xs
xsm
sm
md
lg

โอโชตื่นรู้

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม


โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โอโช (Osho) เป็นใคร มาจากไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือเกิด-ตายเมื่อไหร่?

“Osho Never Born, Never Died, Only Visited This Planet Earth, Between Dec 11 1931-Jan 19 1990”

นั่นคือ คำตอบที่ชวนสงสัยของใครบางคน?

แต่เป็นคำตอบที่ใสกระจ่าง สำหรับบางคนที่เข้าถึงบางอย่างอันลึกซึ้ง

โอโชมีสมัญญาต่างๆ นานา เช่น บุรุษสุดอันตรายหลังจากการมาของพระเยซู, เป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ 1,000 คนแห่งศตวรรษที่ 20 เป็น 1 ใน 10 รวมตลอดถึงคานธี เนห์รู และพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้เปลี่ยนความเป็นอินเดียของประเทศอินเดีย, ปรมาจารย์ด้านสมาธิแบบตื่นตัว, เป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า “Zorba the Buddha” เป็นหนึ่งในบรมครูทางจิตวิญญาณที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค ฯลฯ

สำหรับผม (ผู้เขียน) ให้สมญาโอโช ว่า... “Oshois Space”

คำว่า “ตื่นรู้” เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในยุคนี้ “ยุคก้มหน้า-สัมผัสจอ-คอหัก” คำนิยมของตื่นรู้จึงหลากหลาย ตั้งแต่ระดับพื้นๆ หยาบๆ จนถึงระดับละเอียดประณีตสุดๆ

Stephan Bodian ผู้เขียน Wake up Now หรือตื่นรู้สู่แสงสว่าง ให้ทัศนะว่า... “การตื่นรู้ คือการกลับคืนสู่ตัวตนที่แท้จริง”

“คำว่า “สุญญตา” ถูกกล่าวเอาไว้ในปรัชญาปรมิตาหทัยสูตร โดยระบุว่า “รูปคือความว่าง-ความว่างคือรูป” หรืออาจอธิบายได้ว่า แท้จริงแล้ว โลกที่เราเห็นอยู่นี้ ล้วนแล้วไม่มีอยู่จริง มันไม่ต่างอะไรกับฟองอากาศหรือภาพความฝัน ความว่างนี้ ไม่เคยถูกแบ่งแยกออกไป หากแต่แสดงให้เห็นได้ในหลากหลายมิติตามที่โลกใบนี้เป็นไป หรือตามที่คุณอยากให้มันเป็นไป”

“ความว่างและรูป เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ เปรียบเสมือนสองด้านของเหรียญ เป็นสองสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสภาวะอทวิลักษณ์ตามธรรมชาติ ซึ่งคำอธิบายที่ดีที่สุดในทางเซน สำหรับเรื่องนี้ก็คือ “มันเป็นเช่นนั้นเอง” ภูเขาก็ยังคงเป็นภูเขา และแม่น้ำก็ยังคงเป็นแม่น้ำ แต่การเติบโตทางจิตวิญญาณนั่นเอง ที่ทำให้ภูเขาไม่ใช่ภูเขา และแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำอีกต่อไป”

ผมมีความคิดเห็นแบบพื้นๆ ผิวๆ ว่า... “ชีวิตคือสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ด้านหนึ่งคือหลับยืน อีกด้านหนึ่งคือตื่นรู้ ด้านหนึ่งคือรูป อีกด้านหนึ่งคือความว่าง... ฯลฯ จะมองในมิติทวิลักษณ์ก็ได้ จะมองในมิติอทวิลักษณ์ก็ได้ แท้จริงมันคือสิ่งเดียวกัน”

ก่อนจะสิ้นดับลับโลกนี้ไป ปรอทด้านใดระหว่างรูปกับว่าง จะขึ้นสูงหรือลดต่ำ มันเป็นเรื่องเฉพาะตน เพราะชีวิตเป็นของเรา คุณต้องตัดสินใจด้วยตัวคุณเอง ถึงอย่างไรในที่สุด “สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า” อยู่ดี เป็นไปตามธรรมชาติ ตถตา-เช่นนั้นเอง หน้าที่ของคน คือดูตนเอง เห็นชั่วก็รู้-แล้วลดละ เห็นดีก็รู้-แล้วเจริญเพียงแค่นี้ ผ่อนคลายสบายๆ

ดูระลอกคลื่นตามห้วยหนองคลองบึงหรือทะเลแล้ว ลองดูความสงบ-เย็น-ใส ใต้มหาสมุทรสุดลึกบ้าง จะได้พบเห็นความจริงแท้ไม่แปรเปลี่ยน ที่เราๆ ท่านๆ ยากจะหยั่งถึง นั่นคือ...

