xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ขู่จัดหนักผิดกม.ประมง มั่นใจ6เดือนอียูให้ใบเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประยุทธ์"ลั่นเป็นโอกาสสังคายนาปัญหาประมง หลังอียูให้ใบเหลือง ขู่จากนี้ไป ใครทำผิดกฎหมาย ระวังจะไม่มีที่ยืน เชื่อสหรัฐฯ ไม่ตัดสินปัญหาตามรอยอียู "ประวิตร"ถกหน่วยงานรัฐบูรณาการแก้ปัญหาประมง ลั่น 6 เดือนได้ใบเขียวแน่ "ไก่อู"แจง 4 ข้อท้วงติงของอียู ได้เริ่มแก้ไขหมดแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) มีมติภาคทัณฑ์หรือให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เพื่อแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการต่อกรณีที่ยังไม่มีมาตรการเพียงพอตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบไอยูยู ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อียูจะออกใบเหลืองให้ไทยกรณีไอยูยูมีมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาประกาศให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันมานี้ ซึ่งรัฐบาลทราบและได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

"รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ และไม่เสียกำลังใจอย่างแน่นอน ตรงข้ามถือว่า ครั้งนี้จะเป็นโอกาสดี ที่ทำให้คนในชาติทั้งข้าราชการและเอกชน โดยเฉพาะคนที่ไม่ทำงาน หรือแอบทำในสิ่งผิดกฎหมาย ลุกขึ้นมาแก้ไข ปรับปรุงตัวเอง เพราะรัฐบาลนี้เอาจริงแน่นอน"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

** ขู่เอกชนทำผิดกฎหมายเจอดีแน่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนและประสานการแก้ไขปัญหาไอยูยูแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง แต่หลายเรื่องต้องใช้เวลา เช่น การแก้ไขกฎหมาย กฎกระทรวง และอื่นๆ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะออกมาแก้ตัว แต่ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการแก้กฎหมายไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียว จำเป็นต้องมีกระบวนการหารืออย่างรอบคอบ ส่วนการประสานงานกับประเทศต่างๆ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับการจดทะเบียนเรือ จดทะเบียนแรงงานประมง การติดตั้งระบบติดตามเรือ VMS จะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมา มีการปล่อยปะละเลยกันมายาวนานอย่างที่ทราบกันอยู่

"รัฐบาลผมไม่แก้ตัว ไม่นั่งทับปัญหาแน่นอน นับจากนี้ไป จะได้เห็นสิ่งที่รัฐบาลนี้เริ่มทำตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จะมีหลายๆ เรื่องที่จะมีผลอย่างเป็นรูปธรรม และจะเดินหน้าให้ข้อมูลกับอียู กับประชาชน กับสื่อมวลชน และกับทุกภาคส่วนที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนภาคเอกชนต้องช่วยรัฐบาลด้วย ใครที่เคยลักลอบแอบทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ผมเคยประกาศแล้วว่า คนเหล่านี้ ต้องไม่มีที่ยืนในสังคมไทยอีกต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

** เชื่อมะกันไม่ออกใบเตือนตามอียู

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก ที่ประเทศสหรัฐฯ ลดระดับการประเมินไทยจาก Tier 2 Watch List ลงมาอยู่ในสถานะ Tier 3 นั้น พล.อ.ประยุทธื กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกับเรื่องไอยูยู ขออย่านำมาโยงกัน โดยประเด็นการค้ามนุษย์ รัฐบาลก็ดำเนินการอยู่ และมั่นใจว่า สหรัฐฯ จะไม่ตัดสินใจอะไรโดยเดินตามอียู เพราะจะขึ้นอยู่หลักการและเหตุผลของสหรัฐฯ เอง ขอให้อย่าได้นำไปเหมารวมกัน ไทยให้เกียรติสหรัฐฯ มาโดยตลอด และเชื่อว่าสหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญและติดตามสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามดำเนิน เพื่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

ส่วนการหยิบยกอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาแก้ไขปัญหานั้น ได้มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งอำนวยความสะดวกให้มีการขับเคลื่อนบูรณาการแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้นแล้ว ทั้งการจดทะเบียนเรือประมงที่ขณะนี้ทำไปแล้วถึง 3 หมื่นลำ การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่ง แต่จะเป็นการติดตามเร่งรัดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ทั้งกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเสริมการทำงาน

"มาตรา 44 เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ใช่นำมาตรา 44 มาแก้มะนาวแพง แก้เศรษฐกิจ แก้ประมง แต่นำมาบูรณาการให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันได้"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

