ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สั่นสะเทือนกันเป็นทิวแถวหลังคำสั่งโยกย้ายใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการระดับสูงในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกียร์ว่างนับถอยหลังรอเวลาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงจากเวที และยังขัดขา คสช. เดินงานให้กับขั้วอำนาจเก่าอยู่อีก
ไม่เฉพาะแค่กระทรวงศึกษาฯ เท่านั้นที่เจอล้างบาง กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ก็มีกระแสข่าวเตรียมโยกย้ายใหญ่ตามหลังมาติดๆ ก่อนที่เจ้ากระทรวงจะออกมาสยบกระแสว่ามโนโซเชียลกันไปเอง ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ถ้าไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ ถ้าไม่มีเค้าลางความจริงไฉนจะมีข่าวเล็ดลอดออกมา
ข่าวปล่อยที่ลือกันสนั่นเมือง ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ถึงขนาดว่าเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลังก็ถึงเวลาต้องสับเปลี่ยน โดยแรกทีเดียวนั้นคาดหมายว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558 ที่ผ่านมา นายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง จะเสนอชื่อโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยจะย้ายนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ซึ่งได้ดิบได้ดีในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง เนื่องจากมองว่าทำงานไม่สนองนโยบาย
ส่วนผู้ที่มีชื่อลุ้นเข้าแทนที่คือ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง หรือไม่ก็นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งอื่นๆ เช่น นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แทน นายกฤษฎา อุทยานิน ที่เสียชีวิต และอาจโยกย้ายนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกจากตำแหน่งเพราะผลงานไม่เข้าเป้า โดยร่ำลือกันว่าจะแต่งตั้งนายสาธิต รังคสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ขึ้นมาแทน และโยกนายมนัส แจ่มเวหา ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง แล้วแต่งตั้งนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง มาดำรงตำแหน่งแทน
เช่นเดียวกันกับข่าวที่ร่ำลือกันในกระทรวงมหาดไทยว่า จะมีการนำเสนอบัญชีรายชื่อ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยรายชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวที่มีแนวโน้มปรับย้ายนายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมที่ดิน นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ขณะที่บัญชีโยกย้ายระดับผู้ว่าราชการจังหวัด คาดว่าจะมีอยู่ 4-8 ราย ซึ่งอยู่ในบัญชีที่ว่ากันว่าประเมินการทำงานแล้วไม่ผ่านเกณฑ์
แต่สุดท้าย เรื่องการเสนอโยกย้ายใหญ่กระทรวงคลังและกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมครม. ในวันดังกล่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่จดใส่บัญชีต้องเจอเชือดแน่ๆ ในลำดับถัดไปหากผลงานยังไม่ดีขึ้น ก็คือ กรมที่ดิน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพราะมีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินและทรัพยากรให้ฉาวโฉ่ จนกลายเป็นงานอีเว้นต์ประจำวันที่มีการไล่ตรวจจับ ทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างให้คืนสู่สภาพเดิม
แถมมีชื่อบิ๊กเนมตัวเป้งๆ เข้าไปเกี่ยวข้องให้สื่อพาดหัวประโคมข่าวกันไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว
กระนั้นก็ดี แม้ขณะนี้ยังไม่ปรากฏรายชื่อออกมาให้เห็น แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องการโยกย้ายข้าราชการไม่ใช่เรื่องโคมลอยอย่างแน่นอน เพราะมีข้อมูลชัดเจนจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ออกมาว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต 198 รายเพื่อจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดย “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายให้สัมภาษณ์ชัดแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “หัวหน้า คสช.อาจต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อสร้างตำแหน่งใหม่รองรับ โดยเอาคนเหล่านี้ออกมา โดยให้หลักประกันว่า เป็นมาตรการชั่วคราว เมื่อการสอบสวนดำเนินการแล้วพบว่า ไม่มีความผิด ก็กลับไปตำแหน่งเดิม แต่ถ้าผิดต้องถูกดำเนินคดี เหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 ก็เพราะกระบวนการปกติล่าช้า อาจใช้เวลาหลายเดือน ตำแหน่งที่จะให้บุคคลที่โดนย้ายเข้ามารัฐบาลกำลังตัดสินใจ แต่ไม่ให้อยู่กระทรวงเดิมแน่นอน ทุกคนอาจจะมาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี หรือเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ไม่อยากใช้คำว่า สุสานคนโกง เพราะหลายคนสุดท้ายก็ไม่ได้ผิดอะไร”
สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ยอมรับว่า ในรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต 198 ราย ในส่วนของ ยธ.มี 5 ราย สังกัดกรมราชทัณฑ์และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้มูลแล้ว 2-3 ราย สั่งให้ออกจากตำแหน่งแล้ว
“198 รายชื่อนั้นมีทั้งที่ชี้มูลและยังไม่ได้ชี้มูลความผิด โดยกลุ่มที่ต้องใช้กฎหมาย มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในการดำเนินการ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯจะตรวจสอบรายชื่อครั้งสุดท้าย เพื่อเอารายชื่อแนบท้ายก่อนประกาศใช้มาตรา 44 ส่วนอีกกลุ่มจะให้รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงดำเนินการตามกฎระเบียบ”พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
เฉกเช่นเดียวกับ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เปิดเผยว่า หลังได้รับรายชื่อ 118 ราย (ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย 115 ราย และ กทม. 3 ราย) จากนายกฯ ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบเพื่อเร่งรัดดำเนินการ โดยมีทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการท้องถิ่น ในจำนวนนี้ 3-4 รายเป็นผู้บริหารระดับ 10 ขึ้นไป
สภาพฝุ่นตลบกับการโยกย้ายข้าราชการที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหลายทิศหลายทางตามมา
หนึ่ง การโยกย้ายใหญ่กลางฤดู เป็นรายการเชือดไก่ให้ลิงดู ข้าราชการระดับสูงคนไหนใส่เกียร์ว่าง ไม่ทำงานตอบสนองนโยบาย เอาใจออกห่าง ยังแอบอิงอยู่กับขั้วอำนาจเก่า มีหวังถูกเด้ง และในทางกลับกัน หาก คสช.ไม่ชัดเจนในนโยบาย ข้าราชการระดับสูงที่มีประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบมากกว่า ก็ต้องให้คำปรึกษาชี้แนะและช่วยขับเคลื่อนให้ คสช. มีผลงาน ข้าราชการก็มีผลงานอวดประชาชน ถึงจะอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน
สอง เป็นรายการเชือดไก่ให้ลิงดู หากข้าราชการคนไหนที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวพันกับการถูกร้องเรียนว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่ มีสิทธิ์ถูกเด้ง โดยการโยกย้ายออกจากตำแหน่งไปก่อนเพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการสอบสวนการกระทำความผิด เป็นการลงดาบให้เห็นว่าคสช.เอาจริงกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และต้องใช้อำนาจพิเศษเข้าจัดการจึงจะแก้ไขปัญหาได้
สาม เป็นรายการเอ็กเซอร์ไซส์อำนาจของคสช.หลังจากประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วหันมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เป็นการทดสอบอำนาจว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ มีผลข้างเคียง และมีแรงต่อต้าน ระดับไหน จะเอาอยู่หรือไม่
สี่ มีข้อสังเกตว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า คสช.จะอยู่ยาว ไม่ใช่แค่ปีนี้ปีหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน เพราะยังไม่มีอะไรที่น่าพอใจโดยเฉพาะภาพใหญ่ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ยังมีปัญหาต้องถกเถียงกันอีกหลายยก ยังฝุ่นตลบ แถมยังมีข้อเรียกร้องให้ประชามติอีกต่างหาก ส่วนการทุจริตคอร์รัปชั่นที่หมักหมมมานาน สังคมก็คาดหวังต้องอาศัยอำนาจเด็ดขาดของ คสช. เข้าแก้ไขจึงจะเห็นผล
การอ่านสัญญาณว่าจะอยู่ยาว ไม่เฉพาะแต่คนในประเทศเท่านั้นที่รับรู้และสัมผัสได้ แม้แต่ต่างชาติก็มีปฏิกิริยาที่ทำให้รู้ว่าล้วนอ่านสัญญาณได้เช่นนั้นเหมือนกัน โดยดูจากปฏิกิริยาของมหาอำนาจชาติตะวันตกก็พอเห็นแล้วว่าขณะนี้กำลังเพิ่มแรงกดดันรัฐบาลคสช.ทุกทาง เหมือนจะบอกว่าถ้าคิดจะอยู่ยาว ก็จะต้องอยู่อย่างลำบากแน่ๆ
อย่างกรณีการออกแรงกดดันจากอียูที่ให้เวลาประเทศไทยอีก 6 เดือน แก้ปัญหาประมงเถื่อน เป็นการชัก "ใบเหลือง" เตือนล่วงหน้าไม่เช่นนั้นจะแจกใบแดงงดนำเข้าอาหารทะเล ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์กับเกาหลีใต้ที่อยู่ในบัญชีประเทศที่มีปัญหาเหมือนกับไทยกลับเคลียร์ไร้ปัญหา
เช่นเดียวกับการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาคนใหม่ เข้ามาทำหน้าที่หลังว่างเว้นนานเกือบ 6 เดือน ซึ่งนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศ มองว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมือกับการอยู่ยาวของ คสช. เช่นกัน
ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา ก็ประกาศชัดว่าจะเลื่อนการประชุมเตรียมการฝึกซ้อมคอบบร้าโกลด์ร่วมกับไทยออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากประเพณีปฏิบัติเดิมช่วงเวลานี้ต้องประชุมเตรียมการร่วมกันแล้ว
นี่ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณ และตามมาด้วยแรงกดดันจากความกังวลว่ารัฐบาลคสช.จะอยู่ในอำนาจอีกยาวนานทั้งสิ้น