โอโชผู้ตื่นรู้ โอโชผู้หลุดพ้น โอโชผู้เบิกบาน โอโชผู้......ฯลฯ

จากการบรรยายของท่าน ได้กลายมาเป็นหนังสือหลายภาษาทั่วโลก สำหรับที่แปลเป็นไทยมีประมาณ 20 เล่มที่ผมได้อ่านจบบ้างไม่จบบ้าง จะหยิบยกมาพอประมาณเท่าที่หน้ากระดาษจะอำนวย ผู้สนใจต้องการจะรู้ต่ออ่านต่อ ก็แสวงหาเองตามอัชฌาสัย...

“แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานโดยใช้เหตุผล พอมาถึงจุดๆ หนึ่งก็มักจะพบว่า เหตุผลนั้นไม่สามารถจะให้คำตอบกับเขาได้ แต่แล้วในที่สุด จุดที่เขารอคอยก็มาถึง มันเป็นเรื่องของลางสังหรณ์ใจ เขาต้องการมันเพียงแค่...แวบเดียว มันมาจากไหนไม่มีใครรู้ มันมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ใช้ความคิดมาอย่างเต็มที่ มาจนถึงจุดที่รู้สึกว่าถึงทางตัน แต่ขณะเดียวกันก็รู้ว่า มีอะไรบางอย่างที่อยู่เลยตรงนั้นไป ดูเหมือนกับว่าไม่ใช่ของเรา ทั้งๆ ที่มันมาจากส่วนที่อยู่ลึกๆ ในตัวเรา การที่เรารู้สึกเหมือนกับว่ามันมาจากที่อันแสนไกล ก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่า จุดศูนย์กลางแห่งปัญญาญาณของเรานั้น อยู่ตรงไหนนั่นเอง”

(ปัญญาญาณ : Intuition)

“เราสามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการต่อสู้กับความขัดแย้ง ไม่ใช่ตอนนี้ หยุดได้แล้ว เราต้องเปลี่ยนโลกด้วยการเฉลิมฉลอง ด้วยความรู้สึกที่ยินดีปรีดา ด้วยเสียงเพลง เสียงดนตรี ด้วยสมาธิ ด้วยความรัก ความเมตตา ไม่ใช่ด้วยการต่อสู้กับความขัดแย้ง เราจะต้องยุติสิ่งเก่าๆ เพื่อเปิดทางให้กับสิ่งใหม่ๆ โปรดอย่าได้ตีความข้าพเจ้าผิดไป แน่นอนสิ่งเก่าๆ จะต้องยุติ แต่มันเป็นสิ่งเก่าๆ ที่อยู่ภายในตัวท่าน ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ข้างนอก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดเรื่องโครงสร้างทางสังคม ข้าพเจ้ากำลังพูดเรื่องโครงสร้างภายในใจของท่าน ที่มีแต่ตัวท่านเท่านั้นที่จะสามารถยุติมันได้ เพื่อเปิดช่องให้กับสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น และการที่คนเพียงคนเดียว “หลุด” พ้นออกมาจากโครงสร้างเก่าภายในใจเขาได้นั้น จะเป็นการเปิดช่องว่างมากมายให้กับการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายๆ ชีวิต”

(หลุด : Freedom)

“เต๋า หมายถึงวิถีทาง เป็นเส้นทางคล้ายกับที่นกใช้บินไปบนท้องฟ้า มันไม่ได้ทิ้งร่องรอยหรือเครื่องหมายใดๆ ไว้ให้เลย นกบินไปโดยไม่มีร่องรอยใดๆ ไม่มีใครสามารถจะตามมันไปได้ ดังนั้น วิถีทางนี้จึงเป็นวิถีที่ไร้เส้นทาง มันไม่ใช้เส้นทางที่มีไว้พร้อมให้ท่านก้าวตามไปได้ ท่านจะต้องหามันให้เจอ และจะต้องหามันในวิถีทางของท่านเอง ท่านไม่สามารถจะใช้เส้นทางของคนอื่นได้”

