xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปตำรวจยังวุ่น "เทียนฉาย"ไม่เอาคู่ขัดแย้งนั่งกมธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3พ.ค.) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง การตั้งคณะกรรมการกิจการปฏิรูปตำรวจ โดยมีตัวแทนจาก 5 คณะกรรมาธิการปฎิรูปฯ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุป เกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปตำรวจร่วมกันว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ว่าจะตั้งใครมาเป็นคณะกรรมการฯ ในชุดนี้บ้าง แต่เท่าที่ดู ประธานฯ จะไม่ตั้งคู่ขัดแย้งในคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมแน่นอน เพราะถ้าตั้งเข้ามาแล้ว ก็จะเกิดความขัดแย้งในการทำงานขึ้นมาอีก ทำให้งานสะดุด โดยคู่ขัดแย้งนั้น คณะกรรมาการฯ อาจจะเรียกให้มาชี้แจง และขอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณา
ส่วนเรื่องการขอแปรญัตติของสมาชิก สปช. คณะผู้ประสานงานจัดทำคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะหารือสมาชิก ในวันที่ 6 พ.ค. โดยอาจจะขอเวลานายเทียนฉาย เพื่อทำการพูดคุยกับสมาชิกนอกรอบ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ตามวาระของสปช.แล้ว ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ซึ่งจะมีการเตรียมแบบสอบถามแจกสมาชิกเพื่อขอความเห็น เช่น 1. ต้องการแปรญัตติในกลุ่มใด เช่น การเมือง หรือ 2. ต้องการแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคใดและส่วนใด เป็นต้น
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า เราได้ส่งแบบสอบถามให้กับสมาชิก สปช.ทั้งหมดแล้ว ในอีเมล์ และกลุ่มไลน์ ซึ่งในวันที่ 6 พ.ค. หากสมาชิกคนใดยังไม่ได้กรอกแบบสอบถาม เราก็จะนำแบบถามไปแจกให้อีกครั้ง โดยสมาชิกทุกคน จะต้องส่งแบบสอบถามภายในเวลา 14.00 น. ของวันดังกล่าว หลังจากนั้น คณะผู้ประสานฯ จะทำการประมวลผลว่ามีกลุ่มไหนที่สมาชิกสนใจ และเป็นเรื่องใดบ้าง

** กมธ.ไม่ให้ความสำคัญปราบโกง

นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เรื่องการป้องกันการทุจริตในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ตลอด 7 วัน ที่มีการอภิปราย ได้ติดตามพบว่า การทุจริตเป็นประเด็นที่ คสช. ยกเป็นเหตุยึดอำนาจ และต้องการปราบปรามคนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งคนทุจริต ประพฤติมิชอบ แต่ในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต 4 แห่ง คือ ภาค 1 หมวด 2 ส่วน 2 มาตรา 68 ประชาชน มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และอีกแห่งหนึ่งคือ หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูล รวมถึงประชาชนมีสิทธิตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการแถลงนโยบายแห่งรัฐต้องมีการกำหนดกลไกการปราบปรามการทุจริต แต่ไร้แนวทางปฏิบัติในการแก้ไข
นายวิลาศ เสนอว่าให้อุดช่องโหว่รัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น คือ 1 . พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ต้องกำหนดกรอบเวลาในการทำงาน เพราะมีปัญหาความล่าช้าโดยเฉพาะป.ป.ช. ที่บางทีตัดสินคดีไม่ได้ เพราะคดีหมดอายุความแล้ว หรือ ยกฟ้อง องค์กรอิสระจึงต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการทำงาน 2 . การจัดอบรมความรู้ขององค์กรอิสระ แม้กระทั่งศาล และกทม. ทั้งที่ไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ผู้ไม่หวังดีส่งตัวเองและนอมินีเข้าไปอบรมทำความสนิทสนมกับบุคลากรในองค์กรอิสระ เพื่อใช้คอนเนกชันไปเป็นอนุกรรมาธิการฯ จึงควรยกเลิกหลักสูตรพวกนี้ 3. พ.ร.บ.ข้อมมูลข่าวสาร มีให้กับประชาชน ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ก็ถูกดองเรื่อง
" ผมไมเคยพบโครงการไหนไม่ทุจริต แต่วันนี้กลับขอเอกสารไม่ได้ ซึ่งผมมั่นใจว่า มีการโกง จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้กำหนดกรอบเวลา ที่จะส่งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน และมีโทษสองเท่า หากรายงานเท็จ" นายวิลาศ กล่าว

**กมธ.ยกร่างฯต้องฟังความเห็นต่าง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า มีเนื้อหาสาระจำนวนมากที่ควรปรับปรุงแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบุคคลหลายฝ่ายไม่เว้นแม้แต่ศาล ที่ออกมาท้วงติงในเชิงสร้างสรรค์ แต่น่าเสียดายที่กรรมาธิการฯ ยังเปิดใจรับฟังความเห็นต่างน้อยเกินไป ทั้งที่ควรระลึกว่าไม่ว่าที่มาจะมาอย่างไร แต่ร่างรัฐธรรมนูญ จะใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง จึงต้องแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมามีผลบังคับใช้ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้
"ในส่วนของผม ขอเรียกร้องให้มีการปรับปรุงดังต่อไปนี้ 1 . กมธ.ต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีวาระซ่อนเร้นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเพื่อประโยชน์สุขประชาชน 2 . ต้องไม่มีอคติ ดูถูกดูหมิ่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าวิจารณ์เพราะเสียประโยชน์ เพราะความจริงเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไข 3. กมธ.ยกร่างฯ ควรลดอัตตา เปิดใจตัวเองรับฟังให้รอบด้าน 4. สร้างบรรยากาศส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง" นายองอาจ กล่าว

