xs
xsm
sm
md
lg

“สงคราม” ของ “คนไม่รู้จักพอ”! พลัง“เพลง”ทำลายสงครามอธรรม..!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

บทเพลงมากมายที่ต่อต้านสงครามอันทรงพลัง ดังกระหึ่มประสานกับการชุมนุมของมวลชนมะกัน เพื่อขับไล่ผู้นำรัฐอันชั่วร้ายอย่างต่อเนื่อง!

ยุคกางเกงขาบานที่เรียกว่า “มอส-นักรัก” กับกางขาลีบที่เรียกว่า “เดฟ-นักรบ”นั้น จังหวะโซลหนักๆ ของวงดนตรี Creedence Clearwater Revival หรือ CCR คือ ขวัญใจของชาวเดฟ โดย John Forgetty นักร้องนำ ได้สะท้อนความจริงของการต่อต้านสงครามแบบตรงไปตรงมา

ในกรณีสภาซีเนตอเมริกันในยุคนั้น ได้ออกกฎหมายบังคับหนุ่มสาวมะกันต้องไปรบ ในเพลง “Fortunate Son - ลูกชายผู้โชคดี” มีเนื้อหาทำนองว่า

ลูกหลานผู้ถูกเกณฑ์ไปรบล้มตายนับหมื่น กับสงครามที่เป็นสงครามส่วนตัวของพวกเศรษฐี ผู้ลากมากดี และนักการเมืองผู้มั่งคั่ง ได้ลุแก่อำนาจ พากันตรากฎหมาย ใช้คนหนุ่มให้ไปตายแทนในสงครามของพวกเขา คนหนุ่มเหล่านั้นจึงประท้วงว่า ทำไมไม่ส่งลูกชายของผู้คนในสภาออกไปรบบ้างเล่า?

CCR ตั้งคำถามในบทเพลงด้วยความเจ็บปวดว่า พวกเขา (ประชาชน) ต่างตายแทนลูกของพวกคุณ เพื่อให้ครอบครัวและลูกๆของคุณได้อยู่ดีมีสุข พวกอีลิตชนเหล่านี้ มีสิทธิ์เหนือประชาชน โดยคนในครอบครัวของตนไม่ต้องไปตายในสงคราม นี่ยุติธรรมหรือ?

ที่กรุงวอชิงตัน วิลเลียม ไซแมน ทหารมะกันที่สูญเสียขาทั้งสองข้าง จากการรบในสงครามเวียดนาม ได้เอาเหรียญกล้าหาญ และอิสริยาภรณ์ที่ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ขว้างที้งต่อหน้าผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน เพราะสภาพทหารผ่านศึกส่วนหนึ่งว่างงาน จนกลายเป็นภาระของสังคม ทำให้พวกเขาปวดร้าวขมขื่นยิ่งนัก เพราะเสมือนชีวิตพวกเขาเป็นวัตถุเหลือใช้จากสงคราม

บทเพลงต่อต้านสงครามจากนักดนตรีมากมาย ทำให้การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในชาติมะกัน เพิ่มสีสันและเคลื่อนไหวทรงพลังยิ่งขึ้น จนอำนาจรัฐมิอาจหยุดการต่อสู้อย่างสันติ ด้วยสองมือเปล่าของชาวมะกันได้อีกแล้ว

ผู้นำรัฐทุนสามานย์มะกันยุคนั้น-เชื่อว่า ความรุนแรงหรือความตาย จะสะกดประชาชนให้ขลาดกลัว จนยุติการต่อต้านอำนาจรัฐอันยิ่งใหญ่ ที่มีทั้งกฎหมายและอาวุธพร้อมสรรพ..

งานนี้เริ่มที่ “มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์” (Martin Luther King, Jr.) ซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมผู้คนกว่า 2 แสนคน หน้าอนุสาวรีย์ลินคอล์น ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวในปี 2506 จากสุนทรพจน์อมตะ “I Have a Dream - ข้าพเจ้ามีความฝัน”

เพราะในปี 2508 นอกจาก“คิง”จะเป็นผู้นำต่อสู้การเหยียดสีผิวแล้ว “คิง”ยังเป็นหนึ่งในผู้นำการต่อต้านสงครามเวียดนามอีกด้วย โดย “คิง”ได้จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ลินคอล์นอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งในปี 2511 “คิง”ก็ถูกลอบสังหารที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี

หลังจากนั้น..ประธานาธิบดี เคนเนดี้ ที่มีแนวโน้มจะนำรัฐมะกันถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ก็ถูกลอบสังหารที่เมืองดัลลัสอีกคนหนึ่ง
ทำให้จอห์นสันได้เป็นประธานาธิบดีแทนเคนเนดี้ แต่ประธานาธิบดีคนนี้เดินทางไปไหน จะถูกชาวมะกันชุมนุมต่อต้านไปทุกหนแห่ง จนจอห์นสันต้องลาออก และประกาศไม่สมัครเป็นประธานาธิบดีอีกรอบ ทำให้นิกสันได้เป็นประธานาธิบดีมะกัน

แต่นักการเมืองไม่ว่าชาติไหน ล้วนชอบหลอกลวงประชาชนเหมือนกันทั้งนั้น ดังเช่น นิกสันที่ตีสองหน้ากับชาวมะกันขณะหาเสียงว่า จะยุติสงครามในเวียดนามโดยเร็ว แต่ข่าวได้รั่วไหลจากสื่อมวลชนว่า นิกสันได้แอบสั่งให้ทิ้งระเบิดใส่ 3 ชาติอินโดจีนถึง 5 แสนลูก ทำให้สงครามบานปลายหนักยิ่งขึ้นไปอีก