(เต๋า : มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง Tao : the Pathless Path)

“คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า สามารถย่อลงเหลือเพียงคำเดียว คำนั้นก็คือ “อิสรภาพ” นั่นคือคำสอนพื้นฐานของพระองค์ เป็นความหอมในแบบของพระองค์โดยแท้ ไม่มีใครอีกที่ยกอิสรภาพขึ้นสูงส่งเช่นนี้ นี่คือคุณค่าเชิงปรมัตถ์ ในมุมมองของพระพุทธเจ้า เป็นความดีสูงสุด หรือซัมมัม โบนัม (ความดีสูงสุดที่ทุกคนยอมรับ เป็นภาษาละติน) ไม่มีอะไรสูงกว่านี้”

(คุรุวิพากษ์คุรุ : Meetings With Remarkable People)

“การที่ท่านค้นพบการดำรงอยู่ในขณะนั้นได้ ถือเป็นก้าวใหญ่ในชีวิตของท่าน เพราะเมื่อถึงตอนนั้น ในแต่ละขณะจะเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ละช่วงเวลาจะนำมาซึ่งความสุข สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้จักจบ สิ่งลี้ลับได้เปิดประตูให้กับท่าน ความรักเริ่มงอกงามในตัวท่าน สายธารแห่งเมตตาที่ท่านไม่เคยรู้ว่ามีอยู่เริ่มปรากฏ ท่านเริ่มอ่อนไหวในสิ่งที่สวยงาม ในความดี ท่านกลายเป็นผู้ที่ไวต่อความรู้สึก แม้แค่เพียงใบหญ้าใบเล็กๆ ก็มีความหมายต่อท่าน”

(วุฒิภาวะ : Maturity)

“การศึกษา ไม่ได้สอนให้ท่านมีชีวิตอยู่อย่างบริบูรณ์ ไม่ได้สอนให้ท่านรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สอนให้ท่านอยู่กับคุณงามความดี แต่ทว่าสอนให้ท่านแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อตัวท่านเอง และเรามักจะคิดว่า ผู้ที่ฉลาดก็คือผู้ที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาอาจจะเป็นคนที่กลับกลอกปลิ้นปล้อน แต่เราก็เรียกพวกเขาว่าเป็นคนฉลาด พวกเขาไม่ใช่คนที่มีเชาวน์ปัญญา...เชาวน์ปัญญาเป็นการเติบโตของจิตสำนึกที่อยู่ภายใน มันไม่ใช่เรื่องความรู้ มันเป็นเรื่องความสามารถที่จะสงบนิ่งได้ คนที่มีเชาวน์ปัญญา จะไม่ทำอะไรโดยใช้ประสบการณ์จากอดีต เขาจะอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น เขาจะไม่ตอบโต้ เขาเพียงแต่ตอบสนอง”

(เชาวน์ปัญญา : Intelligence)

“การรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างซื่อตรง ไม่เพียงไม่ต้องอาศัยความคิด แต่ยังช่วยคงไว้ซึ่งการตระหนักถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ใครจะรู้หากไม่เคยสังเกต สมาธิเป็นภาวะที่ไม่เพียงสงบ แต่ยังช่วยผ่อนคลายความเครียดที่สะสมอยู่ ใครจะรู้หากไม่เคยลองทำ การหายใจเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่เพียงได้สติ แต่ยังช่วยสูดซับพลังที่ดี ขณะเดียวกันก็ช่วยขับพิษออกจากร่างกาย ใครจะรู้หากไม่เคยลองปฏิบัติ”

(โอโชบำบัด : Pharmacy for the Soul)

“ทุกชั่วขณะแห่งการดำรงอยู่ เป็นเสมือนผู้ที่คอยย้ำเตือนเราตลอดเวลาว่า เราต้องไว้ต่อความรู้สึกและตื่นรู้ที่จะรับสารอันก่อให้เกิดปัญญา...จงใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ มีชีวิตอย่างเข้มข้น เพื่อให้แต่ละชั่วขณะเป็นช่วงเวลานาทีทอง และชีวิตทั้งหมดของท่าน ก็จะเป็นเวลานาทีทอง ที่สืบเนื่องกันต่อไปเรื่อยๆ”

(คำทองคำ : Gold Nuggets)

