xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขหาได้ ไม่ต้องรอใครคืน

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในช่วงนี้สื่อหลายแห่งทั้งเทศและไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดลำดับความสุขของประเทศต่างๆ โดยคณะทำงานในเครือข่ายขององค์การสหประชาชาติชื่อ The Sustainable Development Solutions Network ซึ่งเพิ่งพิมพ์รายงานออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วชื่อ The World Happiness Report รายงานนี้นับเป็นลำดับที่ 3 หลังจากพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2555 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2556 ในบรรดา 158 ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์เป็นดินแดนที่ได้รับการจัดว่าผู้คนมีความสุขกายสบายใจมากที่สุด ตามด้วยหลายประเทศในยุโรปตอนเหนือ ประเทศที่ประชาชนมีความสุขต่ำสุดส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา ไทยเข้ามาเป็นลำดับที่ 34 ซึ่งตามสิงคโปร์ (24) แต่นำไต้หวัน (38) ญี่ปุ่น (46) และเกาหลีใต้ (47) ข้อมูลและข้อสรุปมีทั้งจำพวกเป็นไปตามความคาดและจำพวกไม่น่าเชื่อ ผู้สนใจในรายละเอียดอาจเข้าไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ World Happiness Report

ผู้เขียนรายงานประกอบด้วยศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ 3 คนคือ จากแคนาดาชื่อ John F. Helliwell จากสหรัฐอเมริกาชื่อ Jeffrey D. Sachs และจากอังกฤษชื่อ Lord Richard Layard ทุกคนมีผลงานมากมาย ผมเคยนำของบางคนมาเสนอไว้ในบริบทของความสุขบ้าง ในบริบทของการพัฒนาบ้าง เช่น หนังสือเรื่อง Happiness: Lessons from a New Science ของ Lord Richard Layard (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) และเรื่อง The Price of Civilization: Reawakening American Virtue and Prosperity ของ Jeffrey Sachs ซึ่งพูดถึงหลักเศรษฐกิจแนวใหม่ที่มีเนื้อหาคล้ายเศรษฐกิจพอเพียง ผมได้นำเนื้อหาบางตอนของหนังสือเล่มนี้มาเสนอไว้ในบทความเรื่อง “แซคส์แซงขึ้นหน้าสติกลิตซ์ด้านเศรษฐกิจแนวใหม่” ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้ฟรีจากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน

แม้รายงานจะน่าสนใจในหลายแง่มุม แต่อาจเป็นเรื่องที่เราๆ นำเอามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้นอกจากเราจะเป็นผู้กำนโยบายของประเทศ สิ่งที่เราอาจนำมาใช้ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุขและอายุยืน สองประเด็นนี้มีการวิจัยกันมากขึ้นรวมทั้งโดยศาสตราจารย์ทั้งสามคนนั้นด้วย ผมได้นำมาเสนอไว้ในหลายบริบทเพราะอยากชักชวนคนไทยให้ตระหนักและถ้านำไปปฏิบัติได้ ยิ่งน่าจะให้ผลดีต่อตัวเอง ขอนำมาเสนอรวมกันอีกครั้ง

การวิจัยจากหลากหลายแหล่งพบว่า หลังจากมีปัจจัยที่ใช้สนองความจำเป็นของการดำเนินชีวิตประจำวันครบถ้วนแล้ว การใช้จ่ายเพื่อซื้อหาสรรพสิ่งมาเพิ่มจะไม่ทำให้เกิดความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นอาจแยกได้เป็น 6 หมวดหมู่ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลนำมาคืน โดยเฉพาะถ้านำมาคืนแบบประชานิยม อีกไม่นานการคืนนั้นจะกลายเป็นความทุกข์

(ก) การมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้างและการมีเพื่อนสนิท ผู้อยู่รอบข้างรวมทั้งสมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน

(ข) การมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจซึ่งรวมกิจกรรมหลายอย่างรวมทั้งการออกกำลังกายทั้งหนักและเบา และการทำงานอดิเรกจำพวกสวนครัว

(ค) การมีความช่างสังเกตซึ่งรวมทั้งการมองดูสิ่งต่างๆ รอบข้างอย่างละเอียด และการมองลึกเข้าไปในจิตใจของตัวเอง เรื่องนี้มีฐานอยู่ที่การนั่งสมาธิซึ่งสังคมตะวันออกเช่นเมืองไทยเข้าใจมานานแล้ว และฝ่ายตะวันตกเริ่มทำวิจัยจนได้ผลเป็นที่ยอมรับว่ามีผลดีหลายด้านแม้แต่ต่อการเรียนของเด็ก

(ง) การเรียนรู้อยู่เป็นนิจซึ่งอาจเป็นการเรียนวิชาใหม่ๆ การหัดเล่นดนตรี การหัดเขียนภาพ การทำอาหารและการทำงานฝีมือจำพวกเย็บปักถักร้อย

(จ) การให้ทานซึ่งรวมกระทั่งการยิ้มทักทายอย่างเป็นมิตรไปจนถึงการอาสาช่วยงานในชุมชนและการทดแทนคุณแผ่นดิน และ

(ฉ) หมวดอื่นๆ อันประกอบด้วยด้านอาหารซึ่งควรมีสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณพอเหมาะและสมดุล ด้านการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ร่มรื่น และด้านการทำงานที่มีความพึงพอใจ

สำหรับเรื่องของผู้มีอายุยืนยาว Dan Buettner ได้นำมาเสนอไว้ในหนังสือชื่อ The Blue Zones Solution: Eating and Living Like the World’s Healthiest People ข้อมูลของเขามาจากการศึกษากลุ่มคนที่มีอายุยืนยาวเป็นพิเศษจำนวนมากจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น เกาะไอคาเรียของกรีซ เกาะซาดิเนียของอิตาลี เมืองโลมาลินดาในมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา และแหลมนิโคยาของคอสตาริกา

