xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่งออกติดลบ ศก.ซึมยาวอีก2ปี “บิ๊กตู่” มีเสียว ม้วนเสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังโงหัวไม่ขึ้นเป็นปัญหาใหญ่และหนักหนาเสียยิ่งกว่าข้อถกเถียงทางการเมืองเรื่องเลื่อนไม่เลื่อนเลือกตั้งหรือนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก เพราะปัญหาปากท้องกินอิ่มนอนอุ่นนั้นสำคัญกว่าเรื่องไหนๆ

สองปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าเวลานี้ก็คือ ใบเหลืองจากอียูข้อหาค้ามนุษย์จากการทำประมงเถื่อน กับเรื่องมาตรฐานการบินระหว่างประเทศ หากแก้ไม่ทันการณ์เศรษฐกิจมีหวังชะงักงันและพังกันเป็นแถบๆ ยิ่งกว่านี้ เพราะเอาแค่เจอแจกใบเหลืองไทยยังส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูได้อยู่ ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. 2558 ที่กระทรวงพาณิชย์ แถลงเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 ยังติดลบถึง 4.45% หากโดนใบแดงปิดประตูตายเมื่อไหร่คงมองเห็นนรกรำไรแน่

ส่วนเรื่องมาตรฐานการบินระหว่างประเทศ ที่ยังสาละวนแก้ไขไม่ไปไม่มาอยู่นั้น หากเจอใบสั่งห้ามบินจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

หาก “สองขา” ที่เป็นแหล่งรายได้หลักเข้าประเทศ คือ การส่งออกกับการท่องเที่ยว มีปัญหาย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล และนั่นจะเป็นเครื่องชี้ชะตารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะอยู่หรือจะไปอีกด้วย

ถามว่าประชาชนคนไทย จะอดทนรับสภาพเศรษฐกิจซึมยาว อย่างน้อยอาจจะกินเวลาอีก 2 ปี อย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล “หม่อมอุ๋ย” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกกล่าวกันไหม? ถ้าประชาชนทนได้รัฐบาลก็อยู่ได้ แต่ถ้าประชาชนทนไม่ไหวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ก็ม้วนเสื่อกลับบ้านไป

ข่าวร้ายจาก “หม่อมอุ๋ย” ที่ไปปาฐกถาพิเศษในงานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ รร.แกรนด์ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวไปอีกประมาณ 2 ปีนั้น เป็นผลทั้งจากการส่งออกที่ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงในตลาดโลกกว่าร้อยละ 50 และผลจากการเร่งจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมีขนาดถึง 1 ใน 5 ทั้งการปราบปรามยาเสพติด และการจัดระเบียบต่างๆ ทำให้ความคึกคักในการใช้จ่ายลดลง นอกจากนั้น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ยังทำให้สินค้าไทยกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ “หม่อมอุ๋ย” กล่าวโทษนั้น สะท้อนว่าสินค้าหลายประเภทของไทยที่ส่งออกได้เปรียบคู่แข่งเพราะการกดค่าแรงเพื่อลดต้นทุนเป็นหลัก ทั้งที่ค่าแรงวันละ 300 บาท เลี้ยงครอบครัวพ่อแม่ลูกให้พอกินไปวันๆ ยังไม่ได้ และวันแรงงานปีนี้ ก็มีข้อเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 360 บาท ตามค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ทว่าคำตอบล่วงหน้าจากรัฐบาลมีอยู่แล้วว่าให้ไม่ได้เพราะทำให้นักลงทุนมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

กลับมาดูว่าตัวเลขส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์แถลงวันก่อนรุ่งริ่งกันขนาดไหน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจกแจงว่า การส่งออกของไทยเดือนมี.ค.2558 มีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.45% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่เป็นการส่งออกที่ติดลบน้อยลงจากเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ที่ติดลบ 6.1% แสดงให้เห็นว่าการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.89% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนยอดรวมการส่งออก 3 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 53,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.69% และการนำเข้ามีมูลค่า 51,936 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.43% โดยยังเกินดุลการค้า 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือนมี.ค. ลดลงนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มาจากการลดลงของการส่งออกน้ำมันและทองคำ โดยน้ำมัน ลดลง 26.5% เพราะราคาตลาดโลกลดลง และทองคำ ลดลง 40.5% จากการนำเข้ามาเพื่อเก็งกำไรแต่ไม่มีการส่งออก ซึ่งหากตัด 2 รายการที่ควบคุมไม่ได้ออกไป ก็จะทำให้การส่งออกในเดือนมี.ค. เหลือขยายตัวติดลบเพียง 1.3%

สำหรับสินค้ารายการอื่นๆ พบว่า มีสัญญาณส่งออกดีขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงเหลือ 2.6% สินค้าที่ลดลงมากยังคงเป็นยางพารา ลดลง 27.9% ตามทิศทางราคาตลาดโลก แต่เริ่มมีสัญญาณดีจากปริมาณส่งออกที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% ขณะที่ทูน่ากระป๋องและข้าว มีมูลค่าส่งออกหดตัวในอัตราที่ลดลง ส่วนผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 11.1, 21.0, 34.9, 10.3 และ 75% ตามลำดับ

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 3.2% โดยถูกฉุดจากการลดลงของน้ำมันและทองคำ แต่หากดูสินค้ารายการอื่น พบว่า มีทิศทางขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ โดยขยายตัว 24.2, 20.2 และ 9.0% โดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงถึง 2,446 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5%