“เซนนั้นเรียบง่าย ทว่าแฝงไว้ซึ่งความยากลำบาก เซนสัมพันธ์กับความเรียบง่าย เป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ที่ว่ายากลำบาก ก็เนื่องมาจากจิตใจของเรานั้นถูกตั้งเงื่อนไขไว้ในโลกที่ไม่ปกติ แต่เป็นโลกที่เราโตมา โลกที่ทำให้เราไขว้เขว...เซนไม่ใช่ปรัชญา หากแต่ว่าเป็นบทกวี ไม่ใช่สิ่งที่เรียกร้อง หากแต่เป็นการเชื้อเชิญ ไม่ใช่การถกเถียง หากแต่เป็นการขับร้องไปตามท่วงทำนอง”

(เซน : เส้นทางแห่งความขัดแย้ง Zen the Path of Paradox)

“เมื่อคุณหลุดพ้นจากเงื่อนไขที่คุณสร้างขึ้นมา โดยเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง คุณจะเป็นอิสระ และนั่นคืออิสรภาพที่แท้จริง จากนั้นคุณไม่ต้องแบกเปลือกแข็งๆ ไว้รอบตัวคุณ แคปซูลได้แตกออกแล้ว...เมื่อละทิ้งสิ่งทั้งหมดเหล่านี้ไป คุณก็ไม่ต้องแบกภาระใดๆ ไว้ คุณเดินอยู่เหนือผิวโลกได้ด้วยเท้าข้างเดียว เพราะสำหรับคุณแล้ว แรงดึงดูดของโลก ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอีกต่อไป คุณจึงสยายปีกแล้วโบยบินไปได้”

(365 วัน มหัศจรรย์สมาธิ : Everyday Osho)

“ความรักคือการให้ แต่ต้องเป็นการให้ที่มาจากใจ เป็นการให้โดยที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่การให้อย่างที่พวกเราใช้กันทั่วไป ที่มักจะแฝงไว้ด้วยการเจรจาต่อรอง...ลูกต้องทำตัวเป็นเด็กดีนะ ไม่เช่นนั้นแม้ก็จะไม่รัก...เธอต้องคงความสวย (หุ่นดี) ไว้นะ ไม่เช่นนั้นฉันก็จะไปหาคนใหม่ (ไปมีกิ๊ก) อะไรทำนองนั้น...ความรักต้องมาพร้อมอิสรภาพ ความรักนั้นให้อิสรภาพแก่ท่านหรือไม่? เพราะรักแท้ต้องให้อิสรภาพแก่ท่าน ทำให้ท่านเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของใคร ผู้ใดที่ยังไม่มีรักแท้ ความรักของเขาจะเต็มไปด้วยความหึงหวง เต็มไปด้วยความกลัว และเต็มไปด้วยการต่อสู้ เพราะต่างคนต่างก็ต้องการ จะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง...สรุปว่า เส้นทางของการภาวนา เส้นทางของการตื่นรู้เท่านั้น ที่จะทำให้การดีไซน์หรือการออกแบบ เรื่องความรักนี้สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง”

(ดีไซน์รัก : Being in Love)

“จงอย่า “เก็บกด” อารมณ์เหล่านั้นไว้ อารมณ์นั้นเปรียบได้กับ “ลม” ที่พัดมาแล้วก็พัดไป เห็นคำว่า “Motion” ซึ่งแปลว่า “การเคลื่อนไหว” ที่อยู่ในคำว่า “Emotion” ไหม? ด้วยเหตุนี้ อารมณ์จึงไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่ง ไม่ใช่สิ่งที่หยุดอยู่กับที่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องไม่ไปกดทับมันไว้...จง “ตามรู้ตามดู” อารมณ์เหล่านั้น เห็นการเปลี่ยนแปลงของมัน เห็นการ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป” ของมัน จงทำตัวเป็น “ผู้สังเกตการณ์” คอยสังเกตสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปในชีวิตของเรา ทำตัวเสมือนกับว่า กำลังยืนอยู่ที่ข้างถนน มองดูรถยนต์ที่วิ่งผ่านไปผ่านมา ตระหนักรู้อยู่เสมอว่า เราเป็นเพียง “ผู้เฝ้าดู” อยู่ริมถนนเท่านั้น อย่าได้กระโจนลงไปบนท้องถนน เพราะจะถูกรถชนเสียเปล่าๆ”

