานุตตรสุญญตา”-ความว่างสูงสุด ไม่มีอะไรยิ่งกว่า” ซึ่งเป็นพุทธภาวะที่แท้จริง
มองง่ายๆ แบบเรียบง่าย สไตล์คนธรรมดา... “ทะเลคือจิตเดิมแท้ คลื่นคือจิตใหม่เทียม” มองเป็นก็เห็นธรรม เพราะธรรมมีอยู่แล้วในสรรพสิ่ง ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะตัวเราเอง มีทั้งทะเล และคลื่นให้รื่นรมย์สุขสมจัง
หลับตื่นมืดแจ้ง
เป็นสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกันนั่นแล
คนส่วนมากจะเข้าใจเพียงว่า...หลับคือนอนหลับ ตื่นคือตื่นจากหลับ มืดคือไม่แจ้ง และแจ้งคือไม่มืด สว่างแล้ว ก็ถูกต้องในภาษาคน ส่วนภาษาธรรม ก็มองลึกเข้าไปอีก...
เคยละเมอไหม? ละเมอคือพูดหรือทำขณะหลับ โดยไม่รู้สึกตัว
แต่ขณะตื่น รู้สึกตัวแล้ว พูด ทำ เดินตามปกติ ก็เหมือนเดินละเมอ
ลองฟังคำเตือนจาก...สเตฟาน โบเดียน (จากหนังสือ ตื่นรู้สู่แสงสว่าง) สักเล็กน้อย...
“หยุดการเดินละเมอได้แล้ว ความลับของอิสรภาพและความสุขอยู่ตรงหน้าของคุณแล้ว ถึงเวลาแล้วที่มันจะถูกเปิดเผยออกมา จงตื่นขึ้นสู่ธรรมชาติของจิตวิญญาณที่เป็นของคุณตั้งแต่ดั้งเดิม คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปกับการนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในอารามของเซน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ที่ยากลำบาก หรือเดินทางไปครึ่งโลกเพื่อค้นหาอาจารย์มาสอน การรู้แจ้งอยู่ตรงนี้ และเดี๋ยวนี้แล้ว มีแต่คุณเท่านั้นที่สามารถเปิดตาและตระหนักถึงมันได้ ด้วยตัวคุณเอง”
“คุณไม่ใช่บุคคล อย่างที่คุณคิดว่าคุณเป็น”
“ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ร่างกายที่มองเห็นอยู่ หรือจิตใจที่ครอบงำเอาไว้ด้วยความกังวล หากแต่เป็นจักรวาลที่ไร้ขอบเขต วิญญาณที่ไร้เงื่อนไข และหัวใจเดิมแท้ที่มีอยู่ เพียงแต่ตื่นขึ้นมา และตระหนักถึงมันเท่านั้น!”
โอ...อมิตาพุทธ สติปัญญาเป็นแสงสว่างไม่มีที่สิ้นสุด คำสอนคำเตือนของท่านสเตฟาน โบเดียน ตามที่กล่าวมานั้น นั่นคือ อาการตื่นจากหลับแบบภาษาธรรม
เรื่องมืดแจ้ง ก็อันเดียวกันกับหลับตื่น มืดคือหลับ แจ้งคือตื่น ถ้าหลับมันก็ไม่รู้ ถ้ารู้มันก็ไม่หลับ
มรรคผลยังไม่พ้นสมัย คนโง่เท่านั้นที่ปฏิเสธว่า ในพื้นดินไม่มีน้ำ แล้วไม่ยอมขุดบ่อ
คนโง่เท่านั้นที่ปฏิเสธบาปบุญคุณโทษ ปฏิเสธนรก สวรรค์ นิพพาน
คนโง่ที่มักอวดฉลาดทั้งปวง จึงมักอยู่ในมุมมืด เกลียดมุมแจ้ง เกลียดความโปร่งใส เกลียดการตรวจสอบ เกลียดคนรู้ทัน ฯลฯ
ขอเปิดประเด็น “สำนวนไทยทุกวัน รู้ทันคนกังฉิน” สักนิดๆ หน่อยๆ นะจ๊ะ...
ลูบหน้าปะจมูก : กระทำอะไรให้เด็ดขาดมิได้ เพราะเกรงใจผู้เกี่ยวข้อง
เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง : หาผลประโยชน์มิชอบจากงานที่ทำ
กินบ้านกินเมือง : ฉ้อราษฎร์บังหลวง
ขุดบ่อล่อปลา : วางอุบายหลอกล่อให้อีกฝ่ายหนึ่งหลงเชื่อ เพื่อตัวจะได้ประโยชน์
นกมีหู หนูมีปีก : คนกลับกลอก ทำตัวเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก : ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า กดขี่ข่มเหงผู้น้อย หรือผู้อ่อนแอกว่า
มาไม้ไหน ก็ไปไม้นั้น : มีเล่ห์เหลี่ยมมาอย่างไร ก็ทำตอบคืนไปอย่างนั้น
ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง : ว่ากล่าวสั่งสอนหรือติเตียนผู้อื่น แต่ตัวกลับทำเสียเอง
มือถือสาก ปากถือศีล : คนทำชั่ว ที่ปากพร่ำพูดแต่ความดี
มือไม่พาย เอาตีนราน้ำ : นอกจากไม่ช่วยทำแล้ว ยังขัดขวางอีกด้วย
ชาติคางคก ยางหัวไม่ตกไม่รู้สึก : เป็นคำเปรียบเปรยว่า คนที่ถูกตักเตือนไม่ให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว แต่ยังฝืนไปทำ
ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด : ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้กันทั่วแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ : ไม่เอาธุระ ไม่ใส่ใจ ไม่ถือโทษ
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน : นำความเสียหายมาสู่ตน หรือพวกพ้อง
ฯลฯ
ทำไมความมืดยังดำรงอยู่?
เนื่องเพราะแสงสว่างยังไม่เกิด หรือมีน้อยเกินไป สู้พลังมืดไม่ได้
“แสงสว่างเกิดขึ้น ณ ที่ใด-ความมืดย่อมหายไป ณ ที่นั้น” แสงสว่างไม่ได้มาจากที่ไหน มันมาจากความมืดลดลงหรือหมดไป นั่นแหละ เหมือนกองไฟมันร้อน มันค่อยๆ ดับลงจนดับสิ้น ตรงนั้นก็เกิดความเย็นขึ้นมา
ร้อนหรือเย็น หลับหรือตื่น มืดหรือแจ้ง ดูเหมือนสองอย่าง ดูเหมือนอย่างเดียว เห็นตรงนี้คือปัญญา เห็นตรงนี้คือตื่นรู้ มันมักจะอยู่นอกเหนือจากกรอบใดๆ ที่เรารู้จักกันมาทั้งหมดทั้งสิ้น
ทุกข์สุขสำแดง
ทุกข์สุขก็เหมือนคลื่นในทะเลที่โลดแล่น เกิดดับๆๆ ตราบเท่าที่มีลมพัด สร้างสีสันให้แก่โลกกลายเป็นสถานท่องเที่ยวโดยธรรมชาติ ทะเลให้ประโยชน์ทั้งคนบนบก และสรรพชีวิตในน้ำ คนโง่อวดเก่งชอบไปต่อเติมเสริมแต่งทะเลในรูปแบบต่างๆ แท้ที่จริงก็คือการทำลายทะเล ทำลายธรรมชาตินั่นเอง
คุณอยากคิดอยากทำอะไร ก็ทำบนบกซิ ในพื้นที่ของคุณ ทำเป็นธรรมชาติเทียม หรือธรรมชาติสร้างสรรค์ ส่วนทะเลก็อนุรักษ์ให้เป็นทะเลแท้ ธรรมชาติแท้เหมือนเดิมต่อไป
ทุกข์สุขเป็นเจตสิก คืออาการของจิต หรือการแสดงของจิต เจตสิกเป็นจิตใหม่เทียม เกิด-ดับ เกิด-ดับ เหมือนคลื่นในทะเล จะเรียกทุกข์สุขเป็นอาการของจิตใหม่เทียมก็ได้
ทุกข์สุขหรือจิตใหม่เทียม เป็นสมมติสัจจะ ส่วนจิตเดิมแท้เป็นปรมัตถสัจจะ ไม่เกิดไม่ดับ ไม่ไปไม่มา ไม่อยู่ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น มันเป็นอะไรไม่ได้ เพราะมันคือความว่าง
คนมืดเห็นความว่างว่า ไม่มีอะไร ส่วนคนแจ้ง เห็นว่า ความว่างมีอะไรทุกอย่าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน เป็นฉัน ของฉัน เป็นกู-ของกู
สรรพสิ่งทั้งมวลเกิดจากความว่าง และกลับคืนสู่ความว่าง!
พวกเราทั้งหลายต่างก็อยู่ในโลกสมมติ จงสำแดงหรือแสดงบทบาทให้เต็มที่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากพวกกังฉิน กินบ้านกินเมือง ก็อยู่ที่ตัวท่าน เพราะท่านเป็นผู้นำ จะต้องเด็ดขาด ฉลาดตื่นรู้ ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ที่มักพูดสั้นๆ ว่าผิดคือผิด ถูกคือถูก จะเอามาผสมปนเปกันไม่ได้ ขี้ผสมข้าว ไม่มีใครกินหรอก บทนี้จะอ้างสองด้านก็เหรียญอันเดียวกันไม่ได้หรอก เพราะนี่คือโลกสมมติ ไม่ใช่โลกปรมัตถ์ แยกแยะให้ถูก เป็นผู้นำต้องเรืองปัญญา มิเช่นนั้นลูกหลานมันจะหัวเราะเอา
อย่ามัวแต่สร้างวาทกรรมเลิศล้ำ เดี๋ยวจะถลำกลายเป็นปาหี่การเมือง ทำให้ประชาชนไขว้เขว จะทำอะไรแบบตรงไปตรงมาไม่ได้หรือ หรือมีอะไรติดคออยู่หรือเปล่า?
จะคิดจะทำอะไร ก็คิดด้วยปัญญา ทำด้วยปัญญา แล้วก็จะมีแต่ปัญญาเท่านั้น
ผู้มีปัญญาองอาจสง่าผ่าเผย เพราะทำอะไรในที่แจ้ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้มีปัญญาจะไม่คบคนพาล จะคบบัณฑิต และบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่เคารพนับถือโจร คนโกงบ้านกินเมือง คนผูกขาดชาติชั่ว คนขายชาติขายแผ่นดิน ความกล้าหาญเยี่ยงนี้ คือการสำแดงออกของผู้มีอำนาจที่มีปัญญา
ทอแสงจากใจ
ชอบใจคำว่า “ทอ” เช่น ทอฝัน คือจินตนาการขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราว, ทอแสง คือเปล่งแสงอ่อนขึ้นมา เช่น พระจันทร์ทอแสง พระอาทิตย์ทอแสง, ทอหูก คือทอผ้าด้วยกี่
“ประวัติศาสตร์” เป็นศัพท์บัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มใช้ในความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขียนว่า “History” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Historiai”
เฮโรโดตัส (Herodotus ; 484-425 ปีก่อนคริสตกาล) บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ชาวกรีก นับเป็นบุคคลแรกที่ใช้ศัพท์ “Historiai” มาจากรากศัพท์เดิมในภาษากรีก จากคำว่า “Histor” ซึ่งแปลว่า “ถักหรือทอ” เฮโรโดตัส คงจะเห็นว่า เรื่องราวที่เขาเขียนนั้นต้องใช้เวลา ความอุตสาหะในการสืบสวนค้นคว้า ซึ่งเป็นกรรมวิธีคล้ายคลึงกับการทอผ้าในสมัยโบราณ จึงนับเป็นการเลือกใช้ศัพท์ที่มีความเหมาะสมมาก
... (ที่มาของคำว่า “ประวัติศาสตร์” โดย รศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ, สนพ.อักษรเจริญทัศน์)
กว่าจะรู้และเข้าใจคำว่า “จิต” หรือ “ใจ” ก็ใช้เวลาพินิจพิจารณาเกือบค่อนชีวิต ลำดับขั้นตอนของการเรียนรู้ จะมีอยู่สามขั้นบันได ได้แก่ (1) เห็นคนเป็นคน (2) เห็นคนไม่เป็นคน (3) เห็นคนเป็นคนตรงบันไดขั้นที่สามนี้ มันแจ้งจ่างป่าง...เหนือคิด พูด เขียน หรือใดๆ ทั้งสิ้น ที่คิด ที่เขียน หรือพูดอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงอาการหรือการสำแดงของจิต หรือการเล่นชนิดหนึ่งในโลกสมมติเช่นนั้นเอง
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรคแก่ภิกษุฉันนั้น”
... (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยุตฺโต)
การที่พระอาทิตย์ทอแสงหรือเปล่งแสงอ่อนๆ ขึ้นมาก่อน ถือเป็นบุพนิมิต ลางบอกเหตุล่วงหน้า สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนคือพระอาทิตย์
การทอแสงจากใจก็เช่นกัน สิ่งที่จะตามมาอาจจะเป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นนิพพานก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของใจ เศร้าหมอง หรือผ่องใสขนาดไหน ไม่มีอะไรทำแทนได้ บันไดขั้นหนึ่ง-สอง-สาม ท่านต้องก้าวขึ้นเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
“ทะเลกับคลื่น
หลับตื่นมืดแจ้ง
ทุกข์สุขสำแดง
ทอแสงจากใจ”
โลกนี้วุ่นวายหนอ ความจริงโลกไม่ได้วุ่นวายหรอก ใจเราต่างหากที่วุ่นวาย
มีธรรมะอยู่อันหนึ่ง เป็นเครื่องอยู่ที่ประเสริฐ เรียกว่า “สุญญตาวิหารธรรม” คือการเป็นอยู่ด้วยความว่าง ทำจิตทำใจให้ว่างจากอุปาทาน-ยึดมั่นถือมั่นตลอดเวลา เห็นอะไร เกิด-ดับ ก็อุทานเบาๆ “ธอมอดอ” หรือ “ตถตา-เช่นนั้นเอง” เพราะ... “สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา-สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา”
เอวัง-จบ
สระว่ายน้ำและสวนสวยริมชายหาดหน้าคอนโดฯ สถานรับลมเย็นเล่นน้ำ และเมียงมองทะเล (ฟังเพลงทะเลไม่เคยหลับ ประกอบ)
เรือหลวงจักรีนฤเบศร สัตหีบ เป็นเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรก และลำเดียวของราชนาวีไทย
ทะเลหน้าคอนโดฯ บางแสน สถานที่พัก “ทะเลกับคลื่น” เหมือน “จิตเดิมแท้กับจิตใหม่เทียม”