จนกระทั่ง 4 พฤษภาคม 2513 ทหารของรัฐบาลนิกสัน ได้ยิงนักศึกษาที่ประท้วงสงครามอย่างสันติด้วยสองมือเปล่า หน้า Kent State University ตายไป 4 คน บาดเจ็บ 9 คน นักศึกษามะกันจึงลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ ประมาณกันว่ามีนักศึกษาออกมาประท้วงรัฐบาลนิกสันในครั้งนั้น มากถึง 4.3 ล้านคนในสหรัฐ และมีการประท้วงสงครามบานปลายไปทั่วโลก

หลังความตายที่มหาวิทยาลัย Kent State แค่สิบกว่าวัน Neil Young ก็ได้แต่งเพลง Ohio ขึ้น ก่อนที่วงดนตรี Crosby, Stills, Nash & Young จะบรรเลงเพลงนี้กระหึ่มขึ้นอย่างทรงพลัง จนดังระเบิดไปทั่วอเมริกาและทั่วโลก

บทเพลงนี้ชี้ให้ชาวอเมริกันทุกคน ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการประท้วงให้ยุติสงคราม เพราะพลังของปัญญาชนได้ร่วมลุกฮือขึ้นเพื่อชี้นำสังคม อำนาจทรราชจักเสื่อมถอย มิอาจแข็งขืนได้อีกต่อไป นี่คือ สัจธรรมของประวัติศาสตร์ ที่มีปรากฎในทุกยุคทุกสมัย

เนื้อเพลงบางตอนพาดพิงถึงประธานาธิบดี นิกสัน Tin soldiers and Nixon comin’… Four dead in Ohio. ทำให้เพลงนี้ถูกห้ามเปิดในสถานีวิทยุบางแห่ง

Ohio จึงเป็นหนึ่งในเพลงประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงสงคราม ที่ทำให้วงดนตรี CSNY ได้รับการยกย่องอย่างสูง ทั้งในวงการเพลง และในวงการนักต่อสู้ต่อต้านสงครามมาจนทุกวันนี้



คนไทยต้องรู้ไว้นะว่า วงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตัวพ่อ ก็ได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพล จาก CSNYและ Bob Dylan นี่แหละ

ห้วงนั้น..ภาพดอกคาร์เนชั่น ที่นักศึกษานำไปเสียบไว้ที่ปลายปืน เพื่อมอบให้กับทหารขณะชุมนุมต่อต้านสงคราม ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก บ่งบอกความรู้สึกของชาวอเมริกัน ที่ต้องการให้รัฐบาลของพวกเขายุติสงครามในเวียดนามทันที

Grand Funk Railroad (GFR) วงดนตรีฮาร์ดร็อคฝีมือฉกาจของโลก ที่ก่อตั้งในปี 2512 ซึ่งเล่นเครื่องดนตรีเพียงแค่ 3 ชิ้น คือ กีต้าร์ 2 ตัว และกลองชุด ตามแบบวงฮาร์ดร็อค The Cream ที่หนึ่งในสมาชิกของวง ชื่อ Eric Clapton

GFRได้ทำลายสถิติของ The Beatles ที่ Shea Stadium โดยวันที่ 15 สิงหาคม 2508 บัตรคอนเสิร์ตของ The Beatles ใช้เวลา 7 สัปดาห์ หรือ 49 วัน จึงขายหมด แต่คอนเสิร์ต GFR ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2514 บัตรขายหมดภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันเท่านั้น

GFR ได้ร่วมต่อต้านสงครามด้วยเพลง People, Let’s Stop the War ด้วยเนื้อเพลงที่ว่า

If we had a president, that did just what he said, The country would be just alright, and no one would be dead, From fighting in a war, that causes big men to get rich. There's money in them war machines, now ain't this a bitch? oh …

ถ้าพวกเรามีประธานาธิบดี ที่ทำตามที่เคยหาเสียงไว้ ประเทศเราก็จะสงบสุข ไม่มีใครต้องไปตายในสงคราม การสู้รบในสงคราม มันได้สร้างความร่ำรวยให้คนใหญ่โต จากเงินที่ค้าอาวุธสงคราม ไอ้สัตว์หน้าตัวเมีย (ขออภัยถ้าสื่อความหมายเพี้ยนไปบ้าง)



ท่านประธานาธิบดีนิกสันผู้ยิ่งใหญ่ คงทนฟังเพลงต่อต้านสงคราม ทั้งจากศิลปินนิรนามและศิลปินดังระดับโลก ที่ระบาดไปทั่วทั้งชาติมะกันไม่ไหว อีกทั้งหาเหตุจะด่านักดนตรีและผู้ชุมนุมที่ประท้วงกันอยู่บนท้องถนน นิกสันจึงใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือ นั่นคือ จัดคอนเสิร์ตเพื่อด่าพวกที่นิกสันมองว่า “เป็นพวกไร้ระเบียบวินัย” ที่ไปเย้วๆกันอยู่บนท้องถนน

งานนี้..ประธานาธิบดีนิกสัน ผู้กระหายสงครามหน้าด้านสุดๆ เพราะเขาใช้เงินของชาวมะกัน-มาด่า-ชาวมะกัน แต่คอนเสิร์ตที่นิกสันจัด กลับส่งผลให้นิกสันเสียผู้เสียคนไปเลย..



กำลังโหลดความคิดเห็น