แนวการดำเนินชีวิตของผู้ที่มีอายุยืนยาวเป็นร้อยปีอาจแยกได้เป็น 4 แนวประกอบกัน

แนวแรก การคบหาสมาคมกับผู้ที่มีวิธีดำเนินชีวิตจำพวกที่มีผลดีต่อสุขภาพ แนวนี้ตรงกับหมวด (ก) ของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข แต่มีส่วนต่างกันอยู่บ้าง นั่นคือ หากผู้อยู่รอบข้างที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน หรือเป็นเพื่อนสนิทมีวิธีดำเนินชีวิตที่มักไม่มีผลดีต่อสุขภาพ การคบหาสมาคมกันอาจทำให้อายุสั้นมากกว่ายืนยาว เช่น เพื่อนสนิทที่ติดบุหรี่และร่วมวงก๊งเหล้าด้วยกันจนดึกดื่นเป็นประจำ ตรงข้าม ถ้าเป็นเพื่อนที่มีความสุขในการพากันไปออกกำลังกาย ไปหาความผ่อนคลายในการทำโยคะ หรือฟังธรรมจากพระผู้แตกฉานในด้านคำสอนของศาสดา การคบหาสมาคมกันจะช่วยทำให้อายุยืนยาวขึ้น

แนวที่สอง การรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาดได้แก่อาหารหลักมาจากพืชผักและผลไม้ถึงราว 95% ส่วนที่เหลือซึ่งมาจากเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ได้จากปลา ข้อมูลจากการศึกษากลุ่มคนจำนวน 65,000 คนเป็นเวลา 12 ปีชี้บ่งว่า ผู้ที่เน้นการรับประทานอาหารหลักจากพืชตายด้วยโรคมะเร็งและโรคหัวใจน้อยกว่าผู้เน้นการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ 25% และ 31% ตามลำดับ นอกจากนั้น การดื่มเหล้าองุ่นวันละหนึ่งแก้วและการหยุดรับประทานอาหารตอนก่อนอิ่มเต็มที่มีผลดีต่อการมีชีวิตยืนยาว แนวนี้ตรงกับส่วนหนึ่งในหมวด (ฉ) ของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข แต่ก็อาจต่างกันบ้างในด้านการให้ความสำคัญซึ่งมุมมองของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขให้ความสำคัญน้อยกว่า แนวนี้อาจเสริมแนวแรกได้ในแง่ที่การคบหาสมาคมกันของผู้ที่นิยมรับประทานอาหารทำด้วยพืชจะช่วยให้พวกเขามีอายุยืนยาวได้อีกทางหนึ่ง

แนวที่สาม การมีความรู้สึกว่าชีวิตมีค่า หรือมีเป้าหมาย ความรู้สึกเช่นนั้นอาจมาจากกิจกรรม หรือการทำงานที่รักแบบเป็นชีวิตจิตใจ การอาสาออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หรือทำประโยชน์ทั่วไปในสังคมและโลกรอบด้าน การศึกษาพบว่า ผู้อยู่ในกลุ่มนี้มีทั้งความสุขและอายุยืนยาวเนื่องจากมีความเครียดต่ำ ทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย แนวนี้ตรงกับบางส่วนของหลายหมวดหมู่ของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข

แนวที่สี่ การออกกำลังกายและใช้ร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ แนวนี้เสริมแนวแรกได้มากหากกิจกรรมนั้นทำกับเพื่อนที่มีความสนใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นการพากันไปเดินออกกำลังกาย เต้นรำ หรือทำสวนครัวด้วยกัน แนวนี้ตรงกับหมวด (ข) ของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข

เรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขและปัจจัยที่ทำให้อายุยืนยาวมิใช่ของยากและแทบไม่แตกต่างกัน ยกเว้นเรื่องการมีอายุยืนยาวมิได้พูดถึงสิ่งจำเป็นเบื้องต้นจำพวกปัจจัยสี่ แต่คงมองได้ว่ามันถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจเพราะคนเราคงมีชีวิตยืนยาวไม่ได้หากไม่มีสิ่งจำเป็น ในทางตรงข้าม การมีมากเกินไปอาจทำให้อายุสั้นหากไม่รู้จักบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เรื่องความอ้วนเกินพอดี การมีมากเกินไป หรือการมีความเครียดในหลายประเทศรวมทั้งในสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดี เนื่องจากผู้ที่อ้วนมากๆ มักเจ็บไข้และอายุไม่ค่อยยืน เรื่องแนวนี้ผมได้นำมาเสนอไว้บ่อยๆ หากต้องการอ่านหนังสือสักเล่ม ลองไปอ่านเรื่อง The Progress Paradox: How Life Gets Better While People Feel Worse ของ Gregg Easterbrook ถ้าไม่มีเวลา หรือไม่แตกฉานในภาษาอังกฤษ อาจอ่านบทคัดย่อภาษาไทยซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่น

โดยสรุป วันนี้ผมเสนอว่า ใครจะใส่ใจว่าประเทศไหนมีความสุขสูงสุด สูงกว่าไทย ต่ำกว่าไทย หรือรั้งท้ายประเทศอื่น หรือจะรอให้รัฐบาลนำความสุขมาคืนให้ก็ช่างเขา ส่วนพวกเราหันมาสนใจในกิจกรรมที่จะทำให้ตัวเรามีความสุขและอายุยืนยาวกันดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น