(สปาอารมณ์ : Emotional Wellness)

“จงสงสัย เพราะความสงสัยใคร่รู้ ไม่ใช่บาป แต่คือสิ่งบ่งบอกสติปัญญาของท่านต่างหาก ท่านไม่ต้องรับผิดชอบดูแล ชาติ ศาสนา และความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ท่านรับผิดชอบดูแลเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น และสิ่งนั้นก็คือ “การรู้จักตัวเอง” หากท่านบรรลุความรับผิดชอบนี้ได้ สิ่งมหัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้น เพราะท่านจะบรรลุความรับผิดชอบอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดเลย ทันทีที่ท่านได้เข้าถึงการดำรงอยู่ของตัวเอง ท่านจะเห็นว่านั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ชีวิตที่ท่านวาดหวังไว้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความรู้สึกที่ท่านมีต่อความรับผิดชอบจะต่างไปจากเดิม ซึ่งไม่ใช่ภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จลุล่วงอีกต่อไป แต่กลับเป็นความเบิกบานใจที่ได้ทำ”

(พลิกมุมใหม่ เข้าใจชีวิต : The Book of Understanding)

“ความเบิกบานยินดีไม่ใช่ความสุข เพราะความสุขมักผสมปนเปอยู่กับความทุกข์เสมอ ความสุขมักมีเงาของความทุกข์ทอดยาวออกมาเสมอ เหมือนมีกลางวันย่อมมีกลางคืน ฉันใด มีความสุขก็ย่อมมีความทุกข์ ฉันนั้น ความเบิกบานยินดี คือสภาวะหลุดพ้นจากทั้งสุขและทุกข์ เป็นความสงบล้ำลึกอยู่ในดุลยภาพโดยสมบูรณ์ เป็นทั้งความเงียบสงบ และมีชีวิตชีวาอย่างเหลือประมาณ จนกระทั่งความเงียบสงบ ก็คือเสียงเพลง และเสียงเพลงก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากความเงียบสงบ ความเบิกบานยินดี มีได้ชั่วนิรันดร์ ความสุขมีได้ชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขเกิดจากปัจจัยภายนอก จึงย่อมถูกพรากไปด้วยปัจจัยภายนอก ท่านต้องพึ่งพิงผู้อื่น และการพึ่งพิงทุกรูปแบบล้วนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เพราะมันคือพันธนาการ ความเบิกบานยินดีเกิดขึ้นภายในตัวท่านโดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ความเบิกบานยินดีไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้อื่น หรือะไรทั้งนั้น ความเบิกบานยินดีคือพลัง งานที่ไหลเวียนอยู่ภายในตัวท่านตามธรรมชาตินั่นเอง”

(ความเบิกบานยินดี : Joy)

“สมาธิภาวนาคือดอกไม้ และความเมตตาอาทรคือกลิ่นหอมของดอกไม้ นั่นเป็นความจริงทีเดียว เวลาที่ดอกไม้ผลิบาน และส่งกลิ่นหอมขจรขจายตามสายลมไปทั่วทุกสารทิศ กลิ่นหอมก็จะถูกพัดพาไปสุดหล้า แต่สิ่งสำคัญคือ การผลิบานของดอกไม้...คนเราก็มีศักยภาพในการผลิบานอยู่ภายในตัวเองเช่นเดียวกัน จนกว่าสิ่งที่อยู่ภายในตัวท่านจะผลิบาน ท่านจึงจะส่งกลิ่นหอมของความเมตตาอาทรออกมาได้ ท่านไม่อาจฝึกการมีความเมตตาอาทร เพราะความเมตตาอาทรไม่ใช่วินัย ท่านไม่อาจจัดการได้ตามใจ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจของท่าน หากท่านปฏิบัติสมาธิภาวนา วันหนึ่งท่านก็จะตระหนักอย่างฉับพลันถึงปรากฏการณ์ใหม่ในตัวท่าน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ความเมตตาอาทรกำลังไหลไปสู่สรรพสิ่งทั้งมวลอย่างไม่จงใจ อย่างไม่เฉพาะเจาะจง”

(เมตตาอาทร : Compassion)