ทางด้านตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.6% โดยโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และอาเซียน เพิ่มขึ้น 17.4% แต่ตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) ลดลง 8.4% และ 2.1% เพราะเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และผลจากค่าเงินเยนและยูโรอ่อน ทำให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ส่วนตลาดจีน ลดลง 8.3% ตามการส่งออกยางพารา และน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลง ประกอบกับจีนมีนโยบายพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้า แต่ในตลาดจีนและญี่ปุ่น แม้การส่งออกจะลดลง แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยยังคงเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดสหรัฐฯ และอินเดีย

สำหรับการส่งออกในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินแนวโน้มการส่งออกใหม่ คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ 1.2% จากเป้าหมายเดิม 4% ซึ่งเป็นการประเมินไว้ตั้งแต่เดือนต.ค.2557 ซึ่งตอนนั้น คาดการณ์เศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้ที่ 3.8% แต่ปัจจุบันลดเหลือ 3.5% และราคาน้ำมันยังไม่ปรับลดลงขนาดนี้

ประมาณการตัวเลขการส่งออกทั้งปีที่คาดว่าจะลดลงนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับภาคเอกชนและทูตพาณิชย์ ได้วิเคราะห์และมีข้อสรุปที่ตรงกันกับหลายหน่วยงานที่ประเมินการส่งออก ว่าการส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวในระดับ 0.5-1% แต่เห็นควรที่จะตั้งเป้าในการผลักดันการส่งออกที่ 1.2% มูลค่า 230,304 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดิมที่ 4% มูลค่า 236,677 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้น ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.6-33.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมัน 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และสินค้าเกษตรสำคัญราคาใกล้เคียงกับปีก่อน

ทั้งหมดนั้น เป็นการคาดการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญ อย่างเช่น ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรสำคัญจะปรับตัวสูงขึ้นตามคาดการณ์หรือไม่ หากไม่ปรับขึ้นโอกาสที่จะเห็นการส่งออกขยายตัว 1.2% ก็คงยาก

อย่างไรก็ตาม ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ กลับปรากฏว่าการส่งออกเติบโตสวนกระแส ซึ่งตัวเลขจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุยอดขายรถยนต์ในเดือน มี.ค.58 มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 127,619 คัน เพิ่มขึ้น 12.63% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นปริมาณการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ในปี 2531 ส่วนช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) 2558 ส่งออกได้แล้ว 328,232 คัน เพิ่มขึ้น 12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 146,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.74% โดยตลาดหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย สัดส่วน 22.94% ออสเตรเลีย 22.61% ตะวันออกกลาง 22.24% อเมริกากลางและใต้ 12.02% ยุโรป 11.75% อเมริกาเหนือ 4.72% และแอฟริกา 3.72%

สาเหตุที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมาก เพราะตลาดโลกต้องการรถอีโคคาร์สูงมาก ทำให้ไตรมาส 1 การส่งออกไปตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 71.84% อเมริกาเหนือ เพิ่ม 126.02% อเมริกากลางและใต้ เพิ่ม 12.03% ออสเตรเลียโตเพิ่ม 29% ขณะที่เอเชียกลับมาเป็นบวกที่ 6.42% แต่ตลาดหลักอย่างตะวันออกกลาง ยังลด 11.09% แอฟริกาลด 26.48% เพราะมีสงคราม และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันลดลง และฉุดกำลังซื้อลดลงตาม

ส่วนตลาดในประเทศเดือน มี.ค.2558 มียอดขาย 74,117 คัน ลดลง 11.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้ยอดขายในประเทศไตรมาสแรก มี 197,787 คัน ลดลงจากปีก่อน 11.8% สาเหตุที่ยอดขายลดลงมาจากการลงทุนและการเบิกจ่ายจากภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย ราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว โดยกลุ่มรถบรรทุกที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ มีจำนวน 1,744 คัน เพิ่มขึ้น 29.71% สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนเริ่มมั่นใจโครงการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สภาอุตสาหกรรมฯ ประเมินว่า หากยอดส่งออกรถยนต์เติบโต 10% โดยเฉลี่ยทั้งปี จะทดแทนยอดขายภายในประเทศที่ลดลงได้ และอาจทำให้ยอดขายรวมทั้งปีอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.15 ล้านคัน จากปีก่อนที่มียอดขาย 1.88 ล้านคัน

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขส่งออกที่ปรับลดลง ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ (สศค.) กระทรวงการคลัง ทำให้มีปรับลดตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ปี 2558 ลดลงเหลือ 3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มของการปรับลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร สำหรับจีดีพีไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวได้ 3.2%

นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกลงเหลือ 0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.4% ด้านการนำเข้าคาดว่าจะติดลบ 0.2% จากเดิมที่ 4% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ปรับลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.2% ตามแนวโน้มการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าในประเทศ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3%

สัญญาณเศรษฐกิจซึมยาว ยังส่งตรงมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 ซึ่งมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้มากขึ้น และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โครงสร้างการค้าโลก และภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยประเทศคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลงรวม ทั้งแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการหดตัวของการส่งออก อาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ดังนั้น นโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 มิ.ย. 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดประมาณการจีดีพี การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวลดลงโดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสติดลบ

อย่าลืมว่าความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เป็นจุดตายของรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารแทบทุกยุคทุกสมัย



ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น