** ยันต้องทำประชามติ

นายองอาจ ยังกล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การทำประชามติ เป็นวิธีการหนึ่งที่ควรใช้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยควรใช้มาตรา 46 ให้ ครม.หรือ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ทำประชามติ ซึ่งไม่น่าจะใช้เวลายาวนานนัก
ทั้งนี้ เหตุผลที่ควรทำประชามติ มี 4ประการ
1. มาตรา 6 ของ รธน.บัญญัติว่า รธน.เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต้องให้ประชาชนแสดงออกว่ายอมรับกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้หรือไม่ ถ้าไม่รับ ก็ไม่ควรให้ร่างนี้ออกมาใช้ แต่ถ้าผ่านประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีผลบังคับใช้อย่างสง่างาม
2. มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ในอนาคตถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชามติ แล้วทำไมจึงไม่ทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
3. กรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ มีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าทุกฉบับ จึงควรเปิดโอกาสให้ลงประชามติพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง
4. ถ้าร่างรธน.ผ่านการลงประชามติ การโจมตีหรือไม่ยอมรับจะลดลง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญที่จะออกมาบังคับใข้ แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน การเดินหน้าโดยรัฐธรรมนูญจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งในขณะนี้ มีเวลาเพียงพอที่จะทำให้กฎหมายสูงสุดได้รับการยอมรับจากประชาชน
ส่วนกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ออกมาระบุว่า ให้มีบทเฉพาะกาลใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนประมาณ 90-120 วัน แล้วค่อยทำประชามติ ซึ่งตนเห็นว่า คงไม่สามารถทำประชามติเป็นรายมาตราได้ การใช้ก่อนทำประชามติทีหลัง จะไม่ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าคิดว่าควรมีการทำประชามติ ก็ควรทำก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช. ยังมีเวลาที่จะพิจารณา ซึ่งการตัดสินใจจะมีส่วนสำคัญโดยเชื่อว่าจะยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

** เชื่อกมธ.ไม่ทบทวนกรอบหลักรธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะทบทวนประเด็นที่กำลังมีการโต้แย้งกันอยู่ในขณะนี้ เพราะระบบคิดของกรรมาธิการยกร่างฯ ได้วางโครงสร้างของระบบการเมืองค่อนข้างใหม่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550
ทั้งนี้ ถ้าจะมีการทบทวนบ้าง ก็คงเป็นประเด็นปลีกย่อย เพราะหากไปรื้อกันใหม่ เช่น ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ก็ต้องรื้อมาตราอื่นๆ ประกอบอีกหลายสิบมาตรา ซึ่งกรรมาธิการฯ ก็จำเป็นต้องเดินหน้า ไม่เช่นนั้นร่างรัฐธรรมนูญ ก็คงไม่เสร็จตามโรดแมป ที่สำคัญ คนที่ค้านในแต่ละประเด็น ต้องชี้ให้เห็นปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญ และจัดทำข้อเสนอแนะที่ดีกว่า อาจจะได้รับกระแสสนับสนุน จนกรรมาธิการยกร่างฯ กลับไปทบทวนแก้ไข ก็อาจเป็นได้
และช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็ไม่มากนัก ในการหาข้อยุติให้ตรงกันได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะข้อเสนอของพรรคการเมือง กับชุดความคิดของกรรมาธิการยกร่างฯ นั้น บางประเด็นยืนอยู่คนละขั้ว ยากจะหาข้อยุติในระยะเวลาอันสั้นได้
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นต้องใหัประชาชนตัดสินใจด้วยการลงประชามติ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพิ่มขั้นตอนการประชามตินั้น ก็ใชัเวลาช่วงสั้นๆ ได้อยู่แล้วไม่มีปัญหาอะไร ถ้าคสช.และรัฐบาลอยากจะให้ทำ ซึ่งสังคมวงกว้าง ก็อยากเห็นการทำประชามติอยู่แล้วด้วย
"ผมยังเชื่ออยู่ลึกๆว่า สุดท้ายแล้วคสช.และนายกฯ จะสนับสนุนให้มีการทำประชามติ เพราะอำนาจ คสช. มาแค่ช่วงสั้นๆ ในระยะยาวจะไม่สามารถคุ้มกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ แต่ผลการลงประชามติ ถ้าประชาชนเห็นด้วย จะเป็นวัคซีนคุ้มกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ให้มีการรื้อตามอำเภอใจ" นายสุริยะใส กล่าว

**ประชามติประกบรธน. 40 เกิดยาก

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณี นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประชาชนเลือกว่า เรื่องประชามติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกชัดแล้วว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจเมื่อถึงเวลาเหมาะสม จึงไม่ใช่หน้าที่ที่ตนจะให้ความเห็น ว่าเรื่องทำประชามติ ดี ไม่ดีตรงไหน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าวิธีนี้คงไม่เหมาะ และเกิดยาก แค่ฉบับเดียวก็ปวดหัวแล้ว เอาสองฉบับประกบให้ตัดสินใจ ประชาชนต้องเข้าใจเนื้อหาถึงทั้ง 2 ฉบับ บางทีประชาชนอาจลืมรัฐธรรมนูญปี 40 ไปแล้ว แต่การออกมาวิจารณ์ของพรรคการเมือง ยิ่งมากยิ่งดี ถ้าความเห็นตรงกันประเด็นใดมากๆ กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาเป็นพิเศษ อย่ากังวล บางทีร่างสุดท้ายออกมา พวกท่านอาจจะพอใจกันก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น