xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

น่าตกใจไหม? “เด็กไทยสวมหมวกกันน็อก”แค่ 7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ จาก “อัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กไทย ที่มีแค่ 7% ทำให้ในวันพุธที่ 6 พ.ค. นี้ ซึ่งตรง กับ "สัปดาห์ความปลอดภัยทางถนน สหประชาชาติ" มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) และ องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) เตรียมจะเข้าพบ และมอบรายชื่อนักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป จำนวน 15,000 คน ที่ต้องการเห็น “โรงเรียนมีบทบาทสำคัญ” ในการส่งเสริมให้เด็กสวมหมวกนิรภัย

ต่อ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ใน เวลา 15.00น. อีกทั้งเตรียมเสนอ “โครงการนำร่อง” ที่มุ่งเน้นการให้การศึกษาเพื่อปรับพฤติกรรมของเด็ก รวมทั้งการอบรมครูและผู้ปกครองโดยมีโรงเรียน กทม. เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในชุมชนอย่างแท้จริง

โดย รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ระบุว่า ทุกๆ วันมีน้องๆ วัยเรียนราว 1.3 ล้านคนเดินทางโดยการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อค แม้ว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้ก็ตาม

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในแต่ละปี มีเด็กกว่า 2,600 คนเสียชีวิต หรือมากกว่า 7 คนต่อวัน และอีกเกือบ 200 คนต่อวันได้รับบาดเจ็บหรือพิการ หรือกว่า 72,000 คนต่อปี

ความสูญเสียเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการให้เด็กๆที่เดินทางด้วยการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง

เครือข่ายองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองเด็กและป้องกันอุบัติภัยบนท้องถนน นำโดย มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) และ องค์การช่วยเหลือเด็กประเทศไทย Save the Children in Thailand จึงได้ร่วมมือกันริเริ่มโครงการ The 7% Project

โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กจาก 7% ให้เป็น 60% ทั่วประเทศภายในปี 2560

ตามโครงการบรรยายว่า เนื่องจากการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียนคือเส้นทางหลักสำหรับครอบครัว และจักรยานยนต์คือยานพาหนะหลักที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้ในการรับ-ส่ง บุตรหลานในแต่ละวัน ในปีแรก จึงเริ่มต้นการทำงานร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อรณรงค์ให้หมวกกันน็อคเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน โดยจะทำงานร่วมกับชุมชน เด็กๆ ผู้ปกครอง ครู และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมความปลอดภัย

ในปีต่อๆ ไป โครงการนี้จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับขยายขอบข่ายการร่วมงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มการณรงค์ให้ครอบคลุมทุกเส้นทางการเดินทางของเด็กๆ

สำหรับ รูปแบบโครงการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง The 7% Project จะมุ่งเน้นการปรับทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ เกี่ยวกับการใช้หมวกนิรภัย พร้อมกับสนับสนุนให้ครูและผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับโครงการอย่างเต็มที่ โดยจะดำเนินงานควบคู่กันใน 4 ด้าน ได้แก่

การศึกษา - เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้และประโยชน์ของหมวกนิรภัย ทั้งในวิชาพื้นฐานและกิจกรรมนอกหลักสูตร จัดอบรมสำหรับคุณครูและผู้ปกครอง เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบของอุบัติเหตุ

การสื่อสารกับมวลชน - จุดประกายความคิด จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และรายงานทุกความเคลื่อนไหวของโครงการ ตลอดจนเปิดให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันการรณรงค์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน

การบังคับใช้ - ร่วมมือกับโรงเรียนในการออกกฎให้เด็กที่เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกนิรภัย โดยมีคุณครูประจำชั้นคอยดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด และขอการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการผลักดันกฎหมายหมวกกันน็อค ให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมทุกเส้นทาง

การสร้างนวัตกรรม - จัดหาหมวกกันน็อคที่มีดีไซน์โดนใจเด็กและวัยรุ่น มีขนาดที่พอดีกับศีรษะ และราคาไม่แพง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงตัวตนของพวกเขาผ่านหมวกกันน็อค

