xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลตั้งเป้าแก้ปัญหาประมงผิด กม.ตาม 4 ข้อ ที่อียูเรียกร้องภายใน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลตั้งเป้าแก้ปัญหาประมงผิด กม. ตาม 4 ข้อ ที่อียูเรียกร้องภายใน 3 เดือน เตรียมออก พ.ร.บ. ประมงฉบับปรับปรุงใน 60 วัน “บิ๊กป้อม” สั่งตั้ง “core team” กำกับการทำงานของทุกหน่วย

วันนี้ (23 เม.ย.) มีการประชุมศูนย์บริหารเพื่อการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นประธานการประชุม ณ บ้านเกษะโกมล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าของกฎระเบียบของการทำประมงที่สหภาพยุโรปเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มี 4 ประการ ได้แก่

1. พัฒนากฎหมายการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการประมงผิดกฏหมายและบทลงโทษ

2. การมี National Plan of Actions หรือแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ให้น้ำหนักกับป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

3. จัดระบบเฝ้าติดตามเรือประมงขณะออกจับสัตว์น้ำ ให้มีความชัดเจนทั้งในส่วนการติดตั้งอุปกรณ์ประจำเรือ VMS GPS และการมีศูนย์ที่จะติดตามตรวจสอบเรือประมงเหล่านั้น

และ 4. การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตั้งแต่ผู้บริโภคปลายทางจนถึงต้นทางของการจับสัตว์น้ำ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 4 ประการ ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในเรื่องกฎหมาย ขณะนี้ พ.ร.บ. ประมงที่ปรับปรุงขึ้นได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเร็ววันนี้ และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ประมงฉบับดังกล่าว อาจจะมีรายละเอียดบางกรณีที่จำเป็นต้องเพิ่มเติม ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดให้ กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายลูก และอาจรวมถึงพระราชกำหนดเพื่อให้ครอบคลุมทุกกฎกติกาที่สหภาพยุโรปได้ตั้งข้อเรียกร้องไว้

ในส่วนของการจัดทำ National Plan of Actions ซึ่งกระทรวงเกษตรได้ศึกษาและกำหนดแผนงานไว้แต่เนิ่นแล้ว มีกำหนดจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งในแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะลงรายละเอียดถึงระดับการนำข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ รวมทั้งการกำหนดบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการจัดระบบเฝ้าติดตามเรือประมงขณะออกจับสัตว์น้ำ ต้องดำเนินการเรื่องการแจ้งเข้า - ออก ท่าเรือ (PIPO) ซึ่งเราเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกจังหวัดทุกท่าเรือ ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้กองทัพเรือเร่งรัดการติดตั้ง VMS ในเรือประมง ทั้งนี้ตามกฎหมายเดิมกำหนดให้ติดตั้ง VMS ในเรือประมงขนาดมากกว่า 60 ตันกรอสส์ขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 1,996 ลำ แต่ในกฎหมายใหม่กำหนดให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 - 60 ตันกรอสส์ ซึ่งมีจำนวน 3,462 ลำ ต้องติดตั้ง VMS ด้วย โดยแม้ขณะนี้กฎหมายยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ที่ประชุมมีมติเร่งรัดให้ประชาสัมพันธ์ให้เรือประมงดำเนินการติดตั้งไปล่วงหน้าเพื่อแสดงความมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน

ประการสุดท้าย การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตั้งแต่ ผู้บริโภคปลายทางจนถึงต้นทางของการจับสัตว์น้ำ เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งทำให้ตรวจสอบได้ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ได้จากการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายในทุกขั้นตอน

“ท่านรองนายกฯ สั่งการให้ตั้ง core team เพื่อกำกับการทำงานของทุกหน่วย โดยจะประชุมติดตามงานทุก 2 สัปดาห์ โดยกำหนดให้ทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในขณะที่รอการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อมิให้เกิดช่องว่างของการทำงาน จะมีการจัดตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยหลัก และให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กระทรวงแรงงาน ร่วมกันจัดชุดลงตรวจสอบเรือประมงทั้งหมดให้ปฏิบัติตามกฏหมายของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยคณะทำงานชุดเฉพาะกิจนั้นจะประจำทุกท่า เพื่อให้เรือทุกลำได้รับการตรวจสอบ”

ทั้งนี้ รองนายกฯ ยังได้สั่งการจัดตั้งให้กระทรวงการต่างประเทศออกเอกสารและเดินสายชี้แจงสหภาพยุโรปถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงประเทศคู่ค้าและบริษัทที่สั่งซื้อสินค้าประมงของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการทำประมงของสหภาพยุโรป เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าประมงโดยปกติจะเป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้นการสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาตลาดและยอดการจำหน่ายอย่างต่อเนื่องต่อไป

“อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย จะดำเนินการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ โดยจะต้องไม่เอาประโยชน์ ความสะดวกสบาย และการละเลยข้อกฎหมายต่างๆที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นที่ตั้ง แต่ต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านปัญหาครั้งนี้ไปได้ร่วมกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น