** “บิ๊กป้อม” ขีดเส้น 6 เดือนได้ใบเขียว

วันเดียวกัน ที่บ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดย พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า หลังจากนี้ จะต้องร่วมมือกับทางอียูว่าสิ่งใดบ้างที่เรายังทำไม่สมบูรณ์ ซึ่งเราก็ทราบแล้วว่าทางอียูต้องการกฎหมายที่มองว่ายังไม่เป็นไปตามหลักสากล และยังไม่เป็นไปตามที่เขาต้องการ ตลอดจนเรื่องการติดตามเรือ การตรวจสอบ

"ผมมั่นใจว่าเราจะได้ใบเขียวภายใน 6 เดือนข้างหน้า ถ้าเราดำเนินตามที่อียูต้องการ เพราะผมตั้งเป้าไว้ว่า 1 เดือน เราต้องมีความชัดเจน และ 3 เดือน การแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวต้องจบ ส่วนกรณีที่อียูจะเดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าในเดือน พ.ค.นี้ เรามีความชัดเจนในการแก้ปัญหาเตรียมให้เขาดูแล้ว ซึ่งผมไม่หนักใจอะไร เราพร้อมให้ความร่วมมือกับอียูทุกเรื่อง" พล.อ.ประวิตร กล่าว

** ยืนยันยังไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่จะนำอำนาจตามมาตรา 44 ในการออกกฎหมายแก้ไขปัญหา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า มาตรา 44 คงไม่ใช้ ถ้าเราออก พ.ร.บ.ไปแล้ว และไม่ได้ ก็ต้องออกกฎหมายลูกเพื่อให้เกิดความครอบคลุม ถ้ากฎหมายลูกยังไม่พอ ก็ออกเป็นพระราชกำหนดได้อีก ส่วนมาตรา 44 เราจะใช้เมื่อจำเป็น ตอนนี้ไม่มีความจำเป็น เพราะเรามีกฎหมายตัวอื่นอยู่ ส่วนการแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจชี้แจงกับอียูนั้น ตนจะแต่งตั้งเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

เมื่อถามว่า ห่วงเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยที่ภายหลังสหรัฐฯ ลดประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ส่งเอกสารชี้แจงไป 2 ครั้งแล้ว ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องการจับกุม การดำเนินคดี ซึ่งมีผลต่อการจัดอันดับ เราต้องเรียกประชุมใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และให้เกิดความมั่นใจว่าทางสหรัฐฯ จะลดจาก Tier 3 เป็น Tier 2 ได้

** “ไก่อู” แจงเร่งแก้ 4 ข้อตำหนิของอียู

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎระเบียบที่อียูเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มี 4 ประการได้แก่ 1.พัฒนากฎหมายการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการประมงผิดกฎหมายและบทลงโทษ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.ประมงและผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเร็ววันนี้ และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน อย่างไรก็ตาม บางกรณีที่จำเป็นต้องจัดทำกฎหมายลูก และอาจรวมถึงพระราชกำหนดเพื่อให้ครอบคลุมทุกกฎกติกาที่อียูได้ตั้งข้อเรียกร้องไว้

2.การมี National Plan of Actions หรือแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ให้น้ำหนักกับป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ศึกษาและกำหนดแผนงานไว้แล้ว มีกำหนดจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ภายใน 2 สัปดาห์

3.จัดระบบเฝ้าติดตามเรือประมงขณะออกจับสัตว์น้ำ ให้มีความชัดเจนทั้งในส่วนการติดตั้งอุปกรณ์ประจำเรือ VMS GPS และการมีศูนย์ที่จะติดตามตรวจสอบเรือประมงเหล่านั้น ได้มีการดำเนินการเรื่องการแจ้งเข้า-ออกท่าเรือ (PIPO) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกจังหวัดทุกท่าเรือ ภายในวันที่ 6 พ.ค.นี้ สำหรับเรื่องอุปกรณ์ประจำเรือนั้น กองทัพเรือจะเร่งรัดติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.

4.การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตั้งแต่ผู้บริโภคปลายทางจนถึงต้นทางของการจับสัตว์น้ำ ก็ได้มีการดำเนินการควบคู่กันไปในทุกขั้นตอน

“ท่านรองนายกฯ สั่งการให้ตั้งทีมหลักเพื่อกำกับการทำงานของทุกหน่วย โดยจะประชุมติดตามงานทุก 2 สัปดาห์ โดยกำหนดให้ทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในขณะที่รอการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อมิให้เกิดช่องว่างของการทำงาน จะมีการจัดตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจประจำทุกท่าเรือ เพื่อให้เรือทุกลำได้รับการตรวจสอบ”พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ส่วนการชี้แจงต่อต่างประเทศ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการจัดตั้งให้กระทรวงการต่างประเทศออกเอกสาร และเดินสายชี้แจงต่ออียู ถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงประเทศคู่ค้าและบริษัทที่สั่งซื้อสินค้าประมงของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการทำประมงของอียู เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าประมงโดยปกติจะเป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้นการสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาตลาดและยอดการจำหน่ายอย่างต่อเนื่องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น