“สัมพันธภาพแบบรักแล้วเลิกได้ กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว สำหรับสังคมที่การพัฒนาดำเนินไปอย่างไร้ราก ความผูกพันในครอบครัวแบบเดิมมีน้อยลง และการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ผูกพัน เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว้าวุ่นใจอยู่ลึกๆ ว่ามีบางสิ่งที่ขาดหายไป และสิ่งนั้นก็คือ ความสนิทใจนั่นเอง...ความสนิทใจนั้น แทบจะไม่เกี่ยวอะไรกับร่างกายภายนอกเลย แม้เรื่องเพศอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่ความสนิทใจได้ แต่การจะมีความสนิทใจได้ ต้องมีสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นมากนัก นั่นคือ การยินดีเผยความรู้สึกจากส่วนลึกที่สุด และความเปราะบางอ่อนไหวออกมา ด้วยความไว้วางใจว่า ผู้นั้นจะดูแลอย่างดีด้วยความใส่ใจ และถึงที่สุดแล้ว นั่นคือการยินดีรับความเสี่ยงจากความสนิทใจ ด้วนการยืนหยัดอยู่บนความเข้มแข็งภายใน ซึ่งรู้ว่าแม้ผู้อื่นยังปิดกั้นตัวเอง แม้ความไว้วางใจจะถูกทรยศ เราก็จะไม่เจ็บปวดทรมาน”

(สนิทใจ : Intimacy)

“โดยพื้นฐานแล้ว ความกล้าหาญคือการเสี่ยง เสี่ยงจากสิ่งที่รู้จัก ไปยังสิ่งที่ไม่รู้จัก จากสิ่งที่คุ้นเคย ไปยังสิ่งที่ไม่คุ้นเคย จากความสะดวกสบาย ไปยังความไม่สะดวกสบาย จากการเดินทางอย่างมีเป้าหมายไปสู่การเดินทางอย่างไร้จุดหมาย โดยที่ไม่รู้เลยว่า จะสามารถทำสำเร็จหรือไม่ มันไม่ต่างอะไรจากการเดิมพัน แต่เพราะการเดิมพันครั้งนี้เท่านั้น ที่จะทำให้ท่านรู้ว่า ชีวิตคืออะไร...จงจำไว้ว่าความกล้าหาญไม่ได้แปลว่า ไม่มีความกลัว หากใครบางคนไร้ซึ่งความกลัว ท่านไม่อาจบอกว่าเขากล้าหาญ ความกล้าหาญเกิดขึ้นได้ในมหาสมุทรของความกลัวเท่านั้น ความกล้าหาญเป็นเกาะที่อยู่กลางมหาสมุทรของความกลัว ความกลัวอยู่ที่ตรงนั้น แต่แทนที่จะจมอยู่กับความกลัว คนบางคนกล้าที่จะเสี่ยง นั่นคือความกล้าหาญ บางคนกลัวที่จะเข้าไปในความมืด แต่ไม่ว่าจะกลัวแค่ไหนก็ยังเดินเข้าไป นั่นคือความหมายของคำว่ากล้าหาญ”

(เด็ดเดี่ยว : Courage)

“เมื่อใดก็ตาม ที่คุณอยากรู้จักฉัน คุณต้องทำตัวให้ว่าง อย่างที่ฉันเป็น แล้วเมื่อนั้น กระจกสองบานจะเผชิญหน้ากัน ในกระจกนั้น จะมีแต่ความว่างเปล่า และเมื่อใดที่คุณเกิดความคิดอะไรขึ้นมา คุณจะมองเห็นความคิดนั้นในตัวฉัน”

(ความคิดนอกรีด : Creativity)

“โอโชตื่นรู้
คือผู้หลุดพ้น
จากความทุกข์ทน
คือคนเบิกบาน”

บทกวีสี่แถวดังกล่าว พอจะเป็นกระจกส่อง ให้เห็นความจริงแห่งทัศนะของท่านโอโช ที่ยกมาเพียงน้อยนิดจากหนังสือเกือบ 20 เล่มของท่านนั้น ได้บ้างไหม?

ไม่ว่าคุณจะนึกคิดอย่างไร ที่ผลิบานหรือเลื่อนไหลออกมาจากข้างในอันใสบริสุทธิ์ ล้วนทรงคุณค่า เพราะเป็นภาวะอิสระ เป็นธรรมะตื่นรู้ เป็นผู้เบิกบาน สืบสานสุญญตา
กำลังโหลดความคิดเห็น