ประเด็นนี้ “นางรัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์” ประธานกรรมการมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) ประเทศไทย กล่าวว่า “จากประสบการณ์ทำงานกว่า 15 ปีของเอไอพีในการดำเนินโครงการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในภูมิภาคเอเชีย พบว่า เส้นทางที่เด็กใช้บ่อยที่สุด คือจากบ้านไปโรงเรียน และเส้นทางดังกล่าวก็เป็นเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆมากที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย เราจึงร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) เพื่อออกแบบวางแผนโครงการนำร่องที่เหมาะสมกับประเทศไทยโดยมีโรงเรียนเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมี กทม. เป็นหน่วยงานแรก

มีเด็กในวัยเรียน ทุกๆวันราว 1.3 ล้านคนที่เดินทางโดยการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ แต่กลับมีเพียง 7% เท่านั้นที่สวมหมวกนิรภัย จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ “เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก - The 7% Project” ซึ่งริเริ่มโดยทั้งสององค์กรเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

“น.ส.อรุณรัตน์ วัฒนผลิน” ผู้ประสานงานโครงการจากองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่มีผู้ร่วมสนับสนุนเป็นจำนวนมากผ่านกิจกรรมทุกครั้งที่จัดรวมทั้งการลงชื่อผ่านทางเว็บไซต์ www.7-percent.org และ change.org

“ถ้าหาก กรุงเทพมหานครพร้อมร่วมสนับสนุนทางเราก็พร้อมดำเนินโครงการนำร่องในโรงเรียน กทม. ได้ทันที”

ดังนั้นจึงนำมาสู่ กิจกรรมยื่นรายชื่อในวันพุธที่ 6 พฤษภาคมนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบสหประชาชาติที่ต้องการเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยปีนี้ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนของเด็ก ตามเวปไซด์ www.savekidslives2015.org

จำได้ว่า โครงการใส่หมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ “พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์” รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.)ดูแลงานจราจร ขณะนั้นได้สนองนโยบายการกวดขันให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลต้องสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งในส่วนของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ซ้อนท้ายตามคำสั่ง ผบ.ตร. จำได้ว่า มีมาตรการเด็ด คือหากไม่สวมหมวกจะโดน “ยึดรถ”

โครงการเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. บช.น.ใช้ กฎหมายพ.ร.บ.จราจรทางบกมาตรา 122 มาบังคับใช้กำหนดไว้ว่า

1.ผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกนิรภัยจะมีโทษปรับไม่เกิน 500บาท

2.ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยมีผู้โดยสารนั่งซ้อนท้ายหากผู้โดยสารไม่สวมหมวกนิรภัยจะมีโทษปรับเป็น 2 เท่าคือปรับได้ไม่เกิน 1,000 บาท

อย่างไรก็ตามกฎหมายได้มีข้อยกเว้นผู้ที่ไม่ต้องสวมใส่หมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์เอาไว้คือพระภิกษุ สามเณรและผู้นับถือศาสนาอื่นๆที่ต้องใช้ผ้าโพกศีรษะดังนั้น บุคคลนอกเหนือจากนี้จะต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งในขณะขับขี่โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้นซึ่งหากฝ่าฝืนตำรวจจราจรก็จะดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

มาถึงวันนี้ ไม่รู้ บช.น. หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สรุปผลออกมาหรือยังว่า ดีหรือไม่ดี ผู้ขับขี่ถูกปรับมากน้อยเพียงใด

วันก่อนโน้น “นายสิบทหาร จ.สุรินทร์”ถูกสั่งขัง 15 วัน กรณีไม่สวมหมวกกันน็อค แถมยังเถียงตำรวจ วันนี้คงครบกำหนดออกมาแล้ว น่าจะเชิญมาเป็นพรีเซนเตอร์หมวกกันน็อคอีกซักคน น่าจะดี!!!



กำลังโหลดความคิดเห็น