“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
บางบทเพลง..มีอานุภาพ“ทำลายล้าง”รุนแรงและยาวนาน...เหนืออาวุธสงคราม..
ศิลปินมากมายได้สร้างบทเพลง ต่อต้านสงครามสู่โลกนับไม่ถ้วน ผมคงพูดถึงเฉพาะศิลปินและบทเพลงได้แค่เศษเสี้ยวเท่านั้น
“Pete Seeger พีท ซีเกอร์” ศิลปินเพลง Folk ชาวอเมริกัน ระดับปรมาจารย์ ผู้ปลุกคนให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความดีงามของสังคม นับแต่ปี 2504 Peteได้แต่งเพลงต่อต้านสงคราม เชิดชูสิทธิประชาชน และรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมโลก บางบทเพลง Pete ได้ตำหนิความเขลาของมนุษย์ ที่ไม่ยอมสรุปบทเรียนว่า สงครามล้วนนำมาซึ่งความโหดร้ายและการพลัดพราก..
สงครามจึงเป็นสิ่งน่ารังเกียจ และไม่พึงปรารถนาของมนุษย์ทุกชาติ!
เพลงของ Pete ที่ชาวโลกรู้จัก เช่น Where Have All the Flowers Gone? และ We Shall Overcome ซึ่งทั้ง Pete และ Joan Baez มักนำไปร้องในการชุมนุม โดยเฉพาะ Peter, Paul and Mary ได้นำไปร้องประสานเสียงจน“ติดหู”คนฟังทั้งโลก
เพลง Where Have All the Flowers Gone? หรือ ดอกไม้หายไปไหนใครรู้บ้าง? Pete เขียนจากบทกวีชาวรัสเซีย “ไมเคิล โซโลกอฟ” ในนวนิยายเรื่อง And Quiet Flows the Don เผยความรู้สึกต่อสงครามและชีวิตมนุษย์ ได้ไพเราะและมากคุณค่าในเนื้อร้อง จึงมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อคนรุ่นใหม่ ที่ต่อต้านสงครามในยุคนั้นตราบยุคนี้..โดยมีเนื้อหาว่า..
ดอกไม้เอย...เจ้าหายไปไหน ผ่านไปนานแสนนาน สาวน้อยต่างเก็บเจ้าไปหมด หลังจากสาวๆเก็บดอกไม้ไป สาวๆ ก็หายไปคนแล้วคนเล่า พวกเธอหายไปไหน พวกเธอหายไปมีสามีกันทุกคน วันแล้ววันเล่าพวกเธอหายไป
ต่อมา..ชายหนุ่มผู้สามีหายไปไหน คนแล้วคนเล่า พวกเขาไปเป็นทหารกันทุกคน..แล้วทหารเหล่านั้นเล่า..เขาหายไปไหน คนแล้วคนเล่า เขาหายไปอยู่ในหลุมฝังศพกันทุกคน
แล้วหลุมฝังศพเล่า หายไปไหน หลุมแล้วหลุมเล่า ผ่านไปเนิ่นนาน หลุมศพเหล่านั้นถูกปกคลุมด้วยช่อดอกไม้ อีกเมื่อไหร่หนอ....พวกเขาจะได้เรียนรู้กันเสียที แล้วดอกไม้เล่าหายไปไหน..
ส่วนเพลง We Shall Overcome หรือ เราจะเอาชนะ นั้น นักต่อสู้เพื่อสังคมและต่อต้านสงคราม ได้นำไปร้องกันทั่วโลก เพราะเนื้อหาทรงพลังยิ่งนัก..
เราจะเอาชนะ เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง โอ้ลึกลงไปในหัวใจของฉัน ฉันเชื่อว่า เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง เราจะเดินจับมือกัน เราจะเดินจับมือกันในสักวันหนึ่ง โอ้ลึกลงไปในหัวใจของฉัน ฉันเชื่อว่า เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง
เราจะอยู่ในความสงบ เราจะอยู่ในความสงบสักวันหนึ่ง โอ้ลึกลงไปในหัวใจของฉัน ฉันเชื่อว่า เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง พี่น้อง..เราจะเป็นพี่น้อง เราจะเป็นพี่น้องสักวันหนึ่ง โอ้ลึกลงไปในหัวใจของฉัน ฉันเชื่อว่า เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง
ความจริงนั้น จะทำให้เราเป็นอิสระ ความจริงนั้น จะทำให้เราเป็นอิสระสักวันหนึ่ง โอ้ลึกลงไปในหัวใจของฉัน ฉันเชื่อว่า เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง เราไม่กลัว เราไม่กลัววันนี้ โอ้ลึกลงไปในหัวใจของฉัน ฉันเชื่อว่า เราจะเอาชนะสักวันหนึ่ง
Pete ร้องและเล่นดนตรีอย่างต่อเนื่อง จนวินาทีสุดท้ายของชีวิตด้วยวัยกว่า 90 ปี Pete ตาย-แต่บทเพลงของ Pete ยังดังกระหึ่มอยู่ทุกหนแห่งชั่วนิรันดร์
วันที่ 15-19 สิงหาคม 2512 ผู้ร่วมอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อสันติภาพ ได้มาชุมนุมกันกว่าครึ่งล้านคน ในงาน Woodstock Music & Art Fair หรือ เทศกาลศิลปะและดนตรีวู้ดสต็อก ซึ่งจัดขึ้นบนพื้นที่ฟาร์มกว่า 600 เอเคอร์ ของ “แม็ก ยาสเกอร์”
“วู้ดสต็อก” คือชื่อเมืองห่างจากนิวยอร์ก 69 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ทางด้านศิลปะ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เมืองดังกล่าวมีศิลปินชื่อดังพักอยู่หลายคน เช่น Bob Dylan, Johny Cash และ Jimi Hendrix
วู้ดสต็อกคือการชุมนุมเรียกร้องสันติภาพด้วยเสียงเพลง ซึ่งดังกระหึ่มนานถึง 3 วัน 3 คืน โดยบัตรถูกขายไป 186,000 ใบ แต่มีผู้คนไหลบ่ามางานมากกว่าครึ่งล้าน ทำให้รถติดยาวกว่า 13 กิโลเมตร จนผู้จัดงานต้องคืนเงินค่าบัตรและเปิดให้เข้าชมฟรี
งานนี้มีศิลปินสุดยอดในวงการดนตรีโลก มาร่วมแสดงถึง 32 คน เช่น Jefferson Airplane, The Who, Crosby, Stills, Nash & Young, Joan Baez, Joe Cocker, Ten Years After, Santana, Janis Joplin, Credence Clearwater Rivival, JiMi Hendrix ฯลฯ โดย Warner Bros.ได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ เพื่อบันทึกเทศกาลดนตรีครั้งนี้เป็นภาพยนตร์
หนัง Woodstock กำกับโดย Micheal Wadleigh มี George Lucas ที่ภายหลังโด่งดังจากหนังเรื่อง สตาร์วอร์ส และ อินเดียน่า โจนส์ เป็นลูกมือ หนัง Woodstock ถูกนำออกฉายไปทั่วโลก ในปี 2513 จนคว้ารางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยม “ออสการ์” ไปครองได้สำเร็จ
เพลง Woodstock นั้น แต่งโดย Joni Metchell วง Crosby, Stills, Nash & Young เป็นผู้ร้องเพลงนี้ เนื้อเพลงพูดถึงการเดินทางของคนหนุ่มสาว ที่ต้องการแสวงหาอิสรภาพ-การเรียนรู้-การเป็นอิสระจากสังคม และเปรียบเครื่องบินทิ้งระเบิด เป็นผีเสื้อที่บินว่อนอยู่เหนือมวลมนุษย์
มหกรรมดนตรีวู้ดสต็อกในปี 2512 เกิดจากคนชื่อ เอลเลียต ไทเบอร์ เจ้าของโรงแรม “เดอะเอล โมนาโค” ที่มีหนี้สินรุงรังจนใกล้จะเจ๊ง จึงดิ้นรนดึงคนมาเที่ยวหมู่บ้านของเขา โดยมีต้นทุนแค่ใบอนุญาตให้จัดดนตรีเพียง 1ใบเท่านั้น
พื้นที่จัดงานวู้ดสต็อกเป็นของ แมกซ์ ยาสเกอร์ เกษตรกรที่เสียชีวิตในปี 2516 ทุกวันนี้ยังมีอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงความมีน้ำใจ เป็นก้อนหินแกะสลักรูปนกเกาะบนกิ่งไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวู้ดสต็อก โดยมีรายชื่อศิลปินมากมายที่แสดงในครั้งนั้นจารึกไว้ด้วย
ช่วงที่ประชาชนและศิลปินมะกัน ได้ชุมนุมและแสดงคอนเสิร์ต ต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่องนั้น นิกสันก็“ปิ๊งไอเดีย”ใช้คอนเสิร์ตในทำเนียบขาว “ด่า” ผู้คนที่ต่อต้านสงครามเช่นกัน
“Rey Coniff เรย์ คอนนีฟฟ์” ศิลปินที่เล่นเพลงตามกรอบสไตล์วงบิ๊กแบนด์ ถูกนิกสันเลือกให้เข้ามาเปิดคอนเสิร์ตในทำเนียบขาว โดยประธานาธิบดีเป็นผู้กล่าวเปิดการแสดงครั้งนั้นว่า
“เรย์ คอนนีฟฟ์ เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง เพลงของเขามีกรอบระเบียบ ซึ่งผมชื่นชอบเช่นนั้น”
หลังนิกสันจบคำพูดเหน็บแหนม ตำหนิชาวมะกันผู้ต่อต้านสงคราม เป็นพวกนอกกรอบหรือพวกขบถ นิกสันก็กลับไปนั่งที่โต๊ะท่ามกลาง เสียงปรบมือจากแขกที่สนับสนุนสงครามเวียดนาม
แต่แล้ว..ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อ Carole Feraci หนึ่งในกลุ่มนักร้องประสานเสียงของ “เรย์ คอนนิฟฟ์” ได้ชูป้าย STOP KILLINGS ขึ้น ก่อนจะพูดผ่านไมโครโฟนว่า
“ท่านประธานาธิบดีนิกสัน ขอให้ท่านหยุดทิ้งระเบิดฆ่ามนุษย์ รวมทั้งป่าไม้สีเขียว ท่านต้องไปโบสถ์วันอาทิตย์ เพื่อสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า พระเจ้าทราบการทิ้งระเบิดของท่านแล้ว โปรดหยุดการทิ้งระเบิด ขอให้พระเจ้าคุ้มครองกลุ่มผู้ต่อต้าน รวมทั้งผู้ประพันธ์เพลงนี้ด้วย”
แม้จะมีคนพยายามแย่งป้าย STOP KILLINGS แต่เธอก็ยังชูป้ายได้จนกล่าวเสร็จ โดยเธอถูกดึงลงจากเวทีหลังร้องเพลงแรกจบลง
งานนี้..ทำให้นิกสันหน้าแตกจนหมอไม่รับเย็บ เพราะท่านประธานาธิบดีมะกันผู้ยิ่งใหญ่ ถูกสาวน้อยนักร้องผู้กล้าหาญ รัวหมัดใส่หน้าถี่ยิบหลายวินาที จนเป็นข่าวดังระเบิดไปทั้งชาติมะกัน
“SHERO” หรือ วีรสตรีคนนี้ ได้รับเชิญให้ไปเยือนกรุงฮานอย เพื่อดูการทิ้งระเบิดถล่มเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปฏิบัติการจริง ที่ตรงข้ามกับคำหาเสียงต่อหน้าชาวมะกัน ของประธานาธิบดีนิกสันที่ว่า..จะดำเนินการยุติสงครามเวียดนามทันที..
เพราะนิกสันได้สั่งให้กองทัพมะกัน ทิ้งระเบิดถล่มเวียดนามเพิ่มอีก 500,000 